×

อีกไกลแค่ไหนถึงจะใกล้ คุยกับ British Council ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้งานวิจัยเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมากขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
03.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • คนมักมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากและไกลตัว ทั้งที่ตอนเด็กๆ เรามีคำถามอย่าง ทำไมทะเลเป็นสีฟ้า ร่างกายของเราทำงานอย่างไร ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น
  • นักวิจัยไทยและทั่วโลกเจอปัญหาคล้ายๆ กันคือหลายคนมีงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ขาดการสื่อสารกับสังคม บริติช เคานซิล จึงเปิดเวทีให้นักวิจัยมีโอกาสได้พูดคุยกับคนทั่วไปและสื่อมวลชนถึงงานวิจัยของเขาในภาษาที่เข้าใจง่ายและเป็นกันเอง
  • งานด้านวิทยาศาสตร์ของบริติช เคานซิล เริ่มตั้งแต่การสร้างแรงบันดาลใจความสนุกกับวิทยาศาสตร์และเด็กๆ ผ่านโครงการ STEM การสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติสำหรับนักวิจัยอย่างโครงการทุนนิวตัน ไปจนถึง FameLab เวทีเล่าเรื่องรวมวิทยาศาสตร์ให้วิทยาศาสตร์สนุก เข้าใจง่าย และใกล้ตัวในเวลา 3 นาที

ขึ้นชื่อว่า ‘วิทยาศาสตร์’ หลายคนคงนึกถึงสาขาวิชาที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้สุดล้ำ คำศัพท์เฉพาะน่าปวดหัว ไปจนถึงสูตรซับซ้อนที่คนนอกวงการรู้สึกยากเกินที่จะจับต้องได้และไม่อยากพยายามทำความเข้าใจใดๆ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าความวิทย์ฯ แบบที่คนคุ้นเคยนั้นก็มีส่วนถูก แต่จริงๆ แล้วมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาจับคู่ประยุกต์ใช้กับเรื่องใกล้ตัว รวมไปถึงประเด็นสังคมหลายเรื่อง ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันปรากฏให้เห็นมากขึ้น แถมยังมีประโยชน์ในการแก้ปัญหา ลดความเสี่ยง หรือเพิ่มประสิทธิภาพอะไรบางอย่างได้อย่างน่าสนใจ โดยหนึ่งในวิธีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้คือการพัฒนางานวิจัย

 

ชัญญา ทั้งสุข หัวหน้าฝ่ายการศึกษาและงานวิทยาศาสตร์ของบริติช เคานซิล หนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร จะพาไปสะท้อนวงการวิทยาศาสตร์ไทยในประเด็นที่ว่า งานวิจัยไทยอยู่ตรงไหน และจะก้าวต่อไปได้แบบไหนบ้าง และทางองค์กรมีแนวทางสนับสนุนให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวขึ้นได้อย่างไร

 

 

ความน่าสนใจของวงการวิทยาศาสตร์ไทยอยู่ที่ตรงไหน

เราพบว่าประเทศไทยมีนักวิจัยเก่งๆ และมีงานวิจัยที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เราเผชิญอยู่ ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างที่เราคาดไม่ถึงไปพร้อมๆ กับการพัฒนาความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้น

 

ตัวอย่างงานวิจัยภายใต้โครงการนิวตัน เช่น งานวิจัยเรื่องการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชเพื่อลดมลพิษจากกระบวนการผลิต หรืองานวิจัยตรวจจับโรคระบาดในกุ้งเพื่อให้เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมพบที่มา ควบคุม และป้องกันโรคอย่างทันที โดยงานวิจัยมีการทำงานร่วมกันและใช้ความเชี่ยวชาญที่หลากหลายรวม 12 ภาคส่วน ระหว่างศูนย์วิจัย (BIOTEC) มหาวิทยาลัยไทย (มหิดล), มหาวิทยาลัยอังกฤษ (University of Exeter), ภาครัฐ (Cefas), อุตสาหกรรมกุ้ง และชาวนากุ้ง ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหา ดังนั้นสิ่งที่เขาทำอยู่ สุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์คือคนในชุมชน

 

หลายคนไม่รู้ว่ามันมีคนทำอะไรแบบนี้อยู่ และมีคนหาทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ด้วยวิทยาศาสตร์ พอเราได้มาอยู่ตรงนี้เลยรู้ว่าจริงๆ แล้วมีคนที่มีศักยภาพอยู่มาก แต่อาจไม่ได้สื่อสารมันออกมาหรือมีภาพให้เห็นในสื่อมากนัก

 

คิดว่าการรับรู้ของคนทั่วไปที่มีต่อวงการวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

คนมักมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากและไกลตัว รวมถึงช่องว่างระหว่างนักวิจัยและสังคม ซึ่งผลที่ตามมาคือประเทศไทยขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และความสนุกในงานวิทยาศาสตร์ ทั้งๆ ที่วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว คุณลองคิดว่าตอนเราเด็กๆ เรามีคำถาม ความตื่นเต้น และความสงสัยมากมาย ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ อย่างทำไมทะเลเป็นสีฟ้า ร่างกายของเราทำงานอย่างไร รวมไปถึงคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องตอบเด็กว่าหนูเกิดมาได้อย่างไร

 

แต่เมื่อความสนุกและการเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และชีวิตประจำวันหายไปในวันที่เราโตขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบคือประเทศไทยมีนักเรียนที่สนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์เป็นจำนวนน้อย คิดเป็นสัดส่วน 70:30 เมื่อเทียบระหว่างนักเรียนสายวิทย์และสายศิลป์ รวมถึงงบประมาณที่สนับสนุนงานวิจัยก็มีสัดส่วนไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับ GDP ทั้งประเทศ

 

ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนใดคนหนึ่งหรือแก้ได้ในข้ามคืน เราคิดว่าทุกคนต้องร่วมมือกัน เริ่มตั้งแต่ที่บ้านและสถาบันการศึกษา และนักวิจัยออกมาพูดคุยถึงการค้นพบของเขามากขึ้น สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เราพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล ซึ่งเริ่มได้จากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก รักษาความสนุก และส่งต่อแรงบันดาลใจของวิทยาศาสตร์ให้คนรุ่นใหม่

 

 

ตัวนักวิจัยวิทยาศาสตร์เองมีด้านไหนที่ควรพัฒนาหรือได้รับการส่งเสริมเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงง่ายขึ้นบ้างไหม

เราคิดว่านักวิจัยไทยและทั่วโลกเจอปัญหาคล้ายๆ กันคือหลายคนมีงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ขาดการสื่อสารกับสังคม ซึ่งเราเข้าใจในเรื่องข้อจำกัดและธรรมชาติในตัวของนักวิจัย แต่หากนักวิจัยไม่สื่อสารงานวิจัยของเขาออกมา คนทั่วไปจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเรากำลังจะมีนวัตกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงสำคัญ และวิทยาศาสตร์อยู่ใกล้ตัวเราขนาดไหน

 

บริติช เคานซิล เห็นความสำคัญของการสื่อสารงานด้านวิทยาศาสตร์ เราจึงมีเวทีที่จัดขึ้นให้นักวิจัยมีโอกาสได้พูดคุยกับคนทั่วไปและสื่อมวลชนถึงงานวิจัยของเขาในภาษาที่เข้าใจง่ายและเป็นกันเอง ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าใจทฤษฎีควอนตัมเชิงลึก ฟิสิกส์ หรือเคมี แต่เราอยากให้คนเข้าถึงความรู้ว่าโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น อนาคตจะเป็นอย่างไร และเราแก้ไขมันได้อย่างไรด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถเริ่มด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ อย่างเช่น การกินข้าวให้หมดจานก็สามารถลดปัญหา Food Waste ซึ่งเป็นปัญหาที่เราเผชิญอยู่ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว

 

เราจึงมีเวทีอย่าง Café Scientifique หรือเวทีการแข่งขันการสื่อสารวิทยาศาสตร์ FameLab ซึ่งการสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้คนทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ รู้จักคิดวิเคราะห์ และยังเปลี่ยนมุมมองคนทั่วไปเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ว่าเข้าถึงได้ และยังช่วยพัฒนาทักษะการพิตช์ทุนต่างๆ ให้นักวิจัยเองอีกด้วย

 

 

ความพิเศษของการทำงานวิจัยที่เป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศมีข้อดีอย่างไร

เรามองว่าการทำงานร่วมกันแบบทีมเวิร์กสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่าการทำงานคนเดียวอยู่แล้ว และเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นกับงานวิจัย เพราะสองประเทศมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน และการทำงานร่วมกันสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ โดยดูจากข้อมูลเชิงวิชาการ SciVal หรือเครื่องมือวิเคราะห์ผลงานวิจัย พบว่าในปี 2011-2015 อังกฤษเป็นประเทศที่ร่วมทำวิจัยกับประเทศไทยสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก หากวัดคุณภาพของผลงานตีพิมพ์ด้วยดัชนี Citation impact ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างจำนวนการอ้างอิงที่เกิดขึ้นจริงต่อจำนวนการอ้างอิงเฉลี่ย จะพบว่านักวิจัยชาวอังกฤษจะมีค่าประเมินเป็น 1.56 นักวิจัยไทยเป็น 0.95 แต่เพิ่มขึ้นเป็น 2.69 เมื่อเกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่างานวิจัยร่วมระดับนานาชาติช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักวิจัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้เกิดผลงานตีพิมพ์ที่มีการอ้างอิงมากกว่า   

 

ทำอย่างไรงานวิจัยจึงจะไม่จบอยู่แค่ในแวดวงวิชาการ

เรามองว่าสิ่งที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และสังคมให้มีความสอดคล้องกัน ซึ่งเมื่อทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันแล้ว งานวิจัยที่เกิดขึ้นย่อมมาจากดีมานด์ที่ต้องการจริงๆ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้

 

บริติช เคานซิล พยายามเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้เกิดความเชื่อมโยงนี้ ยกตัวอย่างเช่น ทุนวิจัย Institutional Links ภายใต้โครงการ Newton Fund ของรัฐบาลอังกฤษ นักวิจัยสามารถหาพาร์ตเนอร์ที่เป็น NGO ภาคอุตสาหกรรม SMEs ต่างๆ ได้เพิ่มเติมด้วย งานวิจัยที่ผลิตออกมาจึงไม่ใช่การตีพิมพ์อย่างเดียว แต่เป็นโจทย์ที่จะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาที่ทั้งสองประเทศเผชิญอยู่ และทำอย่างไรให้ชุมชนได้ประโยชน์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าการทำวิจัยแบบนี้จะช่วยเปิดและเปลี่ยนมุมมองในการทำงานวิจัยครั้งต่อๆ ไปด้วย

 

นอกจากนี้ การทำงานวิจัยร่วมกันยังต่อยอดไปสู่การสร้างหลักสูตรในมหาวิทยาลัยร่วมกันที่คนทั่วไปรู้จักในรูปแบบของ Joint-degree ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนหลักสูตรจากทั้งสองประเทศ และได้ทั้งวุฒิจากทั้งไทยและอังกฤษ

 

 

 

บริติช เคานซิล ใช้เครื่องมืออะไรอีกบ้างเพื่อทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวยิ่งขึ้น

งานด้านวิทยาศาสตร์ของเราเริ่มตั้งแต่การสร้างแรงบันดาลใจ ความสนุกกับวิทยาศาสตร์และเด็กๆ ผ่านโครงการ STEM รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติสำหรับนักวิจัยอย่างโครงการทุนนิวตัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทย และในขณะเดียวกันเราก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญระหว่างอังกฤษและไทย

 

นอกจากนี้ เรายังมีโครงการ FameLab เวทีเล่าเรื่องรวมวิทยาศาสตร์ให้วิทยาศาสตร์สนุก เข้าใจง่าย และใกล้ตัวในเวลา 3 นาที เราอยากเชื่อมช่องว่างระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคม ทำให้วิทยาศาสตร์ให้สนุกและใกล้ตัว เพราะท้ายที่สุดถ้าเราสามารถทำให้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา คนและสังคมของเราจะมีประสิทธิภาพ และอนาคตก็เป็นเรื่องที่เราจัดการได้

 

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการทุนวิจัยต่างๆ จากบริติช เคานซิล ได้ที่ www.britishcouncil.or.th

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X