×

ตามรอย บุพเพสันนิวาส สู่การรื้อฟื้นความวิจิตรของผ้าพิมพ์แห่งกรุงศรีอยุธยา

13.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาผ่านละคร บุพเพสันนิวาส ก็คือ ผ้าลายอย่าง ซึ่งเป็นผ้าพิมพ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่สูญหาย
  • ธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ได้ทดลองทำผ้าลายอย่างแบบโบราณขึ้น โดยถอดลายมาจากภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในวัดต่างๆ ของจังหวัดเพชรบุรี  

แม่หญิงการะเกดสวมผ้านุ่งลายปทุมเกสร

 

ละครที่ดีไม่ได้หมายความถึงแค่นักแสดง ผู้กำกับ บทประพันธ์ ฉาก ดนตรี และแสงสีที่ยอดเยี่ยมเท่านั้น เสื้อผ้ายังเป็นอีกหัวใจที่จะทำให้คนดูตัดสินใจได้ทันทีว่าจะเชื่อ หรือไม่เชื่อในละครเรื่องนั้นๆ และสำหรับละครที่กำลังถูกพูดถึงอย่างอื้ออึงไปทั่วพระนครอย่าง บุพเพสันนิวาส การที่ฝ่ายคอสตูมตัดสินใจเลือกใช้ ผ้าลายอย่าง ก็ทำให้คนดูเชื่ออย่างสนิทใจเลยว่า อยุธยาในสมัยขุนหลวงนารายณ์นั้นมั่งคั่งและรุ่งเรืองอย่างถึงที่สุด เพราะแม้แต่อาภรณ์ที่ใช้นุ่งห่มกายก็ยังมีการคิดกระบวนลายที่ซับซ้อน อีกทั้งขั้นตอนกว่าจะเป็นผ้าลายอย่างก็ไม่ง่าย เพราะแม้ผ้าชนิดนี้จะเป็นผ้าในราชสำนักของกรุงศรีอยุธยาที่ออกแบบลายโดยช่างชาวกรุงศรีอยุธยา ทว่าได้เลือกใช้ฝ้ายเนื้อดีที่สุดจากเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มาทอเป็นผ้าพื้นสีขาว จากนั้นจึงส่งไปพิมพ์ลายที่ประเทศอินเดีย ก่อนจะนำกลับมาใช้ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

 

ออกตามหาลายผ้าที่สาบสูญ

“ผ้าลายอย่างถูกใช้เป็นผ้าพระราชทาน เป็นผ้าประดับยศ คล้ายเครื่องแบบของข้าราชการ คำว่า ‘ลาย’ ในสมัยอยุธยาหมายถึง ผ้าพิมพ์ลาย ส่วนคำว่า ‘อย่าง’ คือ ตัวอย่าง ผ้าลายอย่างจึงหมายถึงผ้าที่ราชสำนักคิดค้นลายขึ้นมา วาดลายลงบน ‘ผ้าให้อย่าง’ ซึ่งหมายถึง ผ้าตัวอย่าง และด้วยสมัยนั้นอยุธยาไม่มีเทคโนโลยีเรื่องการพิมพ์ผ้า จึงต้องส่งไปพิมพ์ลายที่อินเดีย ซึ่งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ยังใช้กัน มาเริ่มหายไปหลังสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วงที่ข้าราชการเริ่มแต่งกายเป็นสากลมากขึ้น เหมือนเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มใหม่ ยูนิฟอร์มเก่าจึงกลายเป็นของสะสม เป็นมรดกตกทอด บ้างถวายวัด บ้างก็เปื่อยเสื่อมสภาพไปตามเวลา อีกทั้งขั้นตอนการทำก็ยุ่งยาก ทำให้ผ้าลายอย่างมีให้เห็นเพียงในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น ผมจึงอยากจะรื้อฟื้นผ้าโบราณให้กลับมาในแบบที่ไม่ได้เป็นแค่เป็นตัวหนังสือหรืออยู่ในตู้พิพิธภันฑ์เท่านั้น”

 

คุณธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์เจ้าของร้านภูษาผ้าลายอย่าง

 

คุณธนิต พุ่มไสว ดีไซเนอร์วัย 28 ปี เจ้าของร้าน ภูษาผ้าลายอย่าง และผู้อยู่เบื้องหลังความงามของผืนผ้าในละคร บุพเพสันนิวาส ให้นิยามความหมายของผ้าลายอย่าง พร้อมเล่าถึงแรงบันดาลใจบนผืนผ้าว่า จุดประกายจากจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพพนมในวัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี

 

“ด้วยความที่เราเป็นลูกหลานไทยทรงดำ จังหวัดเพชรบุรี จึงมีความผูกพันเกี่ยวกับเรื่องผ้า เห็นคุณยายทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก ประกอบกับได้มีโอกาสเรียนเขียนลายไทยจากครูคนหนึ่งที่มาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดในหมู่บ้าน ก็เลยชอบลายไทยมาตั้งแต่เด็ก พอชอบลายไทยเราก็เลยตามไปดูลายไทยในวัดเก่าๆ ซึ่งวัดเก่าในเพชรบุรีส่วนใหญ่เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เราก็เริ่มสังเกตเห็นว่ารูปเทพพนมที่อยู่ตามผนังวัดมักจะนุ่งห่มผ้าลายดอกใหญ่ๆ ที่ไม่ใช่ผ้าทอ ไม่ใช่ผ้ายก แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ก็เลยตามหาข้อมูล จนได้มาที่หอสมุดแห่งชาติ ไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็เลยไปเจอกับผ้าลายอย่างผืนจริง ซึ่งตรงกับจิตรกรรมฝาผนังที่เราเห็น ก็เลยตั้งใจว่าไหนๆ ก็เรียนมาด้านศิลปะการออกแบบ ก็อยากจะลองรื้อฟื้นทำผ้าโบราณแบบนี้ให้เป็นโปรเจกต์จบการศึกษาเสียเลย”

 

จิตรกรรมฝาผนังวัดใหญ่สุวรรณาราม

 

จากความคิดเพียงโปรเจกต์สำหรับจบการศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คุณธนิตต้องใช้เวลาในการทดลองและสะสมข้อมูลอยู่นานถึง 1 ปี จึงจะสามารถพิมพ์ผ้าลายอย่างผืนแรกในชีวิตออกมาได้ จากนั้นก็ได้มีโอกาสทำผ้าลายอย่างให้ละครเรื่อง บางระจัน และล่าสุดกับการออกแบบผ้าลายอย่างให้ละคร บุพเพสันนิวาส ซึ่งทางค่าย Broadcast Thai Television สั่งพิมพ์ทุกกระบวนลายดั้งเดิมแบบอยุธยาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20 ผืน 20 ลาย

 

ลวดลายจากเสาในศาลาการเปรียญ

 

กระบวนลายในกรุงศรีอยุธยา

สำหรับการรวบรวมกระบวนลายผ้าในสมัยอยุธยานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแทบไม่ได้มีการบันทึกไว้นอกเสียจากลายไทยที่อยู่ตามวัด คุณธนิตจึงเริ่มภารกิจตามหาลายไทยสมัยอยุธยาในสถานที่ประวัติศาสตร์ของเพชรบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘อยุธยาที่ยังมีชีวิต’

 

จิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม

 

ผ้าลายหิมพานต์

 

ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม ผ้าลายอย่างโบราณในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ผ้าลายอย่างที่ใช้ห่อคัมภีร์ในวัดคงคาราม ทั้งหมดล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่ทำให้เห็นความวิจิตรของลายไทยในยุคนั้น ทว่าจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่สุดคือลายเขียนทองที่ยังคงปรากฏอย่างชัดเจนอยู่บนเสาไม้ในศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม หรือแท้จริงแล้วก็คือท้องพระโรงของพระเจ้าเสือ ซึ่งเป็นกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ผู้ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเพทราชา อีกหนึ่งตัวละครจากเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

 

“เมื่อตั้งใจจะรื้อฟื้นผ้าโบราณ จึงจำเป็นที่จะต้องถอดลายมาจากลายไทยในสมัยอยุธยาจริงๆ ซึ่งยุคนั้นเป็นยุคที่จิตรกรรมไทยมีความรุ่งเรืองอย่างที่สุด ลายประจำยาม* ก็ไม่ได้เป็นแค่ประจำยาม แต่มีการใส่ลายอื่นๆ ทับซ้อนลงไป ในกรอบหนึ่งอาจมี 4-5 ลายประกอบกัน เป็นเหมือนลายประจำยามทรงเครื่องก็ว่าได้ ถ้าไปดูเทวดาที่วัดใหญ่ฯ จะเห็นว่านุ่งผ้าลายไม่ซ้ำกันเลย แค่ผ้านุ่งก็สามารถบอกได้ว่าอยุธยามีความรุ่มรวยด้านศิลปะเป็นอย่างมาก สำหรับกระบวนลายที่นำมาใช้ในเรื่อง บุพเพสันนิวาส นั้นมีครบถ้วนทั้งลายริ้ว ลายตาราง ลายดอก ลายพุ่ม โดยแต่ละกระบวนลายก็จะมีลายย่อยๆ แตกออกไปอีก เช่น ริ้วใหญ่ ริ้วเล็ก ริ้วรักร้อย ริ้วพุดตาน”

 

แม่หญิงการะเกด นุ่งผ้าลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง

หมื่นสุนทรเทวา นุ่งผ้าลายกุดั่นสี่กลีบ

 

ในส่วนผ้าลายอย่างที่แม่หญิงการะเกดนุ่งนั้น คุณธนิตเลือกที่จะไม่ใช้ลายใหญ่แบบที่สตรีชั้นสูงในสมัยนั้นนิยม เพราะต้องการสื่อว่าการะเกดเป็นธิดาอดีตเจ้าเมืองพิษณุโลก ไม่ใช่ชาวพระนคร และไม่ใช่สาวในวัง ลายที่ใช้จึงเป็นลายเล็ก เช่น ลายดอกไม้ร่วง ลายสมปักริ้ว ลายประจำยามเล็ก อีกทั้งตัวผ้าลายอย่างที่การะเกดใช้ยังไม่มีสังเวียน และใช้กรวยเชิงชั้นเดียวซึ่งไม่บ่งบอกชั้นยศ บางลายก็ค่อนไปทาง ผ้าลายนอกอย่าง ซึ่งชาวอินเดียทำเลียนแบบผ้าลายอย่าง เพื่อขายให้กับชาวบ้านทั่วไปนอกรั้ววัง

 

ส่วนผู้ชายในเรื่องส่วนใหญ่ใช้ผ้าลายอย่างกรวยเชิงสามชั้นเต็มยศ บ้างเป็นเทคนิคใช้งานเขียนผสมพิมพ์ ส่วนการให้สีก็อ้างอิงตามภาพจิตรกรรมฝาผนังของจริง ร่วมกับตำรา สวัสดิรักษา ของสุนทรภู่ โดยเน้นไปที่สีไทยโบราณที่มีค่าสีเฉพาะและมีความละเอียดไม่ต่างกับงานพิมพ์

 

‘ลายอย่าง’ อย่างรัตนโกสินทร์ศก

นอกจากลายที่ถอดมาจากภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา คุณธนิตยังได้เพิ่มเติมเรื่องความประณีตในเส้นสายความเป็นไทย ซึ่งแตกต่างจากผ้าลายอย่างในสมัยอยุธยา ที่แม้ช่างในราชสำนักจะเขียนลายออกมาสวยหวานขนาดไหน ทว่าคนแกะลายคือช่างชาวอินเดีย ดังนั้นความเข้าใจในลวดลายไทยจึงมีไม่ถ่องแท้ และบ่อยครั้งยังใส่กลิ่นอายอินเดียแถมเข้ามาในลายผ้า

“ผ้าลายอย่างของอยุธยาจริงๆ มักจะเขียนลายไทยแบบไม่สุด ตวัดหางไม่คมชัด เพราะต่างชาติทำ พอเรามาทำเองเราจึงอยากบอกให้รู้ว่านี่คือผ้าลายอย่างที่คนไทยทำ ดังนั้นความละเอียดในลายไทยจึงต้องสุด พลาดไม่ได้ และก็ได้มีการพัฒนามาเป็นการพิมพ์ลายบนผ้าไหมทอมือจากสุรินทร์ พร้อมทั้งรื้อฟื้นการเขียนลายทองแบบอยุธยาขึ้นมา โดยใช้เทคนิคตามแบบอยุธยาโบราณเช่นกัน”

 

ผ้าลายอย่างแบบอยุธยาแท้ที่มีความเป็นอินเดีย เส้นลายไทยไม่คม

 

ลายทอง

 

สำหรับการเขียนลายทองนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างผ้าลายอย่าง และการเขียนเส้นทองเพื่อใช้เป็นผ้าสำหรับกษัตริย์ แต่ความยากของการเขียนลายทองคือต้องเขียนยางไม้ให้เป็นลายก่อน จากนั้นจึงนำทองคำเปลวมาปิดเกิดเป็นลาย ซึ่งข้อดีของเทคนิคนี้คือลายทองสวยเงางาม มีความนูน แต่ถ้าใช้บ่อยหรือมีการพับ เส้นทองจะแตก คุณธนิตจึงทดลองว่าทำอย่างไรไม่ให้เส้นทองแตก กระทั่งมาค้นพบสูตรยางมะเดื่อผสมน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่ช่างอยุธยาใช้เขียนลายในพระอุโบสถของวัดใหญ่สุวรรณาราม

 

ผ้าลายเทียมยกทองลาย ประจำยามราชวัตร

 

“ผมนำยางมะเดื่อที่ขึ้นอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรีมาทดลอง ปรากฏว่าเขียนลายทองบนผ้าได้ดีกว่าสีสมัยใหม่มาก แต่ก็ต้องใช้เวลาทำนานมากเช่นกัน ไหนจะต้องเปลี่ยนพู่กันทุกชั่วโมง เพราะยางมะเดื่อจะรัดพู่กันจนเขียนไม่ได้ ด้ามหนึ่งใช้ได้ไม่นานต้องทิ้ง ผ้าเขียนลายทองชิ้นแรกที่ทำสำเร็จต้องใช้เวลานานถึง 11 เดือน”

 

นอกจากทำผ้าลายอย่างตามออร์เดอร์ของลูกค้าแล้ว ในแต่ละปีคุณธนิตจะออกคอลเล็กชันผ้าเพื่อพิสูจน์ตัวเองอีกปีละ 1 คอลเล็กชัน โดยเน้นการถอดลายสมัยอยุธยาที่เป็นลายยาก หรือมีการทิ้งร่องรอยความงามไว้เพียงบางส่วน ที่เหลือคือการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อให้ได้ลวดลายผ้าที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งนี่แหละที่เป็นความท้าทายของคนทำงานผ้าที่ชื่อธนิต ผู้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะรื้อฟื้นความงามของลายผ้าโบราณให้กลับมีชีวิต และเป็นที่กล่าวขานไปทั่วพระนครอีกครั้ง

 

ความวิจิตรงดงามของลายผ้าต่างๆ

 

Photo: ศรัณยู นกแก้ว, Broadcast Thai Television

FYI
  • * ลายประจำยาม มีลักษณะเป็นตาสี่เหลี่ยม เป็นแม่ลายไทยโบราณพื้นฐานประเภทหนึ่ง เป็นลายที่ใช้สำหรับการออกลาย ผูกลาย (ประดิษฐ์ลาย) สำหรับลายอื่นๆ ต่อไป เช่น ลายรักร้อย ลายหน้ากระดาน ลายประจำยามก้านแย่ง และลายราชวัตร
  • ร้านภูษาผ้าลายอย่าง ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โทร. 08 5990 6565
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X