บรรยากาศตลาดหุ้น IPO ปีนี้ดูคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ต้นปี เพราะผ่านมาเพียงแค่ช่วงเดือนแรกของปี 2566 ก็มีหุ้นน้องใหม่ 2 บริษัทที่ประเดิมเข้าซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดาน mai ในช่วงเดือนมกราคมนี้ โดยหนึ่งในนั้นคือ บมจ.มาสเตอร์ สไตล์ (MASTER) ซึ่งล่าสุดได้เคาะราคาจองซื้อหุ้น IPO ที่ระดับ 46 บาทต่อหุ้น และได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 65 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในวันที่ 17-19 มกราคม และจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 25 มกราคม 2566
ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองของหุ้น MASTER คือ การกำหนดราคาจองซื้อหุ้น IPO ที่ระดับ 46 บาทต่อหุ้น ซึ่งดันให้ MASTER ขึ้นแท่นหุ้น IPO ที่มีการกำหนดราคาหุ้นต่อหน่วยสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย แซงหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่ก่อนหน้าที่เคยเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นอย่าง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่เคยกำหนดราคาจองซื้อ IPO ไว้ที่ 45 บาทต่อหุ้น, บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ที่ระดับ 42บาทต่อหุ้น และ บมจ.เบทาโกร (BTG) ที่ 40 บาทต่อหุ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้น MASTER เคาะราคา IPO 46 บาท เปิดจองซื้อ 17-19 ม.ค. นี้ ปักธงเทรดกระดาน mai
- หุ้น MOSHI พุ่งแรง! เข้าเทรดใน SET วันแรกด้วยราคาเปิดที่ 35 บาท เพิ่มขึ้น 67% จากราคา IPO
- หุ้นสตาร์มันนี่ เข้าเทรดใน SET วันแรก ‘บวกแรง’ เปิดตลาดวิ่ง 16.65% จากราคา IPO
โดยการระดมทุนครั้งนี้ MASTER มีมูลค่าการระดมทุนอยู่ที่ 2,990 ล้านบาท
จากข้อสงสัยดังกล่าว THE STANDARD WEALTH จึงได้สอบถามและรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบ ดังนี้
1. ราคา IPO กำหนดจากการสำรวจความคิดเห็น
เรื่องนี้จากการสอบถาม นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER ได้ให้คำตอบว่า ในการกำหนดราคาหุ้นนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์ได้มีกรอบราคาสูงสุดไว้ที่ 60 บาทต่อหุ้น และช่วงที่ผ่านมาการโรดโชว์ของบริษัทก็ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักวิเคราะห์ที่ให้ความสนใจในบริษัทอย่างหนาแน่น
อย่างไรก็ตาม การเข้าระดมทุนของบริษัทอื่นๆ มักจะให้ส่วนลดกับนักลงทุน 20% แต่ MASTER มีมุมมองว่าอยากจะให้ทุกคนร่วมสำเร็จไปกับบริษัท จึงให้ส่วนลดลงไปอีก พร้อมเชื่อมั่นว่าบริษัทจะสามารถสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้ในอนาคต
2. P/E ต่ำกว่าอุตสาหกรรมความงาม
สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม (Joint Lead Underwriter) ของ MASTER ระบุว่า การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ MASTER นั้นมีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio: P/E) เท่ากับ 36.85 เท่า และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมด้านความงามที่มี P/E ระดับ 40 เท่า ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ซึ่งจุดเด่นของ MASTER มีการเติบโตที่สูง เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์ที่มีการเติบโตได้สูง
“ราคาเสนอขายที่หุ้นละ 46 บาท ถือเป็นระดับราคาที่น่าสนใจ สมเหตุสมผล เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท คิดเป็นส่วนลด 25% จากมูลค่ากิจการที่บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งประเมินที่ 60 บาทต่อหุ้น” สมภพกล่าว
3. จำนวนหุ้นน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการ
ด้าน ลภัสรดา เลิศภานุโรจ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MASTER ย้ำว่าด้านราคาหุ้นนั้นมองว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะจำนวนของหุ้นมีอยู่เพียง 65 ล้านหุ้น และในขณะเดียวกันหุ้นของบริษัทนั้นมีราคาพาร์ (PAR) ที่ 1 บาท
สำหรับหุ้น IPO จำนวนรวมไม่เกิน 65 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.08% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย 1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 20.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ และ 2. หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย In Glory Investments Limited จำนวนไม่เกิน 15 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 6.25%
โดยจะเสนอขายให้กับ
- บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ประชาชนทั่วไป ไม่น้อยกว่า 48.75 ล้านหุ้น หรือ 75%
- ผู้มีอุปการคุณของบริษัท ไม่เกิน 9.75 ล้านหุ้น หรือ 15%
- กรรมการ ผู้บริหาร และ/หรือพนักงานของบริษัท ไม่เกิน 6.50 ล้านหุ้น หรือ 10%
4. การเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง
หลังจากเข้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว MASTER มีเป้าหมายจะรักษาการเติบโตในระดับ 40% ต่อปี รวมถึงการเปิดประเทศเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากฐานลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยการเติบโตของรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาลในปี 2562 อยู่ที่ 414.03 ล้านบาท, ปี 2563 อยู่ที่ 611.06 ล้านบาท เติบโตขึ้น 47.59%, ปี 2564 อยู่ที่ 659.51 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.93% และช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 1,011.14 ล้านบาท เติบโตขึ้น 133.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
5. บริการมีความหลากหลาย
จากข้อมูลที่ระบุในไฟลิ่ง โครงสร้างการให้บริการและขายผลิตภัณฑ์ของ MASTER สามารถแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่
- บริการด้านศัลยกรรม (Surgery)
- บริการปลูกผมและดูแลเส้นผม (Hair Transplants and Hair Treatment)
- บริการดูแลผิวพรรณ (Skin)
- ขายผลิตภัณฑ์หรือให้บริการหลังศัลยกรรม (Product Sales and Aftercare)
โดยพบว่าจุดเด่นของ MASTER คือ การเป็นผู้ประกอบการกิจการสถานพยาบาลด้านศัลยกรรมความงามครบวงจรภายใต้ชื่อ ‘โรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ’ ซึ่งมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีประสบการณ์และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในด้านการศัลยกรรม เช่น ศัลยกรรมเสริมจมูก, ศัลยกรรมยกคิ้วและกรอบหน้า, ศัลยกรรมหน้าอก, ศัลยกรรมดูดไขมันปรับรูปร่าง, ศัลยกรรมตา, ศัลยกรรมปรับโครงสร้างรูปหน้า เป็นต้น รวมถึงการปลูกผม ดูแลเส้นผม และให้บริการดูแลผิวพรรณและเลเซอร์ ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและได้รับมาตรฐานระดับสากล
6. เงินระดมทุนส่วนใหญ่ใช้ลงทุนในเครื่องมือและอุปกรณ์
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะใช้เป็นเงินลงทุนในโครงการช่วงปี 2566-2567 โดยมีแผนที่จะใช้ปรับปรุงอาคารและห้องผ่าตัด รวมถึงจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และเป็นเงินลงทุนสำหรับปรับปรุงและขยายพื้นที่ดำเนินงาน รวมถึงนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเติบโตของบริษัทในอนาคต
เปิด ‘7 ความเสี่ยง’ สำคัญต้องจับตา
สำหรับความเสี่ยงทางธุรกิจของ MASTER ตามที่เปิดเผยในไฟลิ่ง ประกอบด้วย
- ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม
- การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ศัลยกรรมความงาม
- การขาดแคลนแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์
- คดีฟ้องร้อง
- การถูกฟ้องร้องจากการให้บริการ
- การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้กับบริษัทในอนาคต
- ผลกระทบของโควิด
หุ้นในมือผู้บริหารไม่ติด Silent แต่ถูกจำกัดการขาย
ในไฟลิ่งระบุว่า สัดส่วนหุ้นของ ‘ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร’ ที่ไม่ติด Silent นั้นมีจำนวน 31.125 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 12.97% ของหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้
ทั้งนี้ หุ้นที่ไม่ติด Silent จำนวนดังกล่าวจะถูกจำกัดการขายภายใน 6 เดือน ตามความสมัครใจของระวีวัฒน์ มาศฉมาดล และครอบครัวมาศฉมาดล