×

คนเวียดนามกินกาแฟมากกว่าคนไทย 5 เท่า ปตท. เห็นโอกาส จับมือกลุ่มเซ็นทรัลนำ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ บุก

19.12.2019
  • LOADING...

ภาพรวมตลาดกาแฟของเวียดนาม ปี 2562 มีมูลค่าตลาดสูงถึง 6 พันล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยถึง 8.2% ต่อปี อีกทั้งอัตราการบริโภคกาแฟของคนเวียดนามเมื่อเทียบกับการบริโภคกาแฟของคนไทยที่สูงกว่าถึง 5 เท่า โดยพฤติกรรมการดื่มกาแฟของชาวเวียดนามที่นิยมดื่มกาแฟวันละหลายแก้วในหลายโอกาสของวัน 

 

และด้วยไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นวัยทำงานหรือวัยรุ่นที่ชอบใช้เวลาอยู่ในร้านกาแฟ รวมทั้งชอบทดลองสิ่งใหม่ๆ บวกกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ในช่วงปี 2561-2562 (1 ปี) มีร้านกาแฟเปิดเพิ่มขึ้นในเวียดนามมากถึง 30%

 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลส่วนค้าปลีกของ ปตท. มองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมทุนกับ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ในประเทศเวียดนาม

 

การร่วมทุนในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังสร้างข้อได้เปรียบจากการเป็นที่รู้จักของตราสินค้าคาเฟ่ อเมซอน บวกกับความเชี่ยวชาญในการบริหารแบรนด์ร้านอาหารและบริการของ CRG รวมถึงโลคัล เน็ตเวิร์ก และโนว์ฮาวในการบริหารงานของเซ็นทรัล รีเทล ในประเทศเวียดนาม

 

ร้านคาเฟ่ อเมซอน ในประเทศเวียดนามจะใช้แนวคิด Restful Oasis for City Lifestyle หรือโอเอซิสใจกลางเมือง โดยมีพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ลูกค้าได้ผ่อนคลาย นอกจากนี้คาเฟ่ อเมซอน จะปรับเปลี่ยนเมนูเครื่องดื่มบางรายการให้สอดคล้องกับความชื่นชอบของผู้บริโภคชาวเวียดนาม 

 

ทั้งนี้มีการตั้งเป้าขยายไปในโลเคชันที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ซึ่งจะเปิดให้บริการคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรก ณ ศูนย์การค้า Big C / GO! ที่บริหารงานโดยเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 และมีแผนการขยายสาขาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง 

 

ปัจจุบัน ปตท. มีร้านคาเฟ่ อเมซอน ใน 10 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 3,000 สาขา โดยมีสาขาในประเทศไทยรวมกว่า 2,800 สาขา และในประเทศลาว, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, เมียนมา, สิงคโปร์, มาเลเซีย, จีน, ญี่ปุ่น และโอมาน รวมกว่า 200 สาขา

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising