×

รถติดจะแก้ไขด้วย ‘รถไฟ’ ได้หรือไม่?: จากกรุงเทพฯ สู่มะนิลา เครือข่ายรถไฟในมหานครทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

11.07.2023
  • LOADING...
รถไฟ

เครือข่ายรถไฟในมหานครทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการวิเคราะห์ของ Nikkei ล่าสุด การขยายตัวนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 20% ภายในสิ้นปี 2024

 

การเพิ่มขึ้นของประชากรในเมืองและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการจราจรติดขัดบนถนนในเมือง ควบคู่ไปกับมลพิษทางอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากไอเสียรถยนต์ 

 

ดังนั้นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเครือข่ายรถไฟใต้ดินจึงบ่งบอกถึงความท้าทายและแนวทางแก้ไขร่วมกัน เนื่องจากประเทศเหล่านี้มุ่งมั่นที่จะบรรเทาความแออัดของการจราจรและลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม

 


ข่าวที่เกี่ยวของ:


 

การวิเคราะห์ของ Nikkei สำรวจเส้นทางรถไฟโดยสารในเขตเมืองหลวงและใจกลางเมืองสำคัญทั่วประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ความยาวรวมของเส้นทางรถไฟในประเทศเหล่านี้คาดว่าจะสูงถึง 1,356 กิโลเมตรภายในสิ้นปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,147 กิโลเมตรที่บันทึกไว้ในเดือนมกราคม 2023

 

ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเพิ่งเริ่มดำเนินการไม่นานมานี้ รถไฟฟ้าโมโนเรลยกระดับเชื่อมต่อรอบนอกกรุงเทพฯ กับจังหวัดใกล้เคียงอย่างสมุทรปราการ มีทั้งหมด 23 สถานี ระยะทาง 30 กิโลเมตร 

 

ในช่วงทดลองวิ่งในเดือนมิถุนายน สายสีเหลืองดึงดูดผู้โดยสารประมาณ 680,000 คนภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ การตอบสนองอย่างล้นหลามนี้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการขนส่งสาธารณะในการตอบสนองความต้องการด้านการเดินทางของประชากรในเมือง

 

ในทางกลับกันมีประเทศที่ล่าช้าในการดำเนินงาน เช่น เวียดนาม ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนเส้นทางรถไฟสายใหม่ ตัวอย่างเช่น นครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม กำลังเตรียมเปิดให้บริการรถไฟใต้ดินสายแรกในปีหน้า ซึ่งประกอบด้วย 14 สถานี ตลอดระยะทาง 20 กิโลเมตร

 

การพัฒนานี้ร่วมกับระบบรถไฟใต้ดินที่มีอยู่ 13 กิโลเมตรของกรุงฮานอย หมายความว่าเส้นทางรถไฟใต้ดินของเวียดนามจะมีความยาวรวมประมาณ 33 กิโลเมตรภายในปี 2024

 

ในฟิลิปปินส์เครือข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (MRT) อยู่ระหว่างการขยายตัวอย่างมาก ในเดือนมิถุนายน San Miguel กลุ่มบริษัทในท้องถิ่น ประกาศว่าได้ระดมทุน 1 แสนล้านเปโซ (เทียบเท่ากับ 1.79 พันล้านดอลลาร์) สำหรับการก่อสร้าง MRT สาย 7 สายใหม่นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่มหานครมะนิลาที่พลุกพล่านกับชุมชนที่ตั้งอยู่รอบนอกของเมือง

 

แม้จะมีการพัฒนาเหล่านี้ แต่การเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็วก็ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมากสำหรับการขยายโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ประโยชน์ที่เป็นไปได้ของเครือข่ายรถไฟที่ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวลาเดินทางสั้นลงและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมต่ำเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจ ทว่าการจัดหาที่ดินสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมตามแนวเส้นทางรถไฟเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นเรื่องยากในเมืองที่มีการพัฒนาสูงอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้การแข่งขันยังทวีความรุนแรงขึ้นในหมู่ผู้เล่นต่างชาติที่กระตือรือร้นในการใช้ประโยชน์จากตลาดโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่กำลังเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทญี่ปุ่นและยุโรปซึ่งเป็นที่รู้จักจากประสบการณ์อันยาวนานและความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคในโครงสร้างพื้นฐานระบบรางเป็นผู้นำในกลุ่มนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทจีนที่ประสบความสำเร็จจากโครงการรถไฟความเร็วสูงใน สปป.ลาว และอินโดนีเซีย ต่างกระตือรือร้นที่จะยกระดับเกมของพวกเขาเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising