×

‘ซีอีโอ’ บริษัทใหญ่ทั่วประเทศไทยมองโควิด-19 รอบนี้อย่างไร ‘ทางออก’ ประเทศอยู่ตรงไหน

28.04.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ความเห็นของผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไปที่การเร่งนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จากทุกบริษัทโดยเร็วที่สุด แล้วดำเนินการกระจายให้กับประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างทั่วถึง ‘เท่าเทียม’ ไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ
  • ไม่เพียงเท่านั้น ‘การสื่อสารที่ชัดเจน’ และมีประสิทธิภาพ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ ก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน
  • หลายคนเชื่อว่า ‘การล็อกดาวน์แบบทั้งระบบ’ (Total Lockdown) อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายอีกต่อไป เพราะการเลือกล็อกดาวน์และกำหนดพื้นที่เสี่ยงดังเช่นในปัจจุบันถือว่ามาถูกทางแล้ว นอกจากนี้หากล็อกดาวน์จริงก็ควรมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs คนรากหญ้าที่เหมาะสมด้วย
  • สวัสดิการ ‘วัคซีนโควิด-19 พนักงานแบบฟรี’ คือสัญญาที่ผู้บริหารส่วนใหญ่พร้อมหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือพนักงานและบุคลากรในองค์กรของตน

ย้อนเวลากลับไปก่อนเทศกาลปีใหม่ไทย ‘สงกรานต์’ จะเริ่มต้นขึ้น พร้อมๆ กับช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการกิจการหลายคนต่างก็คาดหวังว่าเทศกาลวันหยุดปีนี้รายได้ และธุรกิจของพวกเขาจะต้องกลับมาคึกคัก (อย่างน้อยที่สุดก็ไม่แย่เหมือนปีก่อนที่ต้องแบ่งพาร์ตสลับวันหยุดกันไปแบบเหงาๆ อย่างละเดือนสองเดือน)

 

แต่แล้วภาพฝันที่พวกเขาเคยเข้าใจและตั้งความหวังไว้กลับอันตรธานหายไปกลายเป็น ‘ฝันร้าย’ ที่เข้ามาหลอกหลอนแทน เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและแพร่กระจายเป็นวงกว้างในระลอกที่ 3

 

ส่งผลให้ธุรกิจน้อยใหญ่จำนวนมากเริ่มจนหนทาง และต้องปรับตัวเองตั้งรับกับสถานการณ์ระลอก 3 ในครั้งนี้ที่เรียกได้เต็มปากแล้วว่า ‘เผาจริง’ ไม่ใช่เผาหลอกอย่างปีที่ผ่านมาๆ

 

THE STANDARD WEALTH รวบรวมทุกมุมมองความเห็นจากซีอีโอและผู้นำบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วประเทศไทย ที่มีต่อการระบาดโควิด-19 ในประเทศระลอก 3 นี้ ว่าพวกเขาประเมินสถานการณ์เบื้องต้นไว้อย่างไร อะไรคือส่ิงที่องค์กรของพวกเขาได้ทำไปแล้วบ้างเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศและบุคลากร พนักงาน 

 

แล้วทางออกที่ประเทศไทยและรัฐบาลควรจะเดินต่อไปจากนี้ เพื่อหลุดพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้นไปด้วยกันคืออะไร?

 

‘ซีอีโอ’ บริษัทใหญ่ทั่วประเทศไทยมองโควิด-19 รอบนี้อย่างไร ‘ทางออก’ ประเทศอยู่ตรงไหน

 

แสนสิริ จี้รัฐเปิดทาง ‘เอกชน’ มีส่วนร่วมนำเข้าวัคซีนโควิด-19 กระจายแบบเท่าเทียม ไม่หนุนล็อกดาวน์ทั้งระบบ

เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ถึงมุมมองที่ตัวเขามีต่อการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่ 3 นี้ โดยบอกว่าเป็นสถานการณ์และผลกระทบที่ ‘หนักพอสมควร’ เนื่องจากเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง อีกทั้งในสถานการณ์การระบาดทั้ง 2 ระลอกหลังสุด เกิดขึ้นจาก ‘การปล่อยปละละเลย’ มากกว่าเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาความไว้วางใจต่อนักลงทุนและประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในระยะยาว

 

“ผมแบ่งผลกระทบหลักๆ ออกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. ตารางการเปิดประเทศใหม่ และเศรษฐกิจโดยรวม และ 2. ความมั่นใจที่ประชาชนมีต่อวิธีการจัดการและรับมือกับปัญหาของรัฐบาล ซึ่งผมมองว่าข้อที่ 2 สำคัญมากๆ เพราะหากความมั่นใจไม่เกิด การใช้จ่ายเงินและการลงทุนก็จะลดน้อยลงไป คนกังวลว่าในอนาคตอาจจะเกิดการระบาดในระลอกที่ 4 หรือ 5 ได้อีก หากการรับมือกับปัญหาทำได้ไม่ดีพอ

 

“ถามว่าควรจะล็อกดาวน์ทั้งระบบไหม (Total Lockdown) ผมไม่เห็นด้วย เพราะมันพังทลายของเศรษฐกิจไปเยอะมาก แต่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์แบบเป็นขั้นเป็นตอนในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลมาถูกทางแล้ว เป็นการล็อกดาวน์ในแต่ละโซน แต่ละพื้นที่ กำหนดระดับความเสี่ยงของพื้นที่นั้นๆ ด้วยระดับสี ไม่ใช่การหว่านปิดทั้งหมด ไม่เช่นนั้นประชาชนจะประสบปัญหาอดตายกันหมด แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะต้องมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ประมาท สำคัญที่สุดคือต้องปลูกฝังให้คนมีจิตใต้สำนึกในการป้องกันการระบาด”

 

พร้อมกันนี้ หัวเรือใหญ่จากแสนสิริยังเสนออีกด้วยว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ด้วย 2 กลยุทธ์สำคัญ คือ 

 

1. รัฐต้องอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้โดยเร็ว

 

2. กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ให้ความสำคัญทั้งระยะกลางและยาว

 

“รัฐจะต้องอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้โดยเร็ว โดยให้เอกชนมีส่วนร่วม และจะต้องทำทุกวิถีทางในการนำวัคซีนเข้ามาในปริมาณที่ ‘มากเกินกว่าความต้องการ’ ของประชาชนที่มีอยู่ เอาเยอะไว้ก่อน เอาทุกชนิดและทุกยี่ห้อให้ครอบคลุมมากที่สุด เตรียมแผนการกระจายวัคซีนให้ชัดเจน ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมี ‘ความเท่าเทียม’ มีการแบ่งลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน (บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า) ไม่มีกรณีการเข้าถึงวัคซีนแบบที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

 

“ประการถัดมา ‘วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ’ ใครบอกว่ารัฐบาลถังแตกในวันนี้ ผมยืนยันว่าไม่จริง เพราะรัฐบาลมีอำนาจและกำลังที่จะไปกู้เงินมาเพื่อเยียวยาทุกภาคส่วนที่เดือดร้อนได้อีก เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จะต้องจัดการวางแผนระยะกลางว่าจะเยียวยาต่อไปอีกนานแค่ไหน จนกว่าจะเริ่มเปิดประเทศ นี่เป็นเรื่องคู่ขนานที่รัฐบาลต้องเตรียมตัว ไม่ใช่ระวังแต่ประเด็นโควิด-19 อย่างเดียว เพราะจะต้องวางแผนฟื้นฟู เยียวยา ภาคส่วนที่เดือดร้อนด้วย”

 

ในส่วนของแสนสิรินั้น เศรษฐาระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาพวกเขาได้ให้ความสำคัญกับลูกบ้าน ผู้อยู่อาศัยทุกโครงการ ด้วยการอำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้านทุกคนให้ได้มากที่สุด ทั้งประเด็นการดูแลสุขลักษณะ อนามัย การบรรเทาความเดือดร้อน

 

ขณะที่ฝั่งพนักงาน วันนี้ได้ปรับมาใช้แนวทางการ Work from Home ในสัดส่วนมากถึง 80% และสลับวันให้พนักงานแต่ละชุดเวียนกันมาปฏิบัติหน้าที่ที่ออฟฟิศเฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการการตรวจหาโควิด-19 แบบ Rapid Test และการทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่งอยู่ตลอดเวลา

 

รวมถึงในอนาคต หากรัฐบาลเปิดกว้างให้โรงพยาบาลเอกชนนำวัคซีนเข้ามา และบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้รับวัคซีนครบตามลำดับความสำคัญแล้ว หากเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้รับวัคซีน แสนสิริก็ยินดีที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายฉีดวัคซีนให้กับพนักงานของแสนสิริและครอบครัวของพนักงานด้วย

 

 

ไทยพาณิชย์ชี้ หัวใจสำคัญของทางออกคือ เร่งจัดหา และ ‘กระจายวัคซีนให้เร็วที่สุด’

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินภาพรวมผลกระทบจากโควิด-19 รอบนี้ว่า มีระดับความรุนแรงไม่แพ้สองครั้งแรก แต่เนื่องจากประสบการณ์การรับมือที่มากขึ้น จึงทำให้การบริหารการล็อกดาวน์รอบนี้ทำได้ดีกว่าสองรอบที่ผ่านมา โดยมีการล็อกดาวน์ในบางส่วน แต่ยังทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมยังดำเนินต่อไปได้ 

 

“วิกฤตในรอบนี้เป็นเรื่องของ ‘การบริหารจัดการความสมดุลระบบสาธารณสุขของประเทศ’ ไม่ให้ถึงจุดวิกฤต ขณะที่การขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจก็จะต้องไม่ชะงักงัน 

 

“โดยสิ่งที่จะเป็นหัวใจของวิกฤตโควิด-19 นับจากนี้ก็คือ ‘การจัดหาวัคซีนและกระจายวัคซีนให้ได้โดยเร็ว’ และที่สำคัญคือ ‘การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วยข้อมูลที่ชัดเจน’ ถึงแผนการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีนให้ได้ถึงวันละ 3 แสนรายให้ได้ รัฐจะต้องสื่อสารด้วยข้อมูลที่ตรงไปตรงมาให้ประชาชนเข้าใจถึงทุกขั้นตอนที่กำลังจะเกิดขึ้น ลำดับความสำคัญของพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องได้รับวัคซีนก่อน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความหวังถึงกระบวนการการกระจายวัคซีนและจุดสิ้นสุดของโรคระบาดร่วมกัน” 

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ยืนยันว่า ตนในฐานะภาคเอกชนโดยการนำของสภาหอการค้าไทย ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือภาครัฐในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤตครั้งนี้โดยเร็วอยู่แล้ว

 

ในด้านการบริหารภายในองค์กรนั้น อาทิตย์เผยว่า SCB ได้ปรับมาใช้มาตรการการทำงานแบบ Work from Anywhere มาโดยตลอด พร้อมดูแลพนักงานในทุกๆ ด้าน เพื่อให้พนักงานมีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการทำงาน 

 

นอกจากนี้ ไทยพาณิชย์ก็อยู่ในระหว่างการศึกษา ‘แผนการจัดหาวัคซีนให้พนักงานทุกคนทันทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย’ เมื่อภาครัฐอนุญาตให้ดำเนินการได้ เพื่อความปลอดภัยของพนักงานและครอบครัว และเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐอีกทางหนึ่ง

 

 

AIS พร้อมเป็น ‘ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก’ แย้มหากรัฐล็อกดาวน์ ต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับประชาชน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS: ADVANC) ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกสามนี้ เกิดจากกรณีการการ์ดตกช่วงก่อนสงกรานต์ และเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดผลกระทบที่น่ากังวลพอสมควร

 

ในเชิงความเชื่อมั่นด้านการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นก็อยู่ในระดับที่ ‘ตกลง’ ทันที ทั้งจากการที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งเดิมทีกำลังจะเดินหน้าไปต่อได้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นหยุดชะงัก หรือภาคอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมเอง แม้จะมีการใช้งานสูงขึ้นกว่า 30% แต่รายได้ภาพรวมกลับไม่ได้เติบโตตาม เพราะ ‘ขาดกำลังซื้อ’  

 

“ความน่ากังวลของผลกระทบระลอกนี้คือ สิ่งที่สะสมจากการระบาดในระลอกที่ 1 และ 2 เพราะในแง่ของการฟื้นตัวนั้น ภาพรวมยังคงไม่สามารถชดเชยความสูญเสียเดิมได้ รวมถึงครั้งนี้ วิกฤตจากสถานการณ์ด้านสาธารณสุข ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นมีปัญหา กระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

“ส่วนถามว่าควรจะล็อกดาวน์หรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ทั้งภาคสาธารณสุขไม่ต้องแบกรับภาระที่หนักเกินไป และภาคเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้พร้อมๆ กัน จึงนับเป็นความท้าทายที่รัฐต้องประเมินให้ดี 

 

“จริงๆ แล้วเราคุ้นเคยกับการล็อกดาวน์มาแล้ว ซึ่งคนทำงานหรือข้าราชการคงไม่ได้เดือดร้อนมาก แต่คนรากหญ้า SMEs ที่มีผลกระทบจากการล็อกดาวน์จนไม่มีรายได้ที่จะพออยู่ได้ จึงน่าเป็นห่วงมาก ดังนั้น ‘หากรัฐจะล็อกดาวน์จริง ก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือคนเหล่านั้น เพื่อชดเชยกับคำสั่งที่ภาครัฐออกมาด้วย’”

 

สำหรับมุมองที่สมชัยในฐานะผู้บริหาร AIS อยากนำเสนอต่อภาครัฐ คือ การที่รัฐจะต้อง ‘เตรียมความพร้อมในเรื่องวัคซีน’ เพราะวัคซีนคือคำตอบสุดท้ายในการเปิดประเทศ และการขับเคลื่อนธุรกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อีก โดยไม่เกิดการระบาดในระลอกที่ 4-5 ตามมา 

 

“เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากรทั้งหมดตามเกณฑ์ของ WHO ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเตรียมการให้พร้อมเรื่องมาตรการเยียวยา ซึ่งจะต้องไม่ใช่แค่การหว่านแจกเงิน แต่ควรเป็นมาตรการที่ยั่งยืน ด้วยการพิจารณาว่าจะช่วยเหลือกิจการขนาดเล็กอย่างไรให้ฟื้นตัว

 

“ในฐานะภาคเอกชน AIS ยืนยันเจตนารมณ์และความตั้งใจที่จะร่วมสนับสนุนภาครัฐมาโดยตลอด เราจึงพร้อมปวารณาตัวเป็น ‘ปลาใหญ่ที่ช่วยปลาเล็ก’ โดยที่องค์กรใหญ่ๆ ต้องผ่อนคลายกฎกติกาในการแข่งขัน เพื่อให้องค์กรเล็กๆ สามารถเติบโตได้ เราพยายามจะนำเสนอแพ็กเกจต่างๆ เพื่อช่วยเหลือองค์กรขนาดเล็ก โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มี ออกแบบและนำเสนอแพ็กเกจ โซลูชันใหม่ๆ อุ้มชูผู้ประกอบการรายเล็กๆ ให้ยืนหยัดขึ้นมาได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งทุกคนก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดด้วย 

 

“บทเรียนจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ หากเรานำมาใช้เพื่อ ‘เตรียมพร้อม ต่อสู้ ปรับตัว’ ตามบริบทของแต่ละอุตสาหกรรม หรือรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน จะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนแน่นอน”

 

สำหรับแนวทางการดูแลพนักงานของ AIS นั้น บริษัทได้เตรียมพร้อมงบประมาณกว่า 50 ล้านบาท ในการเตรียมบริหารจัดการวัคซีนให้กับพนักงานกว่า 13,000 คน เพื่อแบ่งเบาภาระจากรัฐบาล ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากนโยบายรัฐ (การจัดวัคซีนนี้ก็จะเป็นไปตามความสมัครใจของพนักงานด้วย)

 

 

เกียรตินาคินภัทร แนะรัฐบาลทำงานอย่างเป็น ‘ระบบ’ ลดขั้นตอนราชการที่ยุ่งยาก เร่งจัดหาวัคซีนเพื่อประชาชน

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) สะท้อนมุมมองความเห็นว่า สถานการณ์​การระบาดในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมความรุนแรงของการระบาดให้อยู่ใน ‘ศักยภาพการรองรับของระบบสาธารณสุขของประเทศ’ ได้หรือไม่ 

 

ซึ่งนอกจากการทำ Social Distancing ในรูปแบบกึ่งๆ ล็อกดาวน์ ณ ขณะนี้ ปัจจัยสำคัญยังขึ้นอยู่กับ ‘การจัดหาและฉีดวัคซีนได้รวดเร็วหรือไม่’ ด้วย เพราะหากลดการติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ควบคู่ไปพร้อมๆ กับการฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว ผลกระทบจะน้อยกว่าครั้งแรกมาก

 

“ครั้งนี้การติดเชื้อรุนแรงรวดเร็วกว่า แต่อย่างน้อยก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนและผู้ประกอบการบางกลุ่มก็ ‘บอบช้ำเปราะบาง’ กว่าปีที่แล้วมาก คงทนได้ไม่นานเท่าครั้งที่แล้ว 

 

“ในมุมมองของผม เชื่อว่าคงจะล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จและยาว (Total Lockdown) เช่นปีที่แล้วไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจและผู้ประกอบการบอบช้ำมาก รัฐไม่มีงบมาสนับสนุนเพียงพอ ระบบการเงินการธนาคารซึ่งก็เป็นผู้ประกอบการหนึ่งในระบบเศรษฐกิจก็มีกำลังจำกัด ดังนั้น คงต้องประคอง เปิดๆ ปิดๆ ผ่อนคลายบ้างเมื่อควบคุมได้”

 

อย่างไรก็ดี เขาได้ตำหนิภาพ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ในสังคมไทย และการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าควรจะต้องได้รับการแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้น ปัญหาการระบาดซ้ำหลายระลอกก็จะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีที่สิ้นสุด

 

“ประชาชนและคนที่สร้างปัญหามาหลายครั้งคือ ‘คนที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ทหาร ตำรวจ’ คนเหล่านี้ต้องไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษที่จะไม่ตั้งการ์ด ทำตามอำเภอใจ ใช้อำนาจในทางที่ไม่ควร จนก่อปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยสรุปก็คือ รัฐควรประคองสถานการณ์​ร่วมไปกับการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง

 

“นอกจากนี้ รัฐยังควรทำงานอย่างเป็นระบบ ใช้มืออาชีพในการจัดการ ไม่ควรเอาผู้มีอำนาจแต่ขาดความสามารถและวิจารณญาณมาสั่งการ ลดละเลิกการทุจริตและการเล่นการเมืองในเรื่องที่กระทบชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชน และควรพิจารณาลดทอนหรือลัดขั้นตอนราชการที่ไม่จำเป็น เพื่อความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดำเนินการ”

 

สำหรับเกียรตินาคินภัทร ยังมีมาตรการให้พนักงานร่วมมือกับนโยบายรัฐอย่างเต็มที่ ผ่านการสนับสนุนด้านการจัดการและค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานที่ติดเชื้อ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านวัคซีนให้แก่พนักงาน

 

 

สมโภชน์ EA ย้ำ ‘วัคซีนที่น่าเชื่อถือ’ คือคำตอบรักษาประเทศหายป่วยโควิด-19 ชง ‘หมอชนะ’ ช่วยแจ้งเตือนคนเสี่ยง

สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA แสดงทรรศนะและมุมมองที่เขามีต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้กับ THE STANDARD WEALTH ว่า เป็นกรณีการระบาดที่ ‘ทำลายความเชื่อมั่น’ หลายฝ่ายพอสมควร อีกทั้งยังสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจให้กับกลุ่มคนรากหญ้าค่อนข้างมาก 

 

ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีการเยียวยา ด้วยเงินช่วยเหลือต่างๆ จากทางภาครัฐ ที่อัดฉีดเพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจ แต่ด้วยระยะเวลาของวิกฤตที่ยาวนานและลากยาวเกิดขึ้นมาหลายระลอก จึงส่งผลกระทบต่อปัญหาการจ้างงาน การขาดหายของช่องทางรายได้ ที่สำคัญ ‘ความล่าช้า’ ในการจัดหาวัคซีนในวันนี้ของไทยที่ทำได้ไม่สู้ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าในบทสรุป

 

“การบริหารจัดการวัคซีนในวันนี้ใช้เวลาค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนช้ากว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเศรษฐกิจเราอาจจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นไปด้วย

 

“การแก้ปัญหาของเรื่องนี้ ส่วนตัวผมมองว่าควรเร่งให้คนไทยทุกคนได้ฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เพราะมีหลายประเทศที่ทำให้เห็นแล้วว่าการฉีดวัคซีนทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิมที่สุด 

 

“ดังนั้นในมุมมองของผมจึงเชื่อว่า ‘วัคซีนคือคำตอบ’ และช่วยแก้ให้สถานการณ์กลับมาได้ดีขึ้น หากประชาชนทุกคนมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น ก็จะเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน จับจ่ายใช้สอย ทำมาหากิน และเมื่อสถานการณ์ปลอดภัยในระดับหนึ่ง เราก็สามารถเปิดประเทศในระยะเวลาที่เร็วขึ้นได้

 

“ส่วนเรื่องของการล็อกดาวน์ ผมมองว่าอาจจะ ‘ช่วยชะลอการติดเชื้อ แต่ไม่ใช่การแก้ที่ต้นตอ’ เป็นการช่วยแก้ไขสถานการณ์ในระยะสั้น แต่ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้นในระยะยาวได้ สุดท้ายแล้วก็คือการต้องให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนที่เชื่อถือได้โดยเร็วที่สุดอยู่ดี”

 

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สมโภชน์เสนอว่ารัฐบาลควรจะต้องดำเนินการกำหนด ‘แผนระยะยาว’ และเน้นเรื่อง Self Dependent เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีศักยภาพ จึงน่าจะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ให้สามารถมีการผลิตวัคซีนใช้ในประเทศได้ 

 

นอกจากนี้เขายังได้เสนอให้นำแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ เข้ามาใช้งานเพื่อแยก คัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงจะป่วยโควิด-19 ออกจากคนทั่วๆ ไปในระหว่างที่ประเทศกำลังสร้าง Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ เนื่องจากการไล่ตรวจสอบไทม์ไลน์ 14 วันอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่แน่นอน ตกหล่นในแง่ของข้อมูลและกรอบเวลาได้

 

 

RS มอง ‘ล็อกดาวน์’ เป็นเพียงการแก้ปัญหาเสี้ยวเดียว สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) (RS) บอกกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ รุนแรงและหนักในทุกๆ ด้าน ทั้งในทางลึก กว้าง และลุกลามอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเป็นปัญหาในหลายมิติ ‘มากกว่าแค่เรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจ’ ซึ่งหนึ่งในทางออกของปัญหาที่ทุกฝ่ายน่าจะพอทำได้คือ การต้องผนึกกำลังร่วมกัน

 

“ล็อกดาวน์หรือไม่ล็อกดาวน์ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะล็อกดาวน์เป็นเพียงการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโรคเท่านั้น แต่เราทุกคนควรมองไปไกลกว่านั้น และช่วยกันแก้ทุกเรื่องไปพร้อมๆ กัน ทั้งเรื่องการป้องกันโรค การชะลอการระบาด การรักษา และเรื่องเศรษฐกิจ

 

“ผมอยากให้ทุกภาคส่วนช่วยเหลือกัน ประเมินสถานการณ์และผลกระทบในทุกด้านก่อน แล้วพัฒนาออกมาเป็นแผนงานที่ชัดเจน เพื่อให้นำไปปฏิบัติได้จริงและรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อาร์เอส กรุ๊ป ยินดีเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและช่วยเหลือภาคสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์ทางการแพทย์ งบประมาณ และกำลังคน”

 

สำหรับ อาร์เอส กรุ๊ป พวกเขาได้ออกสวัสดิการให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยได้ยื่นความจำนงกับหอหารค้าไทยไว้แล้ว ซึ่งหากวัคซีนมีเข้ามาในไทยเมื่อไร บริษัทก็พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อให้พนักงานของเราได้ฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด

 

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศมาตรการ 9 ข้อ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของพนักงานและผู้บริโภคทุกคน ประกอบด้วย คัดกรองความเสี่ยงของพนักงาน

 

1. ให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พัก (Work from Home)

2. ให้หัวหน้างานติดตามความเสี่ยงของพนักงานอย่างสม่ำเสมอ 

3. จัดทำศูนย์ข้อมูลโควิด-19 สำหรับพนักงาน

4. กำหนดระยะห่างในการปฏิบัติงาน (Social Distancing) 

5. จัดทำสวัสดิการสำหรับพนักงานที่จำเป็นต้องค้างคืน 

6. เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดโดยรอบสำนักงาน 

7. เสริมความพร้อมด้านเทคโนโลยี

8. มาตรการดูแลสำหรับเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าของ RS Mall

 

 

Google ประเทศไทย เผย ‘การให้ข้อมูลที่ชัดเจน’ และ ‘เชื่อถือได้’ คือสิ่งที่คนต้องการที่สุด ณ เวลานี้

แจ็คกี้ หวาง Country Director Google ประเทศไทย (GOOGL) กล่าวถึงภาพรวมการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า ยังคงเป็น ‘เรื่องยาก’ ที่จะคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่คนส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘วัคซีน’ ให้ดีมากขึ้น

 

“ในมุมมองของเรา มองว่าการช่วยให้คนไทยได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือและถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 และวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญมาก (google.com/covid19)

 

“ซึ่งในช่วงวิกฤตที่สิ่งต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสถานการณ์โควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น ‘การให้ข้อมูลที่ชัดเจน’ และเชื่อถือได้ จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และนี่คือสิ่งที่ดิฉันคิดว่า Google สามารถช่วยได้ นอกจากนี้ก็ยังต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) หรือการใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อติดต่อและเข้าถึงลูกค้า หรือจัดการประชุม”

 

สำหรับบริษัท Google ประเทศไทย ได้ยึดหลักปฏิบัติตาม Google บริษัทแม่ในสหรัฐฯ ในการให้ความสำคัญกับสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ครอบคลุมใน 6 ข้อหลักๆ ประกอบด้วย

 

1. ใช้แนวทางการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Approach) 

2. จัดตั้งทีมหน่วยงานภายใน เพื่อประสานงานและบริหารจัดการการตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ทำงานทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

3. จัดทำเว็บไซต์ภายในเกี่ยวกับโควิด-19 และศูนย์ข้อมูลเพื่อช่วยพนักงานค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับการปิดสำนักงาน คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานระยะไกล แหล่งข้อมูลด้านสุขภาพจิต และอื่นๆ 

4. อนุญาตให้พนักงานที่เป็นผู้ปกครองลางานได้ในกรณีพิเศษเป็น 14 สัปดาห์ (98 วัน)

5. สนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการทำงานที่บ้าน โดยได้มอบเงินสนับสนุนพนักงานที่ต้องทำงานจากบ้าน เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการทำงานที่บ้าน 

6. จัดให้มีวันหยุดอย่างเป็นทางการทั่วโลก 2 วัน สำหรับชาว Googlers ในการดูแลตัวเอง

 

รวมไปถึงยังมีแพลนที่จะจัดให้มีการตรวจโควิด-19 และมีการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานของของบริษัททั้งหมดในประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกับในประเทศไทย 

 

 

LINE ประเทศไทย เชื่อการกระจายวัคซีน ‘อย่างทั่วถึง’ จะเป็น ‘Game Changer’ โควิด-19 ระลอกนี้

ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE ประเทศไทย ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาอของโควิด-19 ในรอบนี้ มีระดับของการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างเร็วและในปริมาณที่มากกว่าการระบาดสองระลอกแรก เช่นเดียวกับผลกระทบภาพรวมที่รุนแรงกว่า

 

“การล็อกดาวน์หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผมเชื่อว่าประชาชนได้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้นตามลำดับ

 

“โดยสำคัญที่สุดคือ วัคซีนจะเป็น ‘Game Changer’ ของการระบาดครั้งนี้ การกระจายวัคซีนให้ได้ทั่วถึงจะเป็นสิ่งที่ท้าทายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นเรื่องที่สำคัญในการทำให้การกระจายวัคซีนประสบความสำเร็จ” พิเชษฐกล่าว

 

ส่วนการดูแลพนักงานในองค์กร LINE ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการ Work from Home ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ปรับระบบงานเป็นออนไลน์​แบบ 100% โดยเปิดให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านพร้อมอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ที่ยืมไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งยังได้ปรับสวัสดิการต่างๆ ให้รองรับชีวิตพนักงานในช่วงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประกันที่รองรับการรักษาโรคโควิด-19 ขณะที่ประเด็นสวัสดิการ ‘วัคซีน’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ LINE อยู่ในระหว่างการวางแผนที่จะมอบให้กับพนักงานทุกคน

 

 

กสิกรประเมิน โควิด-19 รอบ 3 ทำ GDP ปี 2564 วูบเหลือ 1.8% ประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือทุกภาคส่วน

กฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินภาพรวมสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ‘ความกังวล’ หลักๆ แล้วจะมาจากประเด็น ‘ความเพียงพอ’ ด้านทรัพยากรสาธารณสุขเฉพาะหน้า รวมถึงความเพียงพอของวัคซีน ซึ่งภาคเอกชนรวมถึงธนาคารยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ 

 

โดยที่ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการ GDP สำหรับปีนี้ลงจากเดิมที่ 2.6% มาที่ 1.8% จากการชะลอตัวของกิจกรรมการบริโภคในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังการเปิดประเทศน่าจะดำเนินการได้ล่าช้ากว่าเดิม แม้ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญก็ตาม

 

ขณะที่ภาครัฐคงทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ภายใต้ทรัพยากรทางคลังที่มีเหลืออยู่อีกประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งคงช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 รอบนี้ไปในระดับหนึ่ง

 

“ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจ และยังได้ดูแลประเด็นคุณภาพหนี้ และประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตด้านสินเชื่อปล่อยใหม่อย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ระลอกใหม่ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายทางการเงินของธนาคาร

 

“อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้และเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ใน 3 ด้าน ได้แก่ การพักชำระเงินต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย หรือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย, การลดยอดผ่อนต่องวด และการขอวงเงินสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง 

 

“เพื่อให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และยังมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง และพร้อมให้ความร่วมมือตามนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในการช่วยพื้นฟูระบบเศรษฐกิจของไทย

 

“ส่วนการดำเนินงาน ธนาคารยังคงดำเนินงานตามหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม มุ่งเน้นการปฏิบัติตามมาตรการ / ข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของลูกค้า พนักงาน และผู้มาติดต่อธนาคารเป็นสำคัญ”

 

ขณะที่การดูแลพนักงานในองค์กร กฤษณ์ยืนยันว่า ธนาคารมีโครงการและจัดเตรียมงบประมาณพร้อมสำหรับรองรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้พนักงานธนาคารและกลุ่มบริษัทของธนาคารทั้งหมดโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาล ให้สามารถนำงบในส่วนนี้ไปกระจายฉีดวัคซีนให้ประชาชนกลุ่มอื่นได้มากยิ่งขึ้น    

 

 

Grab ประเทศไทย พร้อมจัดหาวัคซีนฟรีให้พนักงานของบริษัท และพาร์ตเนอร์คนขับที่เข้าเกณฑ์

อเลฮานโดร โอโซริโอ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย (Grab) ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ได้เริ่มขยายตัวในวงกว้างตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายนที่ผ่านมา จึงอาจไม่สามารถวัดผลกระทบที่ชัดเจนได้ 

 

อย่างไรก็ดี ในเชิงแนวทางการรับมือของบริษัท พวกเขาได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจและกระบวนการทำงานต่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 

 

ตัวอย่างเช่น การ ‘ปรับเวลาการให้บริการ’ ของบริการสั่งอาหาร GrabFood และบริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต-ร้านสะดวกซื้อ GrabMart ตามประกาศของรัฐบาลและกรุงเทพมหานครในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ในทุกจังหวัดที่ Grab ให้บริการ (จนกว่าจะมีประกาศให้ทราบ) 

 

ในด้านการให้ความช่วยเหลือพนักงานของบริษัท นอกเหนือจากสวัสดิการประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพที่มีอยู่แล้ว ยังได้เพิ่ม ‘ประกันโควิด-19’ คุ้มครองเพิ่มเติมให้กับพนักงานประจำทุกคน และจะมุ่ง ‘สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนทั้งหมด’ ให้กับพนักงานของบริษัทที่อาจเข้าไม่ถึงแผนการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของรัฐบาล

 

ส่วนพาร์ตเนอร์คนขับ และผู้จัดส่งอาหารและพัสดุ Grab ยังได้สนับสนุนค่าตรวจโรคโควิด-19 มูลค่า 500 บาท พร้อมมอบเงินชดเชยรายได้ 2,000 บาท ในกรณีที่ตรวจพบว่าติดโควิด-19 และยังได้ร่วมกับเมืองไทยประกันชีวิตให้ความคุ้มครองรายได้กับพาร์ตเนอร์คนขับด้วยการมอบเงินชดเชยรายวัน 500 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 15 วัน ต่อการเข้าพักรักษาตัวในฐานะผู้ป่วยในที่มีสาเหตุจากการติดโรคโควิด-19 

 

โดยที่กองทุน GrabForGood ภายใต้การจัดตั้งของบริษัทแม่ แกร็บ โฮลดิ้งส์ ก็จะดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับพาร์ตเนอร์คนขับที่ผ่านเกณฑ์ และไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจากรัฐบาลในประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาค โดยเตรียมจัดสรรงบประมาณ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

 

(หมายเหตุ: พาร์ตเนอร์คนขับหรือพาร์ตเนอร์ผู้จัดส่งอาหารที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มของ Grab เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ก่อนการดำเนินการจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และเป็นผู้ที่มีความประพฤติดีตามหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณคนขับ จะได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมโปรแกรมการฉีดวัคซีนกับ Grab)

 

 

DTAC เชื่อ ภารกิจสำคัญและความท้าทายร่วมของผู้ให้บริการโทรคมนาคม คือ ‘ลดเหลื่อมล้ำ’ ดิจิทัล

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) บอกว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบนี้ เริ่มเห็นแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะยิ่งส่งผลต่อธุรกิจต่างๆ ในประเทศ โดยดีแทคน่าจะยังได้รับผลกระทบจากการลดการใช้จ่ายของผู้บริโภค เศรษฐกิจที่ซบเซา นักท่องเที่ยวที่หายไป แรงงานต่างด้าวที่ออกจากประเทศไทย ที่เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการได้ลูกค้าใหม่

 

“วิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญยิ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่ต้องช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลให้กับประชาชน เพราะการให้บริการดิจิทัลจะเป็นบริการหลักที่ขับเคลื่อนประเทศ เห็นได้จากการช่วยลดความเสี่ยง การลดการสัมผัส การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจะสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจ และช่วยรักษาระยะห่างทางสังคม ชีวิตกำลังจะเปลี่ยนสู่ดิจิทัลมากขึ้น 

 

“เราต้องมั่นใจว่าทุกๆ สังคมได้มีส่วนก้าวไปด้วยกัน นี่คือความสำคัญที่ดีแทคได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ในการสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย ผู้ค้ารายย่อยจะต้องรู้ว่าเปิดร้านค้าออนไลน์อย่างไร และเกษตรกรต้องรู้จักการนำ IoT มาพัฒนาผลผลิต ต้องเกิดความร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงการเชื่อมต่อได้ในราคาที่เหมาะสม ปลอดภัย และเข้าถึงได้ทุกคน”

 

นอกจากนี้ ดีแทคยังเปิดเผยอีกด้วยว่า พวกเขาได้จัดทีมงานปฏิบัติภารกิจด่วน เพิ่มสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายใน 24 ชั่วโมง ไปยังโรงพยาบาลสนามทั่วไทยและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องในการรักษาและควบคุมโรคระบาดโควิด-19 รวมถึงรองรับการใช้งานของผู้ป่วย

 

ขณะที่การดูแลพนักงานของบริษัท นอกเหนือจากการแจ้งแผนประกันด้านสุขภาพที่มอบให้กับพนักงาน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษสำหรับพนักงานทุกคนแล้ว (ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของวัคซีนแตกต่างกันไป) พนักงานสามารถติดต่อเข้าชื่อรอรับการฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลตามรายนามที่บริษัทประกันประสานไว้ตามแต่ความสมัครใจของพนักงานดีแทค โดยดีแทคจะไม่แทรกแซงหรือลัดคิวกระบวนการการรับวัคซีนในระบบปกติแต่อย่างใด 

 

 

กลุ่มบีเจซีเสนอล็อกดาวน์บางพื้นที่ ลดผลกระทบภาพรวม

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ประเมินว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นชัดเจน และยังกระจายไปทั่วประเทศ 

 

ทั้งนี้ ทางกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ได้เตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไว้หลายระดับ และพร้อมจะใช้มาตรการต่างๆ ในทันที โดยเชื่อว่าประสบการณ์จากการระบาดในรอบที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มบริษัทมีแผนรับมือกับปัญหาได้ 

 

“ในส่วนของห้างค้าปลีกบิ๊กซี เรามีมาตรการอย่างเคร่งครัดและเข้มงวดทุกสาขา ด้วย 40 มาตรการความปลอดภัย เพื่อให้บริการได้อย่างมั่นใจ เช่น การลงทะเบียนก่อนเข้า-ออกในการใช้บริการ โดยจัดให้มีจุดบริการเจลล้างมือทั่วศูนย์การค้าอย่างมีวินัย พร้อมกับการบริการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์” 

 

ส่วนพนักงาน กลุ่มบริษัทได้จัดให้มีการทำงานที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงปรับเวลาเปิด-ปิดศูนย์การค้าตามนโยบายภาครัฐ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับพนักงาน ส่วนในด้านธุรกิจเพื่อให้ดำเนินต่อไปได้ ทางบิ๊กซีมีให้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์บิ๊กซีและแอปพลิเคชันของบิ๊กซี ไลน์ หรือโทรมาสั่ง และมีบริการไดรฟ์-ทรู

 

ส่วนประเด็นเรื่องการล็อกดาวน์นั้น อัศวินเสนอว่าควรล็อกดาวน์ในบางกลุ่มอาชีพและบางส่วนพื้นที่ เพื่อผลกระทบภาพรวมจะเบาลงกว่าปิดทั้งหมด โดยตอนนี้เชื่อว่าประชาชนตื่นตัวและพร้อมปรับตัวเพื่อจะก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดหาการตรวจโควิด-19 ฟรีให้แก่พนักงานในองค์กรที่มีความเสี่ยงและประสงค์จะได้รับการตรวจ รวมถึงทำประกันกลุ่มโควิด-19 ให้กับพนักงานทุกคน ในส่วนการจัดหาวัคซีนให้กับพนักงาน ทางบริษัทมีนโยบายเตรียมวัคซีนให้กับพนักงาน ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่

 

อัศวินกล่าวย้ำว่า เรื่องวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 คือสิ่งสำคัญที่อยากเสนอภาครัฐให้เร่งดำเนินการ ในฐานะภาคเอกชนไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมอยู่เคียงข้างประชาชนทุกสถานการณ์ 

 

 

‘ไมเนอร์’ ประเมิน รอบนี้หนักเพราะมีผู้ติดเชื้อมากกว่าทุกครั้ง

ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รอบนี้ถือว่าถูกโจมตีตรงใจกลางเศรษฐกิจของประเทศเราคือกรุงเทพมหานครและกระจายตัวออกไป แต่เรามีประสบการณ์มาแล้วตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ที่ผ่านมา หากจะให้ประเมินโควิด-19 ในรอบนี้ถือว่าหนักหนา เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากขึ้นกว่าทุกรอบ

 

สำหรับธุรกิจของไมเนอร์ ฟู้ด ภาพรวมถือว่าเรายังบริหารจัดการได้ ถึงแม้ว่ายอดการนั่งทานที่ร้านจะไม่เหมือนเดิม แต่เรามีเดลิเวอรี, เทกอเวย์ และไดรฟ์-ทรู มาเป็นช่องทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั่วประเทศไทย ข่าวดีคือการเจริญเติบโตของไมเนอร์ ฟู้ด ต่างประเทศ ทั้งจีนและออสเตรเลีย แข็งแรงมาก

 

ในส่วนของแผนรับมือ อันที่จริงไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก แต่ต้องเพิ่มเติมมาตรการด้วยความสะอาดและปลอดภัยให้แก่ลูกค้าและพนักงานมากยิ่งขึ้น รวมถึงเราพยายามหาโปรโมชันมาช่วยเหลือลูกค้า และเพื่มยอดขายไปพร้อมๆ กัน ขณะนี้ก็กำลังรีวิวแผนการตลาดทุกๆ แบรนด์ เพื่อตอบรับการเติบโตของเดลิเวอรีและเทกอเวย์

 

“สำหรับไมเนอร์ ฟู้ด ในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหาร เราพร้อมทำตามนโยบายและมาตรการของทางภาครัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อะไรที่สามารถทำให้หยุดการแพร่ระบาดได้เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด เรายินดีให้ความร่วมมือ”

 

ในส่วนของวัคซีนนั้น ตอนนี้บริษัทในเครือไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินตามขั้นตอนของภาครัฐ เพื่อแจ้งความจำนงของจำนวนวัคซีนให้เหมาะสมกับจำนวนพนักงานทั้งหมด โดยไมเนอร์มีพนักงานในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 30,000 คน

 

 

CRG เชื่อ หากคุมได้เร็ว ผลกระทบจะเกิดขึ้นไม่มากนัก

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) กล่าวว่า สภาพแวดล้อมของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังมีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจาการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ที่ยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าที่จะสามารถทำการควบคุมได้ และถึงแม้ว่าจะมีข่าวดีเรื่องวัคซีน แต่การนำมาใช้ในวงกว้างยังคงต้องใช้เวลา

 

“การระบาดในระลอกที่ 3 นี้ อาจสร้างความตื่นตระหนกต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในด้านทราฟฟิกลูกค้าที่เข้าใช้บริการที่หน้าร้าน อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าหากมีการควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ในเวลาที่รวดเร็วเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา รวมถึงประชาชนมีวินัยร่วมกันรับมือและป้องกันตัวเอง คาดว่าผลกระทบที่เกิดก็น่าจะไม่นานมากนัก เนื่องจากประชาชนน่าจะค่อยๆ กลับมาใช้ชีวิตได้ตามเดิม และส่งผลให้ภาคการบริโภคจะกลับมาฟื้นตัวได้ตามลำดับ”

 

สำหรับแผนการรับมือการแพร่ระบาดในครั้งนี้ของ CRG ได้เน้นย้ำและดำเนินการจากแผนเดิมที่ได้วางไว้ เพราะเราคาดหวังว่าจะสามารถควมคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้อย่างรวดเร็ว โดยแผนงานรับมือจะมุ่งเน้นในด้านหลักๆ ประกอบด้วย

 

  • การบริหารจัดการต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาก็สามารถจัดการต้นทุนให้สอดคล้องกับยอดขายได้ดี
  • เร่งการขายที่หน้าร้าน และขยายเพิ่มช่องทางอื่นๆ นอกเหนือจากรับประทานที่ร้าน, เดลิเวอรี, อีคอมเมิร์ซ พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานให้สอดรับพฤติกรรมลูกค้า
  • ปรับพอร์ตร้านค้า เน้นกลยุทธ์การขยายสาขาโมเดลใหม่ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้า (New way to expand) และเน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากและรวดเร็วขึ้น
  • การ Upskill-Reskill เพื่อดึงศักยภาพของพนักงานออกมาใช้ในการทำงานให้มากขึ้น สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น
  • รวมถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อดูแลและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและพนักงาน เช่น มาตรการ 3C ซึ่งเป็นขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติงานของพนักงานหน้าร้าน ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19, จัดตั้งคณะทำงาน เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด เป็นต้น

 

ณัฐกล่าวต่อว่า ในนามกลุ่มบริษัท เซ็นทรัล พร้อมให้การสนับสนุนภาครัฐในเรื่องการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อป็นการกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเดินได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดหาพื้นที่ในการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทั่วถึง โดยรับผิดชอบส่วนของการสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ซึ่งได้มีการประสานงานกับกรุงเทพมหานครในการเตรียมการและสำรวจพื้นที่ เพื่อเตรียมที่จะนำเสนอสถานที่ของภาคเอกชนทั้ง 10 แห่งในกรุงเทพมหานคร จากจำนวนทั้งหมดที่เสนอไป 49 แห่ง เพื่อให้ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร พิจารณาอนุมัติต่อไป

 

 

SF ย้ำ ความชัดเจนของมาตรการสำคัญกว่าการล็อกดาวน์

พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงกว่าที่ผ่านมา อย่างที่เราเห็นกันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดเร็วกว่าที่เราเผชิญมา เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ เรายอมรับว่าเราได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะการจะควบคุมเชื้อได้ การขอให้คนลดกิจกรรมทางสังคม ถือเป็นสิ่งแรกๆ ที่ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ SF เราต้องปิดให้บริการชั่วคราวในหลายๆ สาขา โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เมื่อมีคนดูน้อยลง และบางสาขาต้องปิด ค่ายหนังก็จะพิจารณาเลื่อนหนังที่จะฉายออกไป ส่งผลกระทบไปยังสาขาที่ยังเปิดให้บริการได้ปกติไม่มีหนังฉายไปด้วย

 

ที่ผ่านมา SF ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกครั้งที่มีการระบาดระลอกใหม่ และเน้นย้ำมาตรการดูแลพนักงานและลูกค้าอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันก็เตรียมพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐทันทีที่ได้รับการประสานงาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ลูกค้าของเรายังพร้อมที่จะกลับมาดูหนังที่ SF กันเหมือนเดิม ซึ่งจากสถานการณ์ที่ผ่านๆ มา เราได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นอย่างนั้นจริง เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าแทบจะกลับมาปกติของโรงภาพยนตร์แล้ว แต่การแพร่ระบาดก็กลับมาอีกครั้ง

 

โดยนับตั้งแต่มีวิกฤตโควิด-19 SF ได้เตรียมความพร้อมในการดูแลพนักงานและลูกค้าทุกคนอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะมาตรการดูแลด้วยใจ ที่ให้ความสำคัญกับความสะอาด ปลอดภัย การลดการสัมผัส และเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม

 

นอกจากนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมายังทำให้เรามีการวางแผนรับมือสถานการณ์ในหลายระดับ รวมถึงต้องเตรียมแผนสำรองที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ถ้าเทียบกับที่เราต้องเจอกับวิกฤตในครั้งแรก ตอนนั้นที่เราต้องปิดโรงหนังพร้อมกันทั่วประเทศโดยไม่มีกำหนด เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะเขียนประกาศอย่างไร เราจะแก้ปัญหาอย่างไรให้ดี ดังนั้นการระบาดในรอบนี้ เราจึงค่อนข้างพร้อมและตัดสินใจแก้ปัญหาได้เร็วมากขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าเราได้รับผลกระทบน้อยลง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจและคนมากมาย เราเองได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่เราพยายามทำอย่างดีที่สุด เพื่อประคับประคองให้เราผ่านวิกฤตไปให้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้

 

“การล็อกดาวน์เป็นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างเร็ว แต่เป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่ คิดว่าหน่วยงานสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจคงได้พิจารณาร่วมกันแล้ว ที่สำคัญมากกว่าคือความชัดเจนในการออกมาตรการต่างๆ รวมถึงรายละเอียดในทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจ และป้องกันความสับสนจากข่าวสารต่างๆ”

 

พิมสิริกล่าวต่อว่า เมื่อภาครัฐมีคำสั่งใดๆ ออกมาแล้วนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แต่ควรจะมีมาตรการที่ช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน สำหรับโรงหนังในประเทศไทย คิดว่าการล็อกดาวน์ทั้งหมดหรือล็อกดาวน์บางส่วนแทบไม่แตกต่างกัน เพราะเมื่อเกิดผลกระทบในบางพื้นที่ ก็ทำให้ภาพรวมของธุรกิจกระทบทั้งหมด และค่ายหนังต่างๆ ก็จะเลื่อนฉายออกไป ถึงจะเป็นสาขาที่ยังเปิดบริการได้ แต่เมื่อไม่มีหนังฉาย ไม่มีทางเลือก คนก็จะดูหนังน้อยลงเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน โรงหนังยังคงมี Fixed Cost แม้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าทำความสะอาด เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าคนทำธุรกิจประสบปัญหาเดียวกัน และทุกคนต่างพยายามทำให้ดีที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของวัคซีน SF อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเรื่องนี้ โดยได้ติดตามข่าวในส่วนนี้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้ดูแลพนักงานทุกคนอย่างดีที่สุด เนื่องจากธุรกิจโรงหนังเป็นธุรกิจให้บริการ เราจึงต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าและพนักงานทุกคน

 

“สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ทันทีในตอนนี้คือ การปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ชั่วคราวตามประกาศของแต่ละจังหวัด และให้พนักงานที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน Work from Home ซึ่งจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้” พิมสิริกล่าว

 

 

‘กอบศักดิ์’ ชี้ ไทยไม่มีวัคซีน เสี่ยงเกิดระลอกใหม่ซ้ำๆ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การดูแลควบคุมโควิด-19 จะมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อมีการระบาด ประชาชนจะปรับตัว เช่น การไม่ออกจากบ้าน ฯลฯ เห็นได้จากผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและชีวิตของคนไทย

 

ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจะฟื้นได้ ไทยต้องควบคุมโควิด-19 ให้ได้ โดยต้องบริหารจัดการให้อยู่ในภาวะที่คนรับได้ เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่ได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจได้มากนัก หากยังมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น 

 

“ก่อนมีระลอกที่ 2 เศรษฐกิจไทยดูมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเราต้องกลับไปจุดนั้นให้ได้ ผ่านการจัดการโควิด-19 ในประเทศ และต้องใช้มาตรการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นผ่านการคุมโควิด-19 ที่เหมาะสม ส่วนการล็อกดาวน์หรือไม่ รัฐบาลต้องตัดสินใจ โดยหัวใจหลักคือการคำนึงถึงระบบสาธารณสุขที่มีจำกัด และวัคซีน”

 

การระบาดระลอก 3 มีแพร่กระจายง่ายขึ้น และเกิดขึ้นทั่วเมือง โดยมีกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุกว่า 11 ล้านคน ต่างจากรอบ 2 ที่เกิดขึ้นในแรงงานข้ามชาติ หรือคนบางกลุ่ม ดังนั้น เมื่อครั้งนี้ความเสี่ยงสูงขึ้น อาจต้องมีมาตรการที่เข้มงวดกว่าครั้งสมุทรสาคร

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ วัคซีนต้องมี เพราะในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เมื่อไทยไม่มีวัคซีน แม้จะพยายามยกการ์ดให้สูง แต่หากพลาดไปส่วนหนึ่งอาจเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ หรือการระบาดทางพรมแดนต่างๆ เพราะฉะนั้นการไม่มีวัคซีนย่อมทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดระลอกใหม่ได้  

 

 

สาระ ล่ำซำ รับผลโควิด-19 รอบ 3 คาดเบี้ยฯ เดือนเมษายนลดลง เร่งวัคซีนทั่วถึงทั่วไทย

สาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย และกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทางสมาคมฯ มีมาตรการร่วมกับคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อรับมือกับโควิดระลอก 1-3 อย่างต่อเนื่อง เช่น 

 

  • การขยายขอบเขตความคุ้มครองการรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel  
  • การยืนยันกว่าประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองกรณีการรักษาโควิด-19 (ไม่รวมกรณีโรคร้ายแรงที่มีการระบุโรคเฉพาะทางในกรมธรรม์อย่างชัดเจนแล้ว)
  • การพูดคุยร่วมกันเรื่องกฎเกณฑ์ในการลงทุนท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และ Yield Curve ที่ต่ำลงต่อเนื่อง (อยู่ระหว่างการพูดคุย)

 

ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 เบี้ยประกันชีวิตปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระลอก 3 คาดว่ายอดเบี้ยประกันชีวิตอาจปรับตัวลดลงในช่วงเดือนเมษายน 2564 จากโควิด-19 และปกติเป็นเดือนที่มีวันทำงานน้อยอยู่แล้ว แต่เบี้ยประกันภัยยังลดลงจากแบบประกันสะสมทรัพย์ที่น้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งให้เร็วที่สุด ทางบริษัทจะติดตามและจัดทำข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจให้พนักงานเพื่อเข้าถึงวัคซีนของภาครัฐ​ เช่นการเปิดลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้


ในส่วนการรับมือของ MTL ขณะนี้เปิดให้ทำงานในออฟฟิศไม่เกิน 20% ในเฉพาะตำแหน่งที่อาจต้องเข้า เพื่อลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ส่วนด้านการบริการลูกค้า มองเรื่องการขยายช่องทางดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีการส่ง E-Application 40% จากคำขอทั้งหมด

 

“การล็อกดาวน์ต้องดูให้ชัด เพราะต้องยอมรับว่าการล็อกดาวน์ลดการติดเชื้อได้ แต่มีผลกระทบต่อคนที่ต้องทำมาหากิน ดังนั้นต้องสร้างสมดุลทั้ง 2 เรื่องนี้ แต่วันนี้ตัวเลขกระโดดขึ้นเยอะมาก ยิ่งคงต้องดูให้เหมาะสมเพราะชีวิตคนสำคัญที่สุด ดังนั้นวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญและต้องรีบเร่งที่สุด”

 

 

หมอบุญชี้ โควิด-19 รอบ 3 ไม่เหมือนเดิม ย้ำไทยต้องฉีดวัคซีนเร่งด่วนลดการกลายพันธุ์

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 นี้กระจายเร็วกว่าเดิมถึง 1 เท่า และพบว่ามีผู้ป่วยแสดงอาการและอาการรุนแรงสูงขึ้น ดังนั้นมองว่า จุดสำคัญของไทยคือต้องหาวัคซีนให้เพียงพอต่อประชาชน เพื่อให้เกิด Herd Immunity หรือภูมิคุ้มกันหมู่ 

 

ทั้งนี้ หากไทยต้องฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องใช้วัคซีนอย่างน้อย 110 ล้านโดส (คนไทย 100 ล้านโดส และแรงงานต่างชาติ 10 ล้านโดส) ซึ่งจากการประกาศทางการในปัจจุบัน หากหาได้จริง 65 ล้านโดส และจะฉีดภายในสิ้นปีนี้ ต้องมีการฉีดวัคซีนวันละ 3 แสนราย (จากปัจจุบันอยู่ที่ 28,000 คนต่อวัน)

 

โดยเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว ดังนั้นวัคซีนจึงเป็นส่วนสำคัฐที่จะช่วยธุรกิจโรงแรมและภาพรวมให้ไปต่อได้ เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยว จึงเร่งระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เช่น มัลดีฟส์ กรีซ อังกฤษ ฯลฯ

 

“เราควรเซมิล็อกดาวน์ในช่วงปีใหม่ ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ก็กักตัว 14 วันให้เชื้อตายและหายไป แต่เมื่อเชื้อมีการกระจายไปต่างจังหวัด ทำให้เชื้อกระจายมากขึ้น ซึ่งของไทยยังสามารถตรวจหาเชื้อได้ช้ากว่าประเทศอื่น เพราะเป็นการตรวจหาเท่าที่จำเป็น”

 

อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้มองว่าหากต้องล็อกดาวน์ควรต้องล็อกดาวน์เฉพาะจุดสีแดงเข้ม แต่ไม่ควรล็อกดาวน์ทั่วประเทศเหมือนปี 2563 ที่ผ่านมา เพื่อลดการแพร่ระบาด เหมือนที่ญี่ปุ่นมีการล็อกดาวน์รอบ 3 ส่วนหนึ่งเพราะเชื้อรอบนี้กลายพันธุ์ค่อนข้างเร็ว หากยิ่งปล่อยไว้อาจทำให้การควบคุมสถานการณ์ยากขึ้น ในต้นทุนที่สูงขึ้น (เช่น การรักษาเคส ICU หลักล้านบาท และการมีห้องฉุกเฉินที่จำกัด)

 

 

ZEN เปิดตัวกองทุนช่วยพนักงานติดโควิด-19

บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป หรือ ZEN กล่าวว่า ผลกระทบเชิงธุรกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ ค่อนข้างใกล้เคียงกับระลอก 2 แม้ตัวเลขจะพุ่งสูงมากและทำนิวไฮ แต่เชื่อว่าความตื่นตระหนกจะอยู่ไม่นาน และท้ายที่สุดเชื่อว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ประชาชนเริ่มคลายความกังวล

 

“ยังเชื่อว่ามันไม่จบที่ Wave 3 อาจจะมี Wave 4 และ Wave 5 แม้จะมีคนบางส่วนที่ได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม โดยดูจากต่างประเทศที่แม้จะมีการฉีดวัคซีน แต่ก็ยังมีแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะเชื้อโรคเองก็มีการกลายพันธุ์ รวมทั้งประสิทธิภาพวัคซีนก็ไม่ใช่ 100%”

 

ในส่วนของมาตรการป้องกัน ประเมินว่ามาตรการควบคุมเฉพาะพื้นที่เสี่ยงสูง การแบ่งโซนพื้นที่เสี่ยงมาก-น้อยเป็นมาตรการที่กำลังดี แต่ก็ควรทำควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อลดปัญหาด้านการสาธารณสุขที่เข้าถึงได้ยากด้วย และเพื่อสร้างความมั่นใจด้วย

 

สำหรับพนักงานในเครือ ZEN เอง ก่อนหน้านี้ได้มอบนโยบายที่มุ่งเน้นเรื่องการป้องกันตัวเองและการมีวินัยต่อสังคมมาตลอดตั้งแต่ Wave 1 ซึ่งก็ทำได้ดี

นอกจากนี้ ในเดือนหน้าจะเปิดตัวกองทุนช่วยเหลือสำหรับพนักงานที่ติดโควิด-19 อย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นภายในองค์กร

 

 

‘เอสที เทเลมีเดีย’ มอง ล็อกดาวน์ไม่ใช่ทางแก้ที่ตรงจุด

ศุภรัฒศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ สะท้อนว่าทุกประเทศทั่วโลกยังต้องอยู่กับปัญหาโควิด-19 ไปอย่างน้อยอีก 1-2 ปี และบ่งชี้ว่าถึงเวลาที่ภาคเอกชนต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังคงพึ่งพาภาคธุรกิจด้านบริการและท่องเที่ยวเป็นส่วนมาก ทำให้ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาษี และการลงทุน เพื่อเน้นการเสริมสร้าง Entrepreneurship โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น Platform as a Service

 

สำหรับมาตรการบริหารจัดการของภาครัฐนั้น มองว่าการล็อกดาวน์ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรแก้ปัญหาที่พฤติกรรมของคน สำหรับธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ควรใช้วิธีจัดโซนนิ่งและเคอร์ฟิว เพื่อกำหนดเวลาเปิด-ปิดสำหรับการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องเร่งจัดซื้อวัคซีนให้เพียงพอกับประชากร ซึ่งจะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น และทำให้เศรษฐกิจจะกลับมาดีขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล, พรนภัส ชำนาญค้า

 


ไม่พลาดข่าวไฮไลต์ประจำวัน มาเป็นเพื่อนกับ THE STANDARD WEALTH ในไลน์ คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising