×

“คาร์ลไม่ใช้อินเทอร์เน็ต!” พูดคุยกับ Caroline Lebar ผู้หญิงเก่งที่ทำงานกับ Karl Lagerfeld มากว่า 30 ปี

04.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • คาโรลีนเริ่มทำงานกับคาร์ลมาตั้งแต่อายุ 19 ปี ตอนที่เธอยังเป็นเด็กฝึกงาน และต่อมาได้ลองอีกหลากหลายตำแหน่งภายใต้ร่มเงาของแบรนด์ Karl Lagerfeld
  • ความไวในการทำงานของคาร์ลทำให้คาโรลีนต้องทำงานผ่านการส่งข้อความทางโทรศัพท์ หรือไลฟ์ผ่านสไกป์ที่ทางผู้ช่วยส่วนตัวของคาร์ลจะเซตอัพให้ เพราะคาร์ลเองไม่ใช้อีเมลหรืออินเทอร์เน็ต และการใช้สไกป์ทำให้คาร์ลสามารถตรวจงานได้อย่างเรียลไทม์
  • ในเวลาว่าง คาโรลีนชอบอบทาร์ตที่บ้านพักตากอากาศและถ่ายรูปลงอินสตาแกรม @carolinelebar จนวันหนึ่งมีสำนักพิมพ์มาติดต่อให้ทำหนังสือชื่อ Une Tarte Pour Dimanche ที่ขายดีและถูกนำไปแปลหลายภาษา

 

 

“เบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายมักมีผู้หญิงเก่งอยู่เคียงข้างอยู่เสมอ” คือหนึ่งในวลีสำคัญที่เกิดขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับวงการแฟชั่นที่ล้วนแล้วแต่มีผู้หญิงที่ทำงานหลายตำแหน่ง ตั้งแต่เด็กฝึกงาน ช่างเย็บผ้า บัญชี ยันผู้ช่วยส่วนตัวที่อดหลับอดนอน ต่อสู้ และมีแพสชันที่อยากช่วยทำให้ผลงานของแบรนด์นั้นประสบความสำเร็จมากที่สุด

 

ซึ่งถ้าต้องศึกษาเส้นทางสายอาชีพของหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์แฟชั่นอย่างดีไซเนอร์ชาวเยอรมัน คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ที่ทำงานมามากกว่า 60 ปี เขาก็ล้วนแล้วถูกล้อมรอบด้วยทีมงานที่เปี่ยมล้นความสามารถตั้งแต่ยุคที่เขาทำแบรนด์ Chloé จนถึงทุกวันนี้กับ Chanel และ Fendi

 

แต่ยังมีอีกหนึ่งแบรนด์ที่คาร์ลก่อตั้งมากับมือและดูแลจนถึงทุกวันนี้นั้นคือ Karl Lagerfeld ตามชื่อของเขา ซึ่ง THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองกับ คาโรลีน เลอบาร์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของแบรนด์ ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ขณะที่เธอบินมาเป็นประธานเปิดงานคอลเล็กชันที่ทำร่วมกับ Jaspal โดยเธอได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับคาร์ลมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี รวมทั้งพูดถึงการสร้างแบรนด์แฟชั่นในยุคสมัยนี้ และเรายังได้ทำความรู้จักตัวเธอ เบื้องหลังชุดสูทดำ กางเกงขายาว และผมลอนใหญ่สีเทา ที่หากเราไม่เคยรู้จักเธอมาก่อนก็คงเดาได้ว่าเธอทำงานให้แบรนด์ Karl Lagerfeld แน่ๆ

 

 

Photo: Karl Lagerfeld

 

คาโรลีนเริ่มทำงานกับคาร์ลมาตั้งแต่อายุ 19 ปี ตอนที่เธอยังเป็นเด็กฝึกงาน และต่อมาได้ลองอีกหลากหลายตำแหน่งภายใต้ร่มเงาของแบรนด์ Karl Lagerfeld ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร มาร์เก็ตติ้ง และพีอาร์ ซึ่งเธอบอกว่าไม่เคยคิดจะเปลี่ยนงานหรือไปทำที่อื่น เพราะการได้ทำงานกับคาร์ลก็ถือว่าเป็นขั้นสุดยอดที่สุดในการทำงานสายแฟชั่น และคาร์ลเองเป็นคนที่ถูกล้อมรอบด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ที่เขาเชื่อใจเสมอมา และจะให้ทุกคนได้ลองทำหลายๆ อย่าง

 

“แค่เพราะว่านามบัตรฉันเขียนว่าทำงานด้านสื่อสาร แต่จริงๆ แล้วทุกคนในทีมก็ต้องยืดหยุ่นและช่วยเหลืออีกหลากหลายหน่วยงาน เช่นเมื่อก่อนฉันก็จะไปช่วยด้านแคสติ้งนางแบบสำหรับแฟชั่นโชว์ในยุคที่แบรนด์ยังจัดอยู่” คาโรลีนกล่าว

 

หากใครได้ติดตามเส้นทางของแบรนด์ Karl Lagerfeld ที่เริ่มในปี 1984 ก็จะรู้ว่าแบรนด์นี้มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อสร้างจุดยืนในสมรภูมิวงการแฟชั่นที่การแข่งขันสูง โดยในปี 2012 แบรนด์ Karl Lagerfeld ได้ตัดสินใจรีแบรนด์และปรับเปลี่ยนตัวเองแบบ 360 องศาภายใต้ซีอีโอคนใหม่ ปิแอร์ เปาโล ริกี ที่ช่วยทำให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 6 ปี

 

“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว Karl Lagerfeld มีทีมงานประมาณ 18 คน และไม่มีร้านเป็นของตัวเอง แต่มาวันนี้เรามีพนักงาน 200 คนกับร้าน 100 สาขาทั่วโลก สิ่งที่เราตัดสินใจทำเมื่อ 6 ปีที่แล้วคือการกบดาน นอนพักนิ่งๆ และศึกษาตลาดดูว่าเราควรไปในทิศทางไหน โดยคาร์ลเองก็อยากทำให้แบรนด์เข้าถึงคนง่ายขึ้นและกว้างขวางขึ้น” คาโรลีนพูดอย่างหนักแน่น

 

 

สิ่งที่แบรนด์ Karl Lagerfeld เลือกทำคือการเป็น ‘ดิจิทัลแบรนด์’ อย่างเต็มตัว แบรนด์หยุดทำแฟชั่นโชว์ รวมถึงเลือกที่จะใช้ช่องทางออนไลน์และอีคอมเมิร์ซในการเข้าถึงฐานลูกค้า ซึ่งตอนนี้มีคนดูแลโซเชียลมีเดีย 3 คน และจะมีการฟีดคอนเทนต์ทางเว็บไซต์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊กที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ลักษณะของแพลตฟอร์ม แถมออนไลน์สโตร์ยังขนส่งสินค้าไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

 

ส่วนทางแบรนด์เองก็จะมีการทำแคปซูลคอลเล็กชันพิเศษอยู่เป็นประจำ เช่น ร่วมกับศิลปินนำการ์ตูนตัวสัญลักษณ์คาร์ล ‘Karl Ikonik’ และแมวของเขา Choupette (ที่ทุกวันนี้มีแอ็กเคานต์บนอินสตาแกรมของตัวเองพร้อมกับคนติดตามเป็นแสน) มาตีความใหม่ในรูปแบบของแต่ละคน ส่วนตัวคาร์ลเองก็จะมีการร่วมมือกับอีกหลายแบรนด์ดังทั่วโลกตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือแม้แต่โรงแรม

 

“คาร์ลเป็นหนึ่งในแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้บุกเบิกการทำ collaboration กับแบรนด์ต่างๆ มาโดยตลอด ซึ่งเขาเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะทำสินค้าพร้อมราคาที่เข้าถึงง่าย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะซื้อ Chanel หรือ Fendi ได้ โดยแต่ละครั้งเราต้องดูว่าสินค้าหรือแบรนด์ที่เสนอโปรเจกต์มาจะสะท้อนมิติอะไรใหม่ต่อตัวคาร์ลไหม เช่น ไม่กี่ปีก่อนเราทำโปรเจกต์กับ Faber-Castell ที่คาร์ลดีไซน์สีไม้เซตพิเศษ ซึ่งก็เข้ากับคอนเซปต์ชีวิตของคาร์ลที่ต้องสเกตช์ภาพดีไซน์อยู่ตลอดเวลา” คาโรลีนกล่าว

 

ภายในร้าน Karl Lagerfeld

Karl Lagerfeld for Jaspal

Karl Lagerfeld for Faber-Castell

 

สำหรับโปรเจกต์ Karl Lagerfeld for Jaspal ที่เป็นการร่วมมือครั้งแรกกับแบรนด์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ถือว่าเกิดขึ้นหลังทางทีม Jaspal ได้ศึกษาแบรนด์ Karl Lagerfeld อย่างถี่ถ้วนและทำข้อเสนอที่ชัดเจนว่าอยากทำคอลเล็กชันออกมารูปแบบไหน โดยสินค้ามีตั้งแต่เคสมือถือราคา 695 บาท จนถึงเสื้อยืด ชุดเดรส กระเป๋า และแจ็กเก็ตหนังที่ราคาสูงสุดอยู่ที่ 5,995 บาท

 

แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนในวงการแฟชั่นต่างทึ่งคือพลังในการทำงานที่ไม่เคยหยุดนิ่ง คาร์ลดีไซน์เสื้อผ้ามากกว่า 15 คอลเล็กชันต่อปี และคำว่า ‘เกษียณ’ ดูยังห่างไกลหากเทียบกับดีไซเนอร์ที่ทำงานมาในรุ่นเดียวกันที่หลายคนได้ขายแบรนด์หรือหาคนรุ่นใหม่มาทำต่อ

 

“แฟชั่นคือดีเอ็นเอของคาร์ล มันไม่ใช่งานสำหรับเขาแต่อย่างใด คาร์ลตื่นมาทุกวันและรู้ว่าการได้สเกตช์ดีไซน์คือสิ่งที่เขาต้องทำ” คาโรลีนตอบถึงประเด็นนี้ และเพิ่มเติมว่าคาร์ลเป็นคนที่ทำงานเร็วมากถึงขั้นที่ใน 2 ชั่วโมงเขาสามารถเลือกเนื้อผ้ากว่า 400 แบบได้ว่าอะไรชอบหรือไม่ชอบ

 

ความไวของคาร์ลก็ทำให้คาโรลีนต้องทำงานกับเขาผ่านการส่งข้อความทางโทรศัพท์คุยกันตลอดเวลา หรือไลฟ์ผ่านสไกป์ที่ทางผู้ช่วยส่วนตัวของคาร์ลจะเซตอัพให้ เพราะคาร์ลเองไม่ใช้อีเมลหรืออินเทอร์เน็ต และการใช้สไกป์จะช่วยให้เขาตรวจงานได้อย่างเรียลไทม์

 

คาโรลีนพูดติดตลกว่า “ตอนแรกพวกเราคิดจะผลักดันให้คาร์ลใช้อินทอร์เน็ตนะ แต่พอนึกๆ ดูแล้วว่าในแต่ละวันเขาก็ทำอะไรเยอะแยะไปหมด ถ้าจะให้เขามาเล่นออนไลน์อีก เราคิดว่าอย่าดีกว่า!”

 

ทาร์ตจากหนังสือ Une Tarte Pour Dimanche ของคาโรลีน

 

พูดคุยเรื่องคาร์ลมาเยอะแล้ว เราเลยอยากรู้เรื่องราวชีวิตของคาโรลีนที่ไม่ได้เกี่ยวกับแฟชั่นสักหน่อย ซึ่งหากใครชอบทำอาหารก็จะอาจคุ้นชื่อ เพราะเธอคือหนึ่งในเจ้าแม่การอบทาร์ตที่เธอจะเลือกทำในเวลาว่างที่บ้านพักตากอากาศและถ่ายรูปลงอินสตาแกรม @carolinelebar จนมีสำนักพิมพ์มาติดต่อให้ทำหนังสือชื่อ Une Tarte Pour Dimanche ที่ขายดีและถูกนำไปแปลหลายภาษา

 

ถ้าใครไปเที่ยวปารีส เธอแนะนำว่า “คุณต้องไปร้านเล็กๆ ชื่อ Les Petits Mitrons ในเขต 18 ที่ทำทาร์ตอร่อยมากและเป็นสไตล์บ้านๆ ไม่หวือหวาอะไร ซึ่งฉันมักจะเจอคนในวงการไปกินตลอด เช่น ฌอง ปอล โกลติเยร์ แต่หากใครชอบแบบร่วมสมัยและแพงขึ้นมาหน่อยก็ต้องไปลอง Aux Merveilleux”

 

แต่สิ่งที่ทำให้เราตกใจมากที่สุดก็คือแนวเพลงที่เธอชอบ ซึ่งเราก็นึกว่าจะเป็นสไตล์เพลงของเซร์ช เกนสบูร์ หรือคลาสสิก แต่ไม่! คาโรลีนชอบเพลงอิเล็กทรอนิกส์แบบหนักๆ เช่น Traumer และ Psyk ซึ่งลูกชายของเธอเองก็เป็นดีเจเหมือนกัน

 

คำถามสุดท้ายของเรากับคาโรลีนคือการให้คำแนะนำต่อเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาทำงานในวงการแฟชั่น ซึ่งแม้อาจฟังดูเบสิก แต่กับเส้นทางสายอาชีพของเธอก็ถือว่ามากด้วยประสบการณ์

 

“ถ้าให้พูดตามตรง วงการแฟชั่นในแต่ละประเทศมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในฝั่งยุโรปก็เป็นแบบหนึ่ง ในฝั่งเอเชียของคุณก็น่าจะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เราจะแชร์กันได้คือคุณต้องมีความยืดหยุ่นในการทำหลากหลายอย่างในวงการโดยไม่ตีกรอบให้ตัวเอง และมากไปกว่านั้นคือการทำทุกอย่างและมองว่ามันเป็นประสบการณ์ชีวิตที่จะทำให้เราพัฒนาต่อไป” คาโรลีนพูดปิดท้าย

 

 

FYI
  • คอลเล็กชัน Karl Lagerfeld for Jaspal เริ่มขายแล้ววันนี้ที่ Jaspal ทุกสาขาทั่วประเทศ และทางเว็บไซต์ www.jaspal.com

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising