×

‘กลุ่มบางจาก’ ทุ่มหมื่นล้านบาทขยายไลน์สู่น้ำมันอากาศยาน จับมือ ‘ธนโชคฯ’ แปรรูปน้ำมันใช้แล้วเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงรายแรกในไทย

31.08.2022
  • LOADING...
บางจาก

บางจาก ร่วมมือกับ บีบีจีไอ  และธนโชค ออยล์ ไลท์ ร่วมทุนตั้งบริษัท BSGF ผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารรายแรกและรายเดียวในไทย ทุ่มงบสร้างโรงผลิต 8,000-10,000 ล้านบาท ดันกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน คาดแล้วเสร็จพร้อมให้บริการอุตสาหกรรมการบินทั้งในและต่างประเทศในไตรมาส 4/67 หวังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจากการเดินทางและขนส่งทางอากาศลงได้ราว 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP เปิดเผยว่า บริษัท และ บมจ.บีบีจีไอ หรือ BBGI ร่วมกับบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ ลงนามข้อตกลงร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด (BSGF) ด้วยงบลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท ในสัดส่วนการลงทุนโดยบางจาก 51% ธนโชค ออยล์ ไลท์ 29% และบีบีจีไอ 20% เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร (Used Cooking Oil) เป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย

 

การร่วมทุนครั้งนี้เป็นการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญระหว่างพันธมิตรทั้งสามมาร่วมวางรากฐานที่มั่นคงให้กับบริษัท BSGF ทั้งในด้านการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจัดจำหน่าย ประสานความแข็งแกร่งระหว่างบริษัท บางจาก ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันบางจาก โรงกลั่นแบบ Complex Refinery ที่ทันสมัย และเป็นผู้บุกเบิกการรับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารในครัวเรือนเพื่อผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยเป็นรายแรก และมีความเชี่ยวชาญในการค้าน้ำมันผ่านบริษัท BCP Trading จำกัด หรือ BCPT ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ค้าน้ำมันอิสระอันดับ 1 ในตลาดสิงคโปร์ รวมถึงบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ ผู้มีประสบการณ์ในการจัดหาวัตถุดิบอย่างน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารมายาวนาน และบริษัท บีบีจีไอ ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง

 

BSGF จะเริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการก่อสร้างหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหาร ภายในบริเวณโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ช่วงปลายปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 ล้านลิตรต่อวัน เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนที่อุดสาหกรรมการบินทั่วโลกสามารถนำมาใช้ทดแทนได้ทันทีโดยไม่ส่งผลต่อเครื่องยนต์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมการบินลงได้ประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงการบินในปัจจุบัน)

 

“BSGF พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการใช้ SAF ในอนาคต ตามแนวโน้มความต้องการใช้ SAF ทั่วโลก สอดคล้องกับข้อกำหนดในสหภาพยุโรปที่กำหนดสัดส่วนการผสม SAF ในน้ำมันอากาศยานที่จะบินเข้าสู่สนามบินในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จากการลงมติของสมาชิกสภายุโรปเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กำหนดไว้ที่ 2% ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นเป็น 6%, 37% และ 85% ในปี 2573, 2583 และ 2593 ตามลำดับ) และสอดคล้องกับมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้อุดสาหกรรมการบินทั่วโลกมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593″

 

ชัยวัฒน์กล่าวว่า การร่วมทุนก่อตั้งบริษัท BSGF และหน่วยผลิต SAF จากน้ำมันใช้แล้วจากการทำอาหารรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยนี้ ถือว่าเป็นบทใหม่สำหรับวงการพลังงานของประเทศไทย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยนวัตกรรมพลังงานสีเขียว และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญตามแผน BCP 316 NET ของกลุ่มบางจาก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊ซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้า Net Zero ในปี 2608 

 

ทั้งนี้ ธนโชค ออยล์ ไลท์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่เชี่ยวชาญในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้ว โดยมีการลงพื้นที่จัดเก็บในชุมชน ป้องกันการนำกลับไปใช้ซ้ำหรือระบายทิ้งลงในพื้นที่สาธารณะหรือแหล่งน้ำต่างๆ ปัจจุบันกลุ่มธนโชคฯ มีเครือข่ายการเก็บรวบรวมน้ำมันใช้แล้วครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการจัดเก็บและรวบรวมน้ำมันใช้แล้วประมาณ 17 ล้านลิตรต่อเดือน

 

ส่วนบีบีจีไอจะใช้ความชำนาญในการปฏิบัติการโรงงานไบโอดีเซล พร้อมด้วยเทคโนโลยีและวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF มาช่วยสนับสนุนวัตถุดิบให้กับหน่วยผลิต SAF ได้อย่างเพียงพอ รวมถึงมีความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบให้เหมาะสมกับกระบวนการผลิต SAF เช่น กรดไขมันปาล์ม และน้ำมันใช้แล้ว

 

โดยผลิตภัณฑ์ SAF จากน้ำมันใช้แล้วในการทำอาหารนั้น เรียกได้ว่าส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับ BCG Economy Model อย่างครบวงจร ตั้งแต่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising