×

“เรือรบหรือขนมเค้ก” พิจารณ์ถามกลับประยุทธ์ ปมเรือหลวงสุโขทัยอับปาง เกิดจากขาดความพร้อมใช้งาน ฝ่ายบริหารจ้องจะกินกันให้ได้ทุกส่วน

โดย THE STANDARD TEAM
16.02.2023
  • LOADING...
เรือหลวงสุโขทัย

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์) ที่รัฐสภา พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยตั้งคำถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นความบกพร่องโดยสุจริต หรือเป็นความจงใจบกพร่องจากการทุจริตทีละน้อย จนแม้แต่ผู้กระทำผิดเองก็คาดไม่ถึงว่าจะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างมหาศาล

 

พิจารณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมพูดถึงสาเหตุของเหตุการณ์นี้ 3 ข้อ ได้แก่ 

 

สาเหตุที่หนึ่ง คือความผิดพลาดของมนุษย์ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความผิดพลาดของคนบนเรือ หรือของผู้ปฏิบัติงานบนชายฝั่ง เพราะในวันนั้น ภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยคือเดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบไปร่วมพิธีเทิดพระเกียรติกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่บริเวณหาดทรายรี จังหวัดชุมพร แต่เมื่อไปถึง ด้วยคลื่นลมแรง ทำให้ไม่สามารถทอดสมอบริเวณนั้นได้ จึงจำเป็นต้องเข้าเทียบท่า ซึ่งเมื่อดูจากแผนที่ ท่าเรือที่ใกล้ที่สุดคือท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

 

คำถามคือเหตุใดเรือหลวงสุโขทัยจึงไม่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือดังกล่าว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องชี้แจงว่าใครเป็นคนสั่งให้เรือหลวงสุโขทัยฝ่าคลื่นลมมุ่งหน้ากลับไปสัตหีบ จนนำมาสู่การล่มอับปาง

 

สาเหตุที่สอง คือสภาพอากาศ กองทัพเรือพยายามชี้แจงว่าวันเกิดเหตุมีคลื่นลมรุนแรงมากกว่าปกติ เมื่อไปดูรายงานการพยากรณ์อากาศของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ มีความคลาดเคลื่อนจากการพยากรณ์อากาศของทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา และของบริษัทเดินเรือเอกชนเป็นอย่างมาก เพราะกองทัพเรือบอกว่าวันนั้นคลื่นจะสูงประมาณ 2.5 เมตร ในขณะที่การพยากรณ์ของเอกชนระบุว่าคลื่นจะสูงถึง 6 เมตร 

 

อย่างไรก็ตาม จากโครงสร้างเรือถูกแบ่งเป็นห้องๆ ทุกห้องจะมีประตูผนึกน้ำ หมายความว่า หากถูกข้าศึกโจมตีแล้วมีน้ำรั่วเข้ามาทางใดก็สามารถปิดประตูผนึกน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องอื่นๆ ได้ ดังนั้น คลื่น 6 เมตรจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยล่ม เว้นเสียแต่ว่าเรือไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน เช่น ประตูผนึกน้ำใช้การไม่ได้ หรือซีลกันน้ำขอบประตูเสื่อมคุณภาพ อย่างไรก็ตาม อดีตข้าราชการทหารเรือหลายคนยืนยันกับตนว่า เรือหลวงสุโขทัยถือเป็นเรือระดับคอร์เวตต์ สามารถทนคลื่นสูงถึง 6 เมตรได้ หากเรืออยู่ในสภาพพร้อมรบ

 

จึงนำมาสู่สาเหตุที่สาม คือความพร้อมในการใช้งานของตัวเรือ ในคณะกรรมาธิการการทหาร เชิญกองทัพเรือมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรือหลวงสุโขทัยรวม 4 ครั้ง ขอเอกสารไปหลายรายการ แต่ได้มาแค่ 2 รายการ จนถึงวันนี้เกือบ 2 เดือนหลังเหตุการณ์ กองทัพเรือยังอ้างว่าต้องใช้เวลารวบรวมเอกสาร 

 

อย่างไรก็ตาม เอกสารที่ตนมีวันนี้ คือเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย ด้วยงบประมาณกว่า 60 ล้านบาท ในช่วงพฤษภาคม 2561 – มกราคม 2564 น่าสงสัยว่าในเมื่อกองทัพเรือมีเอกสารแบบนี้ ทำไมไม่ยอมส่งให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร

 

“ตามรายงานนี้จะพบว่า เรือหลวงสุโขทัยแม้ซ่อมเสร็จแล้ว แต่ยังมีปัญหาหลายจุด ตั้งแต่จุดเล็กๆ ไปจนถึงจุดใหญ่ๆ จนผมกล้าพูดเลยว่านี่ไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง เป็นการทุจริตในการซ่อมทำ แบ่งกันกินทีละส่วน คนละคำ จนผมชักไม่แน่ใจว่าตกลงนี่มันเรือรบหรือขนมเค้กกันแน่” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์กล่าวต่อไปว่า ปัญหาหลายจุดที่ว่านั้น เช่น สมอเรือ จากการทดสอบการใช้งานจริงหลังการซ่อม พบว่ามอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง มีอาการหยุดการทำงานในบางจังหวะ มาตรวัดแรงดันต่างๆ ที่ใช้ในเรือก็ใช้การไม่ได้ เครื่องจักรหลายตัวมีค่าการสั่นสะเทือนที่ผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Power Generator) เสีย ใช้ได้ 3 เครื่องจาก 4 เครื่อง เป็นต้น

 

“ทำไมซ่อมแล้วยังมีปัญหา ผู้มีหน้าที่ซ่อมซ่อมกันอย่างไร คนมีหน้าที่ตรวจรับไปตรวจรับให้ผ่านได้อย่างไร และเวลามาของบประมาณจากสภา เรื่องซ่อมบำรุงต่างๆ บอกว่าต้องดำรงสภาพความพร้อมในการรบ แบบนี้เรียกว่าพร้อมในการรบหรือไม่ หรือคือความจงใจไม่ซ่อมให้สมบูรณ์ หรือจริงๆ แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ ก็รู้อยู่ว่าไม่ได้ต้องไปรบกับใคร เอาไว้แสดงวันเด็ก กับพาผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพออกไปประกอบพิธีลอยอังคารก็พอ สรุปแล้วคือซ่อมโดยไม่ได้สนใจภารกิจป้องกันประเทศเลยใช่ไหม” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์กล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาสำคัญคือการซ่อมตัวเรือ ซึ่งมีทั้งส่วนที่อยู่ใต้แนวน้ำ ผิวน้ำ และเหนือน้ำ แม้ตัวถังเรือจะทำมาจากเหล็ก แต่ถูกใช้งานไปนานๆ โดยเฉพาะส่วนที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ก็จะถูกกร่อนจนบางไปเรื่อยๆ และต้องมีการซ่อมบำรุงด้วยการตัดเชื่อมเหล็กตัวเรือใหม่ให้มีความหนาตามมาตรฐาน นับรวมแล้วได้ 13 จุด แต่บางจุดกลับไม่ได้ซ่อม รวมถึงจุดกราบขวาของเรือ เป็นผนังของห้องเครื่องยนต์และห้องเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรือหลวงสุโขทัย และกราบซ้ายก็ไม่ได้ซ่อม ดังนั้นหากมีการแตกร้าว ไม่ว่าจะกราบซ้ายหรือขวา น้ำทะเลจะไหลเข้าท่วมในห้องเครื่องยนต์ดีเซลและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จนนำมาสู่การอับปางลงของเรือหลวงสุโขทัยได้อย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบลึกลงไปว่าใครเป็นคนซ่อม พบว่าเป็นการจ้างซ่อมโดยเอกชนรายหนึ่ง ที่ไม่แน่ใจเลยว่ามีศักยภาพในการซ่อมทำหรือไม่ เนื่องจากมีทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท และมีพนักงานประจำเพียง 20 คน แต่รู้กันทั้งกองทัพเรือว่าทำไมเอกชนรายนี้ถึงได้งานซ่อมตัวเรืออยู่เสมอ เป็นเพราะมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับ พล.ร.ท. ว. ชื่อเล่น ก. อดีตเจ้ากรม หรือไม่

 

อีกเรื่องคือการซ่อม Fin Stabilizer หรือครีบกันโคลง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รักษาสมดุลของเรือเวลาเจอคลื่นลมแรง ตนได้ถามกองทัพเรือใน กมธ. ว่าตกลงแล้ว ในการซ่อมเรือหลวงสุโขทัยมีการถอดชิ้นส่วนนี้ออกไปหรือไม่ ทางกองทัพเรือตอบว่า ด้วยเรือมันเก่าแล้ว หาอะไหล่มาซ่อมไม่ได้ อีกทั้งการซ่อมทำครีบกันโคลงหากทำได้ไม่ดี กลับจะเป็นผลร้ายต่อสมดุลของเรือเสียมากกว่า จึงถอดทิ้งไปเลย เรืออาจจะโคลงมากขึ้นแต่ไม่เป็นไร พร้อมทั้งยืนยันว่าครีบกันโครงจะมีหรือไม่มีก็ไม่ได้มีผลทำให้เรือล่ม

 

พิจารณ์กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2566 เรือหลวงสุโขทัยยังมีคิวรอซ่อมอีกตั้ง 19 รายการ รวมมูลค่า 16.25 ล้านบาท งานซ่อมที่ใหญ่ที่สุด คือการซ่อมเกียร์ฝั่งซ้าย 7.5 ล้านบาท ตนนึกไม่ออกเลยว่าทำไมเรือที่ต้องรอซ่อมเกียร์ และรายการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 19 รายการ ทำไมถึงอนุญาตให้ออกไปปฏิบัติภารกิจได้ ทำไมถึงไม่จอดเทียบท่าหรืออยู่ในอู่

 

นอกจากนี้ อัตรากำลังพลของเรือหลวงสุโขทัยก็ยังว่างและขาดบรรจุเป็นจำนวนมาก โดยตำแหน่งที่สำคัญที่สุดที่ว่างไปก็คือต้นกลหรือหัวหน้าวิศวกร ยืนยันว่าในวันที่เกิดเหตุเรือหลวงสุโขทัยล่ม บนเรือไม่มีต้นกลไปด้วย ต้นกลนี้ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล รักษาเครื่องยนต์และเครื่องจักรใหญ่ที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด คือบุคลากรที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรในยามฉุกเฉินมากที่สุด

 

พิจารณ์ตั้งคำถามว่า ตนไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะแบริ่งเพลาจักรรั่วซึม หรือแผ่นเหล็กใต้ท้องเรือที่ทนรับความเครียดสะสมในเนื้อเหล็กไม่ไหวแตกร้าว จึงทำให้น้ำทะเลไหลเข้าใต้ท้องเรืออย่างรวดเร็ว โดยไหลเข้าไปในส่วนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าล้มเหลว เครื่องยนต์ดับลง เจ้าหน้าที่พยายามติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมายเลข 4 ไม่สามารถใช้งานได้ เรือรบที่มีขนาดเกือบ 80 เมตร หนักเกือบ 1 พันตัน จึงเหลือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพียง 1 ตัว ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนต่อไปได้ ในท้ายที่สุด เรือหลวงสุโขทัยที่มีรูรั่ว ขาดต้นกล ขาดมาตรวัดที่ใช้งานได้จริง ขาดครีบกันโคลง และขาดกำลังเครื่องยนต์ที่จะไปต่อ จึงต้องจมลงสู่ก้นอ่าวไทย สังเวยชีวิตทหารเรือ 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย

 

“ทำไมถึงจ้องจะกินกันให้ได้ทุกส่วน การซ่อมบำรุงก็ไม่ได้มาตรฐาน อะไหล่ที่ควรจะเปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน ผู้รับเหมาที่จ้างมาซ่อม แทนที่จะเป็นบริษัทดีๆ กลับเป็นบริษัทห้องแถวที่ไหนก็ไม่รู้ สรุปแล้วเป็นเรือรบหรือเป็นขนมเค้กกันแน่ครับ ท่านปล่อยปละละเลย ให้มีการทุจริตในทุกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ รวมถึงการซ่อมเรือรบของกองทัพ ปล่อยให้กำลังพล พี่น้องทหารเรือ ต้องทนใช้เรือรบที่ไม่ได้ถูกซ่อมบำรุงอย่างเหมาะสมให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ทำศึกสงคราม จนเกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้” พิจารณ์กล่าว

 

พิจารณ์กล่าวทิ้งท้ายว่า โปรดอย่ามองยุทโธปกรณ์เป็นเหมือนขนมเค้กที่ต้องแบ่งกันกิน ตั้งแต่การจัดซื้อไปจนถึงการจัดซ่อม เพราะทุกคำที่กัดกินอย่างเอร็ดอร่อยโดยคิดว่า “แค่คำเดียวไม่เป็นไรหรอก” พอกัดกันหลายคนเข้า มันก็ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้ อย่างกรณีเรือหลวงสุโขทัยนี่เอง และตนยืนยันว่า ไม่ว่าเราจะเพิ่มงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากเท่าใดก็ตาม แต่ตราบใดที่เรายังอยู่ภายใต้รัฐบาลปรสิต ในระบอบ 3 ป. เราก็จะยังคงอยู่ในการทุจริต คอร์รัปชัน ระบบแบ่งกันกิน 

 

แต่แล้วก็ปกปิดความผิดกันไป เราจะไม่มีวันมีกองทัพที่เข้มแข็ง ไม่มีกองทัพที่เคารพในหลักการประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน พี่น้องนายทหารน้ำดีก็ยังคงจะต้องหมดความชอบธรรม ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากพี่น้องประชาชน จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องปฏิรูปกองทัพ ซึ่งคือเรื่องเดียวกันกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคม

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising