×

ขสมก. จะสามารถลดความแออัดของรถเมล์ได้อย่างไร

02.05.2021
  • LOADING...
ขสมก. จะสามารถลดความแออัดของรถเมล์ได้อย่างไร

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เพจ Drama-Addict เผยแพร่ภาพผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางสายหนึ่งยืนเบียดเสียดกันแบบ ‘หายใจรดต้นคอ’ ในวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 18.30-19.45 น. จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม ขสมก. ต้องออกมาประกาศเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า-เย็น
  • คำถามคือ วิธีการเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ขสมก. จะจำกัดผู้โดยสารกี่คนต่อคัน หรือพนักงานจะมีวิธีการนับจำนวนผู้โดยสารอย่างไร หรือสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้า และใช้เวลาอยู่ในรถโดยสารให้สั้นที่สุด 
  • การระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ไม่ใช่การระบาดครั้งแรกของไทย และยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ขสมก. ต้องตระหนักว่าเป็นกิจการที่เป็น ‘ตัวแปรสำคัญ’ ของการควบคุมโรค จึงต้องปรับเปลี่ยนมาตรการตามสถานการณ์การระบาดได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากกรมขนส่งทางบก 

มาตรการ ‘ปรับรถเที่ยววิ่ง’ ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2564 เป็นต้นมา สวนทางกับมาตรการ ‘เว้นระยะห่าง’ (Social / Physical Distancing) อย่างมาก เพราะเมื่อลดจำนวนเที่ยววิ่ง ย่อมทำให้ผู้ใช้บริการแออัดมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนและหลังเลิกงาน 

 

ถึงแม้จะอธิบายว่าเพราะจำนวนผู้โดยสารลดลงจากการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนปรับรูปแบบการทำงานเป็นการทำงานอยู่ที่บ้าน (Work from Home) และสถาบันการศึกษาปรับการเรียนเป็นรูปแบบออนไลน์ จึงต้องปรับจำนวนเที่ยวลดลง แต่สถานการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น 

 

เมื่อเพจ Drama-Addict เผยแพร่ภาพผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางสายหนึ่งยืนเบียดเสียดกันแบบ ‘หายใจรดต้นคอ’ ในวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 18.30-19.45 น. จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม ขสมก. ต้องออกมาประกาศเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า-เย็น

 

คำถามคือ ขสมก. ทราบอยู่แล้วหรือไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่ ก่อนจะอ้างประกาศของกรมการขนส่งทางบก เรื่อง การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ลงวันที่ 17 เมษายน 2564

 

 

ประกาศของกรมการขนส่งทางบก

ในข่าวฉบับที่ 010/2564 ประจำวันที่ 27 เมษายน 2564 ขสมก. ประชาสัมพันธ์ประชาชน โดยอ้างถึงประกาศของกรมการขนส่งทางบกฉบับดังกล่าวใน 2 ข้อ คือ

 

  • ข้อ 1 (1) ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการขนส่งพิจารณาปรับลดเที่ยวการเดินรถในการให้บริการขนส่งผู้โดยสาร ‘ระหว่างจังหวัด’ ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่าที่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาจัดการเดินรถตามความจำเป็นให้เหมาะสมกับสถานการณ์
  • ข้อ 5 สำหรับการเดินรถโดยสารสาธารณะในเขตเมือง ขอให้ผู้ประกอบการขนส่งปรับลดการให้บริการในช่วงเวลา 23.00-04.00 น.

 

ซึ่ง ขสมก. ได้ดำเนินการปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถกะสว่างไปแล้ว ‘…จึงเตรียมปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารทุกประเภทในช่วงเวลาการให้บริการปกติ ทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศดังกล่าว…’

 

ทั้งที่เจตนาของกรมขนส่งทางบกคือ การจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัดที่ไม่จำเป็น เช่น การเดินทางไป-กลับภูมิลำเนา/ท่องเที่ยว ในขณะที่สถานที่ทำงานในกรุงเทพฯ ไม่สามารถแยกขาดได้จากที่พักอาศัยในจังหวัดปริมณฑลได้ การเดินทาง ‘ข้ามจังหวัด’ ในบริบทนี้จึงถือว่า ‘จำเป็น’

 

‘…อย่างไรก็ตาม ขสมก. จะปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งเฉพาะเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการลดลง ส่วนเส้นทางที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเท่าเดิมจะไม่มีการปรับลดจำนวนเที่ยววิ่งแต่อย่างใด’ (เป็นข้อความในโพสต์ของ ขสมก.) แต่ ขสมก. จะต้องปฏิบัติตามข้อ 1 (2) ด้วย

 

  • ข้อ 1 (2) ให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข D-M-H-T-T-A โดยเว้นระยะห่างระหว่างกัน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น (D-Distancing) 

 

ในเชิงหลักการ ขสมก. จะต้องจัดที่นั่งแบบเว้นที่นั่งหรือกำหนดที่ยืนให้ยืนห่างกัน 1 เมตร แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ขสมก. จึงควรควบคุมไม่ให้แออัดแทน ซึ่งสามารถทำได้โดยการ ‘เพิ่ม’ จำนวนเที่ยวรถในเส้นทางและช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการเยอะ และจำกัดจำนวนผู้โดยสารต่อคัน 

 

โดยเฉพาะรถโดยสารปรับอากาศ เพราะมีลักษณะเป็นสถานที่ปิด ผู้โดยสารร่วมกับผู้ติดเชื้อทั้งคันจะถือว่าเป็น ‘ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง’ หากไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้าตลอดเวลา (M-Mask) สวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง หรือเปิดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำบนรถนานเกิน 5 นาที

 

แต่โอกาสในการได้รับเชื้อจะลดลงตามระยะห่างจากผู้ติดเชื้อ และการควบคุมจำนวนผู้โดยสารจะทำให้จำนวนคนที่มีโอกาสได้รับเชื้อลดลง เช่น จากเดิม 50 คน เหลือ 30 คน เป็นต้น

 

บทเรียนของ ขสมก.

วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เพจ BMTA ขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงว่า หลังจากดำเนินการได้ 3 วัน ขสมก. ได้มีการบริหารจัดการเดินรถให้สอดคล้องกับความต้องการใช้บริการของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มความถี่ในการปล่อยรถช่วงเวลาเร่งด่วน และติดป้ายประชาสัมพันธ์ ดังรูป

 

 

คำถามต่อมาคือ วิธีการเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ เช่น ‘ผู้ใช้บริการเต็ม’ หมายความว่า ขสมก. จะจำกัดผู้โดยสารกี่คนต่อคัน หรือพนักงานจะมีวิธีการนับจำนวนผู้โดยสารอย่างไร 

 

หรือสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้า และใช้เวลาอยู่ในรถโดยสารให้สั้นที่สุด อีกทั้งถ้าหากมีผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก ‘รถคันสุดท้าย’ จะแก้ไขปัญหา หรือ ขสมก. มีแผนรองรับอย่างไร

 

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อภาระงานของพนักงาน ขสมก. เอง จึงต้องมีการสื่อสารให้ทั้งพนักงานขับรถ พนักงานเก็บค่าโดยสาร และผู้โดยสาร เข้าใจตรงกัน

 

การระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ไม่ใช่การระบาดครั้งแรกของไทย และยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ขสมก. ต้องตระหนักว่าเป็นกิจการที่เป็น ‘ตัวแปรสำคัญ’ ของการควบคุมโรค จึงต้องปรับเปลี่ยนมาตรการตามสถานการณ์การระบาดได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากกรมขนส่งทางบก 

 

ยิ่งขณะนี้ (1 พฤษภาคม 2564) ขสมก. พบพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารติดโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 9 ราย ขสมก. ยิ่งต้องลดความแออัดของผู้โดยสารอย่างจริงจัง นอกจากมาตรการสวมหน้ากากอนามัยและการเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสและระบบปรับอากาศ

 

ถ้าคำถามทั้งหมดนี้ ขสมก. ไม่สามารถตอบได้ทั้งหมด กระทรวงคมนาคม รัฐบาล และ ศบค. น่าจะต้องช่วยกันหาคำตอบ รวมถึงบริษัทรถเอกชนร่วมบริการด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising