×

สรุปประเด็น ทำไม CEO ผู้ปลุกปั้น ‘Peloton’ ที่ได้ฉายา Apple แห่งวงการฟิตเนส จึงถูกผู้ถือหุ้นเรียกร้องให้ปลดออกจากตำแหน่งในทันที

10.02.2022
  • LOADING...
Peloton

กลายเป็นข่าวดังทั่วโลกเมื่อ Peloton สตาร์ทอัพที่ถูกยกให้เป็น ‘Apple แห่งโลกฟิตเนส’ ตกเป็นข่าวว่าจะต้องขายกิจการให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่รายอื่น อาทิ Amazon และ Nike หลังจากที่บริษัทเผชิญกับมรสุมอย่างหนัก 

 

โดยผลิตภัณฑ์หลักของ Peloton คือเครื่องปั่นจักรยานไฟฟ้า ลู่วิ่งไฟฟ้า ซึ่งยอดขายเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด จากที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงจนมูลค่าบริษัทเคยเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.6 ล้านล้านบาท ก่อนที่มูลค่าบริษัทจะลดลงไปเหลือต่ำสุดที่ราว 8 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.6 แสนล้านบาท ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่ราคาหุ้นของบริษัทลดลงถึง 84% เมื่อปีก่อน

 

ล่าสุด ราคาหุ้นของ Peloton ฟื้นกลับขึ้นมาอยู่ที่ 38.77 ดอลลาร์ ทำให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มกลับมาเป็น 1.28 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 4.1 แสนล้านบาท 

 

นอกจากกระแสข่าวในเรื่องของการขายกิจการ ผู้ถือหุ้นของบริษัทยังได้เรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเรียกร้องจาก Blackwells Capital ซึ่งเป็น Activist Investor ที่เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Peloton ในสัดส่วนเกือบ 5% 

 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Blackwells Capital เผยแพร่เอกสารจำนวน 65 หน้า ในหัวข้อ ‘A call for action’ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ส่วนหลัก ที่ต้องการให้บริษัทดำเนินการโดยทันที ได้แก่ 

 

  1. ปลด CEO John Foley และ CFO Jill Woodworth ออกจากตำแหน่ง
  2. ขายบริษัทให้กับผู้ที่สนใจเพื่อหวังให้เกิดการ Synergy ทางธุรกิจ
  3. ปรับปรุงธรรมาภิบาลในการบริหารงาน โครงสร้างการบริหาร และโครงสร้างการออกเสียงของผู้ถือหุ้น

 

ต่อมาในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา John Foley ได้ลาออกจากตำแหน่ง CEO และให้อดีต CEO ของ Spotify อย่าง Barry McCarthy ขึ้นมารับตำแหน่งแทน 

 

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ Blackwells Capital ให้เอาไว้ผ่านเอกสารดังกล่าวประกอบไปด้วยหลายส่วน ประการแรกคือ เมื่อปี 2021 Peloton สร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นแย่ที่สุดในบรรดาหุ้นในกลุ่ม Nasdaq 300 โดยผลตอบแทนติดลบไป 76% 

 

ประการถัดมาคือ ความน่าเชื่อถือที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีที่ John Foley ยังเชื่อว่า Peloton กำลังทำผลงานได้ดี ทั้งๆ ที่ตัวเลขต่างๆ บ่งชี้ว่าบริษัทกำลังแย่ลง โดยในเอกสารได้ยกคำพูดหนึ่งของ John Foley ที่เคยพูดไว้เมื่อเดือนกันยายน 2021 ว่า “เราคิดว่าเรากำลังเล่นหมากรุกอยู่ ในขณะที่คนอื่นๆ ด้วยความเคารพ ไม่แม้แต่จะเล่นหมากฮอส” 

 

ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวสวนทางกับมุมมองของตลาดในปัจจุบัน โดย Peloton เป็นหุ้นที่นักลงทุนมีความสนใจที่จะขายชอร์ตถึง 12% ขณะที่นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าควรขายหรือถือหุ้นในสัดส่วน 48% 

 

นอกจากนี้ Blackwells ยังได้ยกบทสัมภาษณ์ของ John Foley ที่เคยให้ไว้กับนิตยสาร Time เมื่อปี 2020 โดยเป็นการตอบคำถามที่ถามว่า อะไรบ้างเกี่ยวกับการเป็น CEO ที่คุณไม่ชอบ หรืออยากมอบหมายให้คนอื่นทำแทน?

 

คำตอบของ John Foley ในครั้งนั้นคือ “ส่วนของการเงิน CFO ของเรารับผิดชอบในส่วนนี้ 99% ผมเข้าไปมีส่วนร่วมบ้างเพราะต้องการจะรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แต่ถ้าจะให้พูดแล้ว จริงๆ ผมก็ไม่ได้ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากขึ้น ส่วน CTO ของเราก็ไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากผมเท่าไร บางครั้งผมไม่ได้คุยกับ CTO ของเราหลายเดือน ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องแปลกสำหรับการเป็น CEO ของบริษัทเทคโนโลยี”

 

หรือแม้กระทั่งการแถลงในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำไตรมาส 3 ปี 2021 และไตรมาส 1 ปี 2022 ซึ่งขณะนั้นราคาหุ้นลดลงจาก 160 ดอลลาร์ มาเหลือ 80 ดอลลาร์ และเกือบจะลงมาถึง 60 ดอลลาร์ โดย John Foley ยังคงกล่าวว่า “เราไม่เคยตื่นเต้นกับอนาคตของบริษัทเท่านี้มาก่อน” 

 

เช่นเดียวกับกรณีของ CFO อย่าง Jill Woodworth ที่ดูเหมือนจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้นและนักลงทุนไปเช่นเดียวกัน อย่างกรณีของการออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ จำนวน 23.9 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2021 ทั้งๆ ที่ 12 วันก่อนหน้านั้น Jill Woodworth ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ตามแผนงานปัจจุบันเราไม่เห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มทุนแต่อย่างใด” 

 

ประการถัดมาคือเรื่องของธรรมาภิบาลของทีมบริหาร นับแต่ Peloton เข้าจดทะเบียนในตลาด ทีมบริหารและคณะกรรมการของบริษัทได้ขายหุ้นออกไปแล้วคิดเป็นมูลค่ารวม 700 ล้านดอลลาร์ และในขณะที่มูลค่าบริษัทหายไป 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2021 ทีมบริหารและกรรมการของบริษัทกลับร่ำรวยขึ้นถึง 496 ล้านดอลลาร์ จากการทยอยขายหุ้นออกไป 

 

ส่วนประเด็นที่ Blackwells Capital เสนอให้บริษัทขายกิจการไปให้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีศักยภาพ จากการประเมินที่เปิดเผยผ่านเอกสารระบุว่ามูลค่าที่เหมาะสมสำหรับ Peloton ในการขายกิจการควรจะไม่ต่ำกว่า 65 ดอลลาร์ต่อหุ้น 

 

ประเด็นของ Peloton นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากปัจจัยชั่วคราวคือโควิด ซึ่งหนุนให้เกิดความต้องการซื้อเครื่องออกกำลังกายสำหรับใช้ที่บ้านเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่หลังจากนั้นความต้องการซื้อก็เริ่มหมดไปอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งความเสียหายต่อบริษัท ในขณะที่ผู้บริหารกลับประเมินทิศทางผิดพลาด และเร่งขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วจนเกินไป…ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ Blackwells Capital ต้องออกบทความ 65 หน้า เสนอให้ปลด CEO และ CFO ของ Peloton 

 

ท้ายที่สุดแล้วเส้นทางของ Peloton จะลงเอยอย่างไรภายใต้การนำของ CEO คนใหม่อย่าง Barry McCarthy เชื่อว่าเราจะได้เห็นกันในไม่ช้า เพราะในขณะที่บริษัทกำลังเผชิญกับภาวะคับขัน การตัดสินใจเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising