×

รัฐบาลออสเตรเลียให้ใช้วัคซีน Pfizer เป็นหลักแทน AstraZeneca กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี จากปัญหาลิ่มเลือด

10.04.2021
  • LOADING...
รัฐบาลออสเตรเลียให้ใช้วัคซีน Pfizer เป็นหลักแทน AstraZeneca กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี จากปัญหาลิ่มเลือด

รัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้ใช้วัคซีนของ Pfizer เป็นวัคซีนหลักในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี แทนที่วัคซีนของ AstraZeneca ตามคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาทางเทคนิคด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปัญหาลิ่มเลือด ซึ่งแม้จะเป็นกรณีที่พบได้ไม่บ่อย แต่อาจเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน AstraZeneca

 

โดยสำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียรายงานว่า คณะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของรัฐบาลกลางได้พบกันเมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการใช้วัคซีน AstraZeneca หลังหน่วยงานกำกับดูแลทางการแพทย์ของสหภาพยุโรปชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันประกอบกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ยากมากภายหลังการฉีดวัคซีนของ AstraZeneca ใน 2 สัปดาห์ โดยชี้ว่า ภาวะอาการที่เกิดขึ้นควรถูกระบุเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ยากจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว และรัฐบาลสหราชอาณาจักรก็แถลงเช่นกันว่าผู้ใหญ่ที่มีอายุระหว่าง 18 และ 29 ปี และไม่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงจากโควิด-19 ควรได้รับวัคซีนอื่นที่ไม่ใช่วัคซีนของ AstraZeneca หากเป็นไปได้

 

การหารือกันของคณะผู้เชี่ยวชาญนำมาซึ่งการเปิดแถลงข่าวในคืนวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่น นำโดยสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ซึ่งศาสตราจารย์พอล เคลลี ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของออสเตรเลีย เป็นผู้ประกาศการเปลี่ยนแปลงการใช้วัคซีนดังกล่าว

 

“ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนควรจะให้วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca แก่ผู้ใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่ได้นั้นมีมากกว่าความเสี่ยงสำหรับสถานการณ์ของแต่ละบุคคลอย่างชัดเจนเท่านั้น” ศ.เคลลีระบุ และบอกว่าสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนของ AstraZeneca โดสแรกไปแล้วและไม่ประสบกับผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ สามารถรับวัคซีนโดสที่สองต่อไปได้ ส่วนผู้ที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังได้รับวัคซีนของ AstraZeneca โดสแรกนั้นไม่ควรได้รับวัคซีนโดสที่สองต่อไป ทั้งนี้ มีรายงานว่ามีชายชาวเมลเบิร์นคนหนึ่งที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังรับวัคซีน AstraZeneca เกือบ 2 สัปดาห์

 

“ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นเหตุการณ์ที่พบได้ยากมาก ในขณะนี้ดูเหมือนว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ประมาณ 4-6 กรณีต่อวัคซีนล้านโดส ซึ่งพบหลังการให้วัคซีน AstraZeneca โดสแรกเท่านั้น และพบในระหว่าง 4-10 วันหลังรับวัคซีนดังกล่าว แต่นี่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงและอาจทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 25% เมื่อเกิดขึ้น” เขากล่าวย้ำ และยังแนะนำให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาและปรับปรุงทรัพยากรสำหรับการให้ความยินยอมรับวัคซีนเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะมีการถ่ายทอดประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีน AstraZeneca สำหรับทั้งผู้ให้บริการฉีดวัคซีน และผู้ที่จะรับการฉีดวัคซีนในทุกช่วงอายุ

 

ขณะที่ศาสตราจารย์เบรนดัน เมอร์ฟี รัฐมนตรีสาธารณสุขของออสเตรเลีย กล่าวว่าวัคซีนทุกชนิดล้วนมีความเสี่ยง รวมถึงวัคซีนของ Pfizer ที่มีความเสี่ยงกับการเกิดอาการภูมิแพ้ แต่ในกรณีของวัคซีน AstraZeneca นั้นดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดอาการได้จริง และจากคำเตือนจำนวนมากที่บอกว่าอาการดังกล่าวมักเกิดในกลุ่มผู้มีอายุน้อยซึ่งมีความเสี่ยงจากโควิด-19 ไม่มากนัก ทำให้เป็นพื้นฐานของคำแนะนำการใช้วัคซีนต่อผู้มีอายุต่ำกว่า 50 ปีดังกล่าว

 

“ผมต้องการย้ำว่าเราขอสนับสนุนให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปรับวัคซีน AstraZeneca มันเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคโควิด-19 ขั้นรุนแรง ความเสี่ยงนั้นต่ำมาก ผมเองได้รับวัคซีนโดสแรกแล้ว และจะรับต่อไปเป็นโดสที่สอง” รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรเลียกล่าว

 

เหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียสั่งซื้อวัคซีนของ Pfizer เพิ่มอีก 20 ล้านโดส ทำให้ออสเตรเลียน่าจะได้รับวัคซีนจาก Pfizer ในปีนี้รวม 40 ล้านโดส โดยรัฐบาลคาดหวังว่าจะได้วัคซีนที่สั่งซื้อเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

 

ทว่าข้อเท็จจริงก็คือ จนถึงขณะนี้ออสเตรเลียยังได้รับวัคซีน Pfizer เพียง 1 ล้านโดสเท่านั้น จากข้อตกลงในสัญญาที่ทำไว้ที่ 20 ล้านโดส และวัคซีนชนิดนี้ออสเตรเลียต้องได้รับมาผ่านการนำเข้าเท่านั้น เนื่องจากเป็นวัคซีนที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยี mRNA ซึ่งไม่เคยมีการผลิตหรือกระจายวัคซีนประเภทนี้ภายในประเทศมาก่อน ส่วนวัคซีนที่ชาวออสเตรเลียคาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะได้ฉีดคือวัคซีนของ AstraZeneca เนื่องจากเป็นวัคซีนที่สามารถผลิตเองภายในประเทศได้ ซึ่งก็มีสัญญาสั่งซื้อไว้ที่ 54 ล้านโดส และในจำนวน 54 ล้านโดสนี้ มีเพียง 3.8 ล้านโดสเท่านั้นที่จะส่งมาจากยุโรป นอกนั้นจะเป็นการผลิตเองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียยังมีสัญญาสั่งซื้อวัคซีนของ Novavax อีก 51 ล้านโดส แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล

 

ทำให้ในตอนนี้ แผนของรัฐบาลออสเตรเลียที่เดิมจะให้ประชาชนทุกคนได้รับวัคซีนครบถ้วนทั้งหมดภายในเดือนตุลาคมต้องถูกปรับใหม่เป็น ‘ประชาชนทุกคนจะได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส’ ในเวลาเดิม และรัฐบาลยังไม่สามารถให้คำตอบได้ด้วยว่าเมื่อใดที่ประชาชนทุกคนจะได้รับวัคซีนครบถ้วน และจากตัวเลขเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนแล้วเพียง 6.7 แสนโดส จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4 ล้านโดส หรือหากกล่าวง่ายๆ ก็คือ ฉีดวัคซีนไปได้เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น แต่รัฐบาลก็บอกไว้ก่อนช่วงสิ้นเดือนมีนาคมว่าการแจกจ่ายวัคซีนไม่ต้องจ่ายอย่างเร่งด่วน เพราะออสเตรเลียมีอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ต่ำ

 

สถานการณ์ตอนนี้ ทำให้พรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านออกมาวิจารณ์รัฐบาลที่ไม่สั่งซื้อวัคซีนกับ Moderna และ Johnson and Johnson นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวหาว่ารัฐบาลขาดความโปร่งใสในการจัดหาวัคซีนด้วย ซึ่งมอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ก็ออกมายืนยันว่ารัฐบาลได้ทำตามคำแนะนำทางสาธารณสุขในเรื่องการสั่งซื้อวัคซีน ส่วนศาสตราจารย์เมอร์ฟี รัฐมนตรีสาธารณสุขของออสเตรเลีย ก็บอกว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างการเจรจากับ Johnson and Johnson เพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมบอกว่าเลือก Pfizer เป็นหลัก เนื่องจากความสามารถในการส่งมอบที่มากกว่า Moderna และการที่ไม่ใช่บริษัทใหม่

 

ก่อนหน้านี้ มอร์ริสันได้ออกมาตำหนิความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีนของ AstraZeneca ว่าเกิดจากสหภาพยุโรปบล็อกการจัดส่งวัคซีนไปยังออสเตรเลีย ทำให้ไม่ได้รับวัคซีนกว่า 3 ล้านโดสเข้ามา แต่ทางสหภาพยุโรปก็ปฏิเสธเรื่องนี้ โดยบอกว่ามีการระงับการขนส่งวัคซีนเพียง 2.5 แสนโดสเท่านั้น และยืนยันว่าปัญหาการผลิตและจัดหาวัคซีนของ AstraZeneca นั้นเป็น ‘ปัญหาระดับโลก’

 

ภาพ: Mario Tama / Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising