×

กรณีศึกษา SMEs ปรับตัวอย่างไรให้เป็นผู้ชนะ บนพื้นฐานการตัดสินใจด้วยข้อมูล

09.08.2023
  • LOADING...
SMEs ปรับตัว

“พวกเราถูกห้อมล้อมไปด้วยข้อมูลมากมาย แต่สิ่งที่เราโหยหาอย่างแท้จริงคืออินไซต์” Jay Baer นักเขียน และประธานบริหารที่ปรึกษาด้านการตลาด Convince & Convert 

 

ในแต่ละวัน กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ได้สร้างข้อมูล (Data) จำนวนมหาศาลถึง 328.8 ล้านเทระไบต์ ซึ่งถ้าจะให้เห็นภาพความใหญ่ของชุดข้อมูลเหล่านี้ ลองนึกถึงห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ‘หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน’ (Library of Congress) จากข้อมูลล่าสุดของห้องสมุดปี 2022 พวกเขาบริหารข้อมูลเนื้อหาต่างๆ ปริมาณ 21 เพตะไบต์ หมายความว่าต้องมีห้องสมุดนี้รวมกันประมาณ 15,000 แห่ง ถึงจะมีขนาดข้อมูลที่ผู้คนบนโลกสร้างขึ้นในเวลาเพียงแค่ 1 วัน

 

เมื่อทุกอย่างรอบตัวเรากำลังย้ายไปอยู่บนโลกดิจิทัลมากขึ้น ความสำคัญในการเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข้อมูลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย บริษัทต่างๆ มีการพึ่งพาข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคและพัฒนาธุรกิจให้ตรงความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

ใช้ข้อมูลเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มศักยภาพ…แต่ยังคงยากสำหรับ SMEs

 

ถ้าพูดถึงกลุ่มธุรกิจที่มีความท้าทายกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจแบบ SMEs ที่อาจจะยังมีข้อจำกัดทั้งในทรัพยากรความรู้ทางเทคนิคและเงินลงทุน อีกทั้งรายละเอียดข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งการนำข้อมูลมาปรับใช้กับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เต็มศักยภาพ ดังนั้น การทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมกับข้อมูลของธุรกิจ จะช่วยปลดล็อกความสามารถของ SMEs ให้เติบโตได้อีก

 

คำถามคือ แล้วข้อมูลที่มากขนาดนี้ เราจะเริ่มอย่างไรดีล่ะ?

 

ทอย-กษิดิศ สตางค์มงคล Head of Analytics Data Team Lead, Adapter Digital Agency และแอดมินเพจ DataRockie กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างชุดข้อมูลเพื่อให้ธุรกิจโตและมีโอกาสประสบความสำเร็จได้คือ การตั้งคำถามให้ถูกต้องก่อน เพราะกว่า 90% ของโปรเจกต์ Data Science ล้มเหลวเพราะการตั้งคำถามที่ผิดตั้งแต่แรก

 

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่กษิดิศแนะว่าไม่ควรมองข้ามคือ ความถูกต้องของข้อมูล ไม่ว่าข้อมูลจะเยอะขนาดไหน แต่ถ้ามันผิดก็เสียประโยชน์ เพราะจะได้อินไซต์ผิดๆ ออกมา หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘Garbage In, Garbage Out’

 

เพื่อให้เห็นความท้าทายของ SMEs ในการก้าวไปสู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล World Economic Forum ได้ศึกษา SMEs จำนวน 111 รายใน 42 ประเทศ กว่า 21 อุตสาหกรรม และเผยให้เห็นถึงสาเหตุของข้อจำกัดที่ธุรกิจ SMEs กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ

 

  1. ความไม่ชัดเจนของนโยบายการจัดการข้อมูล ทั้งในหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบ: 64% ของ SMEs ที่ร่วมประเมินบอกว่า พวกเขามีนโยบายข้อมูลส่วนตัว (Data Privacy Policy) ในขณะที่ 36% ไม่มี และเพียง 50% มีนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์
  2. ปัญหาในการดึงคุณค่าออกมาจากข้อมูลที่มีอย่างเต็มที่: 74% ของ SMEs เจอกับความลำบากในการใช้ประโยชน์ข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เสียไปในส่วนนี้
  3. ระบบไอทีที่ยังไม่เป็นหนึ่งเดียว: 55% ของ SMEs บอกว่า การเฟ้นหาข้อมูลตามต้องการเป็นเรื่องยาก ซึ่งอาจหมายถึงการเก็บข้อมูลที่ไม่เป็นระบบทำให้เสียเวลาค้นหา และ 54% เจอกับความท้าทายในการบริหารคุณภาพของข้อมูลที่ต้องอาศัยการอัปเดตเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง

 

อุปสรรคเหล่านี้มาจากหลายอย่างด้วยกัน เช่น กลยุทธ์การจัดการข้อมูลที่ไม่ชัดเจน, การจัดระเบียบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง, ความรู้ที่จำกัด ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวขัดขวาง SMEs ในการบริหารข้อมูลให้ได้ในแบบที่ควรจะเป็น และมีโอกาสนำมาสู่การตั้งคำถามต่อความปลอดภัยของข้อมูลในอนาคตว่า เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายหรือไม่ 

 

‘สุวิรุฬห์’ ตัวอย่าง SMEs ไทยที่ยกระดับธุรกิจจากข้อได้เปรียบด้านข้อมูล

 

บริษัท สุวิรุฬห์ชาไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชาออร์แกนิกในไทย ได้ใช้ข้อมูลเป็นตัวชี้นำการตัดสินใจทางธุรกิจหลายด้าน ทั้งการพัฒนากระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดขยะ

 

การมีระบบข้อมูลที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของสุวิรุฬห์มีความโปร่งใสขึ้น เพราะสามารถบอกถึงแหล่งที่มาของสินค้าและวัตถุดิบได้ ถือเป็นการตอกย้ำต่อเป้าหมายความยั่งยืนของบริษัท โดยความโปร่งใสนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้สินค้าของสุวิรุฬห์ได้ใบรับรอง แต่ยังสื่อไปถึงความมุ่งมั่นต่อการค้าขายที่มีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบ Supply Chain ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

 

ดังนั้น SMEs ควรเร่งอัปเกรดกลยุทธ์ข้อมูลของตนเพื่อยกระดับธุรกิจให้ทันโลก โดยกษิดิศให้ภาพเบื้องต้นว่า การจะนำข้อมูลมาใช้ให้ธุรกิจเติบโตได้นั้น ก่อนอื่นจะต้องเอาข้อมูลมาอยู่ในที่เดียวกันก่อน เพราะตอนนี้ข้อมูลที่ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่มีอยู่นั้นมันกระจัดกระจายไปอยู่คนละที่ เช่น แผนกการตลาด ฝ่ายบุคคล หรือการเงิน ต่างมีข้อมูลเป็นของตัวเอง แต่ถ้าเราสามารถดึงข้อมูลให้มาอยู่ด้วยกันได้เป็น ‘Single Source of Truth’ แล้ว จะช่วยให้การนำมาใช้ประโยชน์เป็นไปได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการควบคุม หรือ Data Governance ที่รักษาไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลออกไปด้วย

 

SMEs มีข้อได้เปรียบในการขยับตัวที่เร็วกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่ยังไม่มีระบบจัดการข้อมูลที่ดีในการใช้เวลากับการตั้งคำถามว่า จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อตอบโจทย์อะไร และจะเก็บข้อมูลให้ถูกต้องอย่างไร เพราะคำถามที่ใช่จะนำไปสู่คำตอบเอง

 

เหมือนที่ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าผมมีเวลา 60 นาทีในการแก้ไขปัญหา ผมจะใช้ 55 นาทีเพื่อเข้าใจปัญหา และ 5 นาทีในการหาคำตอบ”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising