×

รู้จัก Career Academies โครงการที่หยิบยื่นฝันแบบไม่ขายฝันให้เด็กไทย ผ่านมุมมองของ บอล มาสเตอร์เชฟ อดีตเด็กดื้อ ผู้ค้นพบว่าการได้ทำอาชีพที่รักคือความสุขที่แท้จริงของชีวิต [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
19.01.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ชีวิตช่วงวัย 17-18 ปีของ บอล มาสเตอร์เชฟ หนึ่งในอาสาสมัครและวิทยากรโครงการ Career Academies บอกกับเรากลายๆ ว่ายังมีเยาวชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ขาดโอกาสในการศึกษา แต่พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้หากค้นพบเส้นทางที่รัก และมีประตูสู่โอกาสที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ฝั่งฝัน
  • โครงการ Career Academies เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ระยะที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2565 โดยเชฟรอนได้จับมือกับพันธมิตรอีกหลายภาคส่วนผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเยาวชนสู่การเป็นคนคุณภาพ ที่มีพร้อมทั้งความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ ตามรูปแบบอาชีพสะเต็ม (STEM) ที่เขาอยากทำในอนาคต
  • โดยมี เชฟบอล-สุชาติ ใจฉ่ำ อาสาสมัครและวิทยากรผู้เป็นอีกหนึ่งแรงกำลังสำคัญในฐานะผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอาหาร ช่วยเตรียมความพร้อมให้เยาวชนกลุ่มนี้ก้าวสู่โลกอาชีพกลุ่มสะเต็มอย่างมีคุณภาพ

“ตอนอายุ 17-18 ปี ผมเคยดื้อมากๆ แล้วก็เคยลองทำอะไรมาหลายอย่าง ขายของ ส่งหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ยังไม่เจอว่าความสุขอยู่ตรงไหน จนสุดท้ายไปเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหาร นั่นล่ะครับ ผมถึงได้พบกับสิ่งที่ตามหามานาน นั่นคือการทำอาหาร แต่ผมไม่มีทุนทรัพย์ในการไปเรียนทำอาหารในสถาบันโดยตรง การเรียนรู้ของผมจึงต้องผ่านการทำงานจริงในร้านอาหาร ควบคู่กับการฝึกฝนจากแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ด้วยตัวเอง”

 

THE STANDARD ขอเปิดเนื้อหาบทความนี้ด้วยเรื่องราวในช่วงอายุ 17-18 ปี ของ สุชาติ ใจฉ่ำ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ บอล มาสเตอร์เชฟ ผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียวในบรรดาผู้เข้ารอบ 6 คนสุดท้ายของรายการ MasterChef Thailand ซีซัน 3 ที่เติบโตมาในชุมชนแออัด และไม่ได้มีโอกาสในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัย ชีวิตของเขาในช่วงเวลานั้นดูเหมือนเป็นหนังม้วนเดียวกับเยาวชนไทยหลายต่อหลายคนในโครงการ Career Academies ที่ขาดโอกาสในการศึกษา ทว่าสิ่งที่พวกเขามีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมคือรู้จักตัวเองว่าอนาคตอยากทำอะไร รวมถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมายังเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้เชฟบอลตัดสินใจขานรับเป็นอาสาสมัครและวิทยากรในโครงการดังกล่าวด้วย

 

 

“วันที่ผมได้รู้ว่าเราคือหนึ่งในคนที่จะได้ส่งต่อความรู้ให้กับเยาวชน ร่วมกับอาสาสมัครและวิทยากรคนอื่นๆ ผม Say Yes ทันที เพราะทุกวันนี้ผมประสบความสำเร็จได้ก็เพราะอาชีพที่ผมรัก ผมจึงตั้งใจอยากจะนำทักษะที่ผมมีไปสอนให้น้องๆ เข้าใจวัตถุดิบ มองลึกซึ้งถึงองค์ประกอบของอาหาร และรู้จักวิธีแก้ไขหากมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้น เพื่อที่เขาจะได้นำความรู้ตรงนี้ไปผนวกกับอาชีพด้านอาหารที่พวกเขาอยากเป็น” 

 

Career Academies มีชื่อทางการว่าโครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ โดยความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education: SEAMEO STEM-ED) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลส่วนภูมิภาค ภายใต้ความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย เป้าหมายหลักของโครงการนี้คือการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ ส่งเสริมเยาวชนที่ขาดโอกาสสู่การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาครูและบุคลากรผู้ที่อยู่ใน Ecosystem ให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดการศึกษาพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพด้าน STEM ให้กับนักเรียน เพื่อเพิ่มทางเลือกและความก้าวหน้าในการทำงาน ลดอัตราการออกเรียนกลางคัน ซึ่งที่เชฟรอนและพันธมิตรต้องจับมือกันพัฒนาทักษะที่เกี่ยวกับสะเต็มศึกษา ก็เพราะในประเทศไทยค่อนข้างขาดแคลนบุคลากรในแนวทางนี้ ทั้งๆ ที่ทิศทางการพัฒนาประเทศจะต้องขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขณะที่ในเมืองไทยกลับสามารถผลิตเยาวชนสายสามัญในสาขาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มได้เพียงแค่ 28% และยังมีเยาวชนอายุระหว่าง 15-17 ปี มากกว่า 1 ล้านคน ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เข้าสู่ตลาดแรงงานด้วยวุฒิ ม.3 หรือต่ำกว่า ทำให้ขาดโอกาสทางคุณภาพชีวิต (ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค.) 

 

 

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจกำลังตั้งคำถามว่า แล้วกลุ่มอาชีพสะเต็ม (STEM) คืออะไร พูดง่ายๆ คือเป็นกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และการคำนวณหรือคณิตศาสตร์ (Mathematics) ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลนบุคลากร ทว่าสำคัญอย่างยิ่งในโลกยุคนี้ โครงการ Career Academies จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อจุดไฟให้เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการสามารถก้าวไปเป็นบุคลากรในกลุ่มอาชีพเป้าหมายได้สมความตั้งใจ 

 

โดยกลุ่มอาชีพที่โครงการ Career Academies พุ่งเป้าไปก็คือ กลุ่มอาชีพที่สอดรับกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve และกลุ่มอาชีพที่ขาดแคลน แบ่งเป็น 4 กลุ่มอาชีพสำคัญ ได้แก่ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น อาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ นักเวชศาสตร์การกีฬา เป็นต้น ด้านคอมพิวเตอร์และไอที เช่น อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน นักพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์ นักออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก เป็นต้น ด้านเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งต้องใช้ทักษะทางเทคโนโลยี มาใช้ในการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต หาวิธีที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ตลอดจนเป็นเกษตรกรนักพัฒนาที่เข้าใจและสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้ และด้านการศึกษา เช่น ครู หรือเจ้าหน้าที่ดูแลเด็กเล็ก ซึ่งเชฟบอลได้นำประสบการณ์ความรู้ในแวดวงของการทำอาหารมาช่วยต่อยอดทักษะในสายของวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น นักโภชนาการที่อยู่ในศูนย์ดูแลผู้ป่วย 

 

 

“จุดเด่นของโครงการนี้คือการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนแบบเป็นรูปธรรม ให้เยาวชนได้คิดจริง ทำจริง เราจะมีการจำลองสถานการณ์ให้เขาได้ทดลองทำ เช่น จะทำไอศกรีมอย่างไรให้ได้กินภายในไม่กี่นาที โดยใช้ส่วนผสมและอุปกรณ์เท่าที่มีอยู่ ไม่มีเครื่องปั่น ไม่มีตู้เย็น บางคนเจอปัญหาในขณะทำ เราก็จะสอนให้เขารู้วิธีแก้ปัญหา รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าไปด้วย หรืออาจจะตั้งโจทย์ว่า อาหารสำหรับผู้ป่วย ทำอย่างไรให้อร่อย เพราะอาหารสำหรับคนกลุ่มนี้ต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อสุขภาพ เค็มไปหวานไปก็ไม่ได้ ถ้าจะลดเค็ม จะลดอย่างไรให้อาหารยังอร่อยอยู่ ถ้าจะเติมหวานแบบไม่ใส่น้ำตาล สามารถใส่อะไรแทนได้บ้างโดยที่สุขภาพไม่เสีย” เชฟมาดกวนเล่าถึงวิธีการประยุกต์ใช้ศาสตร์ด้านการทำอาหาร สำหรับอาชีพสะเต็ม ในวันที่เขาได้พบกับเยาวชนในโครงการเป็นครั้งแรกจากกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่สนใจ 

 

เชฟบอลยังเล่าต่อว่า วิธีการของ Career Academies ไม่ได้มีแค่การให้วิทยากรมาถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละแขนงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม หากแต่ยังพิเศษตรงที่ทำให้เยาวชนมองเห็นเป้าหมายที่จะสามารถทำให้อาชีพในฝันหล่อเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต มันจึงเป็นความภูมิใจที่ประเมินค่าไม่ได้ หากวันหนึ่งเขาจะได้เห็นเยาวชนที่เคยถ่ายทอดวิชาให้ ได้ทำงานที่รักและประสบความสำเร็จ เขาจึงเปรียบว่าโครงการนี้ไม่ต่างจากหอบังคับการยิงยานอวกาศที่รวบรวมคนสำคัญในแต่ละแผนกมาช่วยกันส่งให้ยานพุ่งไปนอกโลกได้สำเร็จ ด้วยเชื้อเพลิงที่เพียงพอ ไม่ระเบิดกลางทาง ซึ่งเยาวชนก็เปรียบได้กับยานอวกาศเหล่านั้น 

 

 

เมื่อเอ่ยถามว่าโครงการนี้ให้อะไรกับเขาบ้าง คำที่เขาเอื้อนเอ่ยซ้ำๆ จึงเป็นคำว่า “ขอบคุณ” ซึ่งเป็นคำขอบคุณที่เขามอบให้เชฟรอนทั้งในฐานะของวิทยากรในโครงการนี้ และในฐานะของเยาวชนคนหนึ่งที่เคยได้รับโอกาสให้สร้างความสำเร็จในชีวิตด้วยอาชีพที่ตัวเองรัก 

 

“ขอบคุณที่เชฟรอนสร้างโครงการแบบนี้ขึ้นมา ขอบคุณที่มอบโอกาสให้เยาวชนในสังคม ให้เขามีชีวิตที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ ให้เขาได้เลือกทำในสิ่งที่เขาต้องการ ผมเชื่อว่าเขาจะกลายเป็นคนคุณภาพที่มีความรู้ครบพร้อม และความสุขในการทำงาน ขอบคุณที่เห็นคุณค่าของอาชีพทางด้านอาหารและสุขภาพที่จะมีความจำเป็นต่อผู้คนในภายภาคหน้า และขอบคุณที่ดึงผมเข้ามาในโครงการนี้ แล้วทำให้ผมได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้ นี่คือสิ่งที่ผมใฝ่ฝันมาตลอดตั้งแต่รู้ตัวว่าทำอาหารเป็น”

 

บรรทัดต่อไปนี้สำหรับเยาวชนที่พลาดโอกาสในการเข้าร่วม Career Academies และอยากเป็นส่วนหนึ่งของโครงการในครั้งหน้า มีบางอย่างที่เชฟหัวใจอาสาอยากจะบอกกับคุณ

 

“ถ้าน้องมีความตั้งใจจริง และมีเป้าหมายในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม แต่เคยต้องล้มพับกับความฝันนั้นไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม โอกาสของน้องอยู่ตรงนี้แล้วครับ Career Academies จะทำให้น้องได้เปิดความฝันนั้นขึ้นมาทำให้เป็นจริงอีกครั้ง จวบจนวันที่น้องได้ทำงานมีอาชีพที่ตัวเองรัก มีรายได้มาหล่อเลี้ยงชีวิต และได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ นั่นล่ะครับคือผลลัพธ์ที่โครงการนี้มอบให้ แม้จะดูต้องใช้เวลาระยะยาวนาน แต่มันคือความยั่งยืนในชีวิตที่น่าชื่นใจ หากมันได้เกิดขึ้นจริงๆ”

 

สำหรับคนที่สนใจโครงการพัฒนาโมเดลสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ (Career Academies) สามารถดูรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ Chevron Enjoy Science II 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X