×

สำรวจ ‘BRC’ ร่างใหม่หุ้นบิ๊กซี ที่จะรีเทิร์นเข้า SET ไตรมาส 3 ปีนี้ ด้วยมาร์เก็ตแคปที่อาจจะสูงถึง 3 แสนล้านบาท

29.03.2023
  • LOADING...
BRC

HIGHLIGHTS

1 min read
  • ‘บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น’ หรือ BRC ซึ่งก็คือร่างใหม่ของหุ้น BIGC ที่เพิ่ง De-Listed ไปเมื่อปี 2560 ตอนนี้จะรีเทิร์นเข้า SET อีกครั้ง หลังจากที่ล่าสุดบอร์ด BJC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อนุมัติให้ IPO แล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างแต่งตั้ง 7 ที่ปรึกษาการเงิน ทั้งเฮาส์ไทยและต่างชาติ 
  • BRC ถูกคาดหมายว่าจะดำเนินการยื่นไฟลิ่งในเดือนเมษายนปีนี้ โดยจะเสนอขายหุ้น IPO ทั้งหมด 3,730 ล้านหุ้น ส่วนจังหวะเข้าซื้อขายใน SET นั้น วงการตลาดทุนคาดการณ์ว่าเป็นไตรมาส 3 ปีนี้
  • สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับดีล IPO นี้คือ ‘ขนาด’ โดยวงการไอบีคาดการณ์กันว่า BRC จะมีมาร์เก็ตแคปหลังเข้าเทรดใน SET ประมาณ 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของกลุ่มค้าปลีก
  • หากเจาะลึกลงไปที่ Core Value ของ BRC พบว่าเป็นแหล่งรายได้หลัก (สัดส่วนเกือบ 70%) ของกลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อย่างไรก็ตามการ Spin-off หุ้น BRC ออกมา ก็ไม่ได้ทำให้ BJC สูญเสียมูลค่าแต่อย่างใด ในทางกลับกัน BJC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่จะได้รับสภาพคล่องเพิ่ม 
  • นักวิเคราะห์มีมุมมองเป็นบวกต่อทั้งหุ้น BJC และ BRC โดยจุดเด่นของ BRC คือการฟื้นตัวที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับผู้เล่นในสนามเดียวกัน ขณะที่ BJC จะมีสภาพคล่องเพิ่ม และสามารถนำไปลดภาระดอกเบี้ยได้

บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ได้อนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ให้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 29.98% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของ BRC หรือคิดเป็นจำนวน 3,730 ล้านหุ้น ภายหลังการเพิ่มทุนและการเสนอขายหุ้น IPO และการนำหุ้นสามัญของ BRC เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 

 

จำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขาย 3,730 ล้านหุ้นนั้น ได้รวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-allotment Agent) หากมีรายการดังกล่าว 

 

และภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทเช่นเดิม

          

อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะส่งผลกระทบให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทใน BRC ลดลง (Dilution) จากเดิม 100% ใน BRC เป็นไม่ต่ำกว่า 70.02% ของทุนชำระแล้วของ BRC ภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO

          

สำหรับ BRC นั้นนับเป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของบริษัทในการดำเนินธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์            

 

วัตถุประสงค์การขายหุ้น IPO ครั้งนี้ BRC จะนำเงินไปใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงชำระหนี้บางส่วนของ BRC และใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ

 

ลุ้นมาร์เก็ตแคปหลัง IPO แตะ 3 แสนล้านบาท

แหล่งข่าววาณิชธนกิจเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในการทำดีลขาย IPO ของ BRC นั้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวน 7 ราย แบ่งเป็น FA จากในประเทศจำนวน 5 ราย ได้แก่ บล.กสิกรไทย, บล.บัวหลวง, บล.เกียรตินาคินภัทร, ธนาคารไทยพาณิชย์, บล.ฟินันซ่า ส่วน FA จากต่างประเทศอีก 2 ราย ได้แก่ บล.เมอร์ริล ลินช์ กับ บล.ยูบีเอส เพื่อขาย IPO ให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

 

ปัจจุบันที่ปรึกษาทางการเงินอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยเตรียมจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ภายในช่วงเดือนเมษายนนี้ และคาดว่าจะนำหุ้น BRC เข้าจดทะเบียนซื้อขายเป็นวันแรกในช่วงประมาณไตรมาส 3/66 เบื้องต้นประเมินว่า BRC จะมีมูลค่ามาร์เก็ตแคป ณ ราคา IPO อยู่ที่ระหว่าง 7,000-10,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.3-3 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาขาย IPO 

 

หากเป็นตามคาด ทันทีที่ BRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะกลายเป็นหุ้นค้าปลีกที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 (ในเชิงมาร์เก็ตแคป) เบียด CRC ตกอันดับไป โดยข้อมูลจาก SETSMART (ณ วันที่ 27 มีนาคม) พบว่าหุ้นค้าปลีกที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่สุด 3 อันดับแรก ดังนี้ 

  1. CPALL มาร์เก็ตแคป 5.65 แสนล้านบาท
  2. MAKRO มาร์เก็ตแคป 4.23 แสนล้านบาท
  3. CRC มาร์เก็ตแคป 2.74 แสนล้านบาท

 

ทบทวนเส้นทางธุรกิจ ‘บิ๊กซี’ ก่อนกลับเข้าตลาดหุ้นรอบ 2 

  • ปี 2537 กลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ เปิดห้างค้าปลีกภายใต้ชื่อ ‘บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์’ สาขาแจ้งวัฒนะ 
  • ปี 2540 ประสบผลกระทบวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ต้องยุติการเปิดสาขาใหม่ๆ หลังจากเปิดดำเนินการไปแล้ว 20 แห่ง
  • ปี 2542 กลุ่มคาสิโน กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่จากฝรั่งเศส เข้ามาใส่เงินเพิ่มทุนจนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่แทนกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ 
  • ปี 2553 กลุ่มคาสิโน กรุ๊ป เจ้าของบิ๊กซีในไทย ทุ่มงบจำนวน 686 ล้านยูโร เข้าซื้อกิจการศูนย์การค้าคาร์ฟูร์ 42 สาขา ส่งผลให้มีสาขารวมเป็นมากกว่า 100 สาขา
  • ปี 2555 หรือราว 11 ปีที่แล้ว บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) ขาย IPO และเข้าจดทะเบียนใน SET 
  • ปี 2559 กลุ่มคาสิโน กรุ๊ป ประสบปัญหาทางการเงิน จึงเปิดประมูลขายกิจการบิ๊กซีในไทย โดย บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ในเครือ ‘ทีซีซี กรุ๊ป’ ของ ‘เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี’ ชนะประมูลซื้อได้หุ้นไปสัดส่วน 58.88% ราคาหุ้นละ 252.88 บาท มูลค่ารวม 1.22 แสนล้านบาท
  • ปี 2560 BJC ทำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของกิจการบิ๊กซีที่ราคา 225 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ปัจจุบันกลุ่ม BJC มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของในหุ้นบิ๊กซี ด้วยสัดส่วนหุ้น 99.94% โดยใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท
  • ปี 2560 หุ้นของ BIGC ถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 โดย BJC ระบุว่า เพื่อแก้ไขปัญหาและลดภาระค่าธรรมเนียมจากการที่ Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์
  • ล่าสุดเดือนมีนาคม 2566 บอร์ด BJC ไฟเขียวที่จะนำหุ้น BRC ซึ่งร่างเดิมคือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) เข้าจดทะเบียนใน SET อีกครั้ง 

 

งบการเงิน ‘บิ๊กซี’ ก่อนมี BJC เป็นเจ้าของ

 

  • ปี 2556 มีกำไรสุทธิ 6,989.41 ล้านบาท มีรายได้ 1.31 แสนล้านบาท
  • ปี 2557 มีกำไรสุทธิ 7,249.60 ล้านบาท มีรายได้ 1.35 แสนล้านบาท
  • ปี 2558  มีกำไรสุทธิ 6,901.89 ล้านบาท มีรายได้ 1.34 แสนล้านบาท
  • ปี 2559  มีกำไรสุทธิ  6,372,12 ล้านบาท มีรายได้ 1.21 แสนล้านบาท

 

งบการเงินล่าสุดปี 2564-2565 หลังมี BJC เป็นเจ้าของ

 

  • ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 7,333 ล้านบาท มีรายได้ 1.11 แสนล้านบาท
  • ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 6,757 ล้านบาท มีรายได้ 1.14 แสนล้านบาท

 

BRC แหล่งกำไรสำคัญของ BJC

สำหรับกลุ่มธุรกิจบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ หรือปัจจุบันคือ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) ในปี 2564 ยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 68% ของยอดขายรวม และคิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 52% ของ EBITDA ของกลุ่มบริษัทกลุ่ม BJC สะท้อนว่ากลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดในกลุ่มธุรกิจของบริษัท 

 

ทั้งนี้ บิ๊กซีคือห้างค้าปลีกที่ครบครันทุกช่องทางการจับจ่าย มีสาขากระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ทั้งรูปแบบร้านค้าธรรมดาและร้านค้าออนไลน์ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมายด้วยสินค้าคุณภาพที่หลากหลาย ราคาประหยัด 

 

ด้วยการวางกลยุทธ์ศูนย์การค้า ‘บิ๊กซี’ ที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่และศูนย์การค้าที่มีร้านค้ารายย่อย ซึ่งนำเสนอสินค้าที่มีความหลากหลาย ตอบทุกโจทย์ครอบคลุมความต้องการในที่เดียว อีกทั้งยังมีรายได้ที่มาจากการให้เช่าพื้นที่ ยังช่วยเสริมเสถียรภาพให้กับรายได้รวมของบิ๊กซีอีกด้วย 

 

ในช่วงสิ้นปี 2559 ห้างบิ๊กซีฯ มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการทั้งหมดประมาณ 794 สาขา แต่หลังจากมี บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มาร่วมเป็นเจ้าของ (ปี 2560) และปูพรมเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสิ้นปี 2565 มีสาขาของ Big C ทั้งสิ้น 1,713 สาขา จากปีก่อนหน้าที่มี 1,572 สาขา ถือว่าจำนวนสาขาเติบโตขึ้นถึง 2 เท่าตัวหลังจากมี BJC เข้ามาเป็นเจ้าของ

 

โบรกมองบวกกรณีหุ้น ‘บิ๊กซี’ รีเทิร์น

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน กล่าวว่า มีมุมมองเป็นบวกต่อความคืบหน้าในการนำหุ้น BRC เข้าจดทะเบียนใหม่อีกครั้ง โดยประเมินเงินที่ได้การระดมทุนในการขาย IPO ในครั้งนี้จะเป็นบวกทั้งกับ BJC และ BRC ด้วยเหตุผลดังนี้

 

  1. BJC จะมีกระแสเงินสดเพิ่มจากการขายหุ้นเดิม ซึ่งเงินส่วนหนึ่งจะแบ่งไปชำระหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (Interest Bearing Debt to Equity: IBD/E Ratio) ซึ่ง ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ระดับ 1.33 เท่า

 

  1. เพิ่มศักยภาพในการเติบโตของ BRC ที่จะมีฐานทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งขึ้นหลังเข้าจดทะเบียนใน SET

 

“การจัดโครงสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ที่ BJC ซื้อกิจการของ BIGC เข้ามาในช่วงแรก มีความจำเป็นต้องมีการรวมกันก่อนเพื่อปรับเป็นการปรับจัดโครงสร้างธุรกิจภายในกลุ่ม เมื่อทำได้แข็งแรงในระดับหนึ่งแล้วค่อยมา Spin-off ออกมาอีกครั้ง เพราะจะช่วยสร้างความยืดหยุ่น เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ขยายธุรกิจใหม่ของ BRC มีความคล่องตัว ส่วนบริษัทแม่ BJC ก็จะมีภาระหนี้ที่ลดลงไปด้วย”

 

BRC ความสามารถทำกำไรสูง

สำหรับผลประกอบการในช่วงปี 2564-2565 (ช่วงวิกฤตโควิด) BRC มีกำไรอยู่ที่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดีมากเมื่อเทียบกับธุรกิจค้าปลีกด้วยกัน จะเห็นชัดว่าส่วนใหญ่กำไรลดลง โดย BRC ยังสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด 

 

ขณะเดียวกันฝ่ายวิจัยประเมินว่าธุรกิจของ BRC จะได้รับประโยชน์จากกำลังซื้อในช่วง 3 ปีข้างหน้าที่ถูกคาดว่าจะกลับเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่ โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวของไทยที่จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในอัตราเร่ง และมีโอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2567 จะทยอยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 40 ล้านราย และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2568 

 

อีกทั้ง BRC จะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีผลเชิงบวกต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ 

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินราคาเป้าหมาย BJC จากส่วนเพิ่มจากการนำ BRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 0.5-1 บาทต่อหุ้น จากราคาเป้าหมายปัจจุบันของ BJC อยู่ที่ 44 บาท

 

ด้านฝ่ายวิจัย บล.บัวหลวง ระบุว่า กรณีที่บอร์ดของบริษัท BJC อนุมัติแผน IPO ของ BRC ยังคงรอรายละเอียดด้านราคาและเวลาในการทำ IPO อยู่ ซึ่งหากสำเร็จ น่าจะช่วยปลดล็อกเรื่องหนี้สินและการขยายกิจการได้มากขึ้น 

 

แม้ข่าวนี้จะเป็น Sentiment เชิงบวกกับราคาหุ้น BJC แต่ข่าวเรื่อง IPO ก็ได้มีการพูดถึงมาสักระยะ และราคาปิดหุ้น BJC เมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ระดับ 39.25 บาท ถือว่าใกล้เคียงกับราคาเป้าหมายของ BJC ที่ประเมินไว้ที่ระดับ 40 บาทแล้ว

 

ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า ในปี 2565 ถือว่า BRC มีผลการดำเนินงานที่ดี โดยมีรายได้เป็น 1.14 แสนล้านบาท และมีกำไร 6,800 ล้านบาท ส่วนเงินจากการ IPO จะนำเงินเพิ่มทุนไปใช้ขยายธุรกิจ-สาขา เงินทุนหมุนเวียน และคืนหนี้ ทำให้ BJC ดีขึ้น แม้จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน BRC ลดลงบ้าง

 

นอกจากนี้คาดผลการดำเนินของ BRC ในไตรมาส 1/66 ยังแข็งแกร่ง เนื่องจากอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (SSSG) ยังเป็นบวกตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน มาช่วยสนับสนุน

 

ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงได้ปรับประมาณการกำไรของ BJC ให้ดีขึ้นสำหรับปี 2566 เพิ่มอีก 5% และปี 2567 เพิ่มอีก 4% เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจมีความสดใสมากยิ่งขึ้น แนะนำ ซื้อ BJC ราคาพื้นฐาน 45 บาท

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X