เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 มีนาคม 2019) ผมได้รับข่าวร้ายจากเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งว่า อลัน ครูเกอร์ (Alan Krueger) ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton) ได้เสียชีวิตลงด้วยอายุเพียงแค่ 58 ปี
แต่สิ่งที่ทำให้ผมต้องตกใจมากกว่านั้นก็คือข่าวที่ตามมาทีหลังว่า อลันจบชีวิตลงโดยการฆ่าตัวตาย
A genius economist
คงจะมีนักเศรษฐศาสตร์เพียงไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่ไม่เคยได้ยินชื่อของอลัน ครูเกอร์ หรือไม่เคยอ่านงานวิจัยของเขามาก่อน
อลันเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ของโลกที่นำเอาข้อมูลจากโลกจริงๆ (Real-world data) มาใช้ในการพิสูจน์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ต่างๆ นานาว่ามันเป็นอย่างที่เราคิดจริงหรือไม่
ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ดังที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาที่ทำร่วมกันกับ เดวิด คาร์ด (David Card) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ (Berkeley) ในเรื่องของผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่ออัตราการว่างงานของคน
โดยก่อนที่อลันและเดวิดจะเริ่มร่วมมือกันทำงานวิจัยชิ้นนี้นั้น ทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์ได้บอกกับเราว่าการขึ้นค่าแรงขั้นตำ่จะส่งผลทำให้อัตราการว่างงานของคนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการออกกฎหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นทำให้ต้นทุนของการจ้างพนักงานที่มีค่าแรงต่ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าบริษัทไม่ผลักปัญหาของค่าจ้างที่แพงขึ้นไปยังผู้บริโภคโดยการขึ้นราคาสินค้าเพื่อที่จะนำรายได้ตรงนั้นมาจ่ายคนงาน บริษัทก็จำเป็นต้องลดจำนวนแรงงานลงเพื่อที่จะมีเงินพอในการเอาไปเป็นรายได้ให้กับพนักงานที่ยังทำงานอยู่ในบริษัท
และด้วยเหตุผลที่ราคาของสินค้ามักจะ ‘เหนียว’ หรือ Sticky — พูดง่ายๆ ก็คือการปรับราคาของสินค้าขึ้นนั้นเป็นอะไรที่ทำได้ยากกว่าการลดจำนวนคนจ้าง — ทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์จึงสรุปออกมาว่าการขึ้นค่าแรงขั้นตำ่จะส่งผลทำให้อัตราการว่างงานของคนเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ
แต่สิ่งที่อลันและเดวิดพบจากการทำการพิสูจน์โดยใช้ข้อมูลของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอุตสาหกรรม Fast Food ในนิวเจอร์ซีย์และเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างที่ทฤษฎีได้ว่าเอาไว้เลย ในความเป็นจริงนั้นอลันและเดวิดเป็นคนแรกๆ ที่พบว่าผลกระทบของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นอะไรที่หาข้อสรุปได้ยาก
งานวิจัยชิ้นโบแดงชิ้นนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างเดียวเท่านั้นที่อลันได้ทำออกมาด้วยความต้องการที่จะทำให้โลกของเรานี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น เขาเป็นคนที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อๆ จากเขา — ซึ่งรวมถึงตัวผมเองด้วย — หันไปให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลจากโลกจริงๆ มาพิสูจน์ทฤษฎีทางด้านเศรษฐศาสตร์มากขึ้น เขาเป็นคนที่ทำให้นักการเมืองและนักวางนโยบายหลายคนหันมาให้ความสำคัญกับการวางนโยบายโดยใช้ข้อมูลและหลักฐานแทนการใช้อารมณ์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจเลยที่อลันได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึงสองคนด้วยกัน — บิล คลินตัน และบารัก โอบามา — แต่งตั้งให้เขาเป็นหนึ่งใน Economic Advisor ของรัฐบาล
อลันและเศรษฐศาสตร์ความสุข
โดยส่วนตัวแล้ว อลันถือว่าเป็นหนึ่งในไอดอลของผมเลย ส่วนหนี่งเป็นเพราะงานวิจัยที่เขาทำร่วมกันกับ แดเนียล คาห์นแมน (Daniel Kahneman) ในเรื่องของเศรษฐศาสตร์ความสุข แต่สาเหตุใหญ่ๆ ที่ทำให้เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่ทำให้ผมบูชาก็คือเขาเป็นคนที่ใจดีและไม่ถือตัวมากๆ เขาเป็นคนที่ค่อนข้างติดดิน และมีเวลาให้กับทุกๆ คนที่เข้ามาในชีวิตของเขา (ผมโชคดีที่เคยมีโอกาสได้พบเจอเขาอยู่สองครั้ง ครั้งหนึ่งที่ London School of Economics และอีกครั้งหนึ่งที่งานประชุมนักเศรษฐศาสตร์ของสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกันที่ฟิลาเดลเฟียเมื่อต้นปีที่แล้ว)
เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเลยที่คนอย่างเขาเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองลงโดยการฆ่าตัวตาย ทั้งๆ ที่จากภายนอกแล้วเขามีครบทุกอย่างในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ผลงาน การงาน และครอบครัวที่น่ารัก
บทเรียนสำคัญที่ผมได้รับจากการจากไปก่อนเวลาอันควรของอลันก็คือ โรคซึมเศร้า (Depression) ไม่แยกแยะว่าคุณจะเป็นคนเก่งหรือคนไม่เก่ง จะเป็นคนรวยหรือคนจน และความสำเร็จภายนอกในชีวิตไม่สามารถที่จะช่วยป้องกันคุณจากโรคนี้ได้
R.I.P. Alan…
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์