หากจะเทียบให้เห็นภาพว่าสถานการณ์ของ ‘อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์’ เลวร้ายเพียงใดหลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ให้เทียบกับภาพของ AMC Entertainment Holdings เครือโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่กำลังพิจารณาถึงหนทางประคองธุรกิจหลังจากเงินสดที่มีอาจอยู่ได้ถึงสิ้นปี 2020 ซึ่งหนึ่งในทางออกคือการยื่น ‘ล้มละลาย’
Bloomberg รายงานว่าผู้ให้สินเชื่อกับเครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนให้กับ AMC หากตัดสินใจที่จะยื่นขอความคุ้มครองจากศาลภายใต้ Chapter 11 ซึ่งมีใจความสำคัญคือการยื่นเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ
ขณะเดียวกัน AMC ได้ออกมาเปิดเผยว่าเงินสดที่มีอยู่อาจจะหมดลงภายในสิ้นปี 2020 ถึงต้นปี 2021 เนื่องจากมีจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉายลดลงอย่างมากสำหรับไตรมาสที่ 4 และจำนวนผู้ชมไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลย โดยมีสองวิธีที่ทำได้หากต้องการออกจากวิกฤตเงินสดคือ มีลูกค้ามาซื้อตั๋วมากขึ้น หรือต้องกู้ยืมเงิน
การนั่งดูภาพยนตร์ในโรงถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ AMC เพราะวันที่ 9 ตุลาคม AMC ได้กลับมาเปิดโรงภาพยนตร์ในสหรัฐฯ อีก 494 แห่งจากเกือบ 600 แห่ง โดยมีความจุระหว่าง 20-40% จากที่นั่งทั้งหมด แต่ปรากฏว่าที่นั่งก็ยังไม่เต็ม เพราะมีผู้ชมลดลงมากถึง 85% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
การเพิ่มสภาพคล่องจะไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มีการกลับมาทำธุรกิจเหมือนปกติ AMC กำลังสำรวจการจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมจากการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ และแม้แต่การขายทรัพย์สินที่มีศักยภาพ แต่วิธีสุดท้ายนั้น AMC เห็นว่ายังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด
ข่าวเรื่อง AMC มีปัญหาเรื่องเงินสดเกิดขึ้นในขณะที่อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในช่วงที่เกิดโรคระบาด Cineworld Group เจ้าของ Regal Cinemas กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะระงับการดำเนินการที่โรงภาพยนตร์ทุกแห่งในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เนื่องจากเชื้อยังคงแพร่กระจายอยู่
ขณะเดียวกันสตูดิโอต่างตัดสินใจชะลอการฉายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Black Widow ของมาร์เวล และ No Time to Die ภาคต่อของเจมส์ บอนด์ ถูกเลื่อนออกไปฉายปีหน้า ด้าน Soul ของพิกซาร์ก็ถูกดึงออกจากโรงภาพยนตร์ทั้งหมดเพื่อเปิดตัวในบริการสตรีมมิงของดิสนีย์อย่าง Disney +
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: