×

สรุปผลสอบทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย กทม. พบเจ้าหน้าที่เอี่ยว 25 ราย ถูกตั้งสอบวินัยร้ายแรง ยืนยันเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งอาญา-วินัย-แพ่ง

โดย THE STANDARD TEAM
30.07.2024
  • LOADING...
เครื่องออกกำลังกาย

วันนี้ (30 กรกฎาคม) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ณัฐพงศ์ ดิษยบุตร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) และ เต็มศิริ เนตรทัศน์ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) แถลงชี้แจงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องออกกำลังกายของศูนย์กีฬากรุงเทพมหานคร ที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่าราคาแพงเกินจริง

 

ณัฐพงศ์กล่าวว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการร้องเรียนประเด็นนี้ผ่านสื่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้ข้อสังเกตโครงการดังกล่าวมาที่ กทม. และ กทม. ได้เริ่มตรวจสอบ พร้อมส่งข้อมูลให้ สตง. ไปก่อนหน้านี้

 

จากนั้นจึงมีการร้องเรียนประเด็นดังกล่าวผ่านสื่อเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ผู้ว่าฯ กทม. จึงได้ออกคำสั่งระงับการตรวจรับการจัดซื้อฯ พร้อมให้ ศตท.กทม. ดำเนินการตรวจสอบ ตนจึงได้สั่งการไปยังคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทุจริต พร้อมทั้งให้สำนักปลัด กทม. ดำเนินการตรวจสอบร่วมด้วย

 

และในวันที่ 11 มิถุนายน คณะกรรมการได้รายงานผลมา โดยมีข้อเสนอ 2 ทาง คือ ทางแรก การทุจริตมีข้อบกพร่อง มีมูลส่อทุจริต ซึ่งอาจผิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ศตท.กทม. จึงได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

 

ณัฐพงศ์กล่าวต่อว่า กทม. ได้นำผลการสอบสวนเบื้องต้น พร้อมส่งเรื่องให้ปลัด กทม. เพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ว่าฯ กทม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน โดยให้เวลา 30 วัน นับตั้งแต่คณะกรรมการสืบสวนรับทราบคำสั่งในวันที่ 20 มิถุนายน และครบรอบ 1 เดือนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม โดยได้รายงานต่อผู้ว่าฯ กทม. ทุก 7 วัน

 

สำหรับผลสรุป คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบ 7 โครงการ ตามกรอบเวลา 30 วัน พร้อมนำเสนอรายงานเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการสืบสวนทั้งพยานบุคคลและเอกสารที่เกี่ยวข้องพบว่าการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายจำแนกได้ 4 ประเด็น ได้แก่

 

ประเด็นที่ 1 มีการจัดซื้อแพงเกินจริง เครื่องออกกำลังกายมีราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาดและเป็นราคาที่สูงกว่าที่เคยจัดซื้อมาในปีก่อนๆ หากเปรียบเทียบราคาต้นทุน รวมค่าดำเนินการ ก็ยังสูงกว่าเป็นอย่างมาก

 

ประเด็นที่ 2 ใน TOR คุณลักษณะเฉพาะหรือสเปกของเครื่องออกกำลังกาย มีการปรับสเปกให้สูงขึ้นกว่าเดิม เช่น การเพิ่มกำลังแรงม้า แสดงเพิ่มโปรแกรมออกกำลังกาย การเพิ่มการรองรับน้ำหนัก การเพิ่มจอแสดงผลสัมผัส เป็นต้น

 

ประเด็นที่ 3 การสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย โดยใช้ราคาต่ำสุดเป็นราคากลาง ไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมและการใช้งานจริง อีกทั้งการกำหนดสเปกสูงเกินจริงส่งผลต่อราคาแพงเกินควร

 

ประเด็นที่ 4 การกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอตาม TOR มีข้อกำหนดไม่ได้เปิดกว้างให้เสนอราคาได้เท่าเทียม เช่น การกำหนดให้แนบหนังสือรับรองผลงานและสำเนาสัญญาซื้อขายไม่น้อยกว่า 4 สัญญาในวันเสนอราคา มีระยะเวลานับย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวกำหนดเพิ่มเติมเกินกว่าแนวทางกระทรวงการคลังกำหนด ทำให้ราคาแพงเกินควร

 

ณัฐพงศ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อ ในขั้นตอนพิจารณางบประมาณ และการดำเนินการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 25 ราย มี 1 ราย ลาออกจากราชการไปแล้ว โดยไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันชัดเจนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้คำนึงถึงหลักความคุ้มค่า และไม่มีขั้นตอนการกลั่นกรอง การทักท้วงราคาดังกล่าว หลังจากสอบสวนทางวินัยจะมีการสอบสวนในเชิงลึกเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปลัด กทม. ได้มีคำสั่งย้ายผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง 7 โครงการ ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักปลัด กทม. เพื่อไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับหลักฐานในการดำเนินการทางวินัย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเที่ยงธรรมในการตรวจสอบ

 

ด้านเต็มศิริกล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบทางวินัยว่า เรื่องนี้มีการดำเนินการทั้งหมด 3 ส่วน โดยส่วนแรกคือดำเนินการทางอาญา กทม. ได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. แล้ว และเข้าสู่การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่ง กทม. ไม่มีอำนาจจัดการ ต้องส่งต่อให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย

 

ส่วนต่อมาคือการดำเนินการทางวินัย โดยตอนนี้คณะกรรมการทางวินัยได้สืบสวนและรายงานผู้สั่งตั้งคณะกรรมการฯ แล้วว่าพบมูลความผิดจริง ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง คาดว่าจะมีความผิดที่มีมูลความผิดเดียวกัน จึงจะต้องออกคำสั่งเป็น 1 คำสั่งรวมกัน ส่วนรายชื่อผู้กระทำผิดยังไม่ขอเปิดเผยในตอนนี้

 

เต็มศิริกล่าวต่อว่า ตามกฎของ ก.ก. ได้กำหนดระยะเวลาให้คณะกรรมการสอบสวนเริ่มนับตั้งแต่การประชุมวันแรกไปจนถึง 120 วัน สามารถขยายได้ 1 ครั้ง ไม่เกิน 60 วัน หรือรวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่เชื่อว่าการตรวจสอบเรื่องนี้จะแล้วเสร็จภายใน 120 วัน

 

ซึ่งกระบวนการจะมีตั้งแต่การสรุปพยานหลักฐานและแจ้งข้อกล่าวหา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงและแสวงหาพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการฯ เป็นผู้กำหนด และจะพิจารณาสั่งลงโทษทางวินัย ภายในกรอบระยะเวลา 120 วัน เพื่อรายงานผลต่อผู้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ พิจารณาต่อให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน

 

ส่วนสุดท้ายคือการดำเนินการทางแพ่ง หรือความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะดำเนินการควบคู่กันไป ภายหลังจากที่คณะกรรมการฯ ตรวจสอบแล้วหากพบว่าราคาจัดซื้อแพงเกินจริง ก็จะต้องตรวจสอบหาผู้รับผิดทางแพ่งเพื่อคืนเงินให้กับ กทม. ทางคณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่าจะต้องชดใช้คืนเงินให้กับ กทม. เท่าไร

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising