ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นภาพเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) หรืออินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่งคืบคลานเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนชัดมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องตามโรดแมปและนโนบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อน 7 จังหวัดต้นแบบในไทยให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ เมืองอัจฉริยะในเร็ววัน (กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต, ขอนแก่น, ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา)
ลำพังการจะผลักดันเมืองทั้งเมือง หรือจังหวัดเกือบทั้ง 77 แห่งให้เชื่อมต่อถึงกันด้วยอินเทอร์เน็ตแบบครอบคลุมก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อยู่แล้วหากขาดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งก็ถือว่าเป็นข่าวดีที่ล่าสุด (7 พฤษภาคม 2561) ค่ายผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่างเอไอเอส กลายเป็นผู้ให้บริการรายแรกของไทยที่จะเริ่มเปิดให้บริการ IoT ในเชิงพาณิชย์ หลังสามารถขยายเครือข่ายได้ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว!
เอไอเอสได้ดำเนินการพัฒนาเครือข่าย NB-IoT ตั้งแต่ปี 2559 ก่อนขยายเครือข่าย NB-IoT ได้ครอบคลุมทั่วทุกหนแห่งของไทยเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ผ่านการร่วมงานภายใต้โครงการความร่วมมือ AIAP (AIS IoT Alliance Program) จนพร้อมเปิดให้บริการ IoT เชิงพาณิชย์ สร้างประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะทยอยเปิดเครือข่าย eMTC (enhanced Machine Type Communication) พร้อมรองรับการใช้งาน IoT รูปแบบอื่นๆ ในไตรมาส 2 และคาดว่าจะสามารถให้บริการครอบคลุมทั่วไทยในไตรมาส 3 ปีนี้
มีการเปิดเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่าตอนนี้เริ่มมีภาคเอกชนและภาครัฐให้ความสนใจ ทยอยตบเท้าเข้ามาร่วมใช้บริการ IoT เชิงพาณิชย์ของเอไอเอส อย่างต่อเนื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ปตท., พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, โครตรอนกรุ๊ป, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ
เกรียงศักดิ์ วาณิชย์นที หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี เอไอเอส กล่าวว่า “ขณะนี้ทุกภาคส่วนในบ้านเรากำลังตื่นตัวกับการนำอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือ IoT (Internet of Things) เข้ามาประยุกต์ใช้ ทั้งในระดับผู้บริโภค อาทิ Smart Home, Smart Parking หรือในระดับองค์กรและการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ Smart Logistics, Smart City, Smart Farming, Smart Environment เอไอเอสก็ได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาเครือข่ายจากเทคโนโลยีที่เหมาะสม อย่าง NB-IoT ซึ่งขณะนี้ครอบคลุมแล้วทั่วไทย และ eMTC (enhanced Machine-Type Communication) ที่สามารถใช้ควบคู่กับ NB-IoT เพื่อนำคุณสมบัติมาเสริมซึ่งกันและกัน
“บริการ IoT เชิงพาณิชย์ของเอไอเอสจะสามารถตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมขององค์กรต่างๆ ยกระดับการใช้ชีวิต และการบริหารจัดการในแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ร่วมกับอุตสาหกรรมพลังงานอย่าง บริษัท ปตท. นำเทคโนโลยี IoT มาช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบระบบ Cathodic Protection เพื่อให้งานบำรุงรักษาท่อส่งก๊าซธรรมชาติเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จากเซนเซอร์ที่สามารถตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของท่อส่งก๊าซได้ตลอดเวลา และพร้อมส่งข้อมูลตรงจากท่อส่งก๊าซผ่านแอปพลิเคชันถึงมือวิศวกรที่ดูแลได้ทันที
“หรือการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพทย์อย่างบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) นำเครือข่าย NB-IoT จากเอไอเอส เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักสร้าง IoT Smart City ที่มีการใช้งานจริงแล้ว ในโครงการ Perfect Smart City เมืองอัจฉริยะที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการ เช่น Mobike, Smart Lighting, Smart Tracking รวมถึงการนำ Smart Home และ Security Platform มาต่อยอดพัฒนา Home Application อีกด้วย โดยนำร่องให้บริการแล้วใน 15 โครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล”
หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยี เอไอเอสยังบอกต่ออีกด้วยว่าปัจจุบัน เอไอเอสได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อนำเทคโนโลยี IoT เข้าไปเริ่มใช้งานอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรนั้นๆ
ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่เอไอเอสสามารถก้าวข้ามพรหมแดนเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสื่อสารที่ไร้ข้อจำกัด พร้อมขยับขึ้นมาเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์รายแรกในไทยที่จะเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมองค์การต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงบริการ IoT เชิงพาณิชย์รูปแบบต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในที่สุดผลที่ตามมาก็จะทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง