×

เพราะสมองนั้นยืดหยุ่น อ่อนไหว และมหัศจรรย์

15.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • สมองมีความยืดหยุ่น ตัวอย่างคลาสสิกที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายในเรื่องนี้คือ งานวิจัยที่เปรียบเทียบสมองของคนขับแท็กซี่ในลอนดอนกับสมองของคนขับรถบัส พบว่าสมองส่วนความจำ หรือ ฮิปโปแคมปัส ของคนขับแท็กซี่มีขนาดใหญ่กว่าคนขับรถบัส เป็นผลจากการที่คนขับแท็กซี่ต้องจดจำเส้นทางลัดต่างๆ ที่ซับซ้อนมากกว่าคนขับรถบัส 
  • สมองเองก็แก่ไปพร้อมๆ กับเรา แต่การตื้นเขินและแก่ลงของสมองที่เกิดขึ้นกับพวกเราแต่ละคนนั้นมีระดับของการเปลี่ยนแปลงและอัตราเร็วที่ไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงพฤติกรรมที่เราเลือกที่จะ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’
  • ทฤษฎีที่ นิโคลัส คาร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือดัง The Shallows: What the Internet Is Doing to Our Brains ระบุว่า สมองของเราถูกฝึกให้คุ้นชินกับการรับข้อมูลใหม่จำนวนมาก หลากหลาย เปลี่ยนหัวข้อไปมาในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นข้อมูลเชิงกว้างมากกว่าเชิงลึก ซึ่งเป็นลักษณะของการรับรู้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ในขณะที่การรับรู้ข้อมูลรูปแบบเดิมผ่านการอ่านหนังสือ เป็นการเรียนรู้เชิงลึกที่ใช้เวลาและอาศัยความต่อเนื่องทางการคิด สมองของคนยุคปัจจุบันจึงยืดหยุ่นปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน และลักษณะงานที่ไม่ได้ฝึกใช้เป็นประจำก็จะด้อยประสิทธิภาพลง
  • เวลาที่สมาร์ทโฟนของเราเริ่มอืดๆ ทำงานรวนๆ สิ่งแรกที่เรามักทำคือกด Reboot สมองก็เช่นกัน การนอนคือการ Reboot สมองที่ดีที่สุด เป็นเวลาที่สมองจะได้จัดการกับข้อมูลต่างๆ ให้เป็นระเบียบ และเก็บกวาดสิ่งรกร้างในสมองออกไปจากระบบ 

“สมองส่วนควบคุมเท้าของคนทั่วไปจะขนาดประมาณเม็ดถั่ว แต่ของผม…ใหญ่เกือบเท่าลูกปิงปอง”

แมตต์ สตัทซ์แมน นักกีฬายิงธนูพาราลิมปิก ซึ่งไม่มีแขนสองข้าง แต่สามารถใช้เท้าและคอในการเหนี่ยวคันธนูยิงได้อย่างแม่นยำ เล่าถึงผลสแกนสมองของเขา

หลังจากดูหนัง Rising Phoenix ซึ่งเป็นสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของนักกีฬาพาราลิมปิกจบลง ความรู้สึกและความคิดหลากหลายลอยฟุ้งในสมอง เหมือนสารแขวนลอยที่รอเวลาหรือปฏิกิริยาบางอย่างมาทำให้ตกตะกอน หนึ่งในนั้นคือประโยคข้างต้นของแมตต์ที่ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘Neuroplasticity’

สมองเป็นอวัยวะที่มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ แต่ส่วนตัวมองว่าสมองนั้นมีความ ’คูล’ ยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์อยู่หลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือความสามารถในการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเอง ถ้าความรู้เปรียบเสมือนซอฟต์แวร์ ตัวสมองเองเปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์ ในขณะที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถอัปเกรดฮาร์ดแวร์โดยอัตโนมัติได้ แต่สมองกลับมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้การทำงานตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้นได้โดยอัตโนมัติ และนั่นคือ ‘Neuroplasticity’ หรือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง การทำงาน หรือเคมีของสมอง ซึ่งเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้น เป็นกระบวนการที่เกิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในมดลูกของแม่ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

Neuroplasticity อธิบายเป็นภาษาไทยได้ง่ายๆ ว่า สมองมีความยืดหยุ่น ตัวอย่างคลาสสิกที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายในเรื่องนี้คือ งานวิจัยที่เปรียบเทียบสมองของคนขับแท็กซี่ในลอนดอนกับสมองของคนขับรถบัส พบว่าสมองส่วนความจำ หรือ ฮิปโปแคมปัส ของคนขับแท็กซี่มีขนาดใหญ่กว่าคนขับรถบัส เป็นผลจากการที่คนขับแท็กซี่ต้องจดจำเส้นทางลัดต่างๆ ที่ซับซ้อนมากกว่าคนขับรถบัส อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือในผู้พิการทางสายตา ซึ่งต้องใช้มือในการอ่านอักษรเบรลล์ จะมีสมองส่วนประสาทสัมผัสบริเวณมือที่ใหญ่กว่าคนทั่วไป

สมองของพวกเราจึงต่างมีความยืดหยุ่นและอ่อนไหวไปตามสิ่งแวดล้อมและการเลือกใช้ชีวิตที่ต่างกันไป แต่มีการเปลี่ยนแปลงสองรูปแบบที่เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นกับสมองของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน หนึ่งคือ เมื่อเทียบกับมนุษย์ยุคก่อนอินเทอร์เน็ต สมองของเรามีแนวโน้มจะทำงานได้ตื้นเขินขึ้น เป็นทฤษฎีที่ นิโคลัส คาร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือดัง The Shallows: What the Internet Is Doing to Our Brains เนื่องจากสมองของเราถูกฝึกให้คุ้นชินกับการรับข้อมูลใหม่จำนวนมาก หลากหลาย เปลี่ยนหัวข้อไปมาในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นข้อมูลเชิงกว้างมากกว่าเชิงลึก ซึ่งเป็นลักษณะของการรับรู้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ในขณะที่การรับรู้ข้อมูลรูปแบบเดิมผ่านการอ่านหนังสือเป็นการเรียนรู้เชิงลึกที่ใช้เวลา และอาศัยความต่อเนื่องทางการคิด สมองของคนยุคปัจจุบันจึงยืดหยุ่นปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน และลักษณะงานที่ไม่ได้ฝึกใช้เป็นประจำก็จะด้อยประสิทธิภาพลง

อีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้นคือการถดถอยทางประสิทธิภาพของสมอง ทั้งในด้านความจำ การคิดวิเคราะห์ ความเร็ว รวมไปถึงความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวเรียนรู้หรือ Neuroplasticity อาจสรุปง่ายๆ ว่า สมองเองก็แก่ไปพร้อมๆ กับเรา แต่การตื้นเขินและแก่ลงของสมองที่เกิดขึ้นกับพวกเราแต่ละคนนั้นมีระดับของการเปลี่ยนแปลงและอัตราเร็วที่ไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงพฤติกรรมที่เราเลือกที่จะ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’

สิ่งแวดล้อม – สมองจะฝึกความยืดหยุ่นได้ดีเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความแปลกใหม่ มีสิ่งท้าทายให้คิด การได้พาตัวเองออกไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ หรือไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยบ้างจะช่วยให้สมองได้ฝึกฝนการปรับตัว

โฟกัส – เพื่อป้องกันสมองคุ้นชินกับความตื้นเขิน ควรให้สมองได้มีเวลาฝึกการโฟกัสต่อเนื่อง ด้วยกิจกรรมง่ายๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนบล็อก โดยระหว่างทำกิจกรรมฝึกโฟกัสเหล่านี้ ควรปิดมือถือหรือสิ่งเร้าอื่นๆ ที่จะทำให้ไม่โฟกัส

นิวโรบิก – ออกกำลังสมองด้วยการใช้งานในด้านที่ไม่คุ้นชินบ้าง เช่น ฝึกใช้มือข้างที่ไม่ถนัดแปรงฟัน หลับตาคลำหาของในกระเป๋าเพื่อฝึกประสาทสัมผัสมือ

เรียนรู้ – ทุกครั้งที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สมองจะปรับเปลี่ยนตามไปด้วยเสมอ โดยเฉพาะการเรียนภาษา ดนตรี เต้นรำ ศิลปะ หรือแม้แต่การเล่นเกม 3D ออนไลน์

เลี่ยงความเครียด – อวัยวะที่อาจจะอ่อนไหวต่อความเครียดมากกว่าหัวใจคือสมอง ฮอร์โมนเครียดเพิ่มสารสื่อประสาทกลูตาเมตซึ่งส่งผลเสียต่อเซลล์สมอง ความเครียดเรื้อรังส่งผลให้สมองส่วนความจำและการตัดสินใจทำงานแย่ลง

ออกกำลัง – การออกกำลังกายคือการออกกำลังสมองไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิกที่ทำให้เหนื่อยปานกลางแบบต่อเนื่อง เช่น การวิ่งเร็วต่อเนื่อง 30 นาที พบว่าการออกกำลังแบบแอโรบิกส่งผลดีต่อสมองมากกว่าการออกกำลังรูปแบบอื่น

นอน – เวลาที่สมาร์ทโฟนของเราเริ่มอืดๆ ทำงานรวนๆ สิ่งแรกที่เรามักทำคือกด Reboot สมองก็เช่นกัน การนอนคือการ Reboot สมองที่ดีที่สุด เป็นเวลาที่สมองจะได้จัดการกับข้อมูลต่างๆให้เป็นระเบียบ และเก็บกวาดสิ่งรกร้างในสมองออกไปจากระบบ

พฤติกรรมเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยืดหยุ่นและการชะลอความเสื่อมไปตามวัยของสมอง เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบ ข้อมูลใหม่ที่ได้รับได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสมองของคุณแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดต่อเนื่องและขยายผลได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะ ‘ทำ’ หรือไม่หลังจากนี้

ในวันที่ แมตต์ สตัทซ์แมน อยากฝึกยิงธนู เขากูเกิลหาวิธียิงธนูสำหรับคนไม่มีแขน แต่ไม่พบข้อมูลใดๆ ในอินเทอร์เน็ต นั่นคือความท้าทายที่กระตุ้นให้สมองของเขาสร้างสรรค์วิธีการยิง ปรับการทำงาน เรียนรู้ ฝึกฝน จนเขากลายเป็นนักยิงธนูไร้แขนคนแรกของโลก ได้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งพาราลิมปิก และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกมากมาย

…เพราะสมองนั้นยืดหยุ่น อ่อนไหว และมหัศจรรย์! 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Smith, Gwenn S. “Aging and neuroplasticity.” Dialogues in clinical neuroscience 15.1 (2013): 3.
  • Pauwels, Lisa, Sima Chalavi, and Stephan P. Swinnen. “Aging and brain plasticity.” Aging (Albany NY) 10.8 (2018): 1789.
  • “‘The Shallows’: This Is Your Brain Online”. NPR.org. 2 June 2010.
  • Lara Boyd. (2015, December). After watching this, your brain will not be the same [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=LNHBMFCzznE
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising