×

BJC แต่งตั้ง ‘อัศวิน เตชะเจริญวิกุล’ นั่งเก้าอี้ซีอีโอและเอ็มดีใหญ่คนแรกของ BRC รับภารกิจนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง

30.03.2023
  • LOADING...
อัศวิน BRC

BJC จัดทัพใหญ่ เตรียมนำ ‘บิ๊กซี’ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง ภายใต้ชื่อบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Big C Retail (BRC) โดยแต่งตั้ง อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรก เพื่อรับภารกิจนำองค์กรเข้าตลาดหุ้น ขยายโมเดลธุรกิจในตลาดไทยและต่างประเทศ

 

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ประกาศแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยจัดพอร์ตโฟลิโอแยกธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีกและ/หรือการค้าส่ง และธุรกิจเดิมของบิ๊กซีทั้งหมด ให้รวมอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘BRC’

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน BRC มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 87,135,026,800 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 8,713,502,680 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยบริษัทมีแผนการจะนำ BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 29.98% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) (หากมี) หรือจำนวนไม่เกิน 3,729,999,999 หุ้น ส่งผลให้ภายหลังการเพิ่มทุนและการเสนอขายหุ้น IPO จะมีจำนวนหุ้นรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 12,443,502,679 หุ้น

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ตั้ง ‘อัศวิน เตชะเจริญวิกุล’ เป็นซีอีโอและเอ็มดีใหญ่คนแรก

 

ในโอกาสนี้บริษัทยังได้แต่งตั้ง อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ BRC โดยอัศวินได้กล่าวถึงทิศทางในการขับเคลื่อน BRC สู่การเติบโตอย่างยั่งยืนว่า “BRC คือบริษัทเรือธง (Flagship Company) ซึ่งดำเนินธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาและการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ อันมีส่วนเกี่ยวข้องเกื้อหนุนกับการค้าปลีกและการค้าส่ง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มสินค้าและบริการทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) สร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของรายได้รวมของกลุ่ม BJC

 

“อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในเครือ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา BRC มีรายได้รวม 113,573 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 6,757 ล้านบาท และสินทรัพย์รวม 336,833 ล้านบาท

 

การปรับโครงสร้าง BRC เพื่อรองรับแผน IPO และการนำหุ้น BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นจะส่งผลให้ BRC สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว เป็นอิสระ สามารถระดมทุนจากตลาดทุนได้ด้วยตัวเอง รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ พร้อมช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมแบรนด์บิ๊กซีและแบรนด์อื่นๆ ในเครือ BRC ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจและดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถใหม่ๆ มาช่วยสร้างการเติบโตและความแข็งแกร่งให้ธุรกิจทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคในอนาคต”

 

จ่อดันโมเดลธุรกิจสู่ระดับโลก

 

การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้จะทำให้ BRC เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้กลุ่ม BJC เติบโตไปข้างหน้าภายใต้กลยุทธ์การปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ธุรกิจชั้นนำในตลาดโลก เพื่อส่งมอบสินค้าผ่านช่องทางที่ทันสมัยและให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า และขยายสาขาบิ๊กซีเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ

 

สำหรับทิศทางการเติบโตของ BRC มีการวางแผนการขยายช่องทางการค้าแบบ Omni-Channel ผลักดันยอดขายเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้าทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ และการบริการจัดส่งเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ผ่านแอปพลิเคชัน Big C PLUS, Call-Chat-Shop, LINE, Drive-Thru, บริการจัดส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง และความร่วมมือผ่านการขยายช่องทางการค้ากับพันธมิตรชั้นนำต่างๆ รวมถึงผลักดันยอดขายสินค้า Private Label ของบิ๊กซี เช่น We Are Fresh, Besico, Big C Happy Price, Big C Happy Price Pro เป็นต้น

 

ปัจจุบันบิ๊กซีมีฐานลูกค้าผ่านบัตรสมาชิกบิ๊กพอยต์กว่า 18 ล้านราย มีลูกค้าทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ (Multi-Format) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี ดีโป้, บิ๊กซี มินิ, บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส รวมถึงธุรกิจตลาดกลางแจ้งอย่างตลาดทิพย์นิมิตร, ตลาดครอบครัว, ตลาดเดินเล่น ตลอดจนร้านกาแฟวาวี, ร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส และร้านยาเพรียว

 

อีกทั้งยังได้ริเริ่มโครงการร้าน ‘โดนใจ’ ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยผ่านการยกระดับร้านโชห่วยสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ผ่านการให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านต่างๆ ให้กับร้านค้าเหล่านี้ เพื่อให้สามารถเติบโตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นของตนเอง

 

เงินจาก IPO ใช้ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

 

อัศวินกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเงินที่จะได้จากการขายหุ้น IPO ของ BRC จะนำไปใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งรวมถึงชำระหนี้บางส่วนของ BRC และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินธุรกิจของ BRC ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ของ BRC นั้น BJC จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ BRC จะยังคงมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ BJC ในสัดส่วน 70.02%

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising