×

ถ้าคนไทยไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไต แล้วมีใครอยู่ที่นั่น?

25.10.2019
  • LOADING...
เทือกเขาอัลไต

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนี้มีต้นทางมาจากหนังสือเรื่อง หลักไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2471 เขียนโดย ขุนวิจิตรมาตรา เป็นหนังสือที่ทำให้ชนชั้นนำสยามในเวลานั้นตื่นเต้นมาก เพราะช่วยตอบคำถามคาใจมานานว่า คนไทยมีจุดกำเนิดจากแผนที่ตรงไหนของโลก
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ ออกมาโต้แย้งอย่างแข็งขันว่า ไม่มีร่องรอยของคนไทยหรือคนที่พูดภาษาตระกูลไทอยู่แถบเทือกเขาอัลไตเลย เพราะเป็นภูเขาน้ำแข็ง ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย 
  • ในความเป็นจริงแล้ว เทือกเขาอัลไตนั้นไม่ใช่ภูเขาน้ำแข็งที่ไม่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่เลย คือจะไม่มีก็เฉพาะส่วนยอดเขา หากแต่พื้นที่รอบๆ นั้นมีหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะหลุมฝังศพแบบเนินดินรูปวงกลม ที่ทางรัสเซียเรียกว่า курга́н หรือเคอกัน (Kurgan) ซึ่งภายใต้บรรจุไปด้วยทรัพย์สมบัติมีค่าที่อุทิศให้กับผู้ตาย 

ความเชื่อเรื่องคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้นถือเป็นนิทานหลอกเด็กที่ทรงอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมาก ดังเห็นได้จากเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้ นายกฯ ก็ยังเชื่อว่า คนไทยมาจากที่นั่น กระทั่งปัจจุบันทหารบางหน่วยงานก็ยังเที่ยวตระเวนไปอบรมเผยแพร่ความเชื่อผิดๆ ให้กับครูและนักเรียนทั่วประเทศอย่างน่าเป็นห่วง 

 

ความเชื่อว่า คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนี้มีต้นทางมาจากหนังสือเรื่อง หลักไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2471 เขียนโดย ขุนวิจิตรมาตรา เป็นหนังสือที่ทำให้ชนชั้นนำสยามในเวลานั้นตื่นเต้นมาก เพราะช่วยตอบคำถามคาใจมานานว่า คนไทยมีจุดกำเนิดจากแผนที่ตรงไหนของโลก ทำให้ความเชื่อดังกล่าวเผยแพร่ลงสู่หนังสือแบบเรียน และกระจายไปในสังคม 

 

อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เมื่อบรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น จีนเปิดประเทศ และมีความก้าวหน้าของความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีเพิ่มขึ้น จึงเกิดการค้นคว้าเรื่องคนไทยขึ้นอีกครั้ง นักวิชาการที่ออกมาโต้แย้งอย่างแข็งขันในเวลานั้นคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าไม่มีร่องรอยของคนไทยหรือคนที่พูดภาษาตระกูลไทอยู่แถบเทือกเขาอัลไตเลย เพราะเป็นภูเขาน้ำแข็ง ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เทือกเขาอัลไตนั้นไม่ใช่ภูเขาน้ำแข็งที่ไม่มีผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่เลย คือจะไม่มีก็เฉพาะส่วนยอดเขา หากแต่พื้นที่รอบๆ นั้นมีหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย โดยเฉพาะหลุมฝังศพแบบเนินดินรูปวงกลม ที่ทางรัสเซียเรียกว่า курга́н หรือเคอกัน (Kurgan) ซึ่งภายใต้บรรจุไปด้วยทรัพย์สมบัติมีค่าที่อุทิศให้กับผู้ตาย 

 

ซิเถียน ชนเผ่าโบราณแห่งเทือกเขาอัลไต

เรื่องราวของชาวซิเถียนค่อยๆ เลือนลางไปจากความทรงจำของคน จนกระทั่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งชาวยุโรปกำลังตื่นตัวกับการสะสมของเก่า (เรียกว่าพวก Antiquarian) ทำให้เกิดการออกสำรวจ เพื่อหาต้นกำเนิดของชาวยุโรป ส่งผลทำให้ค้นพบสุสานโบราณของชาวซิเถียนที่เรียกว่า ‘เคอกัน’ 

 

ในยุคนั้นจักรพรรดิปีเตอร์มหาราชของรัสเซีย เป็นหนึ่งในผู้ที่สะสมวัตถุล้ำค่าของชาวซิเถียนไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงของพวกนี้ในพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก หลังจากนั้นจึงทำให้นักโบราณคดีรัสเซียค้นคว้าโบราณคดีในเขตเทือกเขาอัลไต เช่นเดียวกับนักโบราณคดีจีนและมองโกเลีย 

 

เทือกเขาอัลไต

หวีทองคำพบในสุสานของชาวซิเถียน หวีนี้ทำโดยช่างชาวกรีก ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ

(Photo: Wikipedia)

 

ในอดีต เทือกเขาอัลไตไม่ได้เป็นดินแดนที่ร้างผู้คน หากแต่เคยมีชาวซิเถียน (Scythians) บางครั้งถูกเรียกว่า ศะกะ (Saka) อาศัยอยู่ ซึ่งพวกเขาเป็นชนเผ่าที่ใช้ชีวิตบนหลังม้า เป็นนักรบที่กล้าหาญ เลี้ยงสัตว์ และร่ำรวยจากเส้นทางสายไหม โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางขนถ่ายสินค้าระหว่างกรีก เปอร์เซีย อินเดีย และจีน 

 

แต่จีนไม่ได้เรียกคนกลุ่มนี้ว่า ซิเถียน หากแต่เรียกว่า ซงหนู (ดังปรากฏในบันทึกของ ซือหม่า เชียน นักประวัติศาสตร์ชาวจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น แปลว่า พวกป่าเถื่อนบนภูเขา) ซึ่งขอให้เข้าใจว่าคำว่า ซงหนู เป็นคำกว้างที่จีนใช้เรียกพวกป่าเถื่อนเร่ร่อนทางเหนือ คนกลุ่มนี้จึงมีหลากหลายชาติพันธุ์อย่างมาก และก็เป็นคู่ปรับคู่แค้นของชาวจีนมาตลอด จนกระทั่งจิ๋นซีฮ่องเต้ต้องสร้างกำแพงเมืองจีนมาป้องกัน

 

สอดคล้องกับที่นักประวัติศาสตร์กรีก เฮโรโดตัส ได้กล่าวว่า พวกซิเถียนประกอบด้วย 4 กลุ่มย่อย คือ อุชาเต้, คาเทียรอย, ทราสเปียนส์ และพาราลาเต ซึ่งกลุ่มหลังนี้ถือว่าเป็นพวกที่มีเลือดกษัตริย์ 

 

แต่เอาเป็นว่านักโบราณคดีหลายคนเชื่อกันว่า ชาวซิเถียนนี้พูดภาษาในตระกูลอิหร่าน (ไม่ใช่ไทแน่ๆ) และเร่ร่อนในเขตทุ่งหญ้าสเตปแถบเทือกเขาอัลไตระหว่าง 800-300 ปีก่อนคริสตกาล (หรือก็คือเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว) ถึงหลังจากนั้นจะมีคนกลุ่มอื่นๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาในพื้นที่นี้ แต่ก็ไม่มีกลุ่มคนไทเลย

 

ด้วยความเป็นกลุ่มชนบนหลังม้า ทำให้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้ในระยะทางไกลและรวดเร็ว จากหลักฐานเท่าที่คนกลุ่มนี้เดินทางเข้าไปยังยุโรปโดยข้ามเทือกเขาคอเคซัส และเข้าไปยังเขตตะวันออกกลาง โดยเข้าไปมีบทบาททั้งในทางการเมืองและสงคราม ดังเห็นได้จากมีภาพสลักของชาวซิเถียน (ศะกะ) บนภาพแกะสลักหินในสุสานของกษัตริย์เปอร์เซีย (อิหร่าน) ในราชวงศ์อคิเมนิด เมื่อ 480 ปีก่อนคริสต์ศักราช 

 

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้หลักฐานของพวกซิเถียนไม่พบเฉพาะในเขตเทือกเขาอัลไตเท่านั้น หากกระจายไปหลายภูมิภาค โดยมีหลักฐานสำคัญที่แสดงร่องรอยของพวกเขาคือ หลุมฝังศพแบบเคอกัน และเครื่องประดับรูปสัตว์

 

เจ้าหญิงในหลุมฝังศพน้ำแข็งที่เทือกเขาอัลไต

หลุมฝังศพของพวกซิเถียนหรือซงหนูมักทำเป็นเนินดินรูปวงกลมแล้วเอาหินมาทับไว้ด้านบน เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์หรือคนขุดลงไป ขนาดของหลุมศพมีหลากหลาย แตกต่างไปตามฐานะของผู้ตาย บางที่มีขนาดกว้างแค่ 5 เมตร แต่บางแห่งใหญ่มากถึง 40 เมตรก็มี 

 

เทือกเขาอัลไต

เนินฝังศพรูปวงกลม หรือเคอกัน ที่เมืองซาเคอ์ข่าน ประเทศมองโกเลีย (Sabloff 2009:fig.9.1)

 

โลงศพไม้หรือหินจะใช้บรรจุร่างของผู้ตาย โดยฝังลึกอยู่กลางเนิน โดยมากฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว แต่ก็มีบางศพที่ถูกจัดท่าแบบนอนงอเข่า มักหันศพไปทางทิศตะวันตกหรือตะวันออก

 

สิ่งของที่อุทิศให้กับศพมักประกอบไปด้วยอาวุธ เครื่องประดับ หัวเข็มขัด ภาชนะดินเผา อุปกรณ์การกิน เพื่อให้ไปใช้โลกหน้า และเหล็กปากม้าด้วย บางแห่งพบการฆ่าม้าบูชายัญลงไปกับผู้ตายด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมชาวซิเถียน เช่นเดียวกับเครื่องประดับ ซึ่งมักพบว่า นิยมทำเป็นรูปสัตว์ เช่น กวาง เสือ หรือทำเป็นฉากของสัตว์กำลังต่อสู้กัน เช่น ภาพหมาป่ากำลังกระโจนกัดม้า เป็นต้น

 

เทือกเขาอัลไต

หัวเข็มขัดรูปหมาป่ากำลังกัดม้า อายุประมาณ 400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวซิเถียนนิยมเครื่องประดับแบบนี้ เพราะสะท้อนถึงความกล้าหาญ 

(Photo: wikipedia)

 

จากการสำรวจของนักโบราณคดีนานาชาติพบว่า หลุมฝังศพแบบเคอกันนี้กระจุกตัวอย่างมากในเขตภาคกลางของมองโกเลีย และทางตอนใต้ของไซเบียเรีย โดยมักมีขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ จนบางครั้งถึงกับเรียกว่า เป็นหลุมฝังศพของพวกข่าน เช่น สุสานที่เมืองดนยอน อูอุล หมายเลข 2 ทำให้นักโบราณคดีบางคนเชื่อว่า พื้นที่ทั้งสองแห่งนี้เป็นศูนย์กลางอำนาจของพวกซิเถียน และอาจมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน

เทือกเขาอัลไต

หลุมฝังศพแบบสุสานขนาดใหญ่ที่โนยอน อูอุล (Noyon Uul) (Brosseder 2009)

 

ด้วยความหนาวเย็นทำให้ศพถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในน้ำแข็ง เนินฝังศพเคอกันบางแห่งจึงพบศพของผู้ตายที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ที่มีชื่อเสียงอย่างมากคือ มนุษย์น้ำแข็งไซบีเรีย หรือรู้จักกันในชื่อ ‘เจ้าหญิงแห่งเทือกเขาอัลไต (Altai Princess)’ 

 

เจ้าหญิงตายเมื่อราว 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยนักโบราณคดีได้ขุดค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1993 ในเนินฝังศพเคอกัน เขตที่ราบสูงอูโคก สาธารณรัฐอัลไต ประเทศรัสเซีย ใกล้กับชายแดนจีน นักโบราณคดีที่ขุดค้นคือ นาตาเลีย โปโลสมาก ระบุว่า เจ้าหญิงมีเชื้อสายผสมกันระหว่างซิเถียนกับไซบีเรีย จากการศึกษาด้านวงปีไม้จากโลงศพของเธอพบว่า เธอถูกฝังในช่วงฤดูร้อน

 

เทือกเขาอัลไต

ศพของเจ้าหญิงแห่งเทือกเขาอัลไต สังเกตด้วยว่า มีการสักบนร่างกายด้วย ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมเด่นของชาวซิเถียน 

(Photo: wikipedia)

 

จากการศึกษากายภาพของเธอพบว่า เจ้าหญิงน่าจะตายเมื่ออายุราว 20-30 ปี แต่ไม่ทราบสาเหตุของการตาย อาจเป็นโรคมะเร็งเต้านม ไม่ห่างจากศพ พบกัญชาและฝิ่น ซึ่งคงใช้สำหรับบรรเทาอาการเจ็บปวดก่อนที่เสียชีวิต จึงมีการฝังลงไปด้วย รวมถึงยังมีเมล็ดพืชวางอยู่บนจานหิน ซึ่งคนรักของเธอคงหวังให้นำไปใช้ในโลกหน้า เพื่อบรรเทาความเจ็บป่วย 

 

ในหลุมฝังศพของเจ้าหญิงค้นพบโต๊ะไม้ขนาดเล็ก 2 ตัว ซึ่งใช้วางอาหารและเครื่องดื่ม เนื้อม้าและแกะ โยเกิร์ตถูกนำใส่ไว้ในถ้วยไม้ และเครื่องดื่มบางอย่างบรรจุอยู่ในแก้วเขาสัตว์ ส่วนตัวเธอสวมเสื้อผ้าของชนชั้นสูง เสื้อผ้าขนสัตว์ มีคันฉ่องสำริดที่แกะสลักรูปกวาง เครื่องประดับศีรษะที่มีความสูงถึง 3 ฟุต ซึ่งทำด้วยทองคำ รวมถึงยังประดับด้วยของมีค่าอื่นๆ อีก ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้นักโบราณคดีลงความเห็นว่า เธอคือเจ้าหญิง (ความจริงเรื่องการค้นพบและการเก็บรักษาร่างของเจ้าหญิงนี้นับว่าดราม่ามากพอดูในหมู่ของนักโบราณคดี ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟังครั้งหน้าๆ)

 

เทือกเขาอัลไต

ภาพสันนิษฐานของเจ้าหญิงแห่งอัลไต และรอยสักบนร่างกายของเธอ 

(Photo: www.stormfront.org)

 

นอกจากหลุมฝังศพแล้ว ในเขตอัลไตยังพบหลักฐานโบราณคดีประเภทอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับพวกซิเถียนอีกหลายอย่าง ได้แก่ ภาพสลักหินรูปสัตว์ ซึ่งมักชอบสลักเป็นภาพของกวาง วัว และม้า โดยมักพบว่า ภาพพวกนี้มักสลักใกล้กันกับจุดที่สามารถล่าสัตว์ได้ดีที่สุด สะท้อนว่า ภาพวาดพวกนี้คงเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมล่าสัตว์ หรือมีพิธีกรรมการปักหินที่เรียกว่า หินตั้ง (Megalithic) เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมบวงสรวงเทพเจ้าอีกด้วย 

 

ทุกวันนี้ยังมีปริศนามากมายให้ค้นหาเกี่ยวกับร่องรอยของมนุษย์ในเขตเทือกเขาอัลไต แต่การสืบค้นยังเป็นไปได้ยาก เพราะปีหนึ่งจะทำงานได้แค่ไม่กี่เดือน เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว พื้นที่จะหนาวเหน็บและเป็นน้ำแข็ง ทำให้ไม่สามารถขุดค้นทางโบราณคดีได้ตลอดทั้งปี 

 

บางครั้งผมก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า ในโลกทุกวันนี้ที่เราสามารถสืบค้นอะไรได้ง่ายขึ้น แต่ทำไมจึงยังมีคนเชื่อความรู้ทางประวัติศาสตร์แบบเก่าๆ กันอยู่อีก หรือเป็นเพราะเขาไม่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของความรู้ หรือเป็นเพราะมันยังมีประโยชน์ทางการเมืองต่อพวกเขา หรือพวกเขาไม่อยากให้จินตนาการของความเป็นไทยในอุดมคติถูกท้าทาย 

 

แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่มีคนไทยที่เทือกเขาอัลไต เหมือนอย่างที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทยรุ่นเก่าครับ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง

  • Archaeology and Landscape in the Altai Mountains of Mongolia. Available at: mongolianaltai.uoregon.edu/altai_region.php
  • Brosseder, Ursula. 2009. “Xiongnu Terrace Tomb and Their Interpretation as Elite Burials,” in Current Archaeological Research in Mongolia, Pp. 247–280. Germany: Rheinische Friedrich-Wilhelms-Universitat Bonn.
  • Sima, Qian. 1961. Records of the Grand Historian of China, translated from the Shih Chi of Ssu-Ma Ch’ien
  • Sabloff, Paula L. W., ed. 2009. Mapping Mongolia : Situating Mongolia in the World from Geologic Time to the Present. Philadelphia: University of Pennsylvania, Nuseum of Archaeology and Anthropology, Philadelphia. lib.sac.or.th/Catalog/BibItem.aspx?BibID=b00079971, accessed January 4, 2017.
  • UNESCO. 2008. Preservation of the Frozen Tombs of the Altai Mountains. UNESCO. 
  • en.wikipedia.org/wiki/Siberian_Ice_Maiden
  • en.wikipedia.org/wiki/Scythian_art
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising