×

กรุงศรีฯ คงนโยบายตั้งสำรองสูงปีนี้ เกาะติดสถานการณ์หนี้เสีย เดินหน้าดัน ‘เงินติดล้อ’ เข้าตลาดหุ้น

03.02.2021
  • LOADING...
กรุงศรีฯ คงนโยบายตั้งสำรองสูงปีนี้

เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เป้าหมายทางการเงินสำหรับปี 2564 กรุงศรีฯ วางเอาไว้ว่า การเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับ 3-5% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.1-3.3% การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา และอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.7%

 

“แนวโน้มการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปีนี้ กรุงศรีฯ ยังใช้นโยบายการตั้งสำรองในระดับสูงเช่นเดิม ทั้งนี้เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในปีนี้ แต่หากเทียบกับระดับการตั้งสำรองในปี 2563 ที่ผ่านมา น่าจะเห็นตัวเลขที่ต่ำลง”

 

สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญทางการเงินในปี 2563 กรุงศรีฯ มีกำไรสุทธิ 23,040 ล้านบาท อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ 42.52% สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 2% อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 175.12% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนอยู่ที่ 19.10%

 

ทั้งนี้เป้าหมายทางการเงินดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่ปี 2564-2566 ซึ่งกรุงศรีฯ จะให้ความสำคัญกับการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับการเร่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในตลาดใหม่ๆ ในต่างประเทศ 

 

โดยวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ 5 ประการ คือ 1. การปฏิรูปธุรกิจลูกค้ารายย่อยให้เป็นหนึ่งเดียว (One Retail Transformation) โดยอาศัยฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าถึงความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้า

 

  1. การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้านลูกค้าธุรกิจ (Commercial Business Enhancement) ผ่านการเร่งสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับห่วงโซ่ธุรกิจ (Value Chains) และการให้บริการข้ามกลุ่มลูกค้า 

 

  1. การสร้างระบบนิเวศของกรุงศรีฯ เอง และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ (Ecosystem and Partnership) เพื่อขยายฐานลูกค้า 

 

  1. การขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับกรุงศรีฯ และลูกค้าในตลาดอาเซียน โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการลงทุนและการช่วยเหลือลูกค้าในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในอาเซียน 

 

  1. การสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ (New Revenue Stream) โดยอาศัยความแข็งแกร่งและศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของกรุงศรีฯ ในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชันใหม่ๆ

 

โดยกรุงศรีฯ ให้ความสำคัญกับไอทีและดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ เบื้องต้นได้จัดสรรงบทุนด้านนี้ไว้ 8,000-8,500 ล้านบาทต่อปี

 

อาคิตะกล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ของประเทศไทยว่า การเติบโตยังคงชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 

 

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเกื้อหนุนการเติบโตคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการแจกจ่ายวัคซีนอย่างทั่วถึงจนเกิด Herd Immunity ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563

 

สำหรับเศรษฐกิจอาเซียนนั้น กรุงศรีฯ ประเมินว่าจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งกว่าภูมิภาคอื่น อานิสงส์จากการลงทุนของต่างชาติ ความต้องการสินค้าทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ และการลงทุนของภาครัฐในแต่ละประเทศ 

 

ขณะที่เศรษฐกิจโลกนั้น กรุงศรีฯ มองว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีบางภาคส่วน อาทิ ภาคบริการและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ในแต่ละประเทศ

 

“สำหรับความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศแถบอาเซียนนั้นจะไม่กระทบต่อแผนการลงทุนระยะยาวของกรุงศรีฯ เนื่องจากมีประสบการณ์การลงทุนในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) ซึ่งรวมถึงอาเซียนเป็นอย่างดี จึงยังคงเชื่อมั่นในการเติบโตของตลาดนี้อยู่ และเข้าใจว่าไม่อาจหลีกเลี่ยงปัจจัยด้านความไม่แน่นอนต่างๆ ได้” 

 

ด้านความคืบหน้าของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของบริษัท เงินติดล้อ นั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอสำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติไฟลิ่ง โดยกรุงศรีฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ดำเนินการยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งโดยปกติสำนักงาน ก.ล.ต. จะใช้เวลาในการอนุมัติไฟลิ่งราว 6 เดือน จากนั้นบริษัทผู้เสนอขายหลักทรัพย์จะมีเวลาในการดำเนินการเสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนภายใน 1 ปี

 

“หากอ้างอิงจากไทม์ไลน์แล้ว เชื่อว่าอย่างเร็วสุดเงินติดล้อจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้เร็วที่สุดคือปลายปีนี้ และช้าสุดคือกลางปีหน้า โดยกรุงศรีฯ จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเป็นไม่ต่ำกว่า 30% จากปัจจุบันที่ถือหุ้นอยู่ 50%”

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising