×
SCB Omnibus Fund 2024

บางจากซื้อเอสโซ่ ตอกย้ำว่ายุคน้ำมันอาจยังไม่จบลงทันที

16.01.2023
  • LOADING...
บางจากเอสโซ่

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • ‘บางจากซื้อเอสโซ่’ กลายเป็นดีลใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานไทยรับปี 2023 โดยกำหนดราคาซื้อขายเบื้องต้นที่ 8.84 บาทต่อหุ้น 
  • นักวิเคราะห์มองว่าราคาดังกล่าวค่อนข้างเหมาะสมและค่อนไปทางถูก พร้อมเข้ามาปิดความเสี่ยงธุรกิจโรงกลั่นของบางจาก
  • นักวิเคราะห์เชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันจะพีคในปี 2030 และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ธุรกิจน้ำมันจะยังสร้างกระแสเงินสดที่ดี
  • Deloitte ประเมินว่าอุตสาหกรรมนํ้ามันและก๊าซสร้างกระแสเงินสดอิสระสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา 
  • Saudi Aramco บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกยังคงเชื่อมั่นในพลังงานฟอสซิส พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตจาก 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2027 
  • อย่างไรก็ตาม World Energy Outlook (WEO) คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในส่วนผสมพลังงานทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 80% เหลือเพียง 60% ภายในปี 2050

กระแสการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของหลายบริษัท จากปัญหาโลกร้อนที่ทำให้ทุกคนต่างตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ปัญหาขาดแคลนพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนก็เข้ามาเร่งให้หลายประเทศเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานใหม่อย่างจริงจัง 

 

แต่ก่อนที่เราจะเดินไปถึงจุดที่พลังงานดั้งเดิมกลายเป็นเรื่องของอดีต ปฏิเสธไม่ได้ว่าระหว่างทางของการเปลี่ยนผ่านนี้ ธุรกิจพลังงานดั้งเดิมยังมีบทบาทอย่างมากต่ออุตสาหกรรมพลังงานโลก และเรายังคงเห็นการลงทุนเพิ่มเติมกับโอกาสที่ผ่านเข้ามา ซึ่งก็รวมไปถึงกรณีของ ‘บางจาก คอร์ปอเรชั่น’ ที่ประกาศดีลใหญ่รับต้นปี 2023 ว่าจะเข้าซื้อ ‘เอสโซ่ (ประเทศไทย)’ อีกหนึ่งบริษัทพลังงานน้ำมันในไทย 


บทความที่เกี่ยวข้อง


ไม่เพียงแค่บางจากกับเอสโซ่ แต่เมื่อปลายปี 2022 บริษัทอย่าง ‘สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง’ หนึ่งในธุรกิจโรงกลั่นยักษ์ใหญ่ของไทย ตัดสินใจเข้าซื้อสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ด้วยเช่นกัน

 

ดีลที่เกิดขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจน้ำมันที่ถูกมองว่าเป็นธุรกิจ ‘ตะวันตกดิน’ ซึ่งอนาคตมีแต่จะหดตัวลงเรื่อยๆ แต่ขณะนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่ายุคของน้ำมันได้จบลงไปแล้ว

 

บางจากซื้อเอสโซ่เสริมธุรกิจโรงกลั่น

เอสโซ่ไม่ได้มีแผนจะขยายธุรกิจอะไรในไทยอีกมากนัก คล้ายกับบริษัทพลังงานต่างชาติอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้อยากทำธุรกิจในไทยต่อแล้ว เพราะมีเจ้าตลาดอย่าง ปตท. และยังมีเรื่องของนโยบายรัฐมาเกี่ยวข้อง” สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวถึงดีลการตัดสินใจขายกิจการของเอสโซ่ (ประเทศไทย) 

 

ส่วนเหตุผลว่าทำไมเอสโซ่ถึงยอมขายให้ที่ราคา 8.84 บาทต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคาหุ้นก่อนที่จะประกาศดีลราว 20% นอกจากจะเป็นเรื่องของมูลค่ากิจการ (Enterprise value: EV) อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของการที่เอสโซ่เป็นฝ่ายที่อยากจะขายหลังจากที่ลงทุนมาอย่างยาวนานจนธุรกิจคืนทุนทั้งหมดแล้ว 

 

เอสโซ่จะเข้ามาเสริมธุรกิจน้ำมันสำเร็จรูปของบางจาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าบริษัทที่ขายแบบค้าส่ง และช่วยเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่างน้ำมันเบนซิน โดยผู้บริหารของบางจากคาดว่ามูลค่าเพิ่มจากการ Synergy ครั้งนี้จะอยู่ที่ราว 1.5-2 พันล้านบาทต่อปี 

 

“จะเห็นว่าราคาหุ้นบางจากตอบรับในเชิงบวกหลังประกาศดีลนี้ ส่วนสำคัญคือกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบางจากที่จะเพิ่มขึ้น 57% แต่แน่นอนว่าราคาเหมาะสมของบางจากอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นในระดับเท่ากัน เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่จะเพิ่มขึ้นจาก 0.6 เท่า เป็น 1.7 เท่า” 

 

ด้าน อาศิส ภมรานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) มองว่า ราคาที่ตกลงซื้อขายกันระหว่างบางจากกับเอสโซ่ค่อนข้างเป็นราคาที่เหมาะสมค่อนไปทางถูก อิงจาก EBITDA ที่ราว 8 พันล้านบาท ทำให้อัตราส่วน EV/EBITDA อยู่ที่ 7 เท่า ใกล้เคียงกับบริษัทในภูมิภาค 

 

“แต่ราคาที่ 8.84 บาท ยังไม่ใช่ราคาสุดท้ายและอาจจะเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เงินกู้ ค่าการกลั่น ราคาน้ำมัน”

 

ธุรกิจน้ำมันยังให้กระแสเงินสดที่ดี 

สิทธิชัยกล่าวต่อว่า แม้กระแสของพลังงานหมุนเวียนหรือยานยนต์ไฟฟ้าจะร้อนแรงมาก แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดว่าธุรกิจน้ำมันผ่านจุดพีคไปแล้วหรือยัง ราคาน้ำมันอาจจะพีคไปแล้วแต่อาจจะยังคงอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งก็เป็นระดับที่ทุกบริษัทยังมีความสุขอยู่ได้ 

 

“พลังงานรูปแบบใหม่อาจสร้างการเติบโตที่ดีกว่า แต่พลังงานดั้งเดิมยังเป็น Cash Cow ที่ดีเพื่อนำไปสนับสนุนธุรกิจใหม่” 

 

อาศิสกล่าวเสริมว่า ส่วนสำคัญที่บางจากจะได้จากเอสโซ่คือธุรกิจโรงกลั่น เนื่องจากโรงกลั่นของบางจากในปัจจุบันจะหมดสัญญาเช่าที่ดินในปี 2033 เพราะฉะนั้นการได้โรงกลั่นของเอสโซ่เข้ามาเสริมจะช่วยปิดความเสี่ยงนี้ 

 

“ความต้องการใช้น้ำมันน่าจะพีคในปี 2030 ระหว่างนี้บริษัทที่ปรับตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ได้เร็วกว่าย่อมมีโอกาสมากกว่า แต่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ความต้องการพลังงานดั้งเดิมจะยังดีอยู่” 

 

แม้แต่นักลงทุนระดับโลกต่างก็เข้ามาเก็งกำไรในธุรกิจพลังงานดั้งเดิม อย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ที่เข้าซื้อหุ้น Occidental บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ขณะที่ Deloitte ระบุว่า อุตสาหกรรมนํ้ามันและก๊าซสร้างกระแสเงินสดอิสระสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา 

 

ทางแยกของอุตสาหกรรมพลังงานโลก

เพื่อความยั่งยืนและการอยู่รอดในระยะยาว อุตสาหกรรมพลังงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ บางบริษัทจึงเลือกขยายการลงทุนไปยังพลังงานทางเลือกอื่น เช่น ปตท. ได้ปรับวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจและลงทุนในพลังงานใหม่ พร้อมตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 การดำเนินธุรกิจในส่วนของ Future Energy and Beyond จะสร้างกำไรให้กับ ปตท. ได้มากถึง 30% 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังเดินหน้าลงทุนในธุรกิจนํ้ามันและก๊าซต่อไป อย่างเช่น ผู้ผลิตนํ้ามันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Saudi Aramco ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดจาก 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2027 และตั้งเป้าเพิ่มการผลิตก๊าซมากกว่า 50% ภายในปี 2030 

 

เป้าหมายดังกล่าวสะท้อนว่า Saudi Aramco กำลังเดิมพันว่าจะได้รับอำนาจทางการตลาดมากขึ้นในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นลดขนาดลง นอกจากนี้รายงานของคณะกรรมการกำกับดูแลสภาคองเกรซพบว่า Shell, Chevron, BP และ American Petroleum Institute ต่างลงทุนเพิ่มเติมในโครงการที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล 

 

Ro Khanna สมาชิกคณะกรรมการของพรรคเดโมแครต กล่าวว่า แม้บริษัทเหล่านี้ระบุว่าพวกเขาจะเพิ่มกำลังการผลิตและจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการปล่อยมลพิษ แต่พวกเขาก็อ้างได้ว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพราะมีการกระทำเชิงสัญลักษณ์ว่ากำลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 

 

รายงาน World Energy Outlook (WEO) ในปี 2022 ของ IEA เผยว่า แม้ว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกเติบโตขึ้นควบคู่ไปกับ GDP นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 แต่การเติบโตในทางตรงข้ามกำลังเกิดขึ้นในยุคการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน ส่วนแบ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในส่วนผสมพลังงานทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากประมาณ 80% เหลือเพียง 60% ภายในปี 2050 ขณะเดียวกันปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลงอย่างช้าๆ จากจุดสูงสุด 3.7 หมื่นล้านตันต่อปี เป็น 3.2 หมื่นล้านตัน ภายในปี 2050 สะท้อนว่าบทบาทของนํ้ามันและก๊าซจะเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแน่นอน

 

อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเติบโตเร็ว แต่ยังกระจุกตัว

ขณะเดียวกันธุรกิจพลังงานสะอาดได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมพลังงานโลกนับตั้งแต่ความตกลงปารีส โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กลายเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาลนานาประเทศดำเนินมาตรการระยะยาว เช่น แผน Fit for 55 ของสหภาพยุโรป โครงการ Green Transformation (GX) ของญี่ปุ่น เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนของเกาหลีใต้ และเป้าหมายการผลิตพลังงานสะอาดของจีนและอินเดีย เป็นต้น

 

WEO คาดการณ์ว่าในปี 2022 การลงทุนพลังงานสะอาดมีมูลค่าเกินกว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 3 ใน 4 ของการเติบโตในการลงทุนพลังงานโดยรวม มูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนที่ดีขึ้นของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจำนวนมาก และนโยบายทางการเงินที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน 

 

IEA Sustainable Recovery Tracker ประมาณการณ์ว่าในช่วงต้นปี 2022 รัฐบาลทั่วโลกจัดสรรเงิน 7.1 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับมาตรการพลังงานสะอาดระยะยาวและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน

 

แม้การลงทุนพลังงานสะอาดกำลังเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่การลงทุนกระจุกตัวเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและประเทศจีน การใช้จ่ายด้านพลังงานสะอาดในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา (ไม่รวมจีน) ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับปี 2015 

 

ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการลงทุนพลังงานสะอาดล้วนกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่ประเทศทั่วโลกเช่นกัน เช่น ยอดขายมากกว่า 80% ของ EV กระจุกตัวในจีนและยุโรป และกว่า 90% ของการใช้จ่ายทั่วโลกในโครงสร้างพื้นฐานสถานีชาร์จ EV สาธารณะอยู่ในจีน ยุโรป และสหรัฐฯ หากการลงทุนด้านพลังงานสะอาดไม่เติบโตอย่างรวดเร็วในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา โลกจะเผชิญกับเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มประเทศต่อความพยายามจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

 

กระแสการลงทุนพลังงานสะอาดกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาที่ตามมาคือความขาดแคลนพลังงานในบางพื้นที่จากขนาดการลงทุนพลังงานสะอาดที่ต่างกันในแต่ละประเทศ ขณะที่บริษัทนํ้ามันและก๊าซบางแห่งยังคงแสวงกำไรจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป 

 

ทางแยกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงานโลกจำเป็นต้องหาทางบรรจบกัน หากไม่มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดหาคาร์บอนต่ำ ความต้องการพลังงานทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจะไม่ถูกตอบสนองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่วงการพลังงานต้องค้นหาคำตอบต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising