×

กระทรวงดิจิทัลฯ เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 1 พ.ย. นี้ เน้นเสนอข่าวเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

30.10.2019
  • LOADING...
Anti-Fake News Center

วันนี้ (29 ตุลาคม) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นำคณะผู้จัดงานเปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์เปิดตัวศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งมีกำหนดการเปิดตัวศูนย์ฯ ในวันศุกร์นี้ (1 พฤศจิกายน) ณ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 

 

โดยพุทธิพงษ์เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกำจัดข่าวปลอม เน้นว่าเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และจะมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในข่าวที่ถูกต้อง เพื่อประชาชนทุกคนให้เข้าใจ และรู้เท่าทันว่าข่าวไหนปลอม ข่าวไหนจริง 

 

Anti-Fake News Center

 

ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลฯ จะใช้กลไกการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมที่กระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชน ที่จะมีคณะผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการ สื่อมวลชน ทำหน้าที่ วางแผน กำกับ การดำเนินงาน และแผนการเผยแพร่ตามขั้นตอนการพิจารณาข่าวปลอม การวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารออนไลน์ ข่าวที่เป็นกระแสโลกโซเชียล อย่างรู้เท่าทันของภาครัฐ

 

นอกจากนี้ยังมีการติดตามตรวจสอบข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ และระบบอินเทอร์เน็ต พร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม และบ่งชี้ข้อมูลที่เป็นข่าวปลอม ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ผลิตข้อมูลที่ถูกต้อง

 

อีกทั้งจัดส่งข้อมูลต่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของเรื่องประกอบการดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ และข้อสำคัญขั้นตอนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชนและสาธารณชน จะผ่านกลไกภาคสื่อสารมวลชน อาทิ เช่น สำนักข่าวไทย สมาคมนักข่าว หรือสื่อหน่วยงานอื่นๆ เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น

 

Anti-Fake News Center

 

“ข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจสิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ หลักๆ จะมี 4 กลุ่ม ดังนี้ 1. ข่าวกลุ่มภัยพิบัติ (น้ำท่วม แผ่นดินไหว เขื่อนแตก สึนามิ ไฟไหม้) 2. ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร/หุ้น 3. ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น 4. ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล/ข่าวสารทางราชการ/ความสงบเรียบร้อยของสังคม/ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ” พุทธิพงษ์กล่าว

 

ทั้งนี้ด้านการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เบื้องต้นได้แบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้นเน้นดำเนินการสื่อสารกับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ทันท่วงที และโปร่งใส หลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบในลักษณะที่ก่อให้เกิดความสับสน มีแผนกลยุทธ์การสื่อสารในยามวิกฤตที่สามารถตอบโต้กับข่าวปลอมได้ทันท่วงที มีแผนการประสานงานระหว่างหน่วยงาน จัดสร้างเว็บไซต์ที่กำกับและสื่อสารว่าเป็นข่าวปลอม เพื่อช่วยให้ประชาชนตระหนักและรู้เท่าทันข่าวปลอม อีกทั้งเป็นแหล่งสำหรับประชาชนใช้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้

 

ส่วนประเด็นของมาตรการระยะยาวก็มีหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคม รู้จักวิธีตอบโต้ข่าวปลอม มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูล บรรจุหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนในการรู้เท่าทันในข่าวปลอมอย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรอง รวมถึงกำหนดความรับผิดชอบกับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์และสื่อมวลชน ภายใต้กรอบความร่วมมือ ส่งเสริมให้มีการยืนยันตัวตนของแหล่งข่าว ใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้วมาบังคับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นต้น

 

“เป้าหมายหลักคือเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีช่องทางเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ป้องกันการแชร์เนื้อหาข่าวที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนสามารถรู้เท่าทันข่าวปลอม โดยกระทรวงดิจิทัลฯ เตรียมพิจารณาจัดทำเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวก อาทิ Web Application เว็บไซต์ Anti-Fake News Center มีการทำงานในลักษณะ Online และ Offline เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ International Fact Checking Network หรือ IFCN วิธีการแจ้งก็จะแบ่งหมวดการแจ้งตาม 4 กลุ่มหลักตามที่กล่าวข้างต้น ศูนย์ทำหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วแจ้งผลการตรวจสอบกลับมา ประชาชนจะสามารถตรวจเช็กข่าวปลอมได้ทันที เบื้องต้นคาดว่าภายใน 2 ชั่วโมง” พุทธิพงษ์กล่าว

 

นอกจากนี้กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงาน กับเครือข่ายสังคมออนไลน์รายหลักๆ ได้แก่ Facebook, LINE และ Google ตลอดจนผู้ประกอบการเครือข่ายมือถือ อาทิ AIS True dtac และจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจร่วมกัน อีกทั้งจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างแนวปฏิบัติร่วมกัน และเป็นการสร้างเครือข่ายอีกทาง

 

ปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆ ได้มีการแต่งตั้งผู้แทนประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลร่วมกับศูนย์ฯ และต้องได้คำตอบที่ถูกต้อง ชัดเจน และจะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป

 

“กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาเว็บไซต์สำหรับบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และประชาชนต่อการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมทางโลกดิจิทัล เพื่อเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข่าวสาร หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ ข้อมูลหรือข่าวที่มีการตัดต่อข้อมูล เนื้อหา การนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากข้อเท็จจริง พร้อมทั้งชี้แจงเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคประชารัฐ (หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สมาคม เครือข่ายต่างๆ และภาคประชาชน) สามารถตรวจสอบ สอบถาม และร่วมมือในแก้ไขการเผยแพร่ข่าวสาร หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ” พุทธิพงษ์กล่าวปิดท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising