×

อธิบายการประท้วงต่อต้านราชวงศ์อังกฤษ ประชาชนมีสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน?

13.09.2022
  • LOADING...
ราชวงศ์อังกฤษ

ในระหว่างพระราชพิธีประกาศขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เกิดเหตุที่ผู้ประท้วงต่อต้านราชวงศ์ถูกจับกุมตัว โดยชายรายหนึ่งเปิดเผยเรื่องราวของตนเองผ่านทางทวิตเตอร์ว่า เขาถูกตำรวจควบคุมตัวหลังจากที่ตะโกนออกมาว่า “ใครเลือกเขาเป็นกษัตริย์!” ขณะเจ้าหน้าที่กำลังอ่านคำประกาศขึ้นครองราชย์ในเมืองออกซ์ฟอร์ด

 

ชายผู้นั้นคือ ไซมอน ฮิลล์ (Symon Hill) ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์วัย 45 ปี เขาเปิดเผยว่า ตนเองได้ร่วมฟังประกาศดังกล่าวด้วยความบังเอิญขณะที่กำลังเดินกลับบ้านจากโบสถ์แห่งหนึ่ง โดยหลังจากที่เขาตะโกนถ้อยคำดังกล่าวก็มีประชาชนบางคนที่บอกให้เขาเงียบไปซะ แต่เขาก็ยังยืนยันว่า “ประมุขของประเทศได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบจากเรา”

 

ภายหลังจากนั้นไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 3 คนก็เข้ามาชาร์จทันที ก่อนที่ตำรวจจะมารับเรื่องต่อ โดยฮิลล์กล่าวว่า เขาถูกนำตัวขึ้นรถตู้ตำรวจ แม้ว่าจะมีคนอื่นๆ พยายามประท้วงต่อเจ้าหน้าที่ว่าเขามีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม ฮิลล์ไม่ใช่แค่คนเดียวที่ถูกจับกุมตัวจากการแสดงความคิดเห็นต่อต้านราชวงศ์ แต่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาหลังสิ้นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังมีประชาชนอีกหลายคนที่เผชิญกับเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกัน สิ่งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้เกิดคำถามที่ว่า แล้วประชาชนในสหราชอาณาจักรมีสิทธิ์มีเสียงมากน้อยแค่ไหนที่จะแสดงความคิดเห็นต่อต้านราชวงศ์

 

กฎหมายปัจจุบันเกี่ยวกับสิทธิ์ในการประท้วงเป็นอย่างไร?

 

  • ก่อนอื่นนั้น เราต้องเริ่มจากการดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงของสหราชอาณาจักรกันเสียก่อน โดยกฎหมายระบุไว้ว่า ‘ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะประท้วงได้อย่างสันติ’ โดยประชาชนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกอย่างเสรี และมีเสรีภาพในการชุมนุม ตามพระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชน (Human Rights Act) ซึ่งบัญญัติตามมาตรา 10 และ 11 ของอนุสัญญาคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพลเมืองยุโรป (European Convention on Human Rights) 

 

  • อย่างไรก็ตาม สิทธิ์ในการประท้วงตามกฎหมายของอังกฤษและเวลส์นั้น ‘มีข้อจำกัด’ ตามที่ระบุในพระราชบัญญัติความสงบเรียบร้อยของประชาชนปี 1986 (Public Order Act 1986) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะโดยเฉพาะ ที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการก่อจลาจล การก่อความไม่สงบเรียบร้อย การทะเลาะวิวาท และการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงระหว่างการชุมนุม อีกทั้งยังให้อำนาจเจ้าพนักงานในการควบคุมความสงบในการชุมนุมด้วย

 

  • นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติตำรวจ อาชญากรรม การพิจารณาพิพากษา และศาล (Police, Crime, Sentencing and Courts Act: PCSC) ที่เพิ่งบังคับใช้ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มอำนาจให้ตำรวจในการควบคุมและปราบปรามการประท้วงมากกว่าในอดีต เช่น เจ้าหน้าที่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้ว่าการชุมนุมต้องเริ่มและจบลงเวลาใด หรือการชุมนุมใช้เสียงดังได้เท่าไร อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสั่งห้ามการประท้วงอย่างเด็ดขาด

 

  • ส่วนในสกอตแลนด์ก็มีการใช้กฎหมายที่คล้ายคลึงกันในรูปแบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) และตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการออกใบอนุญาตปี 2010 (Criminal Justice and Licensing (Scotland) Act 2010) ส่วนในไอร์แลนด์เหนือนั้นจะมีกฎหมายด้านการควบคุมการประท้วงของตนเองโดยเฉพาะ ตามที่ระบุในคำสั่งด้านความสงบเรียบร้อยปี 1987 (The Public Order (Northern Ireland) Order 1987)

 

เหตุใดผู้ประท้วงถึงถูกจับกุมตัว และบทลงโทษของพวกเขาคืออะไร?

 

  • ในกรณีของฮิลล์นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ฮิลล์ถูกจับกุมตัวโดยตั้งข้อสงสัยว่าก่อความไม่สงบในที่สาธารณะ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความสงบเรียบร้อยของประชาชนปี 1986 (Public Order Act 1986) ซึ่งกำหนดความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการข่มขู่ คุกคาม หรือทำให้ผู้อื่นรู้สึกไม่สบายใจ โดยมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 ปอนด์ แต่สุดท้ายฮิลล์ก็ได้รับการปล่อยตัวก่อนที่จะเดินทางออกจากสถานีตำรวจ

 

  • ส่วนหญิงวัย 22 ปีอีกคนหนึ่งถูกจับกุมตัวในกรุงเอดินบะระของสกอตแลนด์ หลังเธอชูป้ายที่มีข้อความว่า ‘ไม่เอาลัทธิจักรวรรดินิยม ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์’ (F*** imperialism, abolish monarchy) โดยเธอถูกตั้งข้อหาก่อความไม่สงบ เช่นเดียวกับชายอีกคนที่ถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาเดียวกันเมื่อวานนี้ (12 กันยายน) หลังจากที่เขาตะโกนถ้อยคำไม่สุภาพใส่ขบวนเคลื่อนหีบพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในกรุงเอดินบะระ โดยหญิงคนแรกนั้นต้องไปขึ้นศาล Sheriff Court ของสกอตแลนด์ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และ/หรือปรับ 5,000 ปอนด์ หรือถูกดำเนินคดีตามคำฟ้อง ซึ่งจะมีโทษจำคุก 5 ปี และ/หรือปรับ 5,000 ปอนด์

 

ข้อกำจัดในการประท้วงเข้มงวดมากกว่าเดิมหรือไม่?

 

  • สำหรับในอังกฤษและเวลส์ ขอบเขตของสิทธิ์ในการประท้วงภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายนั้นเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากกฎหมาย PCSC ที่มีการบังคับใช้ใหม่ในปีนี้ ด้วยเหตุผลดังที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า กฎหมายดังกล่าวได้เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประท้วงได้มากขึ้น แม้กระทั่งว่าหากการประท้วงมีเสียงดังเกินไปก็อาจถูกลงโทษได้

 

  • แน่นอนว่าที่ผ่านมานั้นกฎหมาย PCSC เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นสิ่งที่ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชนในด้านการประท้วง และกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวอังกฤษอย่างมาก

 

  • อย่างไรก็ตาม ฝ่ายนิติบัญญัติของอังกฤษระบุว่า กฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อรักษาสมดุลระหว่างสิทธิ์ของผู้ประท้วงในด้านเสรีภาพทางการแสดงออก ควบคู่ไปกับการรักษาสิทธิ์ของผู้อื่นให้สามารถทำธุระของตนเองได้โดยไม่ถูกการประท้วงขัดขวาง ผ่านการเปิดทางให้ตำรวจสามารถควบคุมการประท้วงที่มีความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

 

ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่น่ากังวลอีกหรือไม่?

 

  • พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏปี 1848 (Treason Felony Act 1848) ยังคงมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่า ในทางเทคนิคแล้ว ผู้ใดก็ตามที่เรียกร้องให้มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ อาจถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา ซึ่งอาจได้รับโทษร้ายแรงถึงจำคุกตลอดชีวิต หรือหากเทียบเคียงให้เข้าใจง่ายขึ้น คือมีลักษณะคล้ายคลึงกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทยนั่นเอง

 

  • แต่ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายนี้ไม่เคยถูกนำไปใช้ดำเนินคดีตั้งแต่ปี 1879 หรือเกือบ 150 ปีมาแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้ที่ถูกจับกุมตัวส่วนมากนั้นจะโดนข้อหาก่อความไม่สงบในพื้นที่สาธารณะ หรือไม่ก็ถูกเชิญตัวให้ออกจากพิธี แต่มิใช่ข้อหาการดูหมิ่นราชวงศ์

 

ชาวสหราชอาณาจักรยังสนับสนุนราชวงศ์มากแค่ไหน?

 

  • เราขอหยิบผลการสำรวจที่น่าสนใจจาก YouGov ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน มาเป็นตัวสะท้อนความคิดเห็นของชาวอังกฤษ โดยสัดส่วนของประชาชนที่ระบุว่า ‘การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยังควรมีอยู่ต่อไปอนาคต’ ยังคงสูงถึง 62% ขณะที่มี 22% ที่เห็นควรให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งประมุขขึ้นมาดูแลประเทศเองได้

 

  • ในบรรดาประชาชนกลุ่มอนุรักษนิยม 84% และประชาชนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปอีก 77% ระบุว่า การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังควรมีต่อไป 

 

  • ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ 18-24 ปีนั้น มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันชัดเจนมาก โดย 33% ชื่นชอบราชวงศ์และยังอยากให้มีต่อ ส่วน 31% อยากเห็นการเลือกตั้งประมุขจากเสียงประชาชน

 

  • แต่หากดูกันในรอบ 10 ปีแล้วจะเห็นว่า สัดส่วนของประชาชนที่อยากเห็นราชวงศ์อยู่ต่อนั้นลดลง จากปี 2012 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 75% เหลือที่ 62% ในปี 2022

 

  • โดยความคิดเห็นของกลุ่มวัยรุ่นนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่ YouGov จัดทำโพลดังกล่าวครั้งแรกนั้น 59% ของกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18-24 ปี สนับสนุนให้มีราชวงศ์ต่อ ขณะในอีก 11 ปีให้หลัง (2022) สัดส่วนของวัยรุ่นที่นิยมราชวงศ์กลับลดลงเหลือแค่ 33%

 

เสียงจากผู้เชี่ยวชาญ

 

  • รูธ สมีธ (Ruth Smeeth) หัวหน้าผู้บริหารของ Index on Censorship ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก ระบุว่า การจับกุมตัวผู้ประท้วงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ ‘น่ากังวลอย่างมาก’ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายงดใช้สถานการณ์นี้มาเป็นสิ่งที่ทำลายเสรีภาพในการแสดงออกที่ประชาชนทั้งประเทศพึงมี

 

  • ซิลกี คาร์โล (Silkie Carlo) ผู้อำนวยการ Big Brother Watch องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งต่อต้านการคุกคามต่อเสรีภาพของพลเมือง กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ปกป้องสิทธิ์ของประชาชนในการประท้วงด้วยเช่นกัน ไม่ต่างจากที่พวกเขามีหน้าที่ปกป้องสิทธิ์ของประชาชนที่แสดงออกถึงการสนับสนุน แสดงความเสียใจ หรือแสดงความเคารพต่อราชวงศ์”

 

  • โจดี เบก (Jodie Beck) เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายและการรณรงค์ของ Liberty องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนสิทธิพลเมือง กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่ได้เห็นตำรวจบังคับใช้อำนาจในลักษณะที่เป็นบทลงโทษหนักต่อประชาชน” พร้อมย้ำว่า “การประท้วงไม่ใช้ของขวัญที่รัฐมอบให้ แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอยู่แล้ว”

 

เสียงจากเจ้าหน้าที่

 

  • สำนักข่าว BBC ได้รายงานคำแถลงจาก สจวร์ต คันดี (Stuart Cundy) รองผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจ หลังเกิดกระแสความวิตกกังวลของประชาชน ซึ่งย้ำว่า “ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะประท้วงอย่างแน่นอน และเราได้ชี้แจงเรื่องนี้อย่างชัดเจนแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องแล้ว”

 

  • ทั้งนี้ ทางการอังกฤษจะส่งเจ้าหน้าที่ทหารราว 1,500 นายเพื่อประสานงานกับตำรวจและเจ้าหน้าที่ดูแลพลเรือน เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของงานพระราชพิธีพระบรมศพ ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนมาเข้าร่วมมหาศาลในวันจันทร์หน้า (19 กันยายน)

 

  • ด้านโฆษกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน โดยถึงแม้จะไม่ได้กล่าวถึงการจับกุมประชาชนบางส่วนอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็ระบุว่า “เวลานี้เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังไว้ทุกข์ แต่สิทธิขั้นพื้นฐานในการประท้วงยังคงเป็นหลักสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของเรา”

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของอังกฤษ ที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงผลัดแผ่นดิน และต้องไม่ลืมที่จะรักษาสิทธิ์ของประชาชน ซึ่งรวมถึงการเปิดพื้นที่ให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี อันเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่ค้ำจุนการปกครองของสหราชอาณาจักรมาตลอดหลายร้อยปี

 

ภาพ: Wiktor Szymanowicz/Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising