×

Beyond Meat ทางเลือกใหม่ของเนื้อสัตว์เพื่อการกิน ‘กู้โลก’

15.02.2020
  • LOADING...
Beyond Meat

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายป่า เพื่อนำที่ดินมาใช้กับปศุสัตว์ เมื่อวัวเรอหรือผายลม ก๊าซมีเทนก็ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อนับรวมๆ แล้วอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายโลกไปมากพอๆ กับการใช้รถ การขนส่ง หรือการบิน
  • อีธาน บราวน์ (Ethan Brown) อดีตวิศวกรด้านพลังงานทางเลือกเห็นโอกาสในปัญหาอันยุ่งเหยิงจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นี้ เขาได้ก่อตั้งบริษัท Beyond Meat ขึ้นเมื่อปี 2009 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อค้นคว้าและจำหน่ายเนื้อสัตว์แบบใหม่ที่ทำจากโปรตีนพืช (Plant-Based Meat) 100% 
  • Beyond Meat อาจเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของเทรนด์สินค้ากู้โลก ที่เราจะได้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะอย่างที่เห็นกันว่าอาการเจ็บป่วยของโลกใบนี้กำลังเข้าสู่ระดับโคม่า และคงไม่ใช่แค่คนสายกรีน สายฮิปปี้ หรือสายอนุรักษ์เท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ 

เมื่อแหวกกระเป๋าคนรอบตัวของผู้เขียน ในรอบปีที่ผ่านมา หลายคนหอบแก้วส่วนตัว หลอดโลหะ กล่องข้าวพกพา และถุงผ้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้นหลายเท่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมทำให้เรื่อง ‘กรีน’ เรื่องที่เคยเป็นทางเลือกกลายมาเป็นทางหลัก เพราะเราคงปฏิเสธได้ยากแล้วว่าโลกเรายังสบายดีอยู่

 

แต่พฤติกรรมรักษ์โลกแบบไหน ที่ช่วยโลกได้มากที่สุด?

 

บทความจาก The Guardian กล่าวว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ให้น้อยลง คือ วิธีที่ดีที่สุด (วิธีหนึ่ง) ที่เราจะช่วยโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ยังลดมลพิษทางน้ำและดิน 

 

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายป่า เพื่อนำที่ดินมาใช้กับปศุสัตว์ เมื่อวัวเรอหรือผายลม ก๊าซมีเทนก็ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อนับรวมๆ แล้วอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำลายโลกไปมากพอๆ กับการใช้รถ การขนส่ง หรือการบิน

 

ในขณะที่ประชากรโลกกำลังเพิ่มขึ้นอีก 2.8 พันล้านคน ภายในปี 2050 (เพิ่มเกือบ 40% ของจำนวนประชากรปัจจุบัน) ความต้องการอาหารและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตเนื้อสัตว์ก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณ

 

หากเราเทียบทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตเนื้อวัวและมะเขือเทศที่ 1 กิโลกรัมเท่ากัน เนื้อวัวใช้ที่ดินมากกว่าเกือบ 18 เท่า และใช้น้ำและพลังงานมากกว่านับ 10 เท่า นอกจากนี้เนื้อสัตว์ที่ได้จากกระบวนการเลี้ยงและผลิตแบบอุตสาหกรรม ล้วนถูกตั้งคำถามถึงการใช้ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ และกระบวนการ GMO ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ

 

Beyond Meat

 

อีธาน บราวน์ (Ethan Brown) อดีตวิศวกรด้านพลังงานทางเลือกเห็นโอกาสในปัญหาอันยุ่งเหยิงจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นี้ เขาได้ก่อตั้งบริษัท Beyond Meat ขึ้นเมื่อปี 2009 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เพื่อค้นคว้าและจำหน่ายเนื้อสัตว์แบบใหม่ที่ทำจากโปรตีนพืช (Plant-Based Meat) 100% 

 

เนื้อสัตว์พวกนี้ไม่เหมือนโปรตีนเกษตรที่เราคุ้นเคยในช่วงเทศกาลกินเจ แต่เป็นเนื้อสัตว์ ‘เสมือน’ ที่มีสี สัมผัส และที่สำคัญ คือ รสชาติที่เหมือนเนื้อวัว หมู หรือไก่โดยสมบูรณ์ อย่างสเต๊กของ Beyond Meat นอกจากจะมีรสชาติ และสีจะแดงเข้มเหมือนเนื้อวัวแล้ว คนกินจะได้ความชุ่มลิ้น (Juicy) จากเลือด (จากพืช) นิดๆ เหมือนเนื้อย่างแบบมีเดียมแรร์ด้วย

 

Beyond Meat ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนพืชและสารธรรมชาติมาแทนที่ส่วนประกอบหลักทั้ง 5 ของเนื้อสัตว์ โปรตีนของ Beyond Meat มาจากข้าว ถั่วเขียว และถั่วปากอ้า ไขมันมาจากพืชที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าจากสัตว์ เช่น น้ำมันมะพร้าว ส่วนแร่ธาตุมาจากเกลือ ธาตุเหล็ก และโพแทสเซียมคลอไรด์ สีและรสชาติมาจากบีทรูทสกัด (ที่มาของน้ำเลือดในสเต๊ก) และแอปเปิ้ลสกัด ในขณะที่คาร์โบไฮเดรตมาจากแป้งมันฝรั่ง และเซลลูโลสสกัดจากพืช ซึ่งพืชทั้งหมดที่ใช้ต้องไม่มี GMO หรือสารกลูเตน

 

เมื่อเทียบกับการผลิตเนื้อสัตว์ปกติ การผลิต Beyond Meat ใช้น้ำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้ที่ดินน้อยกว่าถึง 90% รวมทั้งใช้พลังงานน้อยกว่า 46% จากการทดลองโดยมหาวิทยาลัยแห่งมิชิแกน

 

ในด้านสุขภาพ Beyond Meat ระบุว่าเนื้อเสมือนนี้มีโซเดียม ไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป และไม่มีคอเลสเตอรอล

 

แต่คนกลุ่มไหนจะสนใจ Beyond Meat?

 

อีธานมองว่าเขาไม่ต้องการบังคับให้คนช่วยกันแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมด้วยการเลิกกินเนื้อสัตว์ (แม้เขาจะเป็น ‘วีแกน’ มายาวนานก็ตาม) แต่อยากให้ Beyond Meat เป็นทางเลือกหนึ่งในการกินที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียสละของโปรดสุดอร่อย และไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น Beyond Meat ไม่ได้พุ่งเป้าไปหาคนที่เป็นมังสวิรัติหรือวีแกน แต่เจาะกลุ่มไปที่คนรักการกินเนื้อสัตว์ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

 

Beyond Meat

 

ความฝันของอีธาน คือการที่ลูกๆ ของเขาจะเดินไปที่ร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วไป และสั่งอาหารที่มี Beyond Meat เป็นส่วนประกอบได้อย่าง ‘ปกติ’ เหมือนเมนูเนื้อสัตว์ทั่วไป ไม่ใช่เป็นอาหารทางเลือก

 

ซึ่งวันนี้ฝันของอีธานน่าจะเป็นจริงแล้ว จากที่เริ่มจำหน่ายเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ตสายกรีนอย่าง Whole Foods ปัจจุบันสินค้าของ Beyond Meat อย่างแฮมเบอร์เกอร์เนื้อวัว ไส้กรอกหมู และเนื้อวัวบด มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในหลายประเทศ (รวมทั้งไทย) รวมถึงเป็นหนึ่งในเมนูของแมคโดนัลด์, เอแอนด์ดับบลิว, คาร์ลส จูเนียร์ ฯลฯ และอาจแปลงร่างเป็นนักเก็ตไก่ของเคเอฟซีในสหรัฐอเมริกาในไม่ช้า

 

Beyond Meat

 

การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำให้บริษัทมียอดขายประมาณ 67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,010 ล้านบาท) โตขึ้น 287% จากปี 2018 ถึง 2019 และมีสัดส่วนการขาดทุนที่ลดลง (บริษัทยังมีต้นทุนการค้นคว้าและวิจัยที่สูงอยู่)

 

Beyond Meat ไม่ได้ ‘เนื้อหอม’ แค่กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักลงทุนชื่อดังอย่างบิล เกตส์, ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ นักแสดงหัวใจสิ่งแวดล้อม และอดีตซีอีโอของแมคโดนัลด์ ในปี 2019 บริษัทเริ่มเข้าตลาดหลักทรัพย์และ IPO (Initial Public Offering) ซึ่งแค่ภายในวันแรกที่เสนอขายหุ้น ราคาหุ้นของ Beyond Meat พุ่งขึ้นไปถึง 163% ถือว่าสูงที่สุดของการ IPO นับตั้งแต่หลังวิกฤตซับไพรม์ในปี 2008 และทำให้บริษัทมีมูลค่าประมาณ 3.8 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 114,000 ล้านบาท)

 

ความสำเร็จของ Beyond Meat ยังช่วยกรุยทางให้คู่แข่ง เช่น Impossible Foods, OmniMeat รวมถึง Incredible Burger จากเนสท์เล่ และอีกหลายแบรนด์เข้าสู่ตลาดเนื้อสัตว์จากพืชที่กำลังโตขึ้นถึงประมาณ 19% ต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายเจ้ามองว่าสถานการณ์ราคาหุ้นของ Beyond Meat ดูดีเกินจริง บริษัทยังต้องพิสูจน์อีกมากว่าจะขยายธุรกิจไปนอกเขตประเทศตะวันตก ที่ผู้คนกินเนื้อสัตว์ในรูปแบบอื่นๆ และแฮมเบอร์เกอร์ไม่ใช่เมนูโปรดได้หรือไม่

 

ส่วนในด้านอื่นๆ Beyond Meat ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เช่น ผู้ก่อตั้ง Whole Foods พูดถึงความไม่ ‘เฮลตี้’ ของ Beyond Meat ว่าไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ปกติ เพราะอย่างไรเนื้อเหล่านี้ก็ถือเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิต (Processed Food) ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ถึงเขาจะคิดว่ามันช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากก็ตาม

 

plant-based

 

ถึงกระนั้น อีธานก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าธุรกิจที่พยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยนวัตกรรมที่ไม่บังคับให้ผู้บริโภคต้องเปลี่ยนพฤติกรรมมากมาย และยังให้ความพึงพอใจเท่าเดิมหรือดีกว่า ธุรกิจเหล่านี้สามารถสร้างคุณค่าต่อโลก ขยายตลาดและดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้มหาศาล  

 

Beyond Meat อาจเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของเทรนด์สินค้ากู้โลกที่เราจะได้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะอย่างที่เห็นกันว่าอาการเจ็บป่วยของโลกใบนี้กำลังเข้าสู่ระดับโคม่า และคงไม่ใช่แค่คนสายกรีน สายฮิปปี้ หรือสายอนุรักษ์เท่านั้นที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ 

 

แต่โลกจะผ่านพ้นวิกฤตสิ่งแวดล้อมไปได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับการเลือกบริโภคของเราทุกคนด้วย ดังนั้น นอกจากการลดการใช้พลาสติก การใช้ขนส่งมวลชน และการซื้อสินค้าสายกรีนแล้ว มื้อหน้าเราอาจจะลองงดเนื้อสัตว์ และใช้การกินเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราจะช่วยกู้โลก

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนเริ่มเห็น Beyond Meat ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ รวมถึงในจานเมนูทดลองของเชนร้านอาหารชื่อดัง และร้านอาหารของโรงแรมห้าดาวต่างๆ ในบ้านเราเองก็เริ่มมีเนื้อสัตว์จากพืชอย่างแบรนด์ไทยชื่อ Meat Avatar หรือร้านที่เสิร์ฟแต่โปรตีนจากพืชอย่าง ‘ทานไทย’

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่ 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising