×

‘ชานมไข่มุก’ หวนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งได้อย่างไร?

09.10.2019
  • LOADING...
ชานมไข่มุก

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ในกลุ่มประเทศอาเซียนมียี่ห้อชานมไข่มุกมากกว่า 1,500 ยี่ห้อ มีสาขากว่า 4,000 สาขา ชาวอาเซียนดื่มชาเฉลี่ยประมาณ 4 แก้วต่อคนต่อเดือน โดยชาติที่ดื่มชานมเยอะที่สุดหนีไม่พ้นคนไทยเรานั่นเอง โดยมีอัตราการดื่มประมาณ 6 แก้วต่อคนต่อเดือน
  • การมอบประสบการณ์ ‘Personalise’ สินค้า หรือรังสรรค์เฉพาะบุคคล ทำให้สาวกชานมไข่มุกมีความรู้สึกได้ทดลอง และเลือกสรรจนเป็นมากกว่าเครื่องดื่มทั่วๆ ไป
  • ดร.ไช่อิงเหวิน เป็นผู้สร้างกระแสเสรีนิยม ปลดแอกพันธนาการทางการปกครองจากจีนแผ่นดินใหญ่ เปิดให้ตลาดที่มีศักยภาพสูงได้เข้าไปท่องเที่ยวประเทศไต้หวันโดยไม่ต้องใช้วีซ่า และหนึ่งในวัฒนธรรมส่งออกของประเทศไต้หวันนั้นคือวัฒนธรรมชานมไข่มุกนั่นเอง

“แกๆ หลังเลิกเรียนแวะซื้อชานมไข่มุกหน้าโรงเรียนก่อนไปเรียนพิเศษกัน” 

 

กลุ่มนักเรียนหญิงกระโปรงพลีตคอซอง นักเรียนชายกางเกงขาสั้นผมเกรียน แขนหนีบกระเป๋าจาคอปติดกิ๊บแบนเรียบ มือถือแก้วชานมไข่มุกพลาสติกรูปทรงยาวประหลาดเดินเฉิดฉายกลางเซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์ 

 

เท่ชะมัดยาด!

 

จะว่าไป กระแสตื่นชานมไข่มุกไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย ย้อนไปเมื่อสิบกว่าที่แล้ว ชาไข่มุกหนึ่งแก้วราคาเริ่มต้นเพียงยี่สิบบาท เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยใสและชนรักความหวาน แต่ความทรงจำสมัยเรียนของชานมไข่มุกแก้วยาว ผันเปลี่ยนมาเป็นกระแสตื่นชานมไข่มุกที่หวนกลับมาตีตลาดครั้งใหญ่ตั้งแต่วัยกระเตาะยันวัยทำงานในปัจจุบันได้อย่างไรกันล่ะ?

 

Bubble tea

 

ย้อนสู่ต้นกำเนิดเสียหน่อย

 

สาวกชานมไข่มุกคงทราบกันดีว่าต้องลองของแท้ที่ประเทศไต้หวัน เพราะต้นกำเนิดของชานมไข่มุกที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้อยู่ที่นั่น ซึ่งเมนูชานมไข่มุกที่บ้านเกิดเขาชื่อว่า 珍珠奶茶 (zhēnzhū nǎichá – เจินจู ไหน่ฉา) แปลได้ตรงตัวว่า ชานมไข่มุก ว่ากันว่าถูกคิดค้นขึ้นมาเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วที่เมืองไถหนานและไถจง ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Bubble Tea’ หรือ ‘Boba’ ถ้าคุณคิดว่าคำว่า ‘Bubble’ มาจากเม็ดไข่มุก คุณเข้าใจผิดแล้ว เพราะแท้จริงแล้ว Bubble มาจากฟองอากาศจากการที่เราต้องเขย่าแก้วก่อนดื่มต่างหาก ชานมไข่มุกภาษาอังกฤษนอกจาก ‘Bubble Tea’ มักเรียกว่า ‘Boba Tea’ จากภาษาจีน 波霸奶茶 หรือ bōbà nǎichá โดยเจ้าคำว่า ‘Boba’ รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วแปลว่าหน้าอกผู้หญิง…แต่ในที่นี้หมายถึงเม็ดแป้งกลมๆ หรือไข่มุกนั่นเอง เกี่ยวข้องกันอย่างไรไปจินตนาการเอาเองก่อนนะ

 

เครื่องดื่มยอดนิยมนี้ดั้งเดิมทำจากชาดำชั้นดีที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ทั่วไปบนภูเขาสูงในเกาะไต้หวัน เช่น เทือกเขาอาลีซาน เทือกเขาต้าหยูหลิ่ง หรือเทือกเขาแถบทะเลสาบสุริยันจันทรา ซึ่งล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของไต้หวัน ส่วน Pearl หรือไข่มุก ทำมาจากแป้งมันสำปะหลังปั้นเป็นก้อนและเชื่อมไว้ ซึ่งก่อนสูตรชาไข่มุกจะถูกคิดค้นขึ้นมักจะนำมาประกอบเป็นของหวานพื้นเมือง เมื่อนำทั้งหมดมาผสมกันกับนมหรือนมข้น น้ำเชื่อมจากน้ำตาลทรายแดง ก็จะได้เป็นชานมไข่มุกรสชาติดั้งเดิม เมนูประจำชาติจากวัตถุดิบท้องถิ่นที่ชาวไต้หวันภาคภูมิใจ

 

Bubble tea

 

แล้วการเมืองมาเกี่ยวอะไรกับชานม?

 

ในปี 2016 พรรค Democratic Progressive Party (DPP) นำโดย ดร.ไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาะไต้หวัน และถือเป็นผู้หญิงคนที่สองที่ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำในประวัติศาสตร์ชาติที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาทางการ หลังจากจักรพรรดิวู่เจ๋อเทียน หรือคนไทยรู้จักในนาม บูเช็กเทียน ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เป็นระยะเวลากว่าเกือบ 1,500 ปี

 

ดร.ไช่อิงเหวิน นอกจากจะเป็นผู้สร้างกระแสเสรีนิยม เช่น การส่งเสริมสิทธิความเท่าเทียมของ LGBT เธอยังเป็นผู้ปลุกกระแสชาตินิยมในไต้หวันอย่างสร้างสรรค์ โดยการมุ่งเน้นการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และปลดแอกพันธนาการทางการปกครองจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยผลักดันนโยบาย New Southbound Policy โดยเปิดให้ตลาดที่มีศักยภาพสูงได้เข้าไปท่องเที่ยวประเทศไต้หวันโดยไม่ต้องใช้วีซ่า เช่น ประเทศไทย และประเทศในอินโดแปซิฟิกอีกหลายประเทศ 

 

และเดาดูซิว่าหนึ่งในวัฒนธรรมส่งออกของประเทศไต้หวันนั้นคืออะไร? 

 

วัฒนธรรมชานมไข่มุกนั่นเอง

 

Bubble tea

 

การหวนคืนบัลลังก์ของชานมไข่มุก

 

ตลาดชานมไข่มุกจากแก้วละไม่กี่สิบบาท เป็นแก้วละหลายร้อยในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่แค่แฟชั่นที่มาไวไปไวอย่างที่ใครๆ คิด เพราะตลาดชานมไข่มุกไทยที่ว่าโตแล้ว ตลาดชานมไข่มุกโลกนั้นมีมูลค่าสูงกว่าที่คุณคิด ยกตัวอย่างแบรนด์ Chatime โดยมีเจ้าของคือบริษัทผู้นำวัฒนธรรมการดื่มชานมไข่มุก La Kaffa International ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 400 สาขาทั่วโลก และมียอดขายมากถึง 389 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (ราว 382 ล้านบาทไทย) ตามรายงานผลการประกอบการของบริษัทเมื่อต้นปี 2019 นี้ และรู้ไหมว่านอกเหนือจากประเทศที่ได้รับการส่งเสริมจาก New Southbound Policy ชานมไข่มุกแบรนด์นี้ ยังเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

 

Bubble tea

 

ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดชานมไข่มุกทั่วโลกซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1,954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 65,000 ล้านบาทไทย) ตามรายงานของ Allied Market Research ที่แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสขยายได้อีกเกือบเท่าตัวภายในระยะเวลาน้อยกว่าห้าปีถึงกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือกว่า 90,000 ล้านบาทไทย) เลยทีเดียว

 

การเก็บสถิติของ GrabFood ค้นพบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนแถบบ้านเรามียี่ห้อชานมไข่มุกแล้วมากกว่า 1,500 ยี่ห้อ มีสาขากว่า 4,000 สาขา ชาวอาเซียนดื่มชาเฉลี่ยประมาณ 4 แก้วต่อคนต่อเดือน โดยชาติที่ดื่มชานมเยอะที่สุดหนีไม่พ้นคนไทยเรานั่นเอง โดยมีอัตราการดื่มประมาณ 6 แก้วต่อคนต่อเดือน! 

 

Bubble tea

 

การพัฒนาประสบการณ์ใหม่ๆ จากชานมไข่มุก

 

หลังจากชานมไข่มุกกลับมาทำรายได้ทั่วโลก การแข่งขันจึงสูงขึ้น ชานมไข่มุกที่ทำจากชาดำใส่นมและไข่มุกสีดำก็พัฒนารูปแบบไปในทิศทางที่หลากหลาย เช่น มีการผสมเฉาก๊วย เนื้อหวานๆ ของว่านหางจระเข้ เยลลี่รสต่างๆ ไข่มุกสีดำปัจจุบันมีหลากสี ชาดำกลายเป็นชากุหลาบ ชาเขียวมัทฉะ และสูตรอีกหลากหลายตามแต่ละร้านจะรังสรรค์เพื่อหาจุดขายของตัวเอง บางยี่ห้อมีการใช้โฟมชีสหวานๆ เป็นท็อปปิ้ง ใช้ครีมแทนนม เคลือบคาราเมล บางยี่ห้อมีสูตรการเจาะหลอด การเขย่า และการดื่มเฉพาะตัวแยกไปอีก เมนูยอดฮิตของพวกเราชาวไทย ณ ตอนนี้ เห็นจะเป็นนมเข้มข้นเสิร์ฟพร้อมน้ำเชื่อมจากน้ำตาลทรายแดงพร้อมไข่มุกซึ่งก็เป็นเทรนด์ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปตามลิ้นของผู้บริโภคอย่างเราๆ ถือเป็นการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่จบสิ้น

 

Bubble tea

 

อะไรที่ทำให้ชานมไข่มุกมัดใจเราหนุบหนับ

 

เหตุผลที่ผู้คนทั่วโลกชื่นชอบชานมไข่มุกเป็นชีวิตจิตใจ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นทั้งเครื่องดื่มและขนมหวานในแก้วเดียว ถูกใจความชอบรสหวานและขนมหวานของคนเอเชียในแถบนี้ นอกจากนั้นการที่ชานมไข่มุกทำขึ้นเพื่อตอบโจทย์รสนิยมเฉพาะบุคคล นอกจากรสชาติหวาน มัน เคี้ยวสนุกแล้ว ลูกค้ายังสามารถเลือกระดับความหวาน ปริมาณน้ำแข็ง และที่สำคัญคือท็อปปิ้งต่างๆ เป็นการมอบประสบการณ์ ‘Personalise’ สินค้า หรือรังสรรค์เฉพาะบุคคล ทำให้สาวกชานมไข่มุกมีความรู้สึกได้ทดลองและเลือกสรร และเป็นยิ่งกว่าเครื่องดื่มในที่สุด นอกจากนี้ตลาดที่เต็มไปด้วยยี่ห้อให้เลือกมากมาย ยังทำให้เกิดการเปรียบเทียบหมุนเวียนของลูกค้าที่ต้องการเฟ้นหาชานมไข่มุกที่ตอบโจทย์ความสุขของตัวเองมากที่สุดเช่นกันนั่นเอง

 

ชานมไข่มุกได้เจาะเข้าไปถึงกลุ่มผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลก นอกจากสถิติที่น่าตื่นเต้น ยังสังเกตได้จากการนำกระแสไข่มุกไปดัดแปลงสูตรนานาชนิด เห็นได้ในวิดีโอไวรัลและรูปล้อเลียนต่างๆ เช่น ล่าสุดมีการนำชานมไข่มุกไปหุงข้าว บ้างยังนำไปเฉลิมฉลองความหนุบหนับจัดเป็นนิทรรศการอย่างยิ่งใหญ่ 

 

Bubble tea

 

ชานมไข่มุกกลับมาดังระเบิดในประเทศไทยด้วยเหตุผลหลายประการรวมๆ กัน ด้วยชานมใส่น้ำแข็งเย็นชื่นใจ ดับร้อนสำหรับเราที่อยู่ในประเทศไทย และไข่มุกเหนียวหนึบเคี้ยวเพลิน ตลาดที่เติบโตและเมนูสร้างสรรค์ของยี่ห้อที่หลากหลาย กลายมาเป็นไลฟ์สไตล์ของนักชิม เช่นเดียวกับคอกาแฟซึ่งพบความสุขได้จากการตระเวนไปชิมกาแฟตามร้านต่างๆ มียี่ห้อเปิดใหม่ ร้านไหนคิวยาวสาวกชานมไข่มุกก็ต้องชวนพรรคพวกไปชิม 

 

นอกจากนั้นการยกเว้นวีซ่าท่องเที่ยวไต้หวัน ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางเข้าประเทศไต้หวันเหยียบล้านคนต่อปี ไม่พลาดที่จะลิ้มลองเพื่อเปรียบเทียบ แชะและแชร์ภาพ เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การท่องเที่ยวประเทศไต้หวันอีกด้วย ลักษณะเดียวกับการถือแก้วสตาร์บัคส์ไปมา แม้การตั้งราคาที่สูงลิ่วของบางยี่ห้อและการบินไปชิมชานมไข่มุกดั้งเดิมที่ไต้หวันจะเป็นสิ่งท้าทายของผู้บริโภค แต่สำหรับบางคนการที่เรามีโอกาสจับต้องสิ่งที่เข้าถึงยากก็แสดงนัยบางอย่างทางสังคม และไลฟ์สไตล์ที่ไฉไลของเราได้เหมือนกัน

 

นับเป็นโปรดักต์แห่งความอร่อยที่ยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น และดูท่าจะดำเนินอย่างต่อเนื่องไปอีกนาน

 

ต้องขอบคุณประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน และชาวไต้หวันมา ณ ที่นี้ (แม้ว่าสิงคโปร์ก็เป็นอีกชาติที่หวังแย่งซีนนี้กับเขาไม่น้อยก็ตาม) ที่ทำให้เราได้มีความสุขกับหลอดอ้วนๆ และแก้วเย็นๆ ในมือทุกวันนี้

 

ว่าแล้วขอตัวไปสั่ง หวานน้อย น้ำแข็งเยอะ เจาะดื่มเลยครับ

 

 

อ่านเรื่อง ตะลุยอาณาจักรชานมไข่มุกที่ Bubble Tea Factory นิทรรศการชานมไข่มุกแห่งแรกที่สิงคโปร์ ได้ที่นี่

 

อ่านเรื่อง Bubbleology: วิทยาศาสตร์แห่งชานมไข่มุก ทำไมอร่อยระดับโมเลกุล ได้ที่นี่

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X