×

‘ชัชชาติ’ ชี้พัฒนาเส้นเลือดฝอย หัวใจสร้างเมืองน่าอยู่ กทม. ไม่มีฮีโร่ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

โดย THE STANDARD TEAM
08.11.2019
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และอดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

บรรยายวิชาการหัวข้อ ‘Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร’ ณ ห้อง 314 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามโครงการบรรยายสาธารณะ (Public Talk) ‘โลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง’ จัดโดยภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เป็นส่วนหนึ่งรายวิชาการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง (Professional Practice) เปิดโอกาสให้สาธารณชนร่วมฟังความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองหลากหลายวงการ ร่วมกับนิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ภายใต้แนวคิด ‘เล่าเรื่องเมือง โดยตัวจริง’

 

รศ.ดร.ชัชชาติ เสนอแนวคิดการพัฒนากรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้เป็นเมืองน่าอยู่ หรือ Better Bangkok มีสาระสำคัญในหลายประเด็น อาทิ การสร้างเมืองเดินได้ เมืองอยู่ดีกินดี เมืองแบ่งปัน เมืองงานใกล้บ้าน-ใกล้โรงเรียน ฯลฯ โดยเขากล่าวว่า การพัฒนาเส้นเลือดฝอยของเมืองหรือการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดเล็ก เป็นเรื่องสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง แม้การพัฒนาลักษณะดังกล่าว อาจดูไม่น่าตื่นเต้น เหมือนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูงนับหมื่นล้าน แต่การกระจายงบประมาณมหาศาลเป็นโครงการย่อยๆ ที่เชื่อมโยงกันจะทำให้เมืองน่าอยู่และคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นได้

 

“มิติของอนาคตคนเมืองน่ากลัว หากถามว่าคนจะอยู่กรุงเทพฯ ไหมในอนาคต ในห้องนี้คนจำนวนมากไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ หรอก ทุกคนโรแมนติกอยากไปอยู่ต่างจังหวัด เขาใหญ่ เชียงใหม่ เพราะฉะนั้นในอนาคตกรุงเทพฯ อาจไม่รอดก็ได้ ถ้าเราไม่ทำให้มันดี หัวใจของเมืองในอนาคตคือต้องดึงคนเก่งให้ได้ เหมือนซิลิคอนแวลลีย์ดีได้เพราะดึงคนเก่งได้ แต่คนเก่งไม่อยู่เมืองห่วยๆ คนเก่งอยากอยู่ในเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดี ถ้าเมืองไม่มีคนเก่ง เมืองอยู่ไม่ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์” รศ.ดร.ชัชชาติกล่าว 

 

ด้านการสร้างความร่วมมือกับคนทุกกลุ่มในเมือง เป็นอีกประเด็นสำคัญที่วิทยากรให้ความสำคัญ รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มักถูกคาดหวังจากภาคประชาชนให้เป็น ‘ฮีโร่’ ที่สามารถแก้ไขทุกปัญหาได้เพียงคนเดียว แต่ในทางปฏิบัติ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กทม. มีความสลับซับซ้อน ทั้งรูปแบบของปัญหาและโครงสร้างการบริหารงาน การสร้างเมืองน่าอยู่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน 

 

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาเมืองต้องเริ่มจากการมีระเบียบวินัยของภาคประชาชน พร้อมกับการออกแบบโครงสร้างเมืองและสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง เพื่อปรับพฤติกรรมของคนควบคู่กันไปด้วย เช่น การแก้ไขปัญหารถติด นอกจากภาครัฐจะปรับปรุงคุณภาพระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ภาคประชาชนก็ต้องพร้อมเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) เปลี่ยนพฤติกรรมจากการขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลเป็นรถขนส่งสาธารณะ เป็นต้น 

 

รศ.ดร.ชัชชาติ ยังกล่าวถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของ กทม. ที่มีรูปแบบการบริหารแบบรวมศูนย์และมีหน่วยงานในสำนักส่วนกลางทำงานทับซ้อนกับหน่วยงานในระดับเขต นอกจากนี้ผู้อำนวยการเขตยังไม่มีความผูกพันกับเขต และรู้จักเขตที่ตนเองดูแลไม่ดีเพียงพอ เนื่องจากการหมุนเวียนตำแหน่งตามระบบราชการ ดังนั้น จึงเสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารงานเพื่อให้ผู้อำนวยการเขตใกล้ชิดกับประชาชน และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในเขตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ กทม. จำเป็นต้องเปิดระบบ Open Bangkok เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐและสามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างโปร่งใสอีกด้วย 

 

สำหรับการบรรยายสาธารณะ ‘โดยรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง’ หัวข้อ ‘Better City จะทำเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างไร’ ได้รับความสนใจจากนิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สื่อมวลชน ผู้แทนภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนทั่วไปร่วมฟังการบรรยายกว่า 100 คน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising