×

บัลแกเรีย-โรมาเนีย เข้าร่วมวีซ่าเชงเก้น แต่ทำไมยังมีข้อจำกัดเรื่องเข้า-ออกพรมแดน

01.04.2024
  • LOADING...
บัลแกเรีย-โรมาเนีย

บัลแกเรียและโรมาเนีย สองประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเข้าเป็นสมาชิกใหม่พื้นที่เชงเก้น (Schengen Area) ‘บางส่วน’ อย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา หลังทั้งคู่เคยลงนามแสดงความจำนงต้องการเข้าเป็นสมาชิกเชงเก้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2005

 

ส่งผลให้วีซ่าเชงเก้นขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่ใน 29 ประเทศแถบยุโรป ซึ่งเปิดโอกาสให้พลเมืองยุโรปกว่า 420 ล้านคนสามารถเดินทางเข้า-ออกพรมแดนกันได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น ตลอดจนยกเลิกมาตรการควบคุมบริเวณพรมแดนทุกประเภท และมีนโยบายลงตราวีซ่าร่วมกันสำหรับเดินทางระหว่างประเทศสมาชิก 

 

‘สมาชิกใหม่’ วีซ่าเชงเก้น

 

ทั้งบัลแกเรียและโรมาเนียเข้าเป็นสมาชิกใหม่วีซ่าเชงเก้น หลังรอคอยมานานกว่าทศวรรษ โดยทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงเพื่อเข้าร่วมพื้นที่เชงเก้นทั้ง ‘ทางอากาศและทางทะเล’ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023 ก่อนที่จะมีคำสั่งยกเลิกข้อจำกัดทั้งทางอากาศและทางทะเล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2024 

 

ถึงแม้ว่าจะยังมี ‘ข้อจำกัดสำคัญ’ ด้านการเข้า-ออกพรมแดนอยู่บ้าง แต่นักวิเคราะห์มองว่า การยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวมีคุณค่าในเชิงปฏิบัติและเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะทลายข้อจำกัดด้านพรมแดน โดยเฉพาะด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ในบรรดาประเทศยุโรป

 

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่า เธอยินดีกับการยกเลิกข้อจำกัดทั้งทางอากาศและทางทะเลของบัลแกเรียและโรมาเนีย พร้อมระบุว่า นี่เป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของทั้งสองประเทศ

 

“เรากำลังร่วมกันสร้างยุโรปที่แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น สำหรับพลเมืองของเราทุกคน”

 

ขณะที่ มินโช ยูรูคอฟ พลเมืองยุโรปที่เดินทางจากกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนีมายังกรุงโซเฟีย เมืองหลวงของบัลแกเรีย เมื่อวานนี้ (31 มีนาคม) เผยความรู้ว่า “นี่เป็นก้าวสำคัญของบัลแกเรีย ซึ่งมีส่วนทำให้หลายๆ อย่างง่ายยิ่งขึ้นสำหรับพลเมืองชาวบัลแกเรีย 

 

นอกจากนี้ เรายังรู้สึกเป็นพลเมืองยุโรปจริงๆ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก เที่ยวบินต่างๆ เดินทางง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ไม่มีการตรวจเช็กเหมือนเมื่อก่อน”

 

ทำไม ‘บัลแกเรีย-โรมาเนีย’ ยังมีข้อจำกัดด้านพรมแดน

 

แม้ทั้งสองประเทศจะได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกใหม่วีซ่าเชงเก้น แต่ทั้งบัลแกเรียและโรมาเนียก็ยังไม่มีสิทธิเข้า-ออกพรมแดนได้เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะ ‘พรมแดนทางบก’ 

 

โดยออสเตรียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกเชงเก้นที่คัดค้านการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของทั้งสองประเทศ เนื่องจากยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับมาตรการป้องกัน ‘การอพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย’ ซึ่งหากละเลยอาจทำให้วิกฤตผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในยุโรป โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เชงเก้นรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

ข้อจำกัดด้านพรมแดนทางบกเป็น ‘อุปสรรคสำคัญ’ ของบรรดาผู้ประกอบการด้านการค้าและโลจิสติกส์ในบัลแกเรียและโรมาเนียอย่างมาก โดย UNTRR หนึ่งในสหภาพการขนส่งทางถนนสายหลักของโรมาเนียเผยว่า คนขับรถบรรทุกเคยใช้เวลารอขนส่งสินค้าบริเวณพรมแดนติดกับฮังการีนาน 8-16 ชั่วโมง ขณะที่บริเวณพรมแดนติดกับบัลแกเรียเคยรอนาน 20-30 ชั่วโมง หรืออาจรอนานสูงสุดถึง 3 วัน ทำให้ผู้ประกอบการชาวโรมาเนียมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์สูงมาก

 

ด้านผู้ประกอบการบัลแกเรียระบุว่า สินค้าและบริการส่วนใหญ่มากถึง 97% ขนส่งผ่านเส้นทางทางบกเป็นหลัก ขณะที่ทางอากาศและทางทะเลคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขอุปสรรคเรื่องมาตรการป้องกันผู้อพยพโดยเร็ว

 

รัฐบาลบัลแกเรียและโรมาเนียให้คำมั่นว่า จะพยายามปลดล็อกข้อจำกัดด้านพรมแดนทางบกให้ได้ภายในปี 2024 โดยทั้งสองประเทศได้เข้าร่วมโครงการริเริ่มด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคกับออสเตรีย กรีซ และสโลวาเกีย เพื่อรับมือกับวิกฤตอพยพย้ายถิ่นนี้แล้ว พร้อมสั่งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่บริเวณชายแดนให้เข้มงวดเรื่องการเข้า-ออกพรมแดนประเทศมากยิ่งขึ้น 

 

ภาพ: Daniel Mihailescu / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising