×

เพราะอยากทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เศรษฐาจึงเลือกประชุม ครม. ในบ่ายวันอาทิตย์

03.03.2024
  • LOADING...

‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ที่ได้ประกาศตัวเป็น ‘เซลส์แมนเบอร์หนึ่ง’ ของประเทศไทย เดินหน้าปฏิบัติราชการในต่างประเทศ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ หลังประเทศถูกแช่แข็งจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 

 

6 เดือนผ่านไป เศรษฐาเดินทางไปแล้วทั้งสิ้น 11 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ซาอุดีอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงประเทศในอาเซียน ในช่วงต้นเดือนนี้จะมีกำหนดการเดินทางอีก 3 ประเทศ ระหว่างวันที่ 4-14 มีนาคมนี้ ซึ่งยาวนานถึง 10 วัน เป็นเหตุให้เศรษฐาเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเวลา 13.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม ก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ 1 วัน

 

เพราะอยากทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกับ THE STANDARD ถึงเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีเลือกประชุมคณะรัฐมนตรีในบ่ายวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคมว่า ในวันดังกล่าวคือวันที่นายกรัฐมนตรีเว้นว่างจากการปฏิบัติภารกิจ รวมถึงหายจากอาการป่วยอย่างเด็ดขาดแล้ว โดยปกติแล้วหากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ติดภารกิจใด หรือมีโอกาสได้ทำหน้าที่ นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เกี่ยงว่าจะเป็นวันไหน จะเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีเคยประกาศว่าจะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

ชัยกล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้ได้ผนวกกับตั้งแต่วันที่ 4-14 มีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรีมีภารกิจที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งออสเตรเลีย เยอรมนี และฝรั่งเศส โดยไม่ได้อยู่ประเทศยาวนานถึง 10 วัน 

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้าประชุมในวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคมที่จะถึงนี้ จะทำให้นายกรัฐมนตรีจะขาดการประชุมติดกันถึง 2 ครั้งคือ วันอังคารที่ 5 มีนาคม และวันอังคารที่ 12 มีนาคม โดยที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการจะขาดการประชุมติดกันถึง 2 ครั้ง 

 

ชัยกล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในแต่ละครั้งจะเป็นการดีที่สุด หากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเสียเอง เพราะได้ตัดสินใจและมีอำนาจเต็มเปี่ยม โดยเฉพาะการตัดสินใจต่อวาระที่สำคัญ แต่กรณีเรื่องเร่งด่วนหรือจำเป็นก็มีรองนายกรัฐมนตรีที่รักษาการแทนอยู่ แต่รองนายกรัฐมนตรีอาจไม่กล้าตัดสินใจเท่านายกรัฐมนตรีอยู่ดี อย่างไรก็ตามหากไม่มีความจำเป็นจริงๆ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการขาดการประชุมอยู่แล้ว

 

ยุคทักษิณก็เคยประชุม ครม. นอกเวลาราชการ

 

การประชุมคณะรัฐมนตรีมีการกำหนดประชุมในทุกวันอังคารของสัปดาห์ โดยถือตามความสะดวกที่ว่า เนื่องจากวันจันทร์เป็นวันแรกที่รัฐมนตรีกลับจากการเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่หรือปฏิบัติราชการในต่างจังหวัด จึงอาจยังไม่ทันเตรียมการเกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนวันพุธและวันพฤหัสบดีตรงกับวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

 

แม้จะไม่คุ้นว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงวันหยุด หรือนอกเวลาราชการ แต่จากการสืบค้นพบว่า ในอดีตรัฐบาลเคยมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงวันหยุดหรือนอกเวลาราชการเช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรีสามารถนัดหมายในวันอื่นได้ตามสะดวก โดยไม่ได้ผูกมัดว่าจะต้องประชุมในวันอังคารวันเดียวเท่านั้น 

 

เช่นในรัฐบาล ทักษิณ​ ชินวัตร เมื่อปี 2546 ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉินช่วงประมาณ 22.00 น. ของคืนวันที่ 29 มกราคม จากกรณีเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา รวมถึงการเผาทำลายทรัพย์สินของคนไทยหลายแห่งด้วยกัน 

 

ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า ในรัฐบาลทักษิณมีการประชุมในช่วงเวลาอื่น เช่น ช่วงเวลาบ่ายหรือช่วงเวลาค่ำ รวมถึงเคยประชุมในวันเสาร์ ซึ่งเป็นการประชุมนอกเวลาราชการ แต่ไม่พบว่าเคยมีการประชุมในวันอาทิตย์ ซึ่งการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีของเศรษฐาครั้งนี้จึงถือเป็นการประชุม ครม. ครั้งแรกในช่วงวันหยุดของรัฐบาลชุดนี้

 

ตัดสินใจเชิงนโยบาย-กฎหมาย

 

แต่สิ่งที่สำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี คือองค์ประชุมที่ต้องมีพระราชกฤษฎีกาที่ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 แบ่งออกเป็น 2 กรณี 

 

  1. กรณีปกติ กำหนดให้มีรัฐมนตรีต้องเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนคณะรัฐมนตรีทั้งหมดที่มีอยู่ 

 

  1. กรณีฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรีอาจพิจารณาเรื่องใดกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตามที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อมีมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นได้

 

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งกำหนดให้มีระเบียบวาระการประชุม ประกอบด้วย 1. เรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุม 2. ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (ถ้ามี) 3. เรื่องเพื่อทราบ 4. เรื่องเพื่อพิจารณา และ 5. เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุผลที่ต้องประชุมคณะรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีต้องบริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน และพิจารณาตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องเชิงนโยบาย และเรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี เช่น การหารือร่างกฎหมาย การอนุมัติงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การกำหนดระเบียบและแบบแผนในการปฏิบัติราชการ จึงต้องมีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตัดสินใจเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ

 

นายกฯ​ ไม่อยู่ รองนายกฯ รักษาการแทน

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี โดยในรัฐบาลชุดปัจจุบันมีรองนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 6 คน เรียงตามลำดับ ดังนี้  

 

  1. ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 
  2. สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี 
  3. ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 
  4. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  5. พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
  6. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

ทั้งนี้ ระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีเสียก่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising