×

หัวหน้างาน ‘ปัง’ พาไปสวรรค์ หัวหน้างาน ‘พัง’ พาไปนรก แล้วเจ้านายที่ออฟฟิศคุณล่ะเป็นแบบไหน?

07.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ดูสลิปเงินเดือนแล้วทำความเข้าใจ เหตุผลหนึ่งที่หัวหน้างานได้เงินเดือนมากกว่าลูกน้อง เพราะเจ้าของบริษัทได้จ่ายค่าจ้างสำหรับการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาต่างๆ แทนเขาไปแล้ว หัวหน้างานที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นอกจากไม่สามารถจัดการอะไรได้ดีแล้ว ยังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย
  • หัวหน้าประเภทนี้จะมีข้ออ้างยอดฮิตคือ “พี่ก็เป็นของพี่แบบนี้มาตั้งนานแล้ว จริงๆ พี่ไม่มีอะไรหรอกนะ พี่ปากร้ายแต่ใจดี” เฮ้ ! ตื่นค่ะ ตื่น! หมดยุคสมัยที่ใครจะถูกจ้างมาเพื่อเป็นที่รองรับอารมณ์กันแล้ว ถ้าพี่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ พี่ก็ไม่สามารถควบคุมใครได้ดีอย่างแน่นอน

     รองจากการถูกลอตเตอรีชุดใหญ่ก็คือการได้หัวหน้างานที่ดีนี่ล่ะที่ถือเป็นความโชคดีในชีวิต หัวหน้าที่ดีจะนำพาเราไปสู่เส้นทางการเป็นพนักงานที่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกัน หัวหน้างานที่ไม่ดีก็สามารถทำให้ชีวิตเราจมดิ่งได้ชนิดคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

     จากผลการสำรวจยอดนิยมในออฟฟิศ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ Employee Satisfaction, Employee Engagement หรือแม้กระทั่ง Exit Interview ที่สอบถามถึงสาเหตุการตัดสินใจลาออกของพนักงานนั้น มั่นใจได้ว่าผู้เข้ารอบ 3 คนสุดท้ายที่เป็นปัจจัยสูงที่สุดในการลาออกของพนักงานมักจะเป็น ‘หัวหน้างาน’ ค่ะ

     บนเส้นทางของการเป็น HR ให้หลากหลายออฟฟิศ ขอนำเอาประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังนะคะว่าหัวหน้าแบบไหนที่ ‘ปัง’ และแบบไหนที่ ‘พัง’ สำหรับลูกน้องค่ะ

 

     ขอเริ่มต้นด้วย 5 คุณสมบัติหัวหน้าสุด ‘พัง’ ซึ่งจะขอพูดถึงบทบาทของการเป็นผู้นำทีมว่า หัวหน้าแบบไหนที่ไม่ควรใช้เป็น role model ในการทำงาน

 

 

      1. รับชอบแต่ไม่รับผิด หัวหน้างานประเภทนี้จะทำตัวเป็นคนตรวจสอบมากกว่าส่งเสริมลูกน้อง บ่อยครั้งที่หัวหน้ากลายเป็นคนตั้งคำถามเราในห้องประชุมประหนึ่งว่าไม่ได้มาด้วยกัน

     หัวหน้างานต้องยอมรับว่า ตำแหน่งนี้จะถูกคาดหวังว่าต้องทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันของลูกทีมได้ หัวหน้างานที่เอาตัวบังกระสุนให้น้องๆ ย่อมถูกมองเป็นฮีโร่เสมอ ตรงกันข้ามกับหัวหน้าที่สั่งงานลูกน้องอย่างบ้าคลั่ง แต่สุดท้ายตัวเองทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอ พร้อมกับรับความดีความชอบนั้นไว้เสียเอง หัวหน้าแบบนี้ไม่มีเสียยังจะดีกว่า!

 

 

      2. เจ้าอารมณ์ แม้ว่าหัวหน้าเองก็เป็นคนเหมือนกัน ย่อมมีความรู้สึกโกรธและหลงได้ แต่ต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคนทั่วไป

     ไม่ต้องสงสัยค่ะ เปิดดูสลิปเงินเดือนแล้วทำความเข้าใจนะคะ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่คุณได้เงินเดือนมากกว่าลูกน้อง เพราะเจ้าของบริษัทได้จ่ายค่าจ้างสำหรับการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ แทนเขาไปแล้ว ซึ่งหัวหน้างานที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นอกจากจะไม่สามารถจัดการอะไรได้ดีแล้ว ยังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอีกด้วย หัวหน้าประเภทนี้จะมีข้ออ้างยอดฮิตคือ “พี่ก็เป็นของพี่แบบนี้มาตั้งนานแล้ว จริงๆ พี่ไม่มีอะไรหรอกนะ พี่ปากร้ายแต่ใจดี”

     เฮ้! ตื่นค่ะ ตื่น! หมดยุคสมัยที่ใครจะถูกจ้างมาเพื่อเป็นที่รองรับอารมณ์กันแล้ว ถ้าพี่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ พี่ก็ไม่สามารถควบคุมใครได้อย่างแน่นอน

 

 

      3. ไม่ส่งเสริมให้ลูกน้องประสบความสำเร็จ หัวหน้าอาจจะคิดว่าสาเหตุที่ลูกน้องลาออก ส่วนใหญ่นั้นเป็นเพราะได้งานใหม่ที่เงินเดือนสูงกว่า ไม่ใช่ความผิดของหัวหน้าสักหน่อย ผิดในผิดค่ะ!

     การที่ลูกน้องทำงานกับหัวหน้าคนไหนแล้วไม่ได้ทำให้เก่งขึ้น ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย และสุดท้ายต้องย่ำอยู่กับที่ ได้ขึ้นเงินเดือนและโบนัสในอัตราที่ต่ำกว่าคนอื่น ส่วนหนึ่งก็เพราะหัวหน้างานไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโค้ชที่ดีในการพัฒนาศักยภาพ ทั้งความสามารถในการทำงาน และปลุกแพสชันให้กับลูกน้อง

     นี่ยังไม่รวมถึงการไม่กำหนดเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน ทำให้ลูกน้องไม่รู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อให้ได้เป็นที่หนึ่งในองค์กรอีกนะคะ นั่นจึงเป็นที่มาของการต้องออกไปหาบ่อน้ำแห่งใหม่ที่อาจจะสดใสและอุดมสมบูรณ์กว่าเดิม #พี่จะคิดว่าพี่รอดแล้วไม่ได้นะคะ

 

 

      4. ไม่ยุติธรรม ความลับไม่มีในโลกค่ะ อย่าคิดว่าคุณจะเนียนพอในการเอื้อผลประโยชน์ให้เหล่าบรรดาลูกรักแบบไม่เป็นธรรม แล้วจะไม่ทำให้ลูกน้องคนอื่นหมดศรัทธาในตัวหัวหน้าอย่างคุณ การถูกมองว่าเป็นหัวหน้าที่ลำเอียงนั้นมีทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ แบบที่ตั้งใจก็ไม่ได้เข้าใจยากอะไร เช่น การปกป้องลูกน้องคนสนิทไม่ให้ต้องร่วมรับผิด หรือการให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าคนอื่นๆโดยไม่คำนึงถึงผลงาน เป็นต้น แต่การต้องกลายเป็นหัวหน้าที่ลำเอียงแบบไม่ตั้งใจมีที่มาจากการไม่สื่อสารเรื่องราวต่างๆ ให้ลูกน้องรับทราบอย่างชัดเจน เช่น กฎระเบียบต่างๆ ในการทำงาน แนวทางการประเมินผลงาน แนวทางในการจ่ายค่าตอบแทน หรือแม้กระทั่งการไม่สร้างโอกาสให้ลูกน้องทุกคนได้แสดงความสามารถ ก็นำไปสู่การถูกมองว่าเป็นหัวหน้าที่ไม่ยุติธรรมได้ และสิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การทำลายล้างความไว้วางใจที่ลูกน้องมีให้ในที่สุด

 

 

      5. เน้นการกระทำมากกว่าผลงาน หัวหน้าประเภทนี้จะชอบลูกน้องที่เหมือนจะทำงานหนัก ตอบไลน์เร็ว กลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ ซึ่งถ้าหัวหน้าไม่ยึดที่ผลงานของลูกน้องเป็นสำคัญ จะทำให้ทิศทางในการบริหารทีมงานมีความผิดเพี้ยนไปได้ แทนที่จะให้ความสำคัญกับลูกน้องที่สามารถสร้างผลงานได้โดยใช้เวลาน้อยกว่าคนอื่นๆ กลับไปชื่นชมคนที่ใช้เวลาในการทำงานมากที่สุด โดยที่อาจจะได้ผลงานเท่ากันหรือน้อยกว่าคนอื่น

     หัวหน้าสมัยใหม่ ไม่ว่าจะอยู่ในสายงานไหนก็ต้องคำนึงถึงผลกำไรสูงสุดที่เกิดจากการทำน้อยได้มากเป็นสำคัญ ย้ำว่าโลกของการทำงานกับคนยุคใหม่คือเน้นที่ผลงานมากกว่าวิธีการ #อย่ากลายเป็นหัวหน้าตกยุค นะคะ

นอกจากจะต้องมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานเป็นอย่างดีแล้ว หัวหน้าจะต้องเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของลูกน้องทุกคนให้ได้ด้วย เพราะหัวหน้าคือคนที่ทำหน้าที่ในการผสมผสานจุดเด่นของลูกทีมเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน

แล้วหัวหน้างานสุด ‘ปัง’ ล่ะเป็นอย่างไร

     ตราบเท่าที่เรายังไม่ใช่เจ้าของกิจการ เราทุกคนก็มีโอกาสเป็นได้ทั้งหัวหน้าและลูกน้องในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นลองทบทวนตัวเองดูว่าเราเป็นหัวหน้าที่ดีพอแล้วหรือไม่ แล้วหัวหน้าแบบไหนที่โดนใจลูกน้อง มีเช็กลิสต์คุณสมบัติของหัวหน้าสุด ‘ปัง’ ที่ใครได้ทำงานด้วยแล้วต่างก็รู้สึกแฮปปี้มีความสุข ชนิดที่ว่าคนก็สำราญ งานก็สำเร็จกันดีกว่า

 

 

      1. เป็นผู้นำที่ดี นี่คงเป็นคุณสมบัติข้อแรกๆ ที่ลูกน้องทุกคนจะคาดหวังจากหัวหน้า การเป็นผู้นำ หมายถึงความสามารถในการนำทีมไปสู่ความสำเร็จได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม นั่นคือหัวหน้าจะต้องสามารถรับมือกับทุกการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี เพราะในการทำงานปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หัวหน้าที่ดีจะต้องสามารถกระตุ้นและจูงใจให้ลูกน้องทุกคนมั่นใจที่จะเดินตามไป แม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่ยากสักแค่ไหนก็ตาม

 

 

      2. เก่งคนและเก่งงาน นอกจากจะต้องมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานเป็นอย่างดีแล้ว หัวหน้าจะต้องเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของลูกน้องทุกคนให้ได้ด้วย เพราะหัวหน้าคือคนที่ทำหน้าที่ในการผสมผสานจุดเด่นของลูกทีมเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานร่วมกัน นอกจากนั้นยังต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแก้ไขจุดอ่อนของแต่ละคนให้ได้อีกด้วย

 

 

      3. เป็นโค้ชที่ดี หัวหน้าที่ดีต้องไม่กลัวที่จะมีลูกน้องเก่ง หัวหน้าที่เก่งจริงๆ ต้องสามารถเป็นผู้นำของลูกน้องที่เก่งกว่าตัวเองได้ อย่าเป็นหัวหน้าประเภทที่เลือกคนไม่เก่งเข้ามาในทีม เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกลดบทบาท แต่ให้เป็นหัวหน้าที่สามารถพัฒนาลูกน้องได้ในทุกรูปแบบ การเป็นโค้ชที่ดีนั้นไม่ใช่เพียงแค่สอนทักษะในการทำงานเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถเป็น mental coach ได้ด้วย หมายความว่าลูกน้องไม่ได้ต้องการแค่คนสอนการทำงาน แต่ต้องการคนที่สามารถสร้างพลังในการทำงานให้กับลูกน้องได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ยากสักแค่ไหน หรือต้องเจอกับเป้าหมายที่ท้าทายเพียงใด หัวหน้าต้องไม่ใช่คนแรกที่พูดคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ แต่ต้องเป็นคนที่มองเห็นโอกาสในทุกอุปสรรคให้ได้นั่นเอง

 

 

      4. เป็นผู้ฟังที่ดี พูดเก่งกับคนนอก ฟังเก่งกับคนใน หมายความว่า ในบทบาทของผู้นำทีมที่ต้องเป็นปากเสียงของลูกน้อง หัวหน้าที่ดีต้องมีทักษะในการพูดเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของทีมได้ แต่เมื่อกลับมาอยู่ภายในทีม ต้องฟังให้มากกว่าพูด เพราะหัวหน้าที่ดีต้องมีทักษะการฟังเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากลูกน้องเพื่อนำไปวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานได้ หัวหน้าที่เอาแต่พูดจะไม่มีทางได้รับข้อมูลที่เป็นจริง และเป็นไปได้ยากมากที่จะสามารถปรับปรุงพัฒนาผลงานของทีมได้

 

 

      5. สั่งงานได้ ติดตามงานเป็น จะมีบางคนที่คิดว่าหัวหน้าที่ลูกน้องรักจะต้องไม่ทำให้ลูกน้องเหนื่อย ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิด แต่ต้องไม่ใช่การทำให้ลูกน้องสบายด้วยการที่หัวหน้าทำงานแทน หัวหน้าบางคนไม่กล้าสั่งงานลูกน้อง เพราะกลัวลูกน้องไม่รัก ไม่กล้าตามงาน เพราะกลัวลูกน้องคิดว่าเป็นคนจู้จี้จุกจิก หัวหน้าที่ดีต้องมีความสามารถในการมอบหมายและติดตามงาน เพราะถ้าหัวหน้าไม่สามารถทำให้ลูกน้องมีผลงานได้ก็จะกลายเป็นพนักงานที่ไม่มีตัวตน จนนำไปสู่การมองไม่เห็นผลงานและถูกแช่เย็นในที่สุด #รักลูกน้องให้ถูกทาง

     กล่าวโดยสรุป ในการทำงาน หัวหน้าที่ดีก็คล้ายๆ กับพ่อแม่ของเรานี่ล่ะค่ะ ที่ต้องการให้เราได้ดีเพื่อตัวของเราเอง เพื่อให้เรามีความก้าวหน้ามั่นคง เพื่อให้เราสามารถเป็นกำลังสำคัญของเขาได้ เพื่อจะทำให้อนาคตของเรามั่นคงไปด้วยกันกับเขา การมีหัวหน้าที่ดีนี่ถือเป็นเรื่องที่ดีมากเลยนะคะ อย่างน้อยก็มี role model ให้เราได้ยึดเป็นหลักในการทำงาน และถ้าได้อยู่ในทีมที่ดีแล้วก็ทำตัวให้คู่ควรกับโอกาสที่ได้รับด้วยการตั้งใจทำงานให้เต็มที่นะคะ

     สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า การจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ ‘ต้องไม่เป็นคนชี้ออก’ หมายความว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ให้มองที่ตัวเองก่อนว่าทำหน้าที่ที่ได้รับได้อย่างดีหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของหัวหน้าหรือลูกน้อง ถ้าทุกคนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ก็จะสนับสนุนให้ทีมประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising