×

วิเคราะห์ทิศทางการลงทุน เมื่อ ‘สหรัฐฯ’ อัดฉีดเงินก้อนใหญ่ สวนทาง ‘จีน’ ที่เริ่มถอนคันเร่ง

09.03.2021
  • LOADING...
วิเคราะห์ทิศทางการลงทุน เมื่อ ‘สหรัฐฯ’ อัดฉีดเงินก้อนใหญ่ สวนทาง ‘จีน’ ที่เริ่มถอนคันเร่ง

HIGHLIGHTS

  • นโยบายการเงินของสหรัฐฯ และจีน กำลังเดินไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ฝั่งสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยมูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนส่งสัญญาณว่าจะเริ่มผ่อนคลายการอัดฉีด
  • บล. ทรีนีตี้ มองว่า ด้วยนโยบายที่ต่างกัน ทำให้สภาพคล่องของฝั่งสหรัฐฯ เป็นต่อมากกว่า และในระยะสั้นน่าจะช่วยประคองตลาดหุ้นให้ปรับฐานรุนแรงน้อยกว่าจีน 
  • ขณะที่จีนถอนคันเร่งการอัดฉีดเงิน ส่วนหนึ่งเพราะไม่ต้องการให้เกิดภาวะฟองสบู่มากจนเกินไป 
  • บล. หยวนต้า เชื่อว่าการลดการอัดฉีดของจีนจะทำให้สมดุลของเศรษฐกิจโลกดีขึ้นในระยะยาว และลดความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ทั่วโลก 
  • ปิติ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ การลดการอัดฉีดสภาพคล่องของจีน สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวได้ดี และหากยังคงอัดฉีดมากเกินไปจะไม่เป็นผลดีในระยะยาว
  • ขณะที่ภาพการลงทุนทั่วโลกยังเป็นลักษณะของการสลับกลุ่มลงทุน จากหุ้น Growth ไปหาหุ้น Value ทำให้เราเห็นดัชนีอย่าง Dow Jones เด่นขึ้นมา และในระยะถัดไปมีโอกาสที่หุ้นยุโรปและอาเซียนจะโดดเด่นขึ้นเช่นกัน

ในระหว่างที่เศรษฐกิจของโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แต่ละประเทศพยายามออกนโยบายเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจของตัวเองฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสองประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง ‘สหรัฐฯ’ และ ‘จีน’ กลับมีแนวทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้อาจมีผลต่อกระแสการโยกย้ายเม็ดเงินการลงทุนในตลาดโลก

 

ความแตกต่างที่ว่านี้เป็นเรื่องของนโยบายการเงิน ซึ่งในฝั่งของสหรัฐฯ เลือกที่จะดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ 

 

ในขณะที่จีนใช้นโยบายการเงินที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะค่อยๆ ลดวงเงินอัดฉีดลงมา 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ มองว่า ที่ผ่านมาจีนติดตามดูในส่วนของการบริหารสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร หรือ REPO ซึ่งจีนจะใช้การบริหารแบบปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ หากวันไหนที่สภาพคล่องตึงตัวเกินไปก็อาจจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบด้วยเช่นกัน 

 

“แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนคือ จะไม่มีวงเงินอัดฉีดขนาดใหญ่ออกมาจากจีน ทำให้ในแง่ของสภาพคล่องสหรัฐฯ ดูจะเป็นต่อมากกว่า”

 

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้จีนไม่ต้องการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมากเกินไป เนื่องจากภาวะการเก็งกำไรในตลาดหุ้น อย่างเมื่อปีก่อนที่หุ้นจีนปรับตัวขึ้นได้ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการซื้อขายโดยใช้มาร์จิ้น ทำให้ฝ่ายกำกับกังวลว่าหากยังคงอัดฉีดสภาพคล่องต่อไป อาจจะเกิดฟองสบู่มากขึ้นไปอีก 

 

ในขณะที่ฝั่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีความตั้งใจที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบต่อไป ทำให้หุ้นสหรัฐฯ ยังถูกประคองไว้ได้ แม้ว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากหุ้นเทคโนโลยี แต่ก็ยังมีเงินทุนใหม่ไหลเข้าไปในหุ้นกลุ่มอื่นแทน ในขณะที่หุ้นจีนกลับปรับตัวลงแทบจะทั้งตลาด 

 

“ในระยะสั้น ตัวเลขเศรษฐกิจและการอัดฉีดเงินของสหรัฐฯ ทำให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์สูงขึ้น หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน แต่ด้วยนโยบายของ Fed ที่ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทำให้ในระยะกลางเงินดอลลาร์จะกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินหยวน” 

 

เมื่อพิจารณาประกอบกับทิศทางการลงทุนทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งเงินทุนไหลออกจากหุ้น Growth โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี เข้าสู่หุ้น Value สะท้อนได้จากดัชนี Dow Jones และ NASDAQ ที่วิ่งไปคนละทิศ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นจีนและเอเชียเหนือ ซึ่งก่อนหน้านี้วิ่งขึ้นมาด้วยแรงหนุนของหุ้นเทคโนโลยี มีแนวโน้มจะยังถูกกดดันต่อไปไม่ต่างจากดัชนี NASDAQ 

 

การเคลื่อนไหวของดัชนี Dow Jones และ NASDAQ ตั้งแต่ต้นปี 2564

 

ในขณะที่ตลาดหุ้นของภูมิภาคอื่นๆ อย่าง ‘เอเชียเหนือ’ จะไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นจีน ซึ่งถูกกระทบจากการขายหุ้นเทคโนโลยี ขณะที่ ‘ยุโรป’ และ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีหุ้น Cyclical อยู่มาก มีแนวโน้มจะโดดเด่นขึ้นมาในช่วงถัดจากนี้ สำหรับตลาดหุ้นไทยแม้จะได้อานิสงส์ แต่ด้วย Valuation ที่ตึงตัว ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามดูจะโดดเด่นกว่า ทั้งการเติบโตที่สูงกว่าและมูลค่าหุ้นที่ยังต่ำกว่า

 

“ในระยะถัดจากนี้นักลงทุนจะยังโฟกัสไปกับกระแสของการ Rotate เม็ดเงินออกจากหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งส่วนตัวมองว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้ต่อหากไม่มี Inflation Shock เข้ามากระทบ เชื่อว่าจุดพีกของการ Outperform ของหุ้นเทคโนโลยีได้ผ่านไปแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะขึ้นต่อไม่ได้แล้ว เพียงแต่หุ้น Value จะ Outperform มากกว่า” 

 

ขณะที่ ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า การที่จีนลดวงเงินการอัดฉีดลงมาจะช่วยปรับสมดุลของเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะยาว 

 

จีนไม่จำเป็นต้องอัดฉีดมากนัก เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวมาได้ค่อนข้างดี และหากสหรัฐฯ ฟื้นตัวหลังจากนี้ จีนก็จะได้ประโยชน์ในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ขณะเดียวกันจีนไม่ต้องการให้เกิดภาวะฟองสบู่ในประเทศ การที่ผ่อนการอัดฉีดเงินลงมาน่าจะเป็นเรื่องดี และเป็นการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก เพราะหากทุกคนเร่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างมาก อาจทำให้เกิดฟองสบู่ทั่วโลก

 

สำหรับสหรัฐฯ ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะโควิด-19 กระทบภาคแรงงานค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ 

 

“ช่วงนี้เงินทุนอาจจะถูกดึงกลับไปทางฝั่งสหรัฐฯ เพราะดอลลาร์แข็งค่า และบอนด์ยีลด์พุ่งขึ้น ขณะที่หุ้นจีนหลังจากปรับฐานลงมาแรง ทำให้ State Fund ของจีนเริ่มส่งสัญญาณว่าราคาหุ้นลงมาเยอะมาก จนถึงจุดที่จะเริ่มเข้าซื้ออีกครั้ง”

 

ด้าน ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การที่จีนลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินสะท้อนว่า รัฐบาลจีนมองเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง หากจีนยังคงอัดฉีดมาตรการกระตุ้นต่อไปอีก อาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

 

นอกจากนี้ปิติยังกล่าวย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ยังโดนผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจยังทรุดตัว แต่ของจีนเริ่มเห็นการฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ และปีนี้จีนก็ตั้งเป้าการเติบโตไว้ถึง 6% ถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ไม่น้อย

 

“จริงๆ ก็เหมือนกับเวลาที่คุณกินยาอะไรสักอย่างหนึ่งมานานๆ เมื่อหายดีแล้วหากยังกินต่อ เชื้อโรคก็อาจจะดื้อยาได้ จีนจึงต้องรีบหยุดเพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง และเที่ยวนี้เขาเริ่มหันมาเน้นการเติบโตจากภายใน ถือเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในระยะข้างหน้า”

 

ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในรอบนี้จะดึงให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามได้ด้วยหรือไม่นั้น ปิติบอกว่า ต้องขึ้นกับว่าไทยยังอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนหรือไม่ รวมทั้งต้องดูด้วยว่าไทยยังเป็นทางเลือกของนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศจีนด้วยหรือไม่ หากไม่ใช่ทั้ง 2 ข้อนี้ก็ยากที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวตามประเทศจีน

 

“ปัญหาเหล่านี้ผู้ประกอบการไทยต้องหันมาเอกซเรย์ตัวเองว่าเราอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไหน เป็นอุตสาหกรรมที่โตไปพร้อมกับจีนได้หรือไม่ หากเราไม่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานใหม่ของจีน ก็ต้องเร่งหาคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อมาชดเชยกับสิ่งที่จะหายไป พวกนี้จึงเป็นเรื่องที่ว่าเราจะวางกลยุทธ์ตัวเองอย่างไรด้วย”

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising