×

เวทีเสวนา ‘สมดุลแห่งอำนาจโลกหลังโควิด-19’ เข้มข้น นักวิชาการชี้ สหรัฐฯ-จีนจะแข่งขันกันดุเดือดขึ้นในหลายมิติ และมีความเสี่ยงเผชิญหน้าทางทหาร

29.05.2020
  • LOADING...

ในเซสชันแบบ Panel ช่วงเช้าของงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM หัวข้อ ‘สมดุลแห่งอำนาจโลกหลังโควิด-19’ ได้ถกวิเคราะห์กันถึงโลกสองขั้ว และการแข่งขันของสหรัฐฯ และจีนในสงครามเย็นรูปแบบใหม่ ซึ่งวิทยากรในเซสชันนี้ประกอบด้วย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

กับคำถามว่า ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากนี้ ดร.สุรชาติ มองว่า การแข่งขันระหว่างสองประเทศจะรุนแรงขึ้นหลังโควิด-19 สิ้นสุดลง เพราะวันนี้จีนผงาดขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกรายใหม่ พอมาเจอมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ย่อมหนีไม่พ้นที่จะเกิดการแข่งขันกัน เมื่อมองลักษณะพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเห็นได้ว่า เวลานี้ได้เกิดความตึงเครียดในเชิงโครงสร้าง ซึ่งความขัดแย้งอาจนำไปสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ดร.สุรชาติ ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ว่า เราได้เห็นการทำสงครามระหว่างกรีกและโรมัน ซึ่งเป็นรัฐมหาอำนาจเก่าและรัฐมหาอำนาจใหม่ เราได้เห็นการสู้รบระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในยุคกลาง อังกฤษกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็ผลักดันชุดความคิดการจัดระเบียบโลก ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น สภาวะของการแข่งขันในปัจจุบันจึงสร้างแรงเสียดทานเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยโควิดเป็นเพียงระฆังพักรบชั่วคราว จากนั้นประเทศทั้งสองจะกลับมาแข่งขันกันอย่างรุนแรงขึ้น

 

ด้วยสภาวะที่เกิดขึ้น ทำให้ ดร.สุรชาติ เชื่อว่า เราอยู่ในสงครามเย็นแล้ว แต่จะใช้คำว่าสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะมันมีเงื่อนไขที่ต่างจากสงครามเย็นเดิมที่เป็นการแข่งกันในด้านอุดมการณ์ทางการเมือง

 

กับประเด็นน่าสนใจว่า หากสหรัฐฯ กับจีนรบกัน จะออกมาในรูปแบบไหนนั้น ดร.สุรชาติ ให้ทัศนะว่า ในอดีตสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตก็เคยแข่งขันกันในสงครามเย็น แต่ทั้งคู่ก็ไม่ทำสงครามใหญ่กันโดยตรง เพราะมีปัจจัยเรื่องนิวเคลียร์เข้ามาเกี่ยวข้อง กรณีที่รัฐมหาอำนาจมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แม้จะเป็นสิ่งที่คุกคามความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยยับยั้งไม่ให้พวกเขาตัดสินใจเดินบนเส้นทางเดิมไปสู่สงครามใหญ่แบบที่รัฐมหาอำนาจในอดีตเคยเลือก 

 

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแทนคือ การเปลี่ยนมิติการต่อสู้และแข่งขัน เช่น สงครามไซเบอร์ หรือมาในรูปเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ได้เปลี่ยนแบบแผนของสงคราม 

 

ดร.สุรชาติ เห็นว่า สงครามในศตวรรษที่ 21 อาจเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ใช่ในรูปแบบเดิม ทว่า ได้เพิ่มความหลากหลายไปในมิติอื่นๆ ด้วย ซึ่งการแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนในช่วงโควิด-19 ก็เป็นสงครามอีกชุดหนึ่ง เหมือนกับตอนที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตแข่งขันกันส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศ แต่ปัจจุบันมีสงครามด้านการแพทย์เข้ามาเป็นพื้นที่หนึ่งในการแข่งขันด้วย

 

ด้าน ดร.อาร์ม ได้วิเคราะห์ถึงการดำเนินนโยบายของจีน ที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ว่า เราต้องทำความเข้าใจการเมืองภายในจีนก่อน ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่จะพบว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ๆ ได้แก่ สมัยประธาน เหมาเจ๋อตง ที่เป็นพรรคลัทธินิยม หรือก็คือลัทธิคอมมิวนิสต์ตามความเข้าใจของรัฐศาสตร์ สมัยต่อมาคือผู้นำ เติ้งเสี่ยวผิง เป็นคนที่เปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมีลักษณะของพรรคเศรษฐกิจนิยม แต่มาวันนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ของ สีจิ้นผิง ไม่ใช่ทั้งพรรคลัทธินิยมและไม่ใช่พรรคเศรษฐกิจนิยม แต่เป็นพรรคชาตินิยม

 

สีจิ้นผิง มองว่ากระแสการตอบสนองภายในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงก็ได้รับเสียงสนับสนุนจากคนในประเทศอย่างมาก ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างความชอบธรรมใหม่ให้กับจีน ซึ่งจากเดิมความชอบธรรมของพรรคอยู่ที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ความชอบธรรมต่อมาอยู่ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ มาวันนี้แน่นอนว่า เศรษฐกิจจีนไม่สามารถโตได้ในอัตราเลขสองหลักแบบแต่ก่อน แต่ความชอบธรรมมาอยู่ในเรื่องของการเป็นตัวแทนของอารยธรรมจีน การเป็นพรรคที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กลับมา รวมทั้งสร้างความปึกแผ่น เมื่อเกิดประเด็นฮ่องกงขึ้น ทำให้คนจีนนึกถึงอดีตกับ 100 ปีแห่งความอัปยศที่ต้องสูญเสียดินแดนให้โลกตะวันตก

 

ขณะที่ฝั่งสหรัฐฯ ปีนี้เป็นปีเลือกตั้ง จะเห็นว่าแท็กติกและกลยุทธ์การหาเสียงเลือกตั้งก็คือการปลุกกระแสชาตินิยม พูดง่ายๆ ก็คือสองประเทศมีปัจจัยเรื่องชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่นักยุทธศาสตร์จำนวนหนึ่งในสหรัฐฯ เสนอก็คือ การอาศัยช่วงที่สหรัฐฯ เจ็บหนักจากโควิดอยู่แล้ว ทำสิ่งที่ในอดีตทำไม่ได้ นั่นก็คือการแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกจากจีน หรือแยกห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี 

 

ดร.อาร์ม เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะกลายเป็น New Normal หรือความปกติใหม่ โดยเฉพาะหลังโควิด-19 สิ้นสุดลง 

 

ขณะที่ ดร.สุรเกียรติ์ เห็นด้วยกับ ดร.สุรชาติ ว่าปัจจุบันเราอยู่ในสงครามเย็นแล้ว สิ่งที่น่าจับตาคือ การขยายตัวไปสู่การทำสงครามตัวแทนแบบในอดีตที่สหรัฐฯ เคยทำ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการทำสงครามตัวแทนในทะเลจีนใต้ โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้ออกแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป้าไปที่ปัญหาละเอียดอ่อนของจีน ทั้งในเรื่องฮ่องกง ซินเจียง ไต้หวัน และทะเลจีนใต้

 

ดร. สุรเกียรติ์ มองด้วยว่า ปัจจัยการเลือกตั้งในสหรัฐฯ จะเป็นตัวเร่งให้สงครามตัวแทนหรือสงครามเย็นเข้มข้นขึ้นด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 


 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising