×

CEO ทั่วโลกหวั่นปม ‘AI – โลกร้อน’ กดดันความอยู่รอดขององค์กรในระยะยาว

17.01.2024
  • LOADING...
AI - โลกร้อน

PricewaterhouseCoopers เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดพบว่า เกือบครึ่งของบรรดาผู้บริหารบริษัทชั้นนำทั่วโลก มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความอยู่รอดในระยะยาวของธุรกิจของตน โดยมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยี Generative AI และภาวะดิสรัปชันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

 

อย่างไรก็ตาม Bob Moritz ประธาน PwC Global บอกกับ Reuters Global Markets Forum ว่ามี CEO ราว 55% ที่คิดว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ขณะที่ 45% ของ CEO ทั่วโลกมากกว่า 4,700 คนไม่เชื่อว่าธุรกิจของพวกเขาจะอยู่รอดได้ ยกเว้นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายในช่วง 10 ปีข้างหน้านับจากนี้ 

 

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าใน Generative AI ถือเป็นข้อกังวลอันดับต้นๆ ของผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ โดยเกือบ 75% คาดการณ์ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจของตนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในอีก 3 ปีข้างหน้า โดย CEO ส่วนใหญ่คาดหวังว่า AI จะต้องได้รับการฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ สำหรับพนักงาน ในขณะที่หลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ข้อมูลที่ผิด และความลำเอียงต่อกลุ่มลูกค้าหรือพนักงานเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่บริษัทต้องเร่งพัฒนาแรงงานที่มีทักษะในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้งาน 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ PwC ล่าสุดยังแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่กดดันอัตรากำไรขององค์กร โดยผู้บริหาร 4 ใน 10 คนกล่าวว่า ตนเองยินดียอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าสำหรับการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตาม มีบริษัทไม่ถึง 50% ที่มีการรายงานความคืบหน้าต่อการรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการวางแผนทางการเงิน โดย 31% ระบุว่าไม่มีแผนที่จะดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด

 

รายงานระบุว่า โดยรวมแล้วบริษัทต่างๆ มีความมั่นใจมากขึ้นในภาพการเติบโตทั่วโลกในปีนี้ โดยมีแนวโน้มการเติบโตเชิงบวก 38% ซึ่งมากกว่าสองเท่าของการสำรวจในปี 2023 แต่ความมั่นใจดังกล่าวก็ลดลงในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยท้าทายที่เข้มข้นมากกว่าเดิม รวมถึงแนวทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะไม่ใช่เรื่องที่สามารถดำเนินการได้อย่างง่ายดายเหมือนเช่นที่ผ่านมา 

 

รายงานดังกล่าวของ PwC มีขึ้นในช่วงที่บรรดาผู้นำภาครัฐและเอกชนทั่วโลก รวมถึงตัวแทนจากภาคประชาสังคมเดินทางมาร่วมการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยอีกหนึ่งหัวข้อไฮไลต์ของการประชุมที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดก็คือ ทิศทางแนวโน้มของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี 

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในการประชุม World Economic Forum ในปี 2024 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นหัวข้ออันดับหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการพูดคุยมากที่สุด ท่ามกลางบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกส่วนหนึ่งที่กำลังผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการ AI อย่างแข็งขัน โดยชี้ให้เห็นว่า AI คืออนาคตของโลกต่อจากนี้ (The Future is AI)

 

นักวิเคราหะชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวตอกย้ำถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของการลงทุนด้าน AI โดยได้รับแรงหนุนจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ ChatGPT ซึ่งเป็นแชตบอต AI ที่พัฒนาโดย OpenAI และเปิดตัวเมื่อปลายปี 2022

 

รายงานระบุว่า หลายฝ่ายกำลังจับตามองผลลัพธ์ของการพูดคุยในการประชุม World Economic Forum ที่เชื่อว่าบรรดาบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกทั้งหลายจะแสดงจุดยืนหลากหลายด้านเกี่ยวกับอนาคตของ AI และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 

 

ขณะที่ประเด็นในส่วนของคริปโตเคอร์เรนซี แม้จะมีการพูดถึงบ้างแต่ก็ไม่ได้มากมายเทียบเท่ากับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งฝั่งที่ขับเคลื่อนสกุลเงินดิจิทัลมองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพราะหลายปีที่แล้วอุตสาหกรรม Blockchain และ Crypto ต้องคอยอธิบายเรื่องราวของเทคโนโลยีเบื้องหลังคริปโต ซึ่งตรงข้ามกับผลลัพธ์การใช้งานคริปโตที่เกิดขึ้น ดังนั้นโฟกัสที่หันมาสนใจ AI แสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มโฟกัสกับเทคโนโลยีเบื้องหลังที่จะเป็นแกนหลักในการพัฒนา และสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแท้จริง 

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ในปัจจุบันยังแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมคริปโตไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองอีกต่อไป ขณะที่บางคนมองว่าการอนุมัติ Bitcoin ETF โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่คริปโตเริ่มได้รับการยอมรับในฐานะสินทรัพย์ที่ถูกกฎหมาย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X