×

‘บอนด์ยีลด์ไทย’ พุ่งแรง แซงพื้นฐานเศรษฐกิจ ‘กรุงไทย โกลบอล’ ประเมินสิ้นปีแตะ 1.8%

24.02.2021
  • LOADING...
‘บอนด์ยีลด์ไทย’ พุ่งแรง แซงพื้นฐานเศรษฐกิจ ‘กรุงไทย โกลบอล’ ประเมินสิ้นปีแตะ 1.8%

ฝ่ายวิจัย กรุงไทย โกลบอล มาร์เก็ตส์ ประเมินว่า ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเร็วกว่าที่ประเมินไว้ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ อาจขึ้นไปแตะระดับ 1.6% ณ สิ้นปี 2564 เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ไทยที่มีโอกาสแตะระดับ 1.8%

 

กรุงไทย โกลบอล มาร์เก็ตส์ รายงานว่า หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น และการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศทำได้ดีขึ้น ทำให้เกิดการคาดหวังที่มีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ รวมถึงแร่โลหะอย่างทองแดงและเหล็ก ทำให้ตลาดยิ่งเชื่อว่า ‘เงินเฟ้อ’ จะกลับมาตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) ของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นกว่า 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

 

นอกจากนี้ ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ยังได้แรงสนับสนุนจากการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน สามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงเงินไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายในไตรมาสแรก ซึ่งจะยิ่งหนุนการใช้จ่ายในประเทศ และดันให้เงินเฟ้อปรับตัวได้อีก

 

ที่น่าสนใจคือ เมื่อความคาดหวังเงินเฟ้อและการเติบโตเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ตลาดก็มองว่าเฟดอาจเริ่มทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง ซึ่งจากปัจจัยความหวังของเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟด เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นกว่า 0.45% จากต้นปีมาแตะระดับ 1.30% ซึ่งผลจากการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีของหลายประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 0.30%

 

โดยในฝั่งของบอนด์ยีลด์ 10 ปีไทยมองว่า ต้องระวังในช่วงการทำ Bond Switching ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนจะเปลี่ยนการถือบอนด์ยีลด์จากตัวสั้นมาเป็นตัวยาว จึงอาจเห็นการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จากปริมาณบอนด์ระยะยาวในระบบที่จะเพิ่มขึ้น และในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ หลังจากการทยอยฉีดวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯ มองว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ไทย ไม่ได้มาจากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเช่นในฝั่งสหรัฐฯ แต่เป็นแรงกดดันจากการปรับตัวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้นักลงทุนทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลลง สอดคล้องกับแรงเทขายบอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทย โดยนักลงทุนต่างชาติที่มีออกมากว่า 7 พันล้านบาทในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้สดใสมากนัก เนื่องจากการแจกจ่ายวัคซีนยังไม่สามารถแจกจ่ายในวงกว้างได้ จนกว่าจะถึงเดือนมิถุนายน ตามไทม์ไลน์การแจกจ่ายวัคซีนของรัฐบาล 

 

ฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่า กรณีที่ไม่มีการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถต้านทานวัคซีนในปัจจุบันได้ เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก ที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศฟื้นตัวดีขึ้น หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีทยอยปรับตัวสูงขึ้น

 

นอกจากนี้บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจปรับตัวสูงขึ้นได้อีก หากตลาดกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในระยะสั้น ซึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 30% ในเดือนมีนาคมจนถึงสิ้นปี โดยอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ระดับ 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ฝ่ายวิจัยฯ ได้ปรับประมาณการบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ณ สิ้นปีเป็น 1.6% ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปีของไทยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.8% 

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯ มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ รวมถึงไทยได้ปรับตัวขึ้นเร็วล้ำหน้าปัจจัยพื้นฐานไปมาก ดังนั้นระยะสั้นอาจเริ่มเห็นการพักตัวของบอนด์ยีลด์ระยะยาว จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวเร่งตัวขึ้นอีกรอบได้ 

 

โดยในฝั่งของบอนด์ยีลด์ 10 ปีไทยมองว่า ต้องระวังในช่วงการทำ Bond Switching ซึ่งเป็นช่วงที่กระทรวงการคลังจะเปลี่ยนการถือบอนด์ยีลด์จากตัวสั้นมาเป็นตัวยาว จึงอาจเห็นการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปีที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกครั้ง และในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ หลังจากการทยอยฉีดวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

 

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ไม่เชื่อว่าเฟดหรือธนาคารกลางทั่วโลกจะกังวลต่อการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อในระยะสั้น จนปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปัจจัยหลักในสถานการณ์ปัจจุบันคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจ้างงาน ดังนั้นบอนด์ยีลด์ระยะสั้นจะเคลื่อนไหวในกรอบ จนกว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะส่งสัญญาณพร้อม ‘ขึ้น’ ดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งภาพดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในช่วงปี 2023

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X