×

บทเรียนชีวิตที่อยู่นอกชั้นเรียนผ่านมุมมองของ แอนโทนี บัวร์เดน

11.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • แอนโทนี บัวร์เดน สอนคนทั้งโลกให้มองการท่องเที่ยวในมุมมองที่ต่าง เขาไม่ใช่ ‘นักท่องเที่ยว’ แต่เป็น ‘นักเดินทาง’ ผู้ต้องการจะเห็นในทุกที่ที่ไปผ่านสายตาคนที่เรียกที่แห่งนั้นว่า ‘บ้าน’
  • เขาพาเราไปสู่เวสต์เวอร์จิเนีย สู่ใจกลางกลุ่มที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อค้นหาในสิ่งที่อเมริกาและคนทั่วโลกอยากรู้ โดยใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องผ่านสมการและคำตอบ
  • เขาเป็นเพียงนักเรียนและนักฟังมากกว่าจะเป็นครู และการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ กับผู้คนหน้าใหม่ที่หลากหลายเป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้
  • แม้สถานที่ที่ไปจะอยู่ไกลและแตกต่างจากสิ่งที่คุ้นเคย ผู้คนแลดูไม่เหมือนคนในแบบที่รู้จัก ทั้งด้วยความเชื่อและวิถีชีวิตที่ต่าง แต่อย่าได้กลัว และจงใช้ความอยากรู้อยากเห็นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ลองเปิดใจชิมดู
  • เขาเดินอย่างมั่นอกมั่นใจ ไม่รีบ และไม่ลังเล ราวกับไม่มีอะไรทำให้เขาขวัญแขวนได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกกลัว คนส่วนมากคงไม่มีวันได้รู้อีกต่อไป

แอนโทนี บัวร์เดน (Anthony Bourdain) เชฟ นักเขียน และนักเล่าเรื่องคนดังชาวอเมริกัน เสียชีวิตในวัย 61 ปีท่ามกลางความงุนงงและความตกตะลึงของคนทั่วโลกว่าเหตุใดเขาจึงเลือกจบชีวิตอันน่าอิจฉาของตัวเองลงขณะเดินทางเพื่อถ่ายทำรายการ Parts Unknown ในประเทศฝรั่งเศส

 

แอนโทนีโด่งดังในวงกว้างจากรายการโทรทัศน์ที่คว้ารางวัลมานับไม่ถ้วนจากการถ่ายทำในที่ที่คน ‘ไม่กล้า’ ที่จะไป นับตั้งแต่แม่น้ำคองโกในแอฟริกาไปจนถึงความหนาวเหน็บของแอนตาร์กติกา เขายังเป็นนักเขียนหนังสือมือทองระดับเบสต์เซลเลอร์ที่จุดประกายคนมากมายให้ ‘กล้า’ ที่จะออกไปเผชิญโลกอันกว้างใหญ่ หรือตัดสินใจเลือกอาชีพคนครัว

 

ครั้งหนึ่งชายคนนี้บอกว่า จากที่ได้สอบถามและพูดคุยกับคนทั่วโลกว่า “อะไรทำให้คุณมีความสุข คุณกินอะไร และคุณเข้าครัวทำอะไร” การตามหาสิ่งเหล่านี้ให้อะไรกับเขามากกว่าแค่คำตอบ แต่กลับบอกเป็นนัยให้เขา ‘เลิกกลัว’ แม้สถานที่ที่ไปจะอยู่ไกลและช่างแตกต่างจากสิ่งที่คุ้นเคย ผู้คนดูไม่เหมือนคนในแบบที่รู้จัก ทั้งด้วยความเชื่อและวิถีชีวิตที่ต่างออกไป แต่อย่าได้กลัว และจงใช้ความอยากรู้อยากเห็นเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปิดใจลองชิมดู

 

(บน) แอนโทนี บัวร์เดน สมัยยังเป็นเชฟ,

(ล่าง) ดอกไม้ไว้อาลัยหน้าร้าน Les Halles Brasserie ในนิวยอร์ก

 

ในคืนที่ทั่วโลกรับรู้ถึงการจากไปของเขา ฉันได้เห็นการไว้อาลัยหลากหลายรูปแบบจากเพื่อนนักเขียนด้านอาหาร เหล่าเชฟ และคนครัวที่ฉันรู้จัก ไปจนถึงคนรักที่มักเปิดรายการ Parts Unknown ของเขาทาง Netflix คลอไปขณะเข้าครัวปรุงอาหาร นี่คือการสูญเสียครั้งใหญ่ และสิ่งที่มีค่าอันเป็นเสมือนของขวัญที่ชายที่ชื่อ แอนโทนี บัวร์เดน ได้ทิ้งเอาไว้ให้กับพวกเขาและใครก็ตามที่เคยได้อ่านหรือชมงานของเขาก็คือ ‘ความกล้า’

 

“เหตุผลที่ผมจากบ้านในเท็กซัสมาทำงานที่กรุงเทพฯ ก็เพราะหนังสือของแอนโทนี บัวร์เดน ทำให้ผมอยากไปเอเชีย ผมตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่นคนเดียวหลังจากดูรายการของเขา และมันเปลี่ยนชีวิตผมจากคนที่ไม่กล้าเดินเข้าร้านอาหารเพื่อจะสั่งราเมนสักชาม 5 ปีผ่านไปแล้ว ผมยังอยู่ในเอเชียอยู่เลย” เอริก สตีเฟนสัน (Eric Stephenson) บาร์เทนเดอร์แห่งร้าน 88 ย่านสุรวงศ์ กรุงเทพฯ บอกผ่านเฟซบุ๊กของเขา

 

Photo: John Bazemore / AP

 

จากหนังสือ Kitchen Confidential ตีพิมพ์ในปี 2000 ที่แอนโทนีเปิดประตูครัวตีแผ่เรื่องราวเบื้องหลังแวดวงอาหารและเปลี่ยนมุมมองที่คนมองเกี่ยวกับร้านอาหารที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักจนมาถึงรายการโทรทัศน์ สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเสมอเกี่ยวกับแอนโทนีก็คือความใจเด็ด ไม่กลัวกับอะไรง่ายๆ อย่างตอนที่เขาบู๊แหลกบนรถเอทีวีกลางทะเลทรายจนรถคว่ำและกลิ้งทับเขาใน No Reservations หรือตอนที่เดินทางไปเลบานอน แม้ทางการจะเตือนถึงระดับความปลอดภัย สิ่งนั้นกลับไม่ได้หยุดเขาให้ไปพูดคุยกับคนในท้องถิ่นหรือนั่งชิมอาหารของพวกเขาสักนิด

 

ชายคนนี้ยังเปลี่ยนมุมมองของรายการอาหารที่มักจะถ่ายทำในสตูดิโอ ในยุคที่มีดาวดังแวดวงอาหารอย่าง อัลตัน บราวน์ (Alton Brown), บ็อบบี้ เฟลย์ (Bobby Flay) หรือราเชล เรย์ (Rachael Ray) ฯลฯ แต่แอนโทนีกลับฉีกกฎการทำรายการอาหารเดิมๆ ออกไป ซึ่งรายการแรกของเขาในฐานะโฮสต์อย่าง A Cook’s Tour ทางช่อง Food Network ที่ออกอากาศในปี 2002 แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างผ่านสายตาที่เขามองเกี่ยวกับเรื่องอาหารเสมอมา ตลอดทั้ง 2 ซีซันและกว่า 35 ตอน เขาเดินทางไปยังกัมพูชา เม็กซิโก เวียดนาม และบราซิล พาผู้ชมอเมริกันที่ดูอยู่หน้าจอทีวีขณะนั้นไปยังสถานที่อันไกลโพ้นที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้ไปง่ายๆ หรือกินสิ่งที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน จนกลายเป็นรายการแนวที่เราได้เห็นจนคุ้นเคยทุกวันนี้นับตั้งแต่เขาปรากฏตัวครั้งแรกทางโทรทัศน์ 

 

Parts Unknown ในโอมาน

Photo: CNN

 

แอนโทนียังสอนคนทั้งโลกให้มองการท่องเที่ยวในมุมมองที่แตกต่าง เขาไม่ใช่ ‘นักท่องเที่ยว’ แต่เป็น ‘นักเดินทาง’ ที่ไม่ได้เพียงเที่ยวผ่านสายตาในแบบอเมริกัน ไม่ได้เพียงคว้ากล้องมาถ่ายรูปคาเฟ่สวยๆ แต่กลับนำตัวเองไปอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ และพร้อมจะมือเปรอะเพื่อกินข้าวแบบที่คนพื้นเมืองทำ แม้อาหารนั้นจะแลดูห่างไกลสิ่งที่เขาคุ้นเคย เช่น No Reservations ซีซัน 3 ในนามิเบีย ที่เขากินก้นหมูป่าที่เพิ่งควักออกมาสดๆ แล้วนำมาย่างโดยยังไม่ได้ล้าง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่กลับไม่ปฏิเสธ

 

“หัวหน้าเผ่ามอบสิ่งนี้ให้เป็นของขวัญแก่ผมต่อหน้าคนทั้งเผ่า” แอนโทนีพูดถึงเมนูชวนตะลึงนั้น “เราต้องเคารพ ให้เกียรติเขา ผมโชคดีมากที่ได้มาอยู่ตรงนี้ และถือเป็นเกียรติที่ได้มาเห็น ดังนั้นการกินยาปฏิชีวนะถือว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับประสบการณ์ที่ผมได้”

 

ชายผู้นี้พูดอยู่เสมอผ่านการเล่าเรื่องทางโทรทัศน์และหนังสือตลอดเส้นทางการทำงานของเขาว่าเขาเป็นเพียงนักเรียนและนักฟังมากกว่าจะเป็นครู และการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ กับผู้คนหน้าใหม่ที่หลากหลายนั้นเป็นกุญแจสำคัญในการเรียนรู้ และเขาไม่ชอบ ‘นักท่องเที่ยว’ เอามากๆ ถึงขนาดวิพากษ์ไว้ในบทความใน The New Yorker และหนังสือ Kitchen Confidential ไปจนถึงรายการทีวี อ่านถึงตรงนี้ คุณอาจมองว่าเขาเองก็เป็นนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่ไปเยือนสถานที่ต่างถิ่น แต่ในสายตาของแอนโทนีแล้ว ‘นักท่องเที่ยว’ แสดงให้เห็นถึงความเบาปัญญา ไร้การศึกษา บ่งบอกถึงคนที่ปฏิเสธที่จะมองโลกจากภายนอกนอกเหนือจากมุมมองของตัวเอง ในขณะที่เขาต้องการจะเห็นทุกที่ที่ได้ไปผ่านสายตาของคนที่เรียกที่แห่งนั้นว่า ‘บ้าน’

 

Parts Unknown เมื่อตอนไปเวียดนามและกระดกเบียร์ท้องถิ่นกับบารัก โอบามา

Photo: @PartsUnknownCNN / Facebook

 

รายการ The Layover ของช่อง Travel Channel ที่ออกอากาศในปี 2011-2013 เขาสอนเราทุกคนให้เลิกหน่ายกับการติดแหงกที่สนามบินและโรงแรม และใช้ใจสำรวจโดยไม่ต้องพึ่งอาหารจากร้านเชนต่างๆ ด้วยการออกไปตระเวนหาอะไรอร่อยๆ จนจบซีซันที่ 9 ก่อนที่เขาจะย้ายไปสู่ช่อง CNN จนเกิดเป็นรายการ Parts Unknown ที่หลายคนรู้จักดี เพราะนี่เป็นรายการที่พาเขาออกไปท่องโลกยิ่งกว่าเก่า โดยยังมีอาหารเป็นส่วนผสมของการเล่าเรื่อง แต่สิ่งที่เขานำเสนอมากกว่านั้นคือประเด็นต่างๆ ที่เขาหยิบมาพูด เช่น หาคำตอบว่าโคลอมเบียลุกขึ้นมาจากปัญหาพ่อค้ายาเสพติดที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอย่างไร คนในเมืองดีทรอยต์ที่ผู้คนเคยเดินกันอย่างหวาดกลัวบนท้องถนนกลับมาทวงคืนความน่าอยู่อย่างไร และในซีซัน 11 ที่ออกอากาศไปเมื่อต้นปี 2018 นี้เอง เขาพาเราไปสู่เวสต์เวอร์จิเนีย สู่ใจกลางกลุ่มที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อค้นหาในสิ่งที่อเมริกาและคนทั่วโลกอยากรู้ โดยใช้อาหารเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องผ่านสมการและคำตอบ

 

“ง่ายที่จะเป็นคนนอกที่มองจากไกลๆ แล้วบอกว่ายุคทองของถ่านหินมันจบลงแล้ว และคนทำเหมืองควรไปทำอย่างอื่นได้แล้ว” เขาพูดในรายการ “แต่ให้เขาไปทำงานอะไรเล่า นั่นเพราะงานที่รองรับที่ยังว่างอยู่ของรัฐนี้คือต้องยอมไปเป็นพนักงานในวอลมาร์ท ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมองอย่างไรก็ควรให้เกียรติความคิดความเห็นของพวกเขาด้วย”

 

Parts Unknown ขณะมาถ่ายทำในประเทศไทย

Photo: @PartsUnknownCNN / Facebook

 

นอกเหนือจากการอยู่หน้าจอโทรทัศน์เพื่อพาออกไปเปิดโลกแล้ว ชายวัย 61 ปียังเป็นโปรดิวเซอร์อยู่เบื้องหลัง The Mind of a Chef รายการอาหารซึ่งทำร่วมกับเชฟเดวิด ชาง (David Chang) ที่ไม่ได้พาเข้าครัวเท่านั้น แต่ถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในความคิดของเชฟออกมาได้อย่างน่าสนุก นี่คือรายการที่เน้นไปที่กระบวนการคิดของเชฟแต่ละคนที่มีต่ออาหาร อันเป็นหนึ่งในความสำเร็จของเขาที่ไม่ได้อยู่หน้ากล้องเสมอไป

 

การนำเสนอโลกผ่านสายตาที่เกี่ยวข้องกับอาหารของแอนโทนีย์ บัวร์เดน ทำให้รายการ The Mind of a Chef คว้ารางวัล Emmy และ 3 รางวัล James Beard ขณะที่ No Reservations ได้รางวัล Primetime Emmy และ Parts Unknown ได้ Primetime Emmy ไปถึง 4 ตัวด้วยกัน แอนโทนีได้เปลี่ยนมุมมองของอาหาร การเดินทาง วัฒนธรรม และโลกว่าไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกัน แต่หลอมรวมกันเป็นหนึ่ง และเขาได้เปลี่ยนองศาความคิดของคนมากมายไปอย่างสิ้นเชิง

Red shirt’s bad, yellow shirt’s good? Or yellow shirt’s bad, red shirt’s good? I don’t really know who the good guys or the bad guys are.

Nothing to do really, but eat. It’s hot, really hot.

– แอนโทนี บัวร์เดน (No Reservations, 2010)

เฮเลน รอสเนอร์ (Helen Rosner) คอนทริบิวเตอร์ของ The New Yorker ให้คำจำกัดความถึงแอนโทนีเอาไว้ว่า “แอนโทนีทำให้คุณรู้สึกว่าเขาคือโทนี พี่ชาย ไม่ก็คุณลุงที่บ้าบิ่น หรือพ่อสุดเจ๋งที่คุณอาจไม่เคยมี เขาเป็นเหมือนเพื่อนที่จริงสุด ฉลาดสุด ที่บังเอิญออกไปตระเวนดื่มเบียร์กับคนแถวบ้านคืนหนึ่งแล้วจับพลัดจับผลูไปออกทีวีจนไม่ยอมกลับบ้าน”

 

ซึ่งหากลองเสิร์ชหาภาพของแอนโทนีบนอินเทอร์เน็ต สิ่งที่คุณจะเห็นคือภาพที่เขายืนหรือนั่งหันหน้าหากล้อง เชิดหน้าเล็กน้อย และสบตาตรงๆ กับคุณ สีหน้าของเขาแสดงออกถึงชายที่กำลังยิ้มเยาะกับสายตามุ่งมั่นที่พร้อมออกไปลุยกับความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิต และหากคุณเคยชมรายการของเขา ภาพที่คุ้นตาหนีไม่พ้นโทนีที่กำลังเดินผ่านย่านที่เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งเกิดความขัดแย้งหรือไอสงครามที่เพิ่งดับลง ไล่ไปจนถึงถิ่นอันหอมหวนคนมีเงิน เขาเดินอย่างมั่นอกมั่นใจ ไม่รีบ และไม่ลังเล ราวกับไม่มีอะไรทำให้เขาขวัญแขวนได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกกลัว คนส่วนมากคงไม่มีวันได้รู้อีกต่อไป

 

แอนโทนี บัวร์เดน ในภาพที่จะจดจำเขาเสมอ

Photo: @PartsUnknownCNN / Facebook 

 

อีกบทเรียนชีวิตที่อดีตเชฟผู้นี้มอบให้กับเราแม้เขาจะจากไป คือแม้จะคิดว่าเรารู้จักตัวตนของคนที่มีชื่อเสียงมากเพียงใด แม้ว่าเขาจะแลดูมีความสุขกับสิ่งที่ทำ กับการใช้ชีวิตราวกับที่คุณวาดฝันไว้ พวกเขาแลดู ‘จริง’ ผ่านตัวหนังสือที่เขียน และเป็นตัวของตัวเองต่อหน้ากล้องแค่ไหน แต่เราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าเขากำลังเอาชนะหรือฝ่าฟันกับอะไรอยู่ เพราะแท้จริงแล้วเขาเป็นเพียงชายแปลกหน้าที่คุณบังเอิญเจอผ่านจอโทรทัศน์หรือหน้ากระดาษเท่านั้น

 

เพื่อนๆ ของอดีตเชฟวัย 61 ปีบอกว่าเขา ‘แลดู’ มีความสุขกว่าที่ผ่านๆ มา แต่แอนดรูว์ ซิมเมิร์น (Andrew Zimmern) สหายคนสนิทและพ่อครัวคนดังที่ท่องโลกผ่านรายการอาหารไม่ต่างกันพูดบางอย่างที่เกี่ยวกับความสำเร็จที่เป็นเหมือนกับดาบสองคมว่า “การได้ทำตามความฝันจนสำเร็จอาจไม่ได้นำไปสู่ความสุขและความสบายใจเสมอไป มันอาจนำไปสู่ชั่วโมงการทำงานยาวนานที่ดึงพลังในตัวคุณออกไปขณะที่มัวก้มหน้าทำในสิ่งที่คุณรัก วิ่งวุ่นเพื่อให้ทุกอย่างออกมาดี แต่ไม่ตกกระแส แถมยังทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

 

และแอนโทนี บัวร์เดน ได้ทำทั้งหมดนั่น

 

แอนดรูว์ยังเผยกับ The New York Times อีกว่าเวลาที่เขากับ ‘โทนี’ นัดเจอกัน พวกเขามักจะพูดถึง “ความต้องการก้าวออกจากรถไฟเหาะที่พุ่งตัวอย่างบ้าคลั่งนี้ แต่ก็รู้ว่านี่คืองานที่พวกเขาตั้งใจจะทำ” เขากล่าวอีกว่า “โลกนี้สูญเสียคนดีๆ ไปเยอะแล้ว และผมก็เสียคนที่ผมสามารถเปิดอกคุยเรื่องนี้ไปได้อีกคน”

 

Photo: @PartsUnknownCNN / Facebook 

 

นอกจากจะเป็นนักสังเกตการณ์ผู้กล้า บทเรียนสุดท้ายที่เชฟ นักเขียน และนักเล่าเรื่องผู้กลายเป็นตำนานคนนี้ได้ทิ้งไว้ให้กับเราคือคำถามที่ใหญ่กว่านั้นถึงการมองชื่อเสียงและประสบความสำเร็จอันเป็นสิ่งที่ผู้คนโหยหาจนเรียกได้ว่ากระหาย ในยุคที่ ‘ความสำเร็จ’ และ ‘อายุน้อยร้อยล้าน’ กลายเป็นคำแฟรนไชส์ติดปากที่ถูกนำใช้จนเกร่อเพื่อกระตุ้นความโหยของคนทำงานยุคไลฟ์โค้ชและทุนนิยม เราเลือกมองความสำเร็จสีทองรุ่งโรจน์ของแอนโทนี บัวร์เดน ตลอดจนเคท สเปด (Kate Spade) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับความต่ำต้อยของตัวเองโดยไม่ได้นึกถึงเหลี่ยมมุมอื่นๆ ในชีวิตของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งว่าแท้จริงแล้วปลายทางของ ‘ความสำเร็จ’ อาจหาใช่ ‘ความสุข’ เสมอไป

 

เหมือนกับคำถามที่แอนโทนีทิ้งท้ายไว้ใน No Reservations เมื่อครั้งที่เขาไปซาร์ดิเนีย

 

“คุณจะทำอะไรต่อเมื่อความฝันเป็นจริงแล้ว”

 

ฉันหวังว่าแอนโทนีจะได้พบความสุขและสงบขณะออกไปค้นหา Parts Unknown ของเขาต่อไปที่ไหนสักแห่ง

 

อ่านเรื่อง ไขปริศนามืดมนของโรคซึมเศร้า ตอนที่ 1: ทำไมคนยุคนี้ถึงซึมเศร้า ได้ที่นี่

 

อ้างอิง:

FYI
  • หากสงสัยว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมและทดลองทำแบบคัดกรองโรคซึมเศร้าเพื่อประเมินตนเองในเบื้องต้นจากเว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิตได้ที่นี่
  • โทรศัพท์ปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขที่สายด่วนสุขภาพจิต หมายเลข 1323
  • สามารถพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้ทางแอปพลิเคชัน Ooca
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising