×

ธปท. ระบุ ธนาคารกลางทั่วโลกต้องรับมือ ‘3 ความท้าทาย’ เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน

03.12.2022
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเผย ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ประกอบด้วยบริบทเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงเร็ว, กรอบความคิดในการดำเนินนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ย้ำธนาคารกลางต้องปรับมุมมองแนวนโยบายและเครื่องมือ เพื่อรับมือกับความท้าทายได้อย่างตรงจุดและทันการณ์

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานสัมมนา BOT-BIS Conference ในหัวข้อ ‘Central Banking Amidst Shifting Ground’ ว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินใน 3 มิติหลัก ได้แก่

 

  1. บริบทเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งต่างจากเดิมที่เงินเฟ้อมักจะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยด้านอุปสงค์

 

  1. กรอบความคิดในการดำเนินนโยบายที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อและการกำกับดูแลภาคการเงินภายใต้กระแสโลกใหม่อย่างดิจิทัล ซึ่งทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

 

  1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเป็นมิติที่ท้าทายมากที่สุด และต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

 

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความซับซ้อนมากขึ้นดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับมุมมองแนวนโยบายและเครื่องมือเพื่อรับมือกับความท้าทายได้อย่างตรงจุด ทันการณ์ อีกทั้งพร้อมปรับตัว เปิดรับข้อมูลและความเห็น รวมถึงประสานงานกับหลายภาคส่วนมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารกลางต่อไปได้อย่างราบรื่น

 

ขณะที่บนเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘พลวัตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ (Growth and Inflation Dynamics)’ สรุปประเด็นได้ว่า ความท้าทายสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลกนอกจากเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ยังรวมถึงผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลก (Unusually Coordinated) ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความผันผวนสูงกว่าในอดีต โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้หลายประเทศยังเผชิญความท้าทายจากปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้การออกแบบและดำเนินนโยบายที่เหมาะสมทำได้ยากขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ผู้ร่วมเสวนาได้หารือถึงความท้าทายในการดูแลเงินเฟ้อท่ามกลางความไม่แน่นอนทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในภาพรวมและภาคส่วนที่มีความเปราะบางสูง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนจากราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวน แรงกดดันภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น กระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนส่งผลให้เงินเฟ้อมีความผันผวนสูงขึ้น

 

ดังนั้นธนาคารกลางซึ่งมีภารกิจสำคัญในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน และดำเนินนโยบายเพื่อดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการสื่อสารนโยบายที่มีประสิทธิภาพ สอดประสานกับนโยบายการคลัง เพื่อรักษาสมดุลของการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมเงินเฟ้ออย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ในระดับโลกจำเป็นต้องมีการประสานนโยบายระหว่างธนาคารกลางเพื่อลดผลกระทบของการดำเนินนโยบาย เพื่อดูแลเงินเฟ้อทั้งต่อประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจหลักที่เป็นต้นทางของนโยบาย (Spillovers and Spillbacks)

 

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น เศรษฐกิจจีนซึ่งได้รับผลกระทบด้านเงินเฟ้อค่อนข้างน้อยจากผลผลิตอาหารที่ดีกว่าคาดในปีนี้และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ค่อนข้างต่ำจากถ่านหิน แต่การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอลงจากโควิด ขณะที่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจากวิกฤตด้านพลังงาน และในระยะยาวประเด็นปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจส่งผลยืดเยื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรและแรงงานในภูมิภาคอีกด้วย

 

สำหรับเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘A Digitalised Monetary System in the Making?’ ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มพัฒนาการด้านเทคโนโลยีในอนาคตและผลกระทบต่อระบบการเงิน

 

โดยเห็นว่าในอนาคตการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น และภาคการเงินมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจและให้บริการลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นประโยชน์จากเทคโนโลยีต่อระบบการเงินในการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มการเข้าถึง (Access) ได้ สามารถตอบสนองความต้องการของสังคม รวมทั้งเอื้อให้เกิดการแข่งขันในตลาดจากการที่บริษัทขนาดเล็กสามารถใช้เทคโนโลยีในการเข้าแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี การพัฒนาของเทคโนโลยีนำมาซึ่งความเสี่ยงที่ผู้กำกับดูแลควรตระหนักถึง เช่น การใช้เทคโนโลยีโดยผู้เล่นในภาคการเงินที่ขาดความเข้าใจในเทคโนโลยีนั้นอย่างแท้จริง ความเสี่ยงจากการพึ่งพาผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่อาจมีการกระจุกตัว ความเสี่ยงด้านไซเบอร์และอาชญากรรมด้านไซเบอร์ (Cyber Risk and Cybercrime) ที่สูงขึ้น ความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัว (Privacy) และการรั่วไหลของข้อมูล เป็นต้น ซึ่งผู้กำกับดูแลควรมีแนวทางในการเสริมสร้างความเชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถกำกับดูแลได้อย่างเท่าทัน

 

นอกจากนี้ผู้ร่วมเสวนาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อมูลซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยเห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินสามารถใช้ข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้ อาทิ ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม

 

ผู้ร่วมเสวนากล่าวถึงสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ว่า มีหลายประเทศอยู่ในช่วงการทดสอบหรือทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว โดยในปัจจุบันมีการศึกษาและทดลองการใช้งานในธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ (Cross-Border) การใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale) และการใช้สำหรับรายย่อย (Retail) ซึ่งการใช้งานสำหรับธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ และการใช้งานระหว่างสถาบันการเงินนั้นมีประโยชน์ที่ชัดเจนในหลายด้าน เช่น การลดระยะเวลาและต้นทุนการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใสของธุรกรรม รวมถึงสามารถรองรับการใช้งานในรูปแบบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น ธุรกรรมการโอนสินทรัพย์ในโลกจริงที่ถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลหรือโทเคน (Tokenized Asset) ระหว่างประเทศ

 

ในขณะที่การใช้งาน CBDC สำหรับรายย่อยนั้นอาจยังมีรูปแบบและแนวทางการใช้งานไม่ชัดเจนนัก แต่ธนาคารกลางควรมีความพร้อมเพื่อรองรับการพัฒนาใช้งานจริงได้เช่นกัน ทั้งนี้ การใช้งาน CBDC สำหรับรายย่อยอาจช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับประเทศที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินในปัจจุบันได้

 

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ภาคการเงินนั้น อาจไม่ได้เกิดจากข้อจำกัดของความสามารถในการเข้าถึงหรือการทำงานร่วมกัน (Interoperability) แต่อาจเกิดจากการขาดแรงจูงใจของผู้ให้บริการทางการเงินที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ การวางบทบาทของผู้ให้บริการแต่ละราย และกฎหมายและหลักเกณฑ์ โดยเฉพาะในธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี การกำหนดกฎหมายและหลักเกณฑ์อาจไม่ได้เป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือผู้กำกับดูแลเพียงอย่างเดียว แต่ภาคเอกชนเองก็ควรมีบทบาทในการกำกับดูแลตนเอง (Self-Governing) เช่นกัน

 

ด้าน Dr.Rudd มองว่าภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี โลกกำลังเผชิญความเสี่ยงที่สำคัญในระยะปานกลางจากแรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Tensions) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยชี้ว่าการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากได้รับการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ (Managed Strategic Competition) จะสามารถจำกัดความเสี่ยงของการปะทุของความขัดแย้งและผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงอาจยังสามารถสร้างพื้นที่เพื่อสร้างความร่วมมือในบางด้านได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินโลกผ่านธนาคารกลางทั่วโลกซึ่งอยู่บนหลักการเดียวกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันแรงกดดันภูมิศาสตร์จะยังไม่รุนแรงถึงขั้นสงครามเย็นในอดีต แต่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้า

 

ทั้งนี้ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ (เช่น UN, G20, WTO, IMF และ WB) ซึ่งมี Mandates อยู่เหนือ National Interests จำเป็นต้องช่วยสนับสนุน Globalization ในฐานะ Global Public Goods ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการเศรษฐกิจโลกในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

สำหรับการเตรียมพร้อมเศรษฐกิจเพื่อรองรับผลกระทบจาก Climate Change แม้ว่าภูมิภาคเอเชียนับเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของ Global CO2 Emission (ประมาณการสำหรับปี 2025) แต่การปรับตัวไปใช้พลังงานหมุนเวียนค่อนข้างล่าช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมาเอเชียมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านนี้ โดยเฉพาะทิศทางนโยบายของประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Green Transition) มากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาค

 

ส่วนบทบาทของธนาคารกลางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีการเสวนาในหัวข้อ ‘The Myths and Realities of the Roles of Central Banks in Combating Climate Change’ โดยสรุปประเด็นได้ว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น และจำเป็นต้องบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ทั้งการรักษาอุณหภูมิโลก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) รวมทั้งการจัดการความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน จำเป็นต้องเข้าใจและเตรียมรับมือกับผลกระทบของ Climate Change รวมถึงเพิ่มบทบาทเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Network for Greening the Financial System (NGFS) ที่พบว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้เร็ว จะช่วยให้เกิดการปรับตัวได้อย่างราบรื่นและมีต้นทุนที่ต่ำกว่า (Orderly Transition)

 

สำหรับการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ อาจครอบคลุมทั้ง

  1. นโยบายการเงินเพื่อดูแลผลกระทบของ Climate Change ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และ
  2. นโยบายดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงิน (เพราะภาคการเงินเองก็มีความเสี่ยงจากลูกหนี้ที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate Change เช่นกัน) เช่น การกำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐาน การวิเคราะห์สถานการณ์และทดสอบภาวะวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Scenario Analysis and Stress Testing) ของภาคการเงิน รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งสถานะปัจจุบันและแผนการปรับตัวให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Transition Plan)

 

หากพิจารณาผลกระทบต่อกลุ่มประเทศ พบว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก Physical Risk มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงยังมีสัดส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงกว่า โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินทุนให้กิจกรรมที่อยู่ระหว่างปรับตัว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น เหล็กและซีเมนต์ มากกว่ากิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เช่น พลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งเน้นถึงการให้ความช่วยเหลือเรื่องการยกระดับความรู้ โดยเฉพาะแก่ SMEs ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยในส่วนนี้ธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรเงินทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมากขึ้น ผ่านการประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks) รวมถึงกองทุนสถาบัน (Institutional Fund) เพื่อดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising