×

สธ. ย้ำจุดยืน แบนใช้ 3 สารเคมีการเกษตร 1 ธ.ค. นี้ ชี้ หากปล่อยจะมีผลกระทบต่อประชาชน

26.11.2019
  • LOADING...

วานนี้ (25 พฤศจิกายน) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกรมต่างๆ โดยทั้งหมดยืนยันจุดเดียวกันในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพประชาชน ย้ำชัด การแบน 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่กรมวิชาการเกษตรจะยืดเวลาการแบนออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่มติคณะกรรมการวัตถุให้มีผลเลิกใช้ 3 สารเคมีอันตราย ในวันที่ 1 ธันวาคมที่จะถึงนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานด้านสุขภาพเห็นว่า สารเคมีอันตรายควรเลิกใช้ทันที ไม่ควรขยายเวลาออกไป เพราะสุขภาพประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด 

 

ทางด้าน นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2561 พบผู้ป่วยโรคจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลวิชาการพบว่า พาราควอตเป็นสารที่มีพิษเฉียบพลันสูง ปัจจุบันไม่มียาถอนพิษ ก่อให้เกิดการระคายเคืองทางตาและผิวหนัง หากมีบาดแผลจะซึมเข้าสู่ร่างกายรวดเร็ว สัมพันธ์กับการเกิดโรคหนังเน่า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจพบการตกค้างในทารกแรกเกิดและมารดา และงานวิจัยในต่างประเทศยืนยัน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน และระบบประสาท รวมทั้งพบการปนเปื้อนในน้ำผิวดิน ใต้ดิน น้ำประปา ในปลาที่เลี้ยงและจับจากแม่น้ำ ขณะนี้มีการห้ามใช้ถึง 58 ประเทศ

 

สำหรับไกลโฟเซต สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศภายใต้องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เป็นสารที่น่าจะก่อมะเร็งได้ รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมที่อาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมากขึ้น เช่น เบาหวาน โรคอ้วน อัลไซเมอร์ พบการตกค้างในทารกแรกเกิดและมารดา พบการปนเปื้อนในน้ำผิวดิน ใต้ดิน น้ำประปา รวมทั้งในปลาที่เลี้ยงและจับจากแม่น้ำเช่นเดียวกับพาราควอต 

 

ส่วนคลอร์ไพริฟอส งานวิจัยต่างประเทศพบว่า เป็นสารที่รบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อ ระบบไทรอยด์ กระตุ้นการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งลำไส้ มีผลต่อความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับสารระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้า ความจำสั้น และไอคิวต่ำ ตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับพาราควอต และเป็นสารกำจัดแมลงที่มีการตกค้างในผัก ผลไม้สูงที่สุด ทั้งที่จำหน่ายในทั้งตลาดสดและห้างค้าปลีก

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงพิเศษที่ไวต่อสารเคมี นั่นคือ กลุ่มทารกในครรภ์มารดา ปี 2562 พบทารกร้อยละ 33 มีพัฒนาการล่าช้า ทั้งไอคิวและอีคิว พบมากโดยเฉพาะ 11 จังหวัดที่มีการทำการเกษตร 4 พืชเศรษฐกิจหลัก ทั้ง ข้าว อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยใช้สารเคมี ดังนั้น หากยืดเวลาการยกเลิกใช้ 3 สารเคมีออกไปอีก เกรงผลเสียที่เกิดกับประชาชนเดิมและอนาคตจะเสียหายเกินจะแก้ไขได้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising