×

หรือยุคทองของเซเลบริตี้เชฟจะมาถึงจุดจบ?

12.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 MINS READ
  • ยากที่เชฟจะรักษามาตรฐานอาหารเมื่อมีร้านจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อแขกจ่ายเงินเพื่อได้สัมผัสความเป็นเชฟคนดัง แล้วพวกเขาไม่ได้รับสิ่งนั้น
  • แม้จะพึ่งชื่อของเชฟมากเพียงใด ร้านอาหารไม่สามารถต้านพฤติกรรมของเหล่าคนกินที่หันไปหารสอาหารที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเชฟขึ้นชื่อ ไม่ต่างจากศิลปะแขนงอื่นที่รสนิยมและความชอบนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
  • เจมี โอลิเวอร์ เตรียมยุบร้าน Jamie’s Italian ถึง 12 สาขา จาก 37 ร้านทั่วสหราชอาณาจักร และมีรายงานว่าเครือร้าน Jamie’s Italian มีหนี้สินถึง 71.5 ล้านปอนด์ หรือราวๆ 3 พันล้านบาท
  • ถ้ามองในแง่ของการขายแบรนด์ความเป็นตัวเอง ชื่อของ แอนดริว คาร์เมลลินี คงไม่ติดฝุ่นถ้าเทียบกับเชฟระดับเซเลบ แต่ตัวร้านของเขากลับสร้างชื่อด้วยตัวเอง เพราะเขาได้ทำในสิ่งที่เชฟที่ประสบความสำเร็จในนิวยอร์กเคยทำไว้ก่อนเชฟจะผันตนประดุจร็อกสตาร์
  • แม้ชื่อเสียงของเชฟจะดังเสียดฟ้า แต่เรื่องราวความน่าประทับใจก่อนจะกลายมาเป็น ‘ร้านอาหาร’ ได้สักร้าน กลับขายตัวเองและสร้างมูลค่าได้ไม่น้อย

เมื่อตอนที่ร้านอาหาร Savelberg ของ เฮงค์ ซาเวลเบิร์ก (Henk Savelberg) เชฟชื่อดังชาวฮอลแลนด์มาเปิดที่โรงแรมโอเรียนเต็ล เรสซิเดนซ์ กรุงเทพฯ ปี 2014 ฉันตั้งคำถามว่า ‘เหตุใดเขาจึงตัดสินใจปิดกิจการร้านอาหาร 1 ดาวมิชลินสตาร์ที่บ้านเกิดแล้วย้ายทุกอย่างมาเริ่มใหม่ที่กรุงเทพฯ’

 

เฮงค์ ซาเวลเบิร์ก หาใช่เชฟเอ็กซ์แพตต่างชาติที่ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่มาทำงานในไทยเท่านั้น เขาขึ้นชื่อว่าเป็นเฮดเชฟชาวดัตช์เพียงคนเดียวที่พาร้านอาหารทั้ง 5 แห่งไปคว้าดาวมิชลินมาได้สำเร็จตั้งแต่ปี 1997 จากประสบการณ์กว่า 20 ปี และยังเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมอาหารและการครัวที่รู้จักในแวดวงอาหารของเนเธอร์แลนด์อย่าง เลส์ปาตรอง กูซินีเยร์ส (Les Patrons Cuisiniers) แต่เขาย้ายทุกอย่างนับตั้งแต่ถ้วยชามช้อนส้อมในร้านมาปักหลักตั้งต้นใหม่ในกรุงเทพฯ เพราะอะไร?

 

“เม็ดเงินอยู่ในเอเชีย” เฮงค์ในวัย 65 ปีตอบกับฉันตรงๆ เมื่อตอนเปิดร้าน

 

เขาอาจคิดไม่ผิด เพราะ Savelberg ในกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นอีกหนึ่งแห่งที่เชฟมือฉมังผู้นี้พาไปคว้าอีก 1 ดาวมิชลินได้สำเร็จจากการจัดทำคู่มือมิชลินไกด์ กรุงเทพฯ ปี 2018 ส่งผลให้ร้านกลายเป็นหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักชิมทั่วโลก (อีกครั้ง)

 

แลร์รี คิงและภรรยา กับโธมัส เคลเลอร์ที่งานเปิดร้าน Bouchon ในปี 2009

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2009 เหล่าชาวกรุงฝั่งลอสแอนเจลิสฮือฮากับการเปิดตัวของร้าน Bouchon ของเชฟโธมัส เคลเลอร์ (Thomas Keller) ในเบเวอร์ลี ฮิลส์ ที่มีดาวดังอย่าง เพียร์ซ บรอสแนน (Pierce Brosnan) ไปจน เจย์ เลโน (Jay Leno) ไปร่วมงาน และได้รับเกียรติจากนายกเทศมนตรีไปตัดริบบิ้น ถึงขนาดเว็บไซต์ Eater ของ LA เปรยว่าเป็นร้านที่จองโต๊ะยากมหาหิน และปาปารัซซียังสามารถดักเก็บภาพคนดังที่ทยอยเดินเข้าออกจากร้านได้ทุกวัน แต่ทุกวันนี้ Bouchon กลับร้างว่างเปล่า ร้านเพิ่งปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคมปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาสัญญาเช่าที่ ซึ่งแถลงการของเชฟโธมัส เคลเลอร์ระบุว่า “ด้วยหลายๆ ปัจจัยทำให้ร้านอาหารไม่สามารถทำกำไรได้อีกต่อไป”

 

แต่ปัญหาของเขาในฐานะเจ้าของร้านอาหารถึง 7 ดาวมิชลิน (Per Se 3 ดาว, The French Laundry 3 ดาว และ Bouchon 1 ดาว) กลับไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเหล่าเชฟและคนในวงการอาหาร เพราะช่วงปีที่ผ่านๆ มา เราได้เห็นการปิดตัวร้านอาหารมากมาย โดยเฉพาะของเหล่าเซเลบริตี้เชฟระดับท็อป บางปัญหาอยู่ที่ค่าเช่าที่ที่ดีดตัวสูงขึ้น ธุรกิจที่โตเร็วเกินไป จนพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเหล่าคนกินที่หันไปหารสบ้านๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเชฟขึ้นชื่อในครัวกันมากขึ้น

 

จะว่าไปก็ไม่ต่างจากศิลปะแขนงอื่นที่รสนิยมและความชอบของคนนั้นเปลี่ยนไปตามเวลา

 

กอร์ดอน แรมซีย์ที่งานเปิดร้าน Maze ในปี 2009

 

ร้านอาหารของเชฟระดับยูนิคอร์นที่ปิดตัวไปแล้วมีตั้งแต่ Emeril’s Orlando ของเชฟเอเมอริล ลากาส (Emeril Lagasse) ในออร์แลนโด ฟลอริดาที่ปิดตัวหลังเปิดบริการมาถึง 19 ปี ขณะที่ Maze ของกอร์ดอน แรมซีย์ (Gordon Ramsay) ในลอนดอนกำลังปิดตัวลงในเดือนมกราคม 2019 หลังจากเปิดมา 14 ปี โดยก่อนหน้านั้นมีรายงานว่าเขาขาดทุนถึง 3.8 ล้านปอนด์ โดยร้านจะกลับมาพร้อมกับคอนเซปต์ใหม่ เช่นเดียวกับ Bread Street Kitchen & Bar ในฮ่องกงที่หนังสือพิมพ์ South China Morning รายงานว่า เตรียมปิดตัวและปรับโฉมใหม่ในเดือนสิงหาคมปี 2019 ส่วน DBGB ของแดเนียล บูลูด (Daniel Boulud) ในนิวยอร์กที่เปิดมา 8 ปีก็กำลังปิดตัวลงเช่นกัน The New York Times รายงานว่า โฆษกของเชฟแดเนียล บูลูดเผยว่า การปิดตัวของร้านที่โลเวอร์อีสต์ไซด์นั้นเนื่องจาก “พื้นที่บริเวณละแวกเติบโตไม่ทันเท่าที่คาดการณ์ไว้”

 

นอกเหนือจากเชฟระดับแถวหน้าข้างต้นและเชฟมือฉมัง เช่น เฮงค์ ซาเวลเบิร์ก แล้ว เชฟชื่อก้องโลกอย่าง เจมี โอลิเวอร์ (Jamie Oliver) เองก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ต่างกัน โดยหลังจากควักเงินในกระเป๋าถึง 3 ล้านปอนด์เพื่อยื้อธุรกิจ บริษัทก็ประกาศเตรียมยุบ Jamie’s Italian ถึง 12 สาขา จาก 37 ร้านทั่วสหราชอาณาจักรภายในปี 2018 เว็บไซต์ของ The Guardian ยังรายงานอีกว่า เมื่อดูจากเอกสารแล้ว เชนร้าน Jamie’s Italian นั้นมีหนี้สินถึง 71.5 ล้านปอนด์ (หรือราวๆ 3 พันล้านบาท) ทั้งยังมีลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้างอีกด้วย แต่ทางโฆษกของเจมีเผยว่า เงินจำนวนนั้นถือเป็นเรื่องปกติในแง่ธุรกิจ และลูกจ้างทุกคนได้รับค่าตอบแทน ทั้งยังเผยว่าเขากำลังเปิดอีก 10 สาขาใหม่ “และกำลังมองหาช่องทางใหม่ๆ ในต่างแดน”

 

นั่นอาจเป็นเหตุผลหลักเดียวกับเฮงค์ ที่เขาตัดสินใจผุด Jamie’s Italian ขึ้นที่กรุงเทพฯ บ้านเราเมื่อปี 2017 นี่เอง

 

Jamie’s Italian เสิร์ฟอาหารอิตาเลียนกินง่ายตามสไตล์เจมี โอลิเวอร์

 

ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องยากที่ดาราดังในวงการอาหารจะรักษามาตรฐานของตนเมื่อมีร้านอาหารจำนวนมหาศาลในมือ เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งอาจว่าจ้างเชฟผิดคน หรือตัวเชฟเจ้าของแบรนด์ไม่มีเวลาไปช่วยสอนงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแขกที่ไปจ่ายเงินเพื่อได้สัมผัสความเป็นเชฟสุดฮอตคนดังแบบตัวเป็นๆ แล้วพวกเขาไม่ได้รับสิ่งนั้น ทั้งโอกาสก็ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออาณาจักรอาหารของพ่อครัวชื่อก้องขยายไปรอบโลก ทำให้แขกที่ไปเริ่มลดลง

 

“การได้เห็นเชฟที่พวกเขาจองคิวนับเดือนมาเพื่อลิ้มลองฝีมืออยู่ในครัวมอบความอุ่นใจให้กับแขกที่มา ดังนั้นผมจะโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียว่าเดินทางอยู่ก็ต่อเมื่อผมกลับมาแล้วเท่านั้น” เชฟชาวดัตช์ โอโนะ ค็อกไมเยอร์ (Onno Kokmeijer) แห่งห้องอาหาร Ciel Bleu ร้านอาหาร 2 ดาวมิชลินในอัมสเตอร์ดัมเผยกับฉันเมื่อตอนเยือนกรุงเทพฯ

 

กาย เฟียรี กับรายการ Guy’s Grocery Games ช่อง Food Network

 

สำหรับดาวดังบนจอแก้วก็ไม่ต่างกันนัก แม้รายการโทรทัศน์จะสร้างชื่อให้กับเชฟมากมาย ครั้นอาจไม่ช่วยเสมอไปเมื่อมาถึงแง่ธุรกิจ ทอม โคลิกกิโอ (Tom Colicchio) ดาวดังจากรายการ Top Chef เพิ่งประกาศเลิกกิจการร้าน Craftbar ของเขาหลังจากเปิดมาถึง 15 ปี เนื่องจากเจ้าที่ขอขึ้นค่าเช่า 50 เปอร์เซ็นต์

เมื่อเดือนมกราคมปี 2018

 

ร้าน Bar Americain ในย่านมิดทาวน์ในนิวยอร์กของ บ็อบบี เฟลย์ (Bobby Flay) ดาราดังประจำช่อง Food Network เองก็เพิ่งประกาศปิดตัวหลังจากเปิดในปี 2005 ส่วนเพื่อนร่วมช่องอย่าง กาย เฟียรี (Guy Fieri) ก็โดนหางเลขไม่แพ้กันกับร้าน Guy’s American Kitchen & Bar ที่เปิดไปเมื่อปี 2012 ที่ไทม์สแควร์ และประกาศปิดในเดือนมกราคมเช่นกัน CNN รายงานว่า เพราะร้านถูกจวกยับจากบรรดานักวิจารณ์ ใน The New York Observer นักวิจารณ์ถึงกับเรียกอาหารของเขาว่า “ห่วยแตก” และ “ต่ำช้า” และ The New York Times ได้หยิบยกชื่อเมนูชวนฉงนจากร้าน อาทิ ‘Donkey Sauce’ ที่นักวิจารณ์อาหาร พีท เวลส์ (Pete Wells) ตั้งคำถามไว้ว่า “ส่วนไหนของลาที่เราควรจะนึกถึงกันแน่?” บทความนี้ถือเป็นหนึ่งในบทวิจารณ์อาหารที่เสียดแทงที่สุดที่เคยตีพิมพ์ใน The New York Times

 

บ็อบบี เฟลย์ ดาราดังประจำช่อง Food Network

 

ยุคหนึ่งเหล่าเชฟต่างตบเท้าพกเม็ดเงินไปลงทุนในดินแดนแสงสีที่ไม่เคยหยุดนิ่งอย่างลาสเวกัส และแม้ร้านขึ้นชื่อเหล่านั้นจะยังดำเนินกิจการ แต่ทิศทางของกระแสความต้องการด้านอาหารอาจค่อยๆ เปลี่ยนไป ตอนที่โรงแรม Cospololitan เปิดตัวในปี 2010 มีร้านอาหารฝีมือเชฟดังจากวอชิงตันด้วยกัน 3 ร้าน แต่ไม่เท่านั้น ทางโรงแรมยังเพิ่งเพิ่มร้านสไตล์ฟู้ดคอร์ตแบบอัพสเกลเข้าไปอีก 6 ร้าน อันได้แก่ร้านโดนัทและไก่ทอดเผ็ดสไตล์แนชวิลล์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “แขกที่มาพักมองหาอาหารฟาสต์ฟู้ดที่กินได้เร็วในราคาระดับกลางเพิ่มขึ้น” และอาจเป็นเพราะร้านอาหารที่พึ่งเชฟชื่อก้องอาจไม่ได้ทำกำไรให้กับโรงแรมดังคาด ทั้งยังต้องควักเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์และค่าตัวเชฟมือดีในครัวจนอาจไม่เหลือกำไรด้วยซ้ำ

 

เมื่อเดือนพฤษภาคม Norwegian Bliss เรือเดินสมุทรลำใหม่เอี่ยมของเครือ Norwegian Cruise Line Holdings Ltd. ออกแล่นสู่มหาสมุทรโดยไม่เหลียวหลังรอร้านอาหารของเซเลบริตี้เชฟ แทนที่ด้วยร้านอาหารแบบบาร์บีคิวสโมกเฮาส์ ซึ่งนักวิจารณ์และเหล่าผู้รีวิวชมเปาะเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำได้ดีในฐานะที่เป็นสโมกเฮาส์บนเรือ ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ไฟอย่างมาก โดยก่อนหน้านั้นนิตยสาร Latitudes รายงานว่า บริษัทได้สวมคอนเวิร์สแยกทางหลังหมดสัญญากับ เจฟฟรีย์ ซาคาเรียน (Geoffrey Zakarian) เชฟกระทะเหล็กที่ร้าน Georgie ของเขาในเบเวอร์ลี ฮิลส์เองเพิ่งปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018

 

แอนโทนี บัวร์เดนในยุครุ่งเรืองของ Les Halles

 

รวมถึงผู้ชนะเชฟกระทะเหล็กอย่าง โฮเซ การ์เซส (Jose Garces) ซึ่งเครือร้านของเขาเพิ่งยื่นล้มละลายไปในเดือนพฤษภาคม โดยในชั้นศาลนั้นโฮเซเผยว่า เขาขอยืมเงินจำนวน 5.5 ล้านเหรียญ (180 ล้านบาท) เพื่อใช้เปิดร้าน Amanda ในแบตเตอรี่ปาร์คซิตี้ในนิวยอร์ก “เราอยากมีส่วนแบ่งในตลาดนิวยอร์ก แต่ทุกอย่างเป็นความเสี่ยงได้ทั้งนั้น” เขาเผย เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด เมื่อไม่ทำกำไรบวกกับค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงลิ่วจนทำให้บริษัททั้งเครือติดลบ โฮเซระบุอีกว่า เขาได้รวมบริษัทเข้ากับเครือกาแฟ PJ’s Coffee of New Orleans และเปิดเชนร้านเม็กซิกันแทงกาเรียภายใต้ชื่อ Buena Onda ที่เน้นกินดื่มแบบเร็วแทน

 

ความคาดหวังจากการลงทุนมหาศาลในย่านที่ค่าครองชีพสูงลิ่วเพื่อผลกำไรที่สูงตามไปด้วยนั้นเสี่ยงมาก และสิ่งนี้เองกระมังที่ทำให้ร้าน Bouchon ของโธมัส เคลเลอร์ต้องปิดฉากลง จากเอกสารที่ยื่นให้กับทางการ ร้านของเขาในเบเวอร์ลี ฮิลส์มี 2 ชั้น และมีพื้นที่กว้างถึง 12,000 ตารางฟุตทุกชั้น มีทั้งส่วนไวน์บาร์และเฉลียงด้านนอก จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าเช่าสูงชวนตาโตถึง 106,000 เหรียญ (เฉียด 3 ล้าน 5 แสนบาท) ต่อเดือน

 

Les Halles ที่ว่างเปล่า เหลือเพียงคำอำลาแด่เชฟผู้ล่วงลับ

 

ฟิลิปเป ลาโฮนี (Philippe Lajaunie) หุ้นส่วนหลักของร้าน Les Halles บนถนนจอห์น สตรีท ในนิวยอร์ก ร้านที่กลายเป็นตำนานจากเชฟแอนโทนี บัวร์เดน (Anthony Bourdain) ผู้เคยเป็นเอ็กเซ็กคิวทีฟเชฟ เผยกับ Bloomberg ว่า แม้จะพึ่งใบบุญจากชื่อเสียงของเชฟดังค้ำฟ้ามากเพียงใด ก็ไม่สามารถต้านกระแสการกินดื่มที่เปลี่ยนไป รวมถึงคดีความต่างๆ ได้ โดยเมื่อปี 2015 รายได้ตลอดปีของร้านหดอยู่ที่ 5 ล้านเหรียญ (ราวๆ 163 ล้านบาท) จากพฤติกรรมของคนที่หันมาดื่มยามบ่ายแก่ๆ และคนรุ่นใหม่ที่เริ่มรับประทานอาหารตอน 5 ทุ่ม และใน 3 เดือนแรกของปี 2017 ร้านสูญเสียเงินถึง 80,000 เหรียญ (2 ล้าน 6 แสนบาท) จากยอดขายทั้งหมด 387,000 เหรียญ (12 ล้าน 6 แสนบาท) ส่งผลให้ต้องปิดร้านอันลือชื่อลงในปี 2017

 

คำที่ว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ คงเป็นจริง เพราะกระแส #MeToo ยังส่งผลมาถึงวงการอาหาร ทั้ง จอห์น เบช (John Besh) ที่ลดบทบาทลงจากเครือร้านของเขา รวมถึง มาริโอ บาทาลี (Mario Batali) ที่หลังจากถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศ กลุ่มบริษัท Las Vegas Sands Corp. ก็ปิดร้านอาหารของเขาถึง 4 ร้านในเวกัสและสิงคโปร์ในปี 2017

 

ถึงแม้รายการแข่งขันทำอาหารในไทยนั้นยังคงเฟื่องฟู แต่ตัวเลขจาก Nielsen ประมาณการดิ่งลงอย่างต่อเนื่องของยอดผู้ชมช่อง Food Network ซีซันนี้ในสหรัฐฯ ว่าอยู่ที่ 4.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยอดผู้ชมรายการต่างๆ ของเคเบิลทีวีที่ลดลง และปีนี้เองช่อง ABC ยังยกเลิกรายการ The Chew ของไมเคิล ไซมอน (Michael Symon) และมาริโอ บาทาลีอีกด้วย

 

ดาเนียล ดีเลนีย์ กับเนื้อบริสเกตที่ไปได้สวย

 

ขณะที่ประกายเด่นของดาราโทรทัศน์ค่อยๆ ริบหรี่ลง เชฟจากนิวยอร์ก แอนดริว คาร์เมลลินี (Andrew Carmellini) กลับโดดเด่นแซงหน้าเชนร้านแบรนด์ดังจากร้านอาหารที่สร้างชื่อยิ่งกว่าตัวของเขาเอง ร้าน The Dutch, Bar Primi และ Locanda Verde เป็นที่รู้จักในหมู่นักกินเสียจนคุณอาจไม่รู้และไม่แคร์ด้วยซ้ำว่า ‘ใคร’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ต่างจากเพื่อนคนครัวอย่าง ทอม โคลิกกิโอ หรือ มาริโอ บาทาลี ที่สร้างชื่อเสียงจากการปรากฏตัวทางจอแก้วก่อนเปิดร้านอาหาร แอนดริวสามารถผลักดันให้ร้านของเขาเป็นร้านโปรดในใจเหล่านักกินในตลาดมหาหินของนิวยอร์กได้ท่ามกลางร้านพ่วงชื่อเชฟดังระดับโลก การันตีด้วยร้าน Locanda Verde ที่เข้าชิงรางวัล James Beard Award ในฐานะร้านอาหารหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในปี 2010 และไม่ใช่เพราะเป็นร้านหรูไฟน์ไดนิ่งราคาแพง แต่จากการเสิร์ฟอาหารอิตาเลียนง่ายๆ ในบรรยากาศสบายๆ เข้าใจง่าย

 

ถ้ามองในแง่ของเสน่ห์จับกล้องหรือการขายแบรนด์ความเป็นตัวเอง ชื่อของแอนดริวคงไม่ติดฝุ่นถ้าเทียบกับเชฟระดับเซเลบอย่างเจมี โอลิเวอร์, กอร์ดอน แรมซีย์ หรือเดวิด ชาง (David Chang) แต่ตัวร้านกลับสร้างชื่อด้วยตัวเองได้ดีกว่าใคร หรือเรียกง่ายๆ ว่าเขาทำในสิ่งที่เชฟในนิวยอร์กเคยทำและประสบความสำเร็จในยุคก่อนหน้า ก่อนที่เชฟจะผันตัวประหนึ่งร็อกสตาร์

 

 

ข้ามไปอีกฝั่งในบรูกลิน คนบ้าอาหารอย่าง แดเนียล ดีเลนีย์ (Daniel Delaney) จับทิศทางที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปของการกินอาหารได้อย่างน่าจับตามอง หลังจากถ่ายทำเรื่องราวของอาหารริมทางกับกลุ่มเพื่อนด้วยเครื่องมือก๊อกแก๊กที่หาได้ เขาก็ติดใจในรสชาติของบาร์บีคิวเนื้อบริสเกต (เสือร้องไห้) จนกลับมาสร้างเครื่องรมควันเล็กๆ ตรงระเบียงบ้านของเขาในบรูกลิน และทำบาร์บีคิวบริสเกตสไตล์เท็กซัส จนเกิดเป็น Brisketlab ป๊อปอัพที่มีผู้ตามมาชิมจากทั่วประเทศจำนวนมาก จนตั้งร้านเล็กๆ ในวิลเลียมส์เบิร์กและขายบริสเกตได้เป็นพันๆ ปอนด์ ตัวของแดเนียลระบุว่า เขายังต้องพัฒนาฝีมืออีกไกล แต่ พีท เวลส์ จาก The New York Times ให้ไฟเขียว และเรียกหนุ่มบริสเกตว่า “เป็นชายที่คลั่งการปิ้งบาร์บีคิวที่สุดในนิวยอร์ก”

 

‘เชฟ’ อย่างแดเนียล ดีลานีย์ รวมถึงเหล่าบรรดาฟู้ดทรักนี่เองที่เปิดฝาครอบจานอาหารแบบดั้งเดิมให้แทนที่ด้วยความสร้างสรรค์ที่ไม่จำต้องมีกรอบเกณฑ์ ทั้งการปรุงอาหารสไตล์บ้านๆ ริมทาง แบบดิบๆ ที่พวกเขาหยิบมาปรุงแต่งอย่างไม่มีเก้อเขิน พวกเขาสร้างบรรทัดฐานแนวใหม่ให้กับวงการอาหารที่ผู้คนหันมาหลงรัก

 

แม้ชื่อเสียงของเชฟจะดังเสียดฟ้าแค่ไหน แต่เรื่องราวความน่าประทับใจที่ทำให้กลายมาเป็น ‘ร้านอาหาร’ ได้สักร้านกลับสามารถขายตัวเองและสร้างมูลค่าได้ไม่น้อย

 

ท้ายสุดธุรกิจอาหารที่ห้อยนามสกุลด้วยชื่อคนดังอาจเป็นสูตรความสำเร็จของร้านในอดีตที่ต้องปัดฝุ่น และอาจกลายเป็นดาบสองคมไปเสียแล้วก็ได้

 

อ่านเรื่องบทเรียนชีวิตที่อยู่นอกชั้นเรียนผ่านมุมมองของ แอนโทนี บัวร์เดน ได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X