×

ชวนคิด Bitcoin กับประชาธิปไตย ข้อดี-ข้อเสีย และประโยชน์ที่อาจมากกว่าการมองเพียงด้านมืด

โดย Sanjay Popli
17.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • เมื่อเราพูดถึง Bitcoin หลายคนอาจจะคิดถึงการฟอกเงิน การใช้ในทางไม่ดี หรือมองว่าเป็นการเก็งกำไรที่จะไร้ค่าเข้าสักวันและไม่ก่อให้เกิดอะไรเลยก็ว่าได้ แต่ในทางทฤษฎีแล้วนั้น Bitcoin เป็นระบบการเงินรูปแบบหนึ่งที่มีความเท่าเทียมกว่าระบบการเงินในปัจจุบันเสียอีก

ในโลกปัจจุบันและสถานการณ์การเมืองของไทย เราจะเห็นความพยายามของผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้น เท่าเทียมขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น หรือเราอาจจะเรียกได้ว่ามันคือสิ่งที่น้องๆ นักเรียนนักศึกษามากมายกำลังพยายามเรียกร้องและเปลี่ยนแปลงมันอยู่ในปัจจุบันนี้

 

มีผู้คนมากมายตลอดประวัติศาสตร์ที่พยายามเรียกร้องประชาธิปไตย แต่หนึ่งในสิ่งที่หลายคนมักจะมองข้ามคือระบบการเงินในปัจจุบัน ซึ่งเอื้อต่อคนที่มีอำนาจอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หรือจะเรียกได้ว่าปัจจุบันเงินที่เราใช้นั้นเป็นรูปแบบของเงินที่ไม่ใช่เงินของประชาชนก็ว่าได้

 

เมื่อเราพูดถึง Bitcoin หลายคนอาจจะคิดถึงการฟอกเงิน การใช้ในทางไม่ดี หรือมองว่าเป็นการเก็งกำไรที่จะไร้ค่าเข้าสักวันและไม่ก่อให้เกิดอะไรเลยก็ว่าได้ แต่ในทางทฤษฎีแล้วนั้น Bitcoin เป็นระบบการเงินรูปแบบหนึ่งที่มีความเท่าเทียมกว่าระบบการเงินในปัจจุบันเสียอีก

 

เราต้องย้อนกลับไปถึงเจตนารมณ์ของผู้สร้าง Bitcoin ของ ซาโตชิ นากาโมโตะ เสียหน่อย โดยซาโตชินั้นสร้าง Bitcoin ขึ้นมาในช่วงปี 2008 ที่มีวิกฤตซับไพร์มในอเมริกา ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก โดยผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจเสียหายอย่างนายธนาคารกลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย มิหนำซ้ำรัฐบาลยังต้องผลิตเงินเพิ่มขึ้นมาเพื่ออุ้มนายทุนเหล่านั้น โดยการแย่งชิงมูลค่าจากประชาชน

 

อาจจะมีคนบอกว่าหากรัฐไม่มีการผลิตเงินเพิ่มแล้ว เราจะบริหารประเทศได้อย่างไร จะทำถนน จะมีโรงพยาบาลได้อย่างไร ประชาชนยากไร้จะอยู่อย่างไร ซึ่งอันที่จริงเราต้องบอกว่า การที่รัฐบาลทั่วโลกสามารถผลิตเงินออกมาได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งทำให้เกิดหนี้เครดิตอันมหาศาลนั้น เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นได้เพียง 50 ปีหลังจากเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ยกเลิกการรองรับทองคำกับสกุลเงิน

 

ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์เราใช้ทองคำเพื่อสร้างเงินตรามาตลอด คนในยุคปัจจุบันมักเข้าใจผิดว่าสิ่งใดที่มีมูลค่าคือสิ่งที่มีการใช้งานเยอะ สามารถใช้ซื้อสิ่งต่างๆ ได้ จนลืมเรื่องสำคัญที่ว่า ‘อำนาจในการผลิตเงินนั้นอยู่กับใคร’ ครั้งหนึ่งมนุษย์เราเคยใช้เปลือกหอยเป็นเงินได้เพราะมันหาได้ยาก แต่เมื่อระบบคมนาคมดีขึ้น มีคนขุดเปลือกหอยเหล่านี้มาใช้ได้ ก็ทำให้ระบบถูกทำลาย เพราะฉะนั้นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สิ่งสิ่งหนึ่งมีมูลค่าเป็นเวลายาวนานคือ 

 

“ความสามารถในการต่อต้านการทำลายมูลค่าหรือความโลภของมนุษย์”

 

ทองคำเป็นตัวอย่างที่ดีของเงินที่มีความเท่าเทียม เพราะมันไม่สามารถผลิตได้ในระยะเวลาสั้นๆ ในอดีตหากรัฐไม่มีทองคำก็ไม่สามารถมีรายได้นอกจากการเก็บภาษี ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเห็นความพยายามของรัฐในการยืดทองคำจากประชาชน ถ้าเราลองเทียบมูลค่าของสินค้าต่างๆ ในอดีตกับปัจจุบันในหน่วยทองคำ เราจะพบว่าราคานั้นไม่ต่างกันมาก แต่มันกลับต่างกันอย่างมหาศาลเมื่อใช้เงินรัฐเป็นตัวเทียบ

 

เงินในปัจจุบันของเรานั้นถูกเรียกว่า ‘เงินเฟียต’ ซึ่งเป็นเงินที่อนุญาตให้รัฐสามารถช่วงชิงมูลค่าของประชาชนได้ด้วยการผลิตเงินเพิ่มและช่วงชิงมูลค่าของจากเงินในกระเป๋าทุกคนผ่านภาวะเงินเฟ้อของเงินรัฐ และเงินที่ถูกผลิตออกมาก็จะถูกมอบให้รัฐหรือใครก็ตามที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตเงินเพื่อใช้ก่อน หรือพูดง่ายๆ ก็คือเขาจะได้ใช้เงินก่อนที่มันจะเสื่อมมูลค่านั่นเอง

 

กลายเป็นว่าบางทีคนที่ได้รับเงินนั้นก็คือนักการเมืองที่เอามาทำนโยบายประชานิยมด้วยเงินของประชาชนเพื่อแลกกับที่นั่งของตัวเองในสภา 

 

และคนสุดท้ายที่จะได้รับเงินนั้นคือชนชั้นแรงงาน ที่เมื่อเขาได้รับเงินมาแล้ว เงินก็เฟ้อถึงขีดสุดแล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ในเมื่อเงินที่พวกเขาเก็บจะมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ

 

เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘too big too fail’ สถาบันทางการเงินหรือธุรกิจใดก็ตามที่มีผลต่อโครงสร้างของประเทศนั้นจะสามารถทำธุรกิจได้โดยไม่มีความเสี่ยง เพราะเมื่อทำผิดพลาดรัฐก็จะผลิตเงินมาอุ้มด้วยการเอามูลค่าของประชาชนทุกคนไปโดยที่ไม่มีใครรู้ตัวด้วยซ้ำ

 

แต่ในความเป็นจริงนั้นโลกเราถูกผูกกับเงินเฟียตเกินกว่าที่เราจะเลิกใช้มันได้ ถ้าเราเลิกใช้มัน ระบบจะพังลงในเวลาไม่ช้า เรายังไม่มีคำตอบว่าจะแก้ไขระบบเครดิตอันมหาศาลที่ก่อเกิดหนี้ จนมีคำถามว่าเราจะชดใช้มันในอนาคตได้อย่างไร และจะหยุดการผลิตเงินอย่างไร

 

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรให้ความสำคัญกับเงินที่ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐเพิ่มเติมอย่างทองคำหรือ Bitcoin เพราะรูปแบบการผลิตนั้นแตกต่างจากเงินของรัฐ นอกเหนือจากกรณีของ Bitcoin ที่อาจถูกนำไปใช้ในทางไม่ดีแล้ว แต่ข้อดีในอีกมุมหนึ่งคือมันมีอิสระในตัวมันเอง ถ้าคุณเก็บมันอย่างถูกต้อง แม้ว่ามีคนเอาปืนมาจ่อหัวคุณ เขาก็เอา Bitcoin ไปจากคุณไม่ได้ หากคุณไม่ยินยอม

 

แม้ว่าในปัจจุบัน Bitcoin นั้นมีมูลค่าน้อยเกินกว่าที่จะมีผลกระทบในเชิงโครงสร้างหรือกลายมาเป็นสินทรัพย์สำรองในการผลิตเงินของแต่ละประเทศได้ มันเป็นเรื่องไร้สาระพอๆ กับการที่ใครสักคนพูดว่า Bitcoin จะมีมูลค่าถึง 10,000 ดอลลาร์ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และล่าสุดมันอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราก็ได้ แต่แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อนาคต

 

ล่าสุดเดือนสิงหาคม 2020 บริษัท MicroStrategy อเมริกาที่อยู่ใน Nasdaq ประกาศว่า ภายใน 12 เดือนจะเอาเงิน 250 ล้านดอลลาร์ ไปทยอยซื้อสินทรัพย์ทางเลือก เช่น หุ้น พันธบัตร เงินดิจิทัล (Digital Currency) เพื่อเป็นสินทรัพย์คงคลังสำรอง ซึ่งหลังจากนั้นเป็นเวลา 1 สัปดาห์ บริษัท MicroStrategy ได้ตัดสินใจนำเงินจำนวน 250 ล้านทั้งหมดไปซื้อ Bitcoin จำนวน 21,454 BTC (ซึ่งในปี 2013 ไมเคิล เจ. เซย์เลอร์ ซีอีโอของ MicroStrategy เคยกล่าวว่า Bitcoin นั้นไม่ต่างกับการพนันออนไลน์)

 

อย่างไรก็ตาม Bitcoin ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่มีต่อระบบการเงินของรัฐ ด้วยความที่มันยากจะเข้าใจ และการเป็นอิสระของมันทำให้รัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับหรือแม้แต่ผู้คนที่เชื่อมั่นต่อตัวกลางต่างๆ มองว่ามันเป็นภัย เราอาจจะเคยได้ยินว่า Bitcoin นั้นคือเงินเถื่อน Bitcoin ใช้ฟอกเงิน Bitcoin ใช้ทำผิดกฎหมาย จนไปถึงการแบน Bitcoin ในบางประเทศอย่างเนปาลหรือปากีสถาน ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า Bitcoin ถูกกล่าวหาว่าเป็นเงินเถื่อน ทั้งที่มันถูกใช้ทำเรื่องผิดกฎหมายไม่ต่างจากเงินรัฐ 

 

ในเดือนกุมพาพันธ์ 2018 ธนาคาร Rabobank ในประเทศเนเธอร์แลนด์

ออกมาประกาศว่า จะไม่ยอมเปิดบัญชีให้กับผู้ที่ทำธุรกิจด้าน Cryptocurrency เพราะเข้าข่ายเป็นบัญชีที่มีความเสี่ยงสูงต่อ Compliance รวมถึงการฟอกเงินมากเกินไป ซึ่งในสัปดาห์ถัดมาธนาคาร Rabobank ออกมายอมรับผิดและจ่ายค่าปรับ 369 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนคดีฟอกเงินให้กับกลุ่มค้ายาเสพติดในเม็กซิโก โดยทางธนาคารได้ทยอยสร้างบัญชีที่ถูกต้องขึ้นกว่า 1,000 บัญชีเพื่อให้กลุ่มค้ายาสามารถลักลอบฝากเงินจากอเมริกาและถอนออกที่เม็กซิโกได้ ที่แย่ไปกว่านี้คือ นี่เป็นครั้งที่ 3 ของธนาคารนี้ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคารยังเคยขัดขวางและชะลอการสืบสวนสอบสวนอีกด้วย

 

ที่กล่าวมาคือแนวคิด Bitcoin กับความเท่าเทียมและประชาธิปไตยที่อาจเป็นทางเลือกในระบบการเงินอนาคต ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หรือด้านสว่างและด้านมืดเหมือนกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้

 

ทิ้งท้ายกับคำพูดของนักเขียนด้านเงินดิจิทัลคนหนึ่ง ซึ่งชวนขบคิดว่าทำไมเราต้องศึกษาและทำความเข้าใจ Bitcoin อย่างจริงจัง เพื่อลบภาพจำที่ว่ามันเป็นเครื่องมือฟอกเงิน เก็งกำไร หรือใช้ในทางผิดกฎหมายมากกว่าประโยชน์แท้จริงของมัน

 

“หากคุณต้องการเข้าใจ Bitcoin สิ่งแรกที่คุณต้องทำไม่ใช่การทำความเข้าใจใน Bitcoin แต่คือการเข้าใจเงินเฟียต เมื่อคุณเข้าใจว่าเงินเฟียตทำงานอย่างไร คุณจะเข้าใจว่าทำไมคุณจึงต้องสนใจ Bitcoin” – Lina Seiche

 

ภาพ: Shutterstock

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising