×

กูรูชี้ บาทผันผวนหนักจากแรงเก็งกำไร มองแนวโน้มอ่อนค่าถึงไตรมาส 2 ก่อนปรับตัวดีขึ้นช่วงกลาง-ปลายปี

04.03.2023
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

ผู้เชี่ยวชาญชี้ บาทผันผวนหนักจากแรงเก็งกำไร มองแนวโน้มอ่อนค่าถึงไตรมาส 2 ก่อนปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางปี-ปลายปี แนะผู้ประกอบการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research โพสต์บทความเรื่อง ค่าเงินบาทจะผันผวนไปไหน โดยระบุว่า ค่าเงินบาทช่วงนี้แกว่งผันผวนแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมาเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นถึง 6% ไปแตะจุดสูงสุดที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนที่เดือนกุมภาพันธ์จะพลิกกลับมาอ่อนค่าถึง 7% แตะจุดสูงสุดที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์

 

พิพัฒน์ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแกว่งขนาดนี้มีทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกคือมุมมองของตลาดต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ปรับเปลี่ยนไปหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณว่ายังคงแข็งแกร่ง การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเดือนละกว่า 5 แสนคน อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยอดขายปลีกขยายตัวขึ้นมากกว่าคาด ตัวเลขเงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน ไม่ได้ปรับลดลงเหมือนคาด

 

ขณะเดียวกันการที่ข่าวดีจากจีนเปิดเมืองได้มีการรับรู้ไปหมดแล้ว และในระยะหลังที่มีข่าวร้ายเกิดขึ้น เช่น ล่าสุดไทยขาดดุลการค้า และตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุล 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งๆ ที่คิดว่านักท่องเที่ยวที่กลับมาน่าจะช่วยพยุงดุลบัญชีเดินสะพัดได้ ก็มีส่วนทำให้เงินบาทอ่อนค่า

 

นอกจากนี้หากมองไปข้างหน้าคาดว่า การท่องเที่ยวน่าจะเบาลงชั่วคราวจากปัจจัยเชิงฤดูกาล การส่งออกน่าจะหดตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และไทยยังมีฤดูกาลที่นักลงทุนต่างประเทศส่งเงินปันผลในตลาดหลักทรัพย์กลับบ้านในช่วงไตรมาส 2 อีก และที่สำคัญคือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากในปัจจุบัน (ดอกเบี้ย 2 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ เกือบจะ 5% แล้วดอกเบี้ยยังอยู่แค่ 2% ) ถ้าช่วงไหนที่ไม่มีข่าวดุลบัญชีเดินสะพัดมาช่วย หรือมี Narrative ว่าบาทจะแข็ง-ดอลลาร์จะอ่อนมาช่วย มีความเป็นไปได้ที่อาจเห็นเงินไหลออกและกดดันค่าเงินไปเรื่อยๆ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนการประกันความเสี่ยงค่าเงินสูงมากเช่นกัน

 

“มีโอกาสที่เราอาจจะเห็นค่าเงินบาทผันผวนเอียงไปทางอ่อนค่าแบบนี้ไปอีกระยะ โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ก่อนที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีหากนักท่องเที่ยวและการส่งออกกลับมาดีขึ้นได้จากการเปิดเมืองของจีน แต่ต้องยอมรับความเสี่ยงที่เต็มไปหมด ที่สำคัญคือ 

 

  1. แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำอะไร 
  2. เศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการส่งออกของไทย 
  3. ราคาน้ำมันที่หากปรับเพิ่มขึ้นจะกดดันดุลการค้าไทยอีกรอบ 

 

“และที่สำคัญคือการท่องเที่ยว ถ้าการท่องเที่ยวแผ่วและมาไม่เยอะอย่างที่คาด เราเหนื่อยทั้งจากประเด็นค่าเงินและเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” พิพัฒน์ระบุ

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าภูมิภาคในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงเก็งกำไรในตลาดเงินที่มีกระแสเงินร้อนทยอยเข้ามาพักในตลาดพันธบัตรระยะสั้นของไทยตั้งแต่ปลายปีก่อน เพื่อดักทางจีนเปิดเมือง

 

“ค่าเงินไทยมีปัจจัยเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาผสมด้วย ทำให้มีการเก็งกำไรเป็นรอบๆ ในเดือนกุมภาพันธ์เราเห็นค่าเงินเคลื่อนไหวถึง 2.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่ตอนนี้ก็เริ่มกลับเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นแล้ว” รุ่งกล่าว

 

รุ่งประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับข้อมูลสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง การแข็งค่าของดอลลาร์ก็อาจจะหมดรอบ ในทางกลับกันหากตัวเลขยังร้อนแรง เงินก็จะไหลกลับไปหาสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ทำให้เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก แต่เชื่อว่าเงินบาทจะอ่อนค่าได้ไม่เกินระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจุบันตลาดได้รับรู้ข่าวการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไปพอสมควรแล้ว

 

“ในระยะปานกลางเรายังประเมินว่า ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงกลางปี และจะแข็งค่าต่อเนื่องสู่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายปี ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยที่จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง” รุ่งกล่าว

 

ด้าน พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เงินบาทในช่วงนี้ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าที่ชัดเจนในระยะสั้น ทำให้เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์หรือแรงขายหุ้นไทยและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ โดยเฉพาะหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านสำคัญที่เรามองไว้ได้ คาดว่าเงินบาทอาจได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าบ้างจากโฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

 

“ในช่วงนี้จะเห็นได้ว่าความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่านกรอบค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 50 สตางค์ภายในวัน ทำให้เรามองว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน” พูนกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising