×

ภาพลักษณ์ของวัคซีน: บทเรียนราคาแพงของการสื่อสารด้านสุขภาพ

09.02.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การแสวงหาวิธีการปกป้องชุมชนท้องถิ่นและชุมชนโลกในวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ไม่ได้จบลงที่การคิดค้นวิธีรักษา หากแต่การค้นหาวิธีรักษา เช่น การผลิตวัคซีน เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น 
  • สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทเรียนราคาแพงในครั้งนี้ก็คือ ‘วัคซีนที่ดี’ ต้องเกิดจาก ‘วิทยาศาสตร์ที่ดี’ และย่อมต้องได้รับการหล่อเลี้ยงด้วย ‘การสื่อสารที่ดี’ 

วัคซีนหลากหลายยี่ห้อได้รับการอนุมัติในช่วงเวลาไม่นานนักในหลายประเทศทั่วโลก หลังจากการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดปีและการทดลองทางคลินิกตัวอย่างวัคซีนโควิดนับครั้งไม่ถ้วน 

 

ในเดือนธันวาคมปี 2563 จีนเริ่มอนุมัติให้ใช้วัคซีน Sinopharm สำหรับการใช้งานทั่วไป สหราชอาณาจักรเริ่มอนุมัติวัคซีน Pfizer และ AstraZeneca สำหรับการใช้งานฉุกเฉิน และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ยาวไปถึงเดือนมิถุนายนในปีถัดมา องค์การอนามัยโลกก็ได้ทยอยอนุมัติวัคซีน 6 ยี่ห้อสำหรับการใช้งานฉุกเฉิน 

 

แน่นอนว่าการที่บริษัทต่างๆ สามารถผลิตวัคซีนโควิดออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็วจะช่วยคลายความกังวลใจในวงการแพทย์ไปได้บ้าง แต่การมีวัคซีนโควิดหลากหลายชนิดก็สร้างความสับสนให้กับประชาชนทั่วไปอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในเรื่องการแบ่งแยกวัคซีนที่ ‘ดี’ หรือ ‘ดีกว่า’ ออกจากวัคซีนที่ ‘แย่’ หรือ ‘แย่กว่า’ การสื่อสารที่ชัดเจนเรื่องความเสี่ยงและประโยชน์ของวัคซีนแต่ละประเภทจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับรัฐบาลของทุกประเทศในการรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้อย่างมีประสิทธิผล ไม่เช่นนั้นแล้วความสับสนในเบื้องต้นก็อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลังซึ่งอาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่องานด้านสาธารณสุข เช่น การนำเข้าวัคซีนบางยี่ห้อมากหรือน้อยเกินไป (Oversupply/Undersupply) หรือแม้กระทั่งการทำให้เกิดความลังเลใจของประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy)

 

การสื่อสารทัศนคติผ่านคำพูด

บทความนี้หยิบยกกรอบการวิจัยที่ชื่อว่า ‘อะเพรเซิล’ (Appraisal) ออกแบบโดย เจมส์ มาร์ติน และ ปีเตอร์ ไวต์ สองนักภาษาศาสตร์เชิงหน้าที่ (Functional Linguistics) 

 

กรอบการวิจัยนี้มองเห็นภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแสดงทัศนคติต่างๆ ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ มีการแบ่งวิธีการแสดงทัศนคติออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

 

  1. การแสดงอารมณ์ความรู้สึก (Affect) เช่น อารมณ์ที่รู้สึกกลัว/มั่นใจ

 

  1. การประเมินคุณค่าของสิ่งของและการกระทำ (Appreciation) เช่น วัคซีนดี/ไม่ดี

 

  1. การตัดสินลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมของคน (Judgement) เช่น คนที่มีความรับผิดชอบ/สะเพร่า

 

นอกจากนี้ เรายังสามารถปรับระดับของทัศนคติที่แสดงออกมาด้วยการใช้คำที่มีน้ำหนักแตกต่างกันผ่านคำขยายชนิดต่างๆ เช่น เมื่อกล่าวถึงวัคซีน ‘ที่ดี’ เราอาจเลือกเพิ่มหรือลดน้ำหนักการประเมินคุณค่าเชิงบวกนี้ผ่านคำพูดว่า วัคซีนนี้มีประโยชน์ ‘อย่างยิ่ง’ แทนที่จะบอกว่า ‘ค่อนข้าง’ มีประโยชน์ หรือในบางครั้งเราอาจจะเลือกพูดว่าวัคซีนชนิดนี้ ‘ส่วนใหญ่’ มีประสิทธิผลดี แทนที่จะพูดว่า วัคซีนนี้มีประสิทธิผลดี ‘บ้างในบางครั้ง’ น้ำหนักของการประเมินคุณค่าที่แตกต่างกันอาจจะแสดงผ่านคำขยายเชิงปริมาณที่บ่งชี้ถึงจำนวนที่แตกต่าง เช่น วัคซีนนี้มีประโยชน์ ‘หลากหลาย’ ที่ฟังดูแล้วมีน้ำหนักมากกว่าบอกว่า วัคซีนนี้มีประโยชน์ ‘2-3 ประการ’ หรือการใช้คำขยายที่บ่งชี้ขอบเขต เช่น วัคซีนนี้มีประโยชน์ ‘ทั้งในระยะยาวและระยะสั้น’ หรือใช้คำขยายที่กำหนดขอบเขตด้วยลักษณะร่วมบางประการ เช่น วัคซีนชนิดนี้ ‘ส่งผลดีต่อประชากรทุกเพศทุกวัย’ ในขณะที่วัคซีนอีกประเภทหนึ่งมีประสิทธิผลดีกับประชากรที่ ‘มีอายุมากกว่า 60 ปี’ เท่านั้น

 

ในการสื่อสารคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้วัคซีนโควิดนั้น รัฐบาลแต่ละประเทศจำเป็นต้องใช้ภาษาในการประเมินคุณค่าทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเพื่อสื่อสารข้อมูลกับประชาชน ตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า ‘ผลประโยชน์’ หรือ ‘การปกป้อง’ เพื่อเน้นคุณค่าในเชิงบวก หรือการใช้คำว่า ‘ความเสี่ยง’ หรือ ‘ผลข้างเคียง’ เพื่อเน้นคุณค่าเชิงลบ ในขณะเดียวกันก็ใช้คำขยายในระดับต่างๆ เพื่อปรับระดับการประเมินคุณค่าทั้งในเชิงบวกและลบ ในการสื่อสารเรื่องความเสี่ยงกับผลประโยชน์ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อย่างสมดุล เรื่องนี้นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมากต่อการรับรู้ของผู้คน โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

ในบทความนี้ ผู้เขียนทั้งสองคนขอนำเสนอข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบการใช้ภาษาแสดง ‘การประเมินคุณค่า’ (Appreciation) รูปแบบต่างๆ ที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลออสเตรเลียใช้ในการสื่อสารเกี่ยวกับวัคซีนโควิดกับประชาชนอย่างเป็นทางการ แถลงการณ์ของรัฐบาลที่เราหยิบยกมาพูดคุยกันในบทความนี้ล้วนเป็นเนื้อหาหลักของการสื่อสารด้านสาธารณสุข เช่น ประกาศหรือคำแนะนำจากทางการ ซึ่งนักการเมืองและสื่อมวลชนแขนงต่างๆ มักนำไปอ้างอิงต่ออย่างกว้างขวาง ตัวอย่างของประเทศไทยที่เราหยิบยกมาใช้ในการวิเคราะห์คือแถลงการณ์คำแนะนำด้านสาธารณสุขจากหน่วยงานและบุคลากรของรัฐระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน 2564 ส่วนตัวอย่างของออสเตรเลียนั้นหยิบยกมาจากแถลงการณ์ต่อสาธารณะของกลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของรัฐบาลออสเตรเลีย (Australian Technical Advisory Group on Immunisation: ATAGI) เกี่ยวกับการใช้วัคซีน AstraZeneca และวัคซีน Pfizer ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน 

 

‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ ของไทย

ประชาชนไทยเริ่มตื่นตัวกับโควิดตั้งแต่ตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศที่เป็นผู้เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในวันที่ 12 มกราคม 2563 อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนอย่างหนักแน่นในวันที่ 25 มกราคม 2563 ว่าโควิดเป็นเพียงแค่ ‘โรคหวัดโรคหนึ่ง’ แต่ทว่าหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน มหากาพย์แห่งการระบาดของโรคโควิดภายในประเทศไทยก็เริ่มต้นขึ้นจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 ตามด้วยการระบาดตามกลุ่มคลัสเตอร์ขนาดใหญ่อีกหลายระลอก

 

ในช่วงปีแรกของการระบาดในประเทศไทยในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนประกาศใช้ บุคคลในรัฐบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้มีอำนาจในการสั่งการต่างพยายามสร้างขวัญและกำลังใจให้ประชาชนที่กำลังตื่นตระหนกจากโรคอุบัติใหม่นี้ผ่านกลวิธีการสื่อสารตามแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาเน้นย้ำให้ประชาชนมั่นใจอีกครั้งในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ว่าประเทศไทยพร้อมรับมือกับการระบาดในครั้งนี้เพราะ ‘โควิดกระจอก’ ในช่วงเดียวกันนี้เองสื่อของรัฐบาลก็นำคำว่า ‘วัคซีน’ มาเล่นคำ เพื่อกล่าวถึงสิ่งที่ไม่ใช่วัคซีนในเชิงอุปมาว่าเป็น ‘เครื่องมือป้องกันโรค’ ที่ดียิ่งกว่าวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การใช้ช้อนกลาง หรือแม้กระทั่งการนำมาใช้ในเชิงนามธรรม เช่น ‘วัคซีนใจในชุมชน’ ที่หมายถึงมาตรการที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนร่วมมือร่วมใจกันในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาด

 

หน้ากากคือวัคซีนป้องกันโควิดที่ดีที่สุด (ศูนย์ข้อมูล COVID-19, 28 กันยายน 2563)

 

วัคซีนที่ดีที่สุดของประเทศตอนนี้คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ (กรมอนามัย, 20 ธันวาคม 2563)

 

วาทกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดอย่างหนักของโควิด และเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่รัฐบาลนานาประเทศต่างก็พยายามอย่างแข็งขันที่ระดมสรรพกำลังทั้งในเชิงงบประมาณและพลังการต่อรองทางการทูตเพื่อจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชนของตนได้ทันท่วงที วาทกรรมของรัฐบาลไทยที่พยายามทำให้คนเข้าใจว่าโควิดเป็นโรคที่ไม่ได้ร้ายแรงและไม่มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนอย่างเร่งด่วน รวมถึงการยกระดับคุณค่าให้สิ่งที่ไม่ใช่วัคซีนมีคุณค่ามากกว่าวัคซีนผ่านวาทกรรมเช่น ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงในหมู่ประชาชนชาวไทย ความไม่พอใจเหล่านี้เองที่ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ฝังใจว่ารัฐไทยมิได้ความจริงใจในการจัดหาวัคซีนที่เหมาะสมให้กับประชาชนมาตั้งแต่ต้น

 

รัฐบาลเริ่มเปลี่ยนท่าทีมาสนับสนุนการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิดหลังจากที่วัคซีน Sinovac จำนวน 2 แสนโดส เดินทางมาถึงประเทศไทยเป็นล็อตแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 มีการออกประกาศเน้นย้ำถึงความปลอดภัยของวัคซีนเชื้อตายเพื่อจูงใจให้คนเข้ารับการฉีดวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ที่มีตำแหน่งสำคัญหลายคน เช่น นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หรือ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างพร้อมใจกันออกแถลงการณ์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนเชื้อตาย

 

เมื่อมองผ่านเลนส์ของกรอบการวิจัย ‘อะเพรเซิล’ (Appraisal) ดังที่กล่าวไปข้างต้นก็จะเห็นได้ว่า คำพูดของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลใช้ในการแถลงการณ์เพื่อให้ข้อมูลและชักจูงใจให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนล้วนแล้วแต่ใช้ภาษาที่การันตีคุณค่าในเชิงบวกของวัคซีน Sinovac ที่เพิ่งนำเข้ามาจากประเทศจีนในช่วงเวลานั้นในระดับสูงมาก เช่น การขอให้ประชาชน ‘มั่นใจ’ ในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย พร้อมทั้งฟันธงรับรองคุณสมบัติของวัคซีนว่าสามารถ ‘ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%’ และมี ‘ประสิทธิภาพไม่แตกต่าง’ จากวัคซีน Moderna หรือ Pfizer

 

“จะพบว่าไม่ว่าวัคซีนที่ใช้ในยุโรป อเมริกา หรือไทย ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ไม่ว่าจะเป็น Sinovac หรือ AstraZeneca ก็ป้องกัน 100% แม้อเมริกันจะฉีดของ Moderna หรือ Pfizer แต่ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันเลย จึงขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย”

 

ในขณะที่สื่อรายงานข่าวแทบทุกวันว่ามีผู้ที่ได้รับวัคซีนเสียชีวิตทั้งจากโควิดและจากอาการข้างเคียงของวัคซีนที่ฉีดเป็นจำนวนมาก การใช้ภาษาแบบฟันธงเพื่อรับรองประสิทธิภาพของวัคซีนในระดับสูงเช่นนี้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดความกังขาข้องใจกับข้อมูลทางการแพทย์ดังกล่าว และข้อกังขาเหล่านี้เองก็นำไปสู่ความเสี่ยงที่ลดทอนความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากรัฐบาลและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ โดยเฉพาะเมื่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิดแต่ละชนิดเริ่มชัดเจนขึ้นในสังคมโลกในเวลาต่อมา

 

ในขณะเดียวกัน การกล่าวรับรองประสิทธิภาพของวัคซีนผ่านระดับการให้คุณค่าที่คลุมเครือจากรัฐบาลและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล ก็ทำให้เกิดปัญหาในการตีความและสร้างความสับสนกับประชาชนได้ไม่น้อย เช่น นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมาแถลงกับประชาชนว่า ทั้งวัคซีน Sinovac และวัคซีน AstraZeneca ‘ถือเป็นวัคซีนที่ดี ใช้การได้’ และ ‘มีประสิทธิภาพพอสมควร’ การให้คุณค่าแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยไม่ระบุระดับความเสี่ยงที่แน่ชัดเช่นนี้ก็ทำให้ผู้ฟังตีความได้ว่าวัคซีนทั้งสองชนิดนี้เป็นวัคซีนที่ ‘พอใช้ได้’ และอาจจะลดระดับไปถึงขั้น ‘ไม่ดีพอ’ เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆ

 

“วัคซีนที่ดี ณ เวลานี้ คือวัคซีนที่มาถึงแขนทุกท่านเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นวัคซีนที่ อย. ได้พิจารณาทบทวนคุณภาพความปลอดภัย ประสิทธิภาพแล้ว ขึ้นทะเบียนแล้ว ถือเป็นวัคซีนที่ดี ใช้การได้”

 

การสื่อสารที่สร้างความสับสนปนความสงสัยในความจริงใจของรัฐบาลมีขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา โดยเฉพาะหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ Sinovac เป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงปลายเดือนตุลาคม 2564 ประชาชนไทยได้รับข้อมูลและคำแนะนำทางการแพทย์ทั้งจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 (ศบค.) กรมควบคุมโรค และสื่อต่างๆ ของรัฐที่พร้อมใจกันนำเสนอข้อมูลด้านลบ (Negative Appreciation) ของการฉีดวัคซีนแบบ mRNA ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นประเทศไทยก็ยังไม่สามารถจัดหาวัคซีนประเภทนี้ให้ประชาชนได้เพราะปัญหาด้านการบริหารและการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล จนเกิดการล้อเลียนวาทกรรมของรัฐอย่างกว้างขวาง เช่น ‘วัคซีนที่ดีคือวัคซีนที่ (ไทยไม่) มี’

 

 

ความสับสนจากวาทกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลสร้างขึ้นตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดไปจนถึงสถานการณ์และบริบททางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการทดสอบประสิทธิภาพการใช้วัคซีนที่แตกต่างกันในประเทศต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง การใช้วาทกรรมที่ผิดพลาดในการประเมินคุณค่าและความเสี่ยงของวัคซีนทำให้ประชาชนไทยจำนวนมากสูญเสียความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการโควิดและการจัดหาวัคซีนที่เหมาะสมของรัฐบาล นอกจากนั้น การที่สื่อของรัฐพยายามเน้นย้ำคุณค่าในเชิงลบของวัคซีน mRNA ในช่วงที่ไทยยังจัดหาให้ประชาชนไม่ได้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไทยบางส่วนเกิดความลังเลใจในการเข้ารับการฉีดวัคซีนชนิดนี้เมื่อวัคซีนมาถึง แม้ว่าผลการทดสอบในประเทศอื่นๆ จะบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าวัคซีน mRNA มีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนเชื้อตายก็ตาม

 

การให้คุณค่าของวัคซีนที่ขัดแย้งกันเองในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงปัญหาในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำได้ตามระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้เกิดทัศนคติการจัดลำดับวัคซีนในการรับรู้ของประชาชนที่มีทั้ง ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ ‘วัคซีนที่พอใช้ได้’ และ ‘วัคซีนที่แย่’ การจัดลำดับวัคซีนเหล่านี้นำไปสู่ปรากฏการณ์การใช้ ‘วัคซีนสูตรไขว้’ เพื่อให้ร่างกายได้รับ ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’ เท่าที่รัฐจะจัดหามาได้ในแต่ละช่วงเวลา จนสุดท้ายประชาชนชาวไทยก็ได้รับ ‘วัคซีนเต็มแขน’ ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเคยลั่นวาจาไว้

 

ว่าด้วยความสับสนจากแถลงการณ์ของรัฐบาลออสเตรเลีย

ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมปี 2564 กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของรัฐบาลออสเตรเลีย หรือเรียกสั้นๆ ว่า ATAGI ได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับการใช้วัคซีนโควิด AstraZeneca และ Pfizer ออกมา 3 ฉบับ ฉบับแรกที่ประกาศในเดือนเมษายนเป็นคำแนะนำให้ใช้วัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ต่อมาในเดือนมิถุนายนได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 โดยปรับแก้อายุกลุ่มประชากรผู้รับวัคซีน AstraZeneca เพิ่มจาก 50 ปีขึ้นไป เป็น 60 ปีขึ้นไป โดยประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปีทุกคนให้ใช้วัคซีน Pfizer แทน ส่วนแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายที่ออกมาในเดือนกรกฎาคมถือเป็นฉบับที่พลิกคำแนะนำที่เคยให้ไว้ใน 2 ฉบับก่อนจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยแนะนำให้กลุ่มประชากรผู้ใหญ่ทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในรัฐนิวเซาท์เวลส์สามารถเลือกฉีดวัคซีนได้ทั้ง AstraZeneca และ Pfizer เนื่องจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นของโควิด

 

 

ในประกาศฉบับแรกของ ATAGI ที่กำหนดอายุผู้รับวัคซีน AstraZeneca ไว้ที่กลุ่มประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะเห็นวิธีการใช้คำที่ประเมินคุณค่าในเชิงลบ (Negative Appreciation) ของการติดเชื้อโควิดในกลุ่มประชากรสูงอายุพร้อมๆ กับการยกระดับคุณค่าในเชิงบวก (Positive Appreciation) ของการได้รับวัคซีน AstraZeneca เพื่อชักจูงใจให้ประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเข้ารับการฉีดวัคซีนดังกล่าว

 

This recommendation is based on the increasing risk of severe outcomes from COVID-19 in older adults (and hence a higher benefit from vaccination)…

 

คำแนะนำนี้อิงจากความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นที่จะเกิดผลตามมาที่รุนแรงจากโควิดในผู้สูงอายุ (ดังนั้นประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนก็มีมากยิ่งขึ้น)

 

ในทางตรงกันข้าม เมื่อสื่อสารกับกลุ่มประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี รัฐบาลกลับมุ่งเน้นการสื่อสารเรื่องความเสี่ยงจากวัคซีน AstraZeneca มากกว่าเรื่องความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด ซึ่งนำไปสู่การประเมินคุณค่าในทางลบ (Negative Appreciation) ที่มีต่อวัคซีน AstraZeneca สำหรับประชากรกลุ่มนี้

 

…and a potentially increased risk of thrombosis with thrombocytopenia following AstraZeneca vaccine in those under 50 years

 

…และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นในการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน (Thrombosis) และภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ในประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี หลังจากได้รับวัคซีน AstraZeneca 

 

จุดที่น่าสนใจก็คือ แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงประโยชน์ที่กลุ่มประชากรอายุต่ำกว่า 50 ปีอาจจะได้รับจากวัคซีน AstraZeneca และไม่ได้กล่าวถึงผลข้างเคียงจากวัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ข้อมูลดังกล่าวนี้เองที่อาจจะมีส่วนทำให้ประชาชนบางกลุ่มเชื่อว่าการประเมินคุณค่าทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเกี่ยวกับวัคซีน AstraZeneca ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอายุประชากรนั้นๆ จะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไปโดยไม่เปลี่ยนแปลง ในเรื่องนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะตั้งข้อเสนอแนะว่า หากเราต้องรับมือกับโรคระบาดกันอีกครั้ง รัฐบาลควรเน้นย้ำให้ประชาชนเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ตลอดทุกขั้นตอนที่สื่อสารกับสาธารณะ ตัวอย่างที่ดีของการสื่อสารเช่นนี้เห็นได้จากประกาศเดียวกันจากทาง ATAGI ในช่วงระยะหลังๆ ซึ่งระบุข้อความว่า ‘อาจมีการปรับปรุงแก้ไขคำแนะนำเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม’

 

ตัวอย่างบางส่วนของแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ที่ยกมาด้านล่างนี้ทำให้เห็นว่าทาง ATAGI ยังคงเน้นให้เกิดการประเมินคุณค่าในเชิงบวกต่อประโยชน์ของการได้รับวัคซีนโควิดในประชากรสูงอายุอยู่ อย่างไรก็ดี แถลงการณ์นี้เน้นการประเมินคุณค่าในเชิงลบต่อวัคซีน AstraZeneca ในผู้ป่วยกลุ่มอายุ 50-59 ปีมากขึ้นกว่าฉบับแรก ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้คำแนะนำเรื่องการใช้วัคซีน AstraZeneca ที่เพิ่งปรับแก้ไปฟังดูสมเหตุสมผลมากขึ้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าในแถลงการณ์นี้มีการระบุระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นที่เพิ่งค้นพบจากการรับวัคซีน AstraZeneca ของกลุ่มอายุ 50-59 ปี

 

The recommendation is revised due to a higher risk and observed severity of thrombosis and thrombocytopenia syndrome (TTS) related to the use of AstraZeneca COVID-19 vaccine observed in Australia in the 50-59 year old age group than reported internationally and initially estimated in Australia.

 

คำแนะนำนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากความเสี่ยงและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดกลุ่มโรคลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis and Thrombocytopenia Syndrome: TTS) อันเกี่ยวข้องกับการใช้วัคซีน AstraZeneca ที่พบในประเทศออสเตรเลียในกลุ่มประชากรอายุ 50-59 ปี เพิ่มขึ้นจากที่มีการรายงานในประเทศอื่นๆ และการคาดการณ์ในเบื้องต้นในออสเตรเลีย

 

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีการระบุถึงความเสี่ยงจากการได้รับวัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีไว้แต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่าจุดประสงค์ของแถลงการณ์ฉบับนี้คือการให้กลุ่มประชากรอายุระหว่าง 50-59 ปีไม่เลือกรับวัคซีน AstraZeneca ตามคำแนะนำก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ยังคงมีการส่งเสริมให้ใช้วัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มแรกและไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ รัฐบาลใช้วิธีการสื่อสารด้วยการลดระดับความเสี่ยงของการได้รับวัคซีน AstraZeneca สำหรับทุกช่วงอายุ

 

This is supported by data indicating a substantially lower rate of TTS following a second COVID-19 Vaccine AstraZeneca dose in the United Kingdom (UK).

 

หลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวนี้มาจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ในสหราชอาณาจักร อัตราการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ (TTS) ลดลงอย่างมากหลังได้รับวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 

 

การเลือกใช้คำขยายเชิงปริมาณที่คลุมเครือ เช่น คำว่า ‘สูงกว่า’ หรือ อัตราที่ ‘ลดลงอย่างมาก’ เมื่อต้องการเพิ่มหรือลดความเสี่ยงจากการใช้วัคซีน AstraZeneca นั้น น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เป็นตัวการทำให้ประชาชนสับสนและลังเลใจมากขึ้นในการเลือกรับวัคซีน AstraZeneca เพราะการใช้คำขยายเชิงปริมาณที่คลุมเครือเช่นนี้ เป็นการอ้างอิงจากความคิดเห็นซึ่งทำให้เกิดการตีความได้หลายแบบ เช่น คนอาจตีความคำว่า ‘ความเสี่ยงที่ต่ำกว่า’ หรือ ‘ความเสี่ยงที่สูงกว่า’ แตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะยอมรับได้ ดังนั้น ในการสื่อสารเพื่อรับมือกับโรคระบาดในอนาคต ควรพิจารณาให้ข้อมูลด้านสถิติแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น เพื่อนิยามระดับของความเสี่ยงต่างๆ ให้ชัดเจน แม้ว่ารายละเอียดของข้อมูลที่ทางการใช้ประกอบการตัดสินใจจะปรากฏอยู่ในส่วนท้ายของประกาศจากทาง ATAGI แต่ก็น่าเสียดายว่าแทบจะไม่มีการเน้นสื่อสารข้อมูลเหล่านี้เลยในการแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน   

 

ในแถลงการณ์ของ ATAGI ฉบับที่ 3 เราพบการใช้รูปแบบการสื่อสารใหม่ๆ หลายอย่างในการประเมินคุณค่าของวัคซีน ข้อมูลต่างๆ ที่พบในแถลงการณ์ฉบับนี้มีความแตกต่างจากแถลงการณ์ 2 ฉบับก่อนอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ แถลงการณ์ฉบับนี้มุ่งเน้นเรื่องประโยชน์ของการฉีดวัคซีนในช่วงโรคระบาด (Positive Appreciation) อย่างเดียว โดยไม่ได้ระบุผลข้างเคียงใดๆ (Negative Appreciation) พูดง่ายๆ ว่าในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนยี่ห้อใดก็ตาม ทั้งวัคซีน AstraZeneca และอื่นๆ ถือเป็น ‘วัคซีนที่ดี’ อย่างไม่มีข้อกังขา แถลงการณ์ฉบับนี้ยังเน้นปัจจัยด้านเวลาผ่านการใช้คำว่า ‘bring forward’ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้นด้วย

 

…consider getting vaccinated with any available vaccine including COVID-19 Vaccine AstraZeneca (…) can receive the second dose of the AstraZeneca vaccine 4 to 8 weeks after the first dose (…) to bring forward optimal protection.

 

…ให้พิจารณารับวัคซีนใดก็ตามที่มีอยู่ รวมทั้งวัคซีนโควิด AstraZeneca ด้วย (…) สามารถรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ในระยะเวลา 4-8 สัปดาห์หลังจากเข็มแรก (…) เพื่อให้เกิดความคุ้มกันสูงสุดเร็วยิ่งขึ้น

 

นอกจากนั้น เรายังได้เห็นการปรับขอบเขตการประเมินคุณค่าในแง่ของประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนให้กว้างขึ้น นอกจากปัจจัยด้านอายุที่ครอบคลุมผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 18 ปีทุกคนแล้วยังครอบคลุมไปถึงปัจจัยเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัยในซิดนีย์ด้วย

 

All individuals aged 18 years and above in greater Sydney, including adults under 60 years of age, should strongly consider…

 

ทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตซิดนีย์และปริมณฑล รวมทั้งผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณา…

 

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ที่เราไม่เคยเห็นในแถลงการณ์ฉบับก่อนๆ เลยก็คือ การสื่อสารข้อมูลเรื่องจำนวนของวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาได้ รัฐบาลจำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลที่อาจจะเป็นลบกับภาพลักษณ์ในการบริหารงานของตัวเอง โดยเฉพาะการแจ้งข้อจำกัดเรื่องจำนวนของวัคซีน Pfizer ที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในขณะนั้นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนผู้ใหญ่ในทุกช่วงอายุหันมาพิจารณาถึงประโยชน์ในการรับวัคซีน AstraZeneca อย่างทันท่วงที เพื่อแลกกับความเสี่ยงในการติดโควิดถ้าต้องรอรับการฉีดวัคซีน Pfizer ที่ยังมาไม่ถึง

 

This is on the basis of the increasing risk of COVID-19 and ongoing constraints of Comirnaty (Pfizer) supplies.

 

คำแนะนำนี้อิงจากความเสี่ยงของโควิดที่เพิ่มขึ้น และข้อจำกัดอย่างต่อเนื่องในด้านเสบียงวัคซีน Comirnaty (Pfizer) ที่มี

 

จะเห็นได้ว่าการประเมินคุณค่าของวัคซีน AstraZeneca ในแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายเมื่อเทียบกับแถลงการณ์ 2 ฉบับก่อนหน้าของ ATAGI แสดงข้อมูลที่แตกต่างกันมากจนประชาชนไม่สามารถปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่มีต่อวัคซีน AstraZeneca จากวัคซีนที่ดู ‘แย่’ ไปเป็นภาพลักษณ์ของวัคซีนที่ดู ‘ดี’ ได้ตามประสงค์ของรัฐบาล แถลงการณ์ฉบับสุดท้ายของรัฐบาลพยายามกระตุ้นให้คนหันไปสนใจประโยชน์ที่จะได้จาก ‘การปกป้องตนเองแต่เนิ่นๆ’ จากการฉีดวัคซีน AstraZeneca จากที่แถลงการณ์ก่อนหน้านี้เคยมุ่งความสนใจไปที่เรื่องผลข้างเคียง ‘ที่รุนแรงแต่เกิดขึ้นได้น้อย’ ของวัคซีน AstraZeneca มากกว่า นอกจากนี้ แถลงการณ์ฉบับสุดท้ายยังขอให้ประชาชนตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนโดยคำนึงถึงปัจจัยด้านจำนวนของวัคซีน Pfizer ที่รัฐหามาได้อย่างจำกัด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความสามารถในการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล มากกว่าที่จะคล้อยตามรัฐบาลในเรื่องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่มีต่อวัคซีน AstraZeneca

 

 

บทเรียนของการสื่อสารด้านสุขภาพ

การสื่อสารด้านสุขภาพจากรัฐถึงประชาชนอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ในความเป็นจริง ข้อมูลทางการแพทย์เป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคน เมื่อปักใจเชื่ออะไรแล้วก็มักจะเชื่อเช่นนั้นไปตลอด ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ง่ายๆ การสื่อสารกับสาธารณะจึงต้องพูดถึงความเสี่ยงและผลประโยชน์ในเชิงสุขภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เน้นการให้ข้อมูลอย่างสมดุลไม่เทเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ในระยะสั้นๆ และมีตัวอย่างประกอบให้เห็นได้ชัดเจน พร้อมทั้งเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ข้อแนะนำต่างๆ ในช่วงโรคระบาดเป็นข้อแนะนำชั่วคราวที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ท้ายที่สุดแล้ว การแสวงหาวิธีการปกป้องชุมชนท้องถิ่นและชุมชนโลกในวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ไม่ได้จบลงที่การคิดค้นวิธีรักษา หากแต่การค้นหาวิธีรักษา เช่น การผลิตวัคซีน เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากบทเรียนราคาแพงในครั้งนี้ก็คือ ‘วัคซีนที่ดี’ ต้องเกิดจาก ‘วิทยาศาสตร์ที่ดี’ และย่อมต้องได้รับการหล่อเลี้ยงด้วย ‘การสื่อสารที่ดี’ 

 

อ้างอิง: 

FYI

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Comparative assessment of the pandemic responses in Australia and Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจาก The Australia-ASEAN Council, Australia-ASEAN Council COVID-19 Special Grants Round กระทรวงการต่างประเทศและการค้าประเทศออสเตรเลีย

 

ติดตามข้อมูลและข่าวสารของโครงการได้ทางเว็บไซต์ www.austhaipandemic.com และ Facebook: AusThaiPandemic

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising