×
SCB Omnibus Fund 2024

ลูกบ้านแอชตัน อโศก วอนขอความช่วยเหลือ เกรง ‘เงินที่ผ่อนไปจะเป็นการผ่อนฟรีหรือเปล่า’

10.08.2021
  • LOADING...
Ashton Asoke

“สิ่งที่พวกเราลูกบ้านกำลังคิดในตอนนี้คือ การผ่อนธนาคารต่อไปอีก 30 ปีจะเป็นการสูญเปล่าหรือไม่ และค่าส่วนกลางจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับทราบถึงความคืบหน้าในคดีเลยจนมีข่าวออกมา” หนึ่งในคำพูดของลูกบ้านแอชตัน อโศก ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่ได้แถลงผ่าน Facebook Live ในช่วงบ่ายวันนี้ (10 สิงหาคม)

 

จากกรณีที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ และมาตรา 39 ตรี แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือแจ้งความประสงค์ดังกล่าวทุกฉบับ

 

คำพิพากษาในคดีดังกล่าวทำให้กลุ่มลูกบ้านแอชตัน อโศก มีความกังวลว่า ในกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง อาจเป็นเหตุทำให้หน่วยงานราชการรื้อถอนอาคารห้องชุดพักอาศัยในโครงการแอชตัน อโศก และ/หรือ เพิกถอนการจดทะเบียนอาคารชุดอันเป็นการกระทำให้กลุ่มลูกบ้านแอชตัน อโศก ผู้ซื้อห้องชุดพักอาศัยในโครงการดังกล่าวจะได้รับความเสียหายจากผลกระทบดังกล่าว

 

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงได้รวมตัวกันและแถลงผ่าน Facebook ที่ชื่อว่า ‘ลูกบ้านแอชตัน อโศก ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง’ (อนันดาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันมี 578 ครอบครัว 666 ยูนิต ที่ย้ายเข้าอยู่แล้ว) โดยระบุถึงความคืบหน้าว่า “พวกเราตัดสินใจว่าจะจ้างที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายที่จะเป็นตัวแทนในการเข้าไปรับฟัง ซึ่งจะมีค่าใช้เกิดขึ้น จนนำไปสู่คำถามว่าจะเป็นการสูญเปล่าหรือไม่ ถ้าตึกถูกทุบทิ้ง เงินที่ผ่อนไปจะเป็นการผ่อนฟรีหรือเปล่า

 

“ใครจะเยียวยา ใครจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกบ้าน ทั้งในระยะสั้นคือการรีไฟแนนซ์ ความเชื่อมั่นในการพักอยู่อาศัย และในระยะยาวในเรื่องคดีความต่างๆ” (อนันดาประเมินว่า การพิจารณาตามกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดอาจจะต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี)

 

กลุ่มลูกบ้านได้ออกแถลงการณ์ถึงข้อเรียกร้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานราชการ ดำเนินการแก้ไขเยียวยาในสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ดังต่อไปนี้

 

  1. ขอให้ทางผู้พัฒนาโครงการและสถาบันการเงิน ให้ความช่วยเหลือในการพิจารณาคำขอรีไฟแนนซ์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสถาบันการเงินโดยเร่งด่วน (อนันดาให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า มี 348 ครอบครัวที่ใช้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจาก 9 สถาบันการเงิน มีมูลค่ารวมเกือบ 3 พันล้านบาท)

 

  1. ขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตก่อสร้าง หรือตามกฎหมายควบคุมอาคาร พิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอันสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยเสนอให้มีการแก้ไขกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามความเจริญของชุมชนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อป้องกันมิให้โครงการห้องชุดพักอาศัยที่อยู่ในแนวรถไฟฟ้าใต้ดินกว่า 100 โครงการที่มีความสูงตั้งแต่ 8 ชั้นขึ้นไป ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันกับโครงการของเรา

 

  1. ขอให้คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคอันสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสนอแนวทางเยียวยาแก่กลุ่มลูกบ้านชาวแอชตัน อโศก ที่ได้รับผลกระทบ

 

กลุ่มลูกบ้านได้ระบุต่อว่า “ถ้าเกิดเหตุการณ์ให้เพิ่งถอนและถูกทุบทิ้ง ถึงเวลานั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะเป็นหน่วยงานรัฐหรืออนันดา เพราะบริษัทที่ทำธุรกรรมด้วยคือ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ถึงเวลานั้นบริษัทจะยังอยู่เยียวยาให้เราไหม แล้วในระหว่างนี้จะมีการตั้งสำรองหนี้เผื่อไว้ให้พวกเราไหม ซึ่งในงบการเงินที่ผ่านมา บริษัทไม่ได้มีการตั้งงบสำรองในส่วนนี้ไว้ หรือจะเป็นภาครัฐที่จะเข้ามาเยียวยา

 

“เราเข้าใจว่าจะเป็นอนาคตอีกยาวไกล แต่ในฐานะผู้บริโภคที่หากินอย่างสุจริต ก็อดไม่ได้ที่จะคิดเผื่อไปถึงข้างหน้า ท้ายที่สุดชาวลูกบ้านอโศกขอเคารพในคำตัดสินของศาลข้างต้น เคารพกฎหมาย และความถูกต้องถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ท้ายที่สุดคำตัดสินของศาลสูงสุดออกมาแล้วว่าไม่ชอบ (ต่อกฎหมาย) และส่งผลกระทบให้มีการรื้อถอนอาคาร เราก็ยังเคารพในกฎหมายอยู่ดี แต่เราแค่อยากวิงวอนช่วยพิจารณาถึงผลกระทบต่อพวกเรา และขอความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมจากผลกระทบที่เราได้รับและอาจจะได้รับในอนาคต”

 

ขณะเดียวกัน ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ทำหนังสือเรื่อง ‘ขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบจากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคประชาชน และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ’ ต่อ ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย 

 

โดยระบุว่า เนื่องด้วยกรณีที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าของอาคารชุดแห่งหนึ่งบนถนนอโศกมนตรี ได้รับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างของโครงการพักอาศัยที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่โดยมีผู้เข้าอยู่อาศัยมานานมากกว่า 2 ปีแล้ว โดยให้มีผลเป็นการย้อนหลัง 

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาคมอาคารชุดไทยได้ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และพบว่า การเพิกถอนใบอนุญาตโดยมีผลย้อนหลัง แม้ว่าโครงการจะผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทุกภาคส่วนตามขั้นตอนแล้ว ทำให้เกิดข้อห่วงกังวลของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย  

 

โดยมีผู้พักอาศัยถึง 578 ครอบครัว จาก 20 ประเทศทั่วโลก ที่ได้ใช้ทรัพย์ซื้อที่อยู่อาศัยอันเป็นสิ่งจำเป็นโดยสุจริต จากเหตุการณ์ข้างต้นอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อันอาจมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจธนาคาร สินเชื่อลูกค้ารายย่อย หรือหลักประกันการชำระหนี้ต่างๆ 

 

“ทุกฝ่ายขาดความเชื่อถือต่อระบบการขออนุญาตจากทางราชการ และมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน และเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

 

“จึงเรียนมาเพื่อขอความร่วมมือในการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากผลกระทบจากคำตัดสินของศาลปกครองกลาง ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคประชาชนผู้สุจริต และความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทย” นายกสมาคมอาคารชุดไทยกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising