ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนับสนุนมาตรการแก้ไขหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ออกเกณฑ์ให้แบงก์รัฐตั้งบริษัทร่วมลงทุน เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพภายในระยะเวลา 15 ปี โดยให้จัดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคมนี้
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้หารือร่วมกันและตระหนักถึงความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (รวมถึงแบงก์รัฐ) จึงมีมาตรการชั่วคราวเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจและบริษัทบริหารสินทรัพย์ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน เพื่อดำเนินกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (กิจการร่วมทุนฯ) ภายในระยะเวลา 15 ปี โดยให้จัดตั้งกิจการร่วมทุนฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567
โดยกิจการร่วมทุนฯ นี้จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพ เช่น ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปรับค่างวดและเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับปัญหาและสภาวการณ์ที่แท้จริงของลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับลูกหนี้ในการจัดการหนี้และลดอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระยะถัดไป และถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการภายใต้แนวทางการแก้ไขหนี้ทั้งระบบของภาครัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คลังเร่งแก้หนี้ เตรียมตั้งบริษัทร่วมทุน JV AMC ภายใน Q1 ตั้งเป้าช่วยลูกหนี้ NPL มูลหนี้ 2.3 แสนล้านบาท
- แก้หนี้ทั้งระบบไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 57% ลดหนี้ 670 ล้านบาท นายกฯ ย้ำ ต้องจบภายในรัฐบาลนี้
- เศรษฐาประกาศแก้หนี้ทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลนี้! เปิดชุดมาตรการแก้หนี้ 4 กลุ่ม คาดช่วยลูกหนี้ได้กว่า 10.3 ล้านราย
ย้อนไปเมื่อเดือนมกราคม เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (Joint Venture Asset Management Company: JV AMC) ในสัดส่วน 50:50 ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) คงค้างอยู่กับ SFIs ประมาณ 3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 2.3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ AMC คือบริษัทหรือหน่วยงานที่มักถูกจัดตั้งโดยภาครัฐ สถาบันการเงิน หรือภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา NPL ให้กับสถาบันการเงินผ่านการซื้อ NPL ออกจากงบแสดงฐานะการเงินของสถาบันการเงิน
“การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง และมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ” แถลงของ ธปท. ระบุ
ทั้งนี้ ในช่วงโควิดระบาดหนัก แบงก์รัฐถือเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ให้แก่ผู้ที่มีความเปราะบางในจำนวนที่ค่อนข้างมาก
โดย ธปท. ยังระบุว่า “หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่องเพิ่มเติม ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีให้รองรับการดำเนินงานตามพันธกิจและนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนในระยะถัดไปได้ดีและคล่องตัวยิ่งขึ้น”