เพราะนิยามคำว่า ‘ศิลปะ’ ไม่เคยมีคำจำกัดความที่ชัดแจ้งและตายตัว ทำให้โลกของศิลปะยังคงเป็นสิ่งที่น่าค้นหาอยู่ในทุกยุคสมัย แต่ศิลปะคืออะไร และใครๆ ก็เป็นศิลปินได้จริงหรือ THE STANDARD ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งคำถามกับ 10 บุคคลที่โคจรอยู่ทั้งรอบในและรอบนอกของโลกศิลปะ
อ่านเรื่อง Gallery 101: เปิดเส้นทางผลงานศิลปะ เบื้องลึกอาชีพคิวเรเตอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังการเกิดของศิลปินหน้าใหม่ ได้ที่นี่
“ศิลปะคือรถ ผมชอบรถมาตั้งแต่เด็ก พ่อผมเป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถ พ่อชวนผมขึ้นรถไปด้วยทุกครั้ง ศิลปะคือรถ คือโมเดลรถ คือรูปรถ ผมเริ่มทำโมเดลรถจากกระดาษ A4 ในปี 2545 รถหนึ่งคันทำจากกระดาษ A4 หนึ่งแผ่น”
“ผมมักจะบอกกับนักศึกษาว่าศิลปะก็ไม่ต่างจากก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ซึ่งในก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามนั้นมันมีส่วนประกอบต่างๆ เส้น น้ำ แต่ในขณะเดียวกัน ก๋วยเตี๋ยวจะอร่อยไหมก็ต้องอาศัยพ่อครัวที่มีฝีมือในการปรุง พ่อครัวมีฝีมืออย่างเดียวไม่พอ ถ้าคนชิมมีเทสต์ที่ตรงกันกับพ่อครัวก็อร่อย เราจะเห็นว่าจะมีร้านก๋วยเตี๋ยวบางเจ้าที่ใครกินก็อร่อย งานศิลปะก็เช่นกัน งานศิลปะบางประเภทเหมาะสำหรับคนบางกลุ่ม แต่บางชิ้นกลายเป็นว่าคนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจได้ ศิลปะถูกทำมามากมาย ศิลปะเกิดมาก่อนเราด้วยซ้ำ เมื่อใดก็ตามที่สังคมมันเคลื่อน งานศิลปะก็เคลื่อนตามไปด้วย ในอีกแง่หนึ่งศิลปะจึงเป็นสิ่งที่เคลื่อนไปกับการพัฒนาทางสังคม ศิลปะคือภาพสะท้อน คือบันทึกทางประวัติศาสตร์ของสังคม เราเรียนรู้ว่าอียิปต์เป็นอย่างไรก็มาจากงานศิลปะ”
“ศิลปะเป็นเหมือนยารักษาโรค เพราะเวลาที่เราทุกข์ใจ เราสามารถใช้งานศิลปะเยียวยาความรู้สึก ระบายความอัดอั้น ปลดปล่อยความทุกข์ออกมาผ่านความสวยงามในมุมมองของแต่ละคนได้ การสร้างงานศิลปะหนึ่งชิ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพถ่าย งานเขียน หรืองานอื่นๆ ที่เราทำออกมาด้วยจินตนาการ ความรู้สึก และความชอบ มันจะรู้สึกได้ว่าเราผ่อนคลายและมีพลังขึ้นมานิดหนึ่ง เหมือนได้ปลดปล่อยพลังลบออกไปจากชีวิต ถ้าทำได้บ่อย เราอาจจะเป็นคนที่ลืมความทุกข์ได้ไวขึ้นก็ได้”
“ศิลปะคืออะไรก็ได้ เสน่ห์ของศิลปะจึงกลายเป็นสิ่งที่คลุมเครือ เป็นสิ่งที่ถูกวิวัฒนาการด้วยกลุ่มบุคคลในแต่ละยุค แต่ละสมัย มีการเปลี่ยนแปลงรสนิยม การแสวงหา การค้นหามุมมองความงามในรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น การนิยามคำว่าศิลปะก็เช่นเดียวกับศิลปิน ไม่มีใครห้ามว่าใครจะเป็นศิลปิน ใครจะไม่เป็นศิลปิน อุปมาอุปไมยเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นเน็ตไอดอลได้นั่นเอง เราจะพบว่าหลายคนก็เป็นศิลปินได้เพียงชั่วข้ามคืน เคยมีคำอภิปรายว่าบุคคลแค่ทำงานอะไรสักอย่างก็สามารถผันตัวไปเป็นศิลปินได้แล้ว แต่ในเชิงรายละเอียดต้องมาคุยว่าเชิงคุณภาพ เชิงความเข้มแข็งมันเป็นอย่างไร สมมติคุณวาดภาพหนึ่งชิ้น คุณก็สามารถจำลองสถานการณ์การเป็นศิลปินได้แล้ว แต่ความหนักแน่นและความต่อเนื่องต่างหากคือสิ่งที่ต้องพูดถึงต่อไป”
“โรสทำงานกับเด็กๆ ที่มีภาวะออทิสซึม เด็กๆ ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม และเด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้อื่นๆ โรสจึงเชื่อว่าศิลปะเป็นภาษาของจิตวิญญาณ เราอาจจะไม่ต้องเข้าใจความหมายของมันเสมอไป แต่โรสเชื่อว่าทุกผลงานมีการใส่จิตวิญญาณในการทำงานของเขาเข้าไป ไม่ว่างานนั้นจะออกมาแล้วคนชม มีคนเข้าใจหรือไม่ก็ตาม แต่ศิลปะได้บอกว่าผู้สร้างสรรค์กำลังต้องการสื่อสารบางอย่าง แน่นอนว่าเราอาจจะตีความไม่ได้ เราอาจจะไม่เข้าใจภาษาจิตวิญญาณของเขาก็ได้ มันเหนือคำพูด แต่การใช้สี สเปซ การหยิบรูปแบบต่างๆ มาใช้ มันเป็นความหมายส่วนตัวของเขา ซึ่งเราอาจจะไม่มีความสามารถในการตีความหรือทำความเข้าใจ แต่ท้ายที่สุดศิลปะชิ้นนั้นๆ สามารถเคลื่อนบางสิ่งบางอย่างข้างในของเราได้ ทุกครั้งที่เรามองงานศิลปะ ข้างในของเรามันมีการสั่นสะเทือน พอมันมีการสั่นสะเทือน บทสนทนามันเกิดขึ้นแล้วโดยที่ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องเข้าใจความหมายก็ได้”
“ศิลปะคือการแสดงออกทางความคิดที่มีอิสระ คือการให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น หรือบางครั้งก็เป็นความรู้สึกภายใน เป็นความคิด อย่างภาพยนตร์เองก็มีคนบอกว่ามันเป็นศิลปะแขนงที่ 7 ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ภาพยนตร์เพิ่งมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน มันจึงเป็นศาสตร์ที่มีพื้นที่ให้ศิลปินหรือคนทำภาพยนตร์ได้ทดลองวิธีการเล่าเรื่องในแบบใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ขณะเดียวกันก็มีคนบอกว่านอกจากภาพยนตร์จะเป็นศิลปะแล้วยังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถทำเงินได้ ต้องมีการลงทุนและมีการทำกำไรกลับมา ภาพยนตร์จึงก้ำกึ่งระหว่างผู้คน วัฒนธรรมป๊อป และประชานิยม”
“ศิลปะดื่มด่ำกับความเอ็กซ์คลูซีฟของตัวเองอยู่พอประมาณ ถ้าจะให้นิยามศิลปะ คำนี้ยากมาก และสำคัญตรงที่ว่าใครเป็นคนถาม เพราะศิลปะของโลกศิลปะไม่เหมือนศิลปะของโลกข้างนอกที่มองเข้ามา คำนิยามศิลปะจึงแล้วแต่ว่าเป็นศิลปะในโลกไหนมากกว่า ซึ่งมันมีมากกว่าสองโลกด้วยซ้ำ สำหรับผม ความสนุกของงานศิลปะคือการคิดแล้วก็สร้างมัน ถ้าไม่สนุกก็อย่าทำมันเลย เพราะมันแทบจะหาเหตุผลในการทำงานศิลปะไม่ได้ ถ้าจะบอกว่าทำเพื่อช่วยโลกก็ไม่จริงนัก ศิลปะมันสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ก็จริง แต่ศิลปะเกิดขึ้นเพื่อ satisfy ตัวเองในบางอย่าง สุดท้ายมันก็จบที่ฉันอยากทำ เส้นเดียวที่สามารถลากได้ตั้งแต่ต้นจนจบในงานศิลปะก็คือฉันอยากทำ ฉันก็เลยทำ”
“ศิลปะคือความคิดแรกที่เกิดขึ้นของคน ความคิดแวบแรก การกระทำแรกตามที่เรารู้สึก มันเป็นอะไรที่ไม่มีกรอบ ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะต้องอยู่ในกรอบของใคร ของสังคมไหน ไม่ต้องกรอง มันออกมาจากใจจริง อันนี้คือศิลปะ”
“ศิลปะสำหรับผมมันเป็นพื้นที่ ทุกคนมีพื้นที่บางอย่างในชีวิต มีพื้นที่ในการทำอะไรบางอย่างให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ เป็นความรู้สึกที่ว่าตื่นมาแล้วอยากทำสิ่งนี้ นั่นคือศิลปะสำหรับผม คุณจะทำอะไรก็ได้ ทุกอย่างมีศิลปะอยู่ในตัว คุณทำบัญชีมันก็มีศิลปะ การที่เรายังอยากจะตื่นขึ้นมาทำอะไรบางอย่างคือการที่เราอยากมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะทำสิ่งนั้น คล้ายกับเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวในชีวิตก็ได้ การดูซีรีส์ก็เป็นศิลปะ มันไม่จำเป็นว่าเราต้องทำอะไรยิ่งใหญ่มากมาย มันคือสิ่งที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาแค่นั้นจริงๆ ดังนั้นเราทุกคนทำงานศิลปะได้แน่นอน เช่น การเขียนบันทึกของนักบัญชีก็เป็นสิ่งที่เราไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร แต่มันมีสุนทรีย์ที่น่าค้นหา”
“ศิลปะคือการสื่อสาร การที่คนคนหนึ่งพยายามสื่อสารสิ่งที่เขารู้สึกออกไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตามที่เขาถนัด นั่นคือศิลปะ ดังนั้นทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ ถ้าตราบใดที่เรายังมีความรู้สึก มีความทุกข์ สุข เศร้า มีความเกลียด ความรัก เพราะว่าศิลปะคือสิ่งที่แสดงออกถึงความรู้สึก หรือแม้แต่การเล่าเรื่อง การพูดสื่อสารก็เป็นศิลปะ ตราบใดที่มนุษย์แสดงออกถึงความรู้สึกก็เชื่อว่าจะเกิดงานศิลปะได้ เมื่อใดมนุษย์รู้สึกและสื่อสารได้ นั่นคืองานศิลปะ อาจจะเป็นสารที่มีความหมายหรือเป็นแค่ความรู้สึก ผมว่าเราต้องมาถามว่าอะไรบ้างที่ไม่เป็นศิลปะมากกว่า เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันถูกนำมาทำเป็นศิลปะได้ทั้งหมด”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์