×

เก้าอี้นายกฯ อังกฤษสะเทือนหนัก รมต. – ผู้ช่วยลาออกแล้ว 41 คน หลังเหตุอื้อฉาวครั้งใหม่ รายงานระบุเจ้าตัวยังสู้ ส่วน รมว.เคหะโดนปลดหลังจี้ให้นายกฯ ลาออก

07.07.2022
  • LOADING...
บอริส จอห์นสัน

เก้าอี้นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรของ บอริส จอห์นสัน กำลังสั่นคลอนอย่างรุนแรง หลังจากตั้งแต่เมื่อวานซืนนี้มีการประกาศลาออกของ ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงสาธารณสุข และ ริชิ ซูนัค รมว.กระทรวงการคลังของสหราชอาณาจักร และจนถึงเกือบเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย รายงานของสำนักข่าว BBC ระบุว่า มีรัฐมนตรีและผู้ช่วยลาออกไปแล้วอย่างน้อย 41 คน ขณะที่สมาชิกคณะรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งส่งสัญญาณกดดันให้จอห์นสันลาออกจากตำแหน่ง

 

นอกจาก รมว.สาธารณสุข และ รมว.คลังแล้ว ยังมีบรรดารัฐมนตรีที่ประกาศลาออกไปอีก เช่น วิลล์ ควินซ์ รัฐมนตรีด้านเด็ก, โรบิน วอล์กเกอร์ รัฐมนตรีด้านมาตรฐานโรงเรียน, วิกตอเรีย แอดคินส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม ฯลฯ นอกจากนี้ BBC ยังรายงานว่า ไมเคิล โกฟ รมว.กระทรวงเคหะและชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของคณะรัฐมนตรี, ไซมอน ฮาร์ท รมว.กระทรวงกิจการเวลส์ ได้บอกกับจอห์นสันให้ลงจากตำแหน่งด้วย หรือแม้แต่ นัดฮิม ซาฮาวี ผู้ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงการคลังแทนซูนัคที่เพิ่งลาออกไปสดๆ ร้อนๆ ก็มีรายงานว่าเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนที่จะพบกับจอห์นสันเพื่อบอกให้เขาลงจากตำแหน่งด้วยเช่นกัน

 

และไม่ใช่กับแค่ปฏิกิริยาจากบรรดารัฐมนตรีเท่านั้น ยังมีบุคคลอื่นๆ เช่น ผู้แทนการค้าของจอห์นสันประจำโมร็อกโก ผู้แทนการค้าของจอห์นสันประจำเคนยา และรองประธานพรรคอนุรักษนิยมที่ลาออกจากตำแหน่งด้วย

 

มรสุมที่เกิดกับรัฐบาลจอห์นสันเกิดขึ้นมาแล้วหลายเรื่อง เช่น กรณีที่เขาถูกตำรวจปรับฐานละเมิดกฎหมายล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิด กรณีมีรายงานถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่ละเมิดกฎการล็อกดาวน์ของพวกเขาเอง การเปลี่ยนแปลงนโยบายชนิดกลับหลังหันหลายครั้ง ข้อวิจารณ์ว่าเขาไม่ได้ดำเนินการมากพอสำหรับการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ โดยชาวอังกฤษจำนวนมากต้องดิ้นรนเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้น

 

รวมถึงเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้น และตามมาด้วยการลาออกของ รมว.กระทรวงสาธารณสุข-รมว.กระทรวงการคลังดังกล่าว คือเหตุสืบเนื่องจากกรณีที่ คริส พินเชอร์ ส.ส. พรรคอนุรักษนิยม ผู้ที่จอห์นสันแต่งตั้งให้เป็นรองประธานวิปรัฐบาล ซึ่งเป็นบทบาทที่คอยดูแลเกี่ยวกับวินัยของ ส.ส. ของพรรคได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองประธานวิปดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังมีข้อกล่าวหาว่าเขาประพฤติผิดทางเพศ ซึ่งเขาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ทว่า ก่อนหน้านี้พินเชอร์ก็เคยถูกกล่าวหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเขาเองมาแล้วหลายครั้ง เรื่องนี้นำมาซึ่งคำถามที่ว่า จอห์นสันทราบถึงข้อกล่าวหาที่มีต่อพินเชอร์ก่อนแต่งตั้งเขาให้ดำรงตำแหน่งหรือไม่

 

ปรากฏว่าคำอธิบายต่อคำถามนี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปหลายครั้ง จากเดิมที่สำนักงานของจอห์นสันบอกว่าจอห์นสันไม่ทราบถึงข้อกล่าวหาต่างๆ ในครั้งแรก จนมาเปลี่ยนเป็นว่าเขาทราบถึง “ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ถูกยุติหรือไม่คืบหน้าไปสู่การร้องเรียนอย่างเป็นทางการ” กระทั่งต่อมา ลอร์ด แมคโดนัลด์ อดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรออกมาเขียนจดหมายเพื่อยืนยันว่า จอห์นสันได้รับฟังการสรุปด้วยตนเองเกี่ยวกับการสอบสวนเรื่องร้องเรียนต่อพินเชอร์ในปี 2019 ซึ่งการสอบสวนก็สนับสนุนข้อร้องเรียนนั้น และพินเชอร์ก็ได้ขอโทษต่อพฤติกรรมของตนด้วย และในสภา รัฐมนตรีคนหนึ่งออกมาแถลงกับบรรดา ส.ส. ว่าจอห์นสันทราบข้อกล่าวหาที่มีต่อพินเชอร์ แต่จอห์นสัน “ไม่ได้นึกบทสนทนาในครั้งนั้นออกโดยทันที” ส่วนโฆษกทางการของจอห์นสันก็ระบุว่า เมื่อจอห์นสันถูกถามในวันศุกร์ที่แล้ว เขา “จำการบรรยายสรุปครั้งนั้นไม่ได้” ซึ่งการบรรยายสรุปดังกล่าวอยู่ในรูปแบบการสนทนา และต้องใช้เวลาพอสมควรในการนึกถึงรายละเอียดที่แน่นอน

 

และจอห์นสันก็ออกมาขอโทษต่อการแต่งตั้งพินเชอร์ โดยยอมรับว่าเขาได้รับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนต่อพินเชอร์ในปี 2019 และพินเชอร์ก็ขอโทษ และถือเป็นความผิดพลาดที่เขาแต่งตั้งพินเชอร์มาดำรงบทบาทในรัฐบาล ไม่นานนักหลังคำขอโทษดังกล่าว จาวิดและซูนัคก็ลาออกจากตำแหน่ง

 

อย่างไรก็ตาม วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น จอห์นสันยังเดินทางไปเข้าร่วมการตอบกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี และยังต้องร่วมตอบคำถามจากคณะกรรมการประสานงาน (Liaison Committee) ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. ที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ ปรากฏว่าในการตอบคำถามดังกล่าวตอนหนึ่ง จอห์นสันระบุว่าประชาชนในสหราชอาณาจักรอาจไม่ต้องการการเลือกตั้งในขณะนี้ และตอบคำถามที่ว่าเขายังจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้หรือไม่ว่า ‘แน่นอน’ นอกจากนี้ เขายังปัดความเป็นไปได้ในการยุบสภา โดยบอกว่าวันที่เร็วที่สุดที่เขาเห็นการเลือกตั้งทั่วไปคือในอีกสองปีข้างหน้า

 

ส่วนทวีตจาก เจสัน โกรฟ บรรณาธิการการเมืองของ Daily Mail ในช่วงเกือบเวลา 02.00 น. ที่ผ่านมาตามเวลาไทย ระบุว่าจอห์นสันบอกกับบรรดารัฐมนตรีว่าเขาจะไม่ลาออก โดยให้เหตุผลว่าการลาออกจะทำให้เกิดความ ‘โกลาหล’ และจะทำให้ได้เห็นพรรคอนุรักษนิยมพ่ายแพ้ ‘เกือบแน่นอน’ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และทวีตของ แฮร์รี โคล บรรณาธิการการเมืองของ The Sun ก็ระบุว่ามีรัฐมนตรีรายหนึ่งกล่าวกับเขาว่า จอห์นสันกำลังจะต่อสู้ และการปรับคณะรัฐมนตรีมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

 

และมีรายงานถึงผู้ที่ยังสนับสนุนจอห์นสันอยู่ เช่น ลิซ ทรัสส์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ โดยรายงานระบุว่าเธอไม่คิดว่านี่เป็นเวลาที่จะต้องลาออก จากสาเหตุเกี่ยวกับสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่ในยูเครน และร่างกฎหมายพิธีสารไอร์แลนด์เหนือที่กำลังอยู่ในสภา และ เบน วอลเลซ รมว.กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีรายงานของ Daily Express และ The Sun ที่อ้างถึงกระแสการลาออกที่เกิดขึ้นว่าเป็นเกมการเมือง และระบุว่าเขาจะไม่ลาออก เป็นต้น

 

ล่าสุด 03.19 น. ตามเวลาไทย BBC รายงานว่า จอห์นสันตัดสินใจปลดไมเคิล โกฟ รมว.กระทรวงเคหะและชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาวุโสของคณะรัฐมนตรี และเป็นหนึ่งในผู้ที่บอกให้จอห์นสันลงจากตำแหน่งออกเรียบร้อยแล้ว

 

ภาพ: Dan Kitwood / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X