×

ปลูกต้นไม้ป้องกันฝุ่น ปลูกอะไรดีเพื่อลดฝุ่นและเสริมคุณภาพอากาศ?

24.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ในวงจรชีวิตของต้นปาล์มไผ่ ในหนึ่งวันสามารถผลิตความชื้นออกมาวัดได้เป็นน้ำราว 1 ลิตร ฉะนั้นหากรู้สึกว่าอากาศในบ้านแห้งกว่าปกติ จนอาจก่อปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แนะว่าควรมีต้นปาล์มไผ่ไว้สักต้น
  • ดอกเดหลีนอกจากจะหน้าตาสวยงามแล้ว ยังสามารถดูดซับสารพิษในปริมาณมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาหารอันโอชะของมันก็คือสปอร์ของเหล่าเชื้อราในห้องนอน
  • สิ่งที่ทำหน้าที่ดักฝุ่นของต้นไม้ก็คือ ‘ส่วนใบ’ ที่พร้อมจะดักฝุ่นให้เกาะติดไว้ไม่ฟุ้งกระจาย โดยเฉพาะต้นไม้หลายๆ ชนิดที่มีลักษณะใบหยาบและมีขนบางๆ จะยิ่งช่วยกันฝุ่นได้อย่างดี

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังคงเป็นเรื่องที่คนไทยต้องเผชิญกันอยู่อย่างไม่มีทางแก้ไขยั่งยืน มีเพียงแค่หน้ากาก N95 ที่พอจะช่วยให้เราๆ ไม่ต้องออกไปหายใจเผชิญฝุ่นโดยตรง หรือการพ่นละอองน้ำของทางภาครัฐที่ไม่รู้ว่ามันจะช่วยได้จริงหรือไม่ และเราต้องทนต่อไปนานเพียงใด ฉะนั้นหนึ่งสิ่งที่คุณควรกังวลไว้คือ การทำอย่างไรให้ตัวเองปลอดภัยและผ่านพ้นวิกฤตฝุ่นนี้ไปให้ได้

 

 

หากแก้ไขในภาคสังคมไม่ได้ เราลองเริ่มจากสถานที่ใกล้ตัวอย่างที่พักอาศัยของคุณเองดีไหม? โดยเราได้รวบรวมลิสต์ต้นไม้ที่คุณควรมีไว้ในบ้าน บริเวณบ้าน เพื่อช่วยลดฝุ่นและสารพิษในอากาศซึ่งน่าจะช่วยให้คุณและคนในครอบครัวรู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้างด้วยความเขียวขจีของพวกเขา ซึ่งสิ่งที่ทำหน้าที่ดักฝุ่นก็คือ ‘ส่วนใบ’ ที่พร้อมจะดักฝุ่นให้เกาะติดไว้ไม่ฟุ้งกระจาย โดยเฉพาะต้นไม้หลายๆ ชนิดที่มีลักษณะใบหยาบและมีขนบางๆ จะยิ่งช่วยกันฝุ่นได้อย่างดี แต่ทั้งนี้ควรหมั่นเช็ดใบทำความสะอาดด้วยเช่นกัน

 

Photo: Tierra Plants

 

ต้นยางอินเดีย

อาจเคยคุ้นตาเจ้าต้นนี้จากใน Pinterest กันบ่อยๆ เวลาเปิดดูภาพการแต่งห้องสวยๆ ซึ่งลำต้นและใบของเจ้าต้นยางอินเดียนี้มีความเรียบสวยและเงางาม เติบโตได้ในสภาพแสงน้อย โดยจะวางไว้ใกล้ๆ หน้าต่างมีแดดรำไรผ่านม่านมาสักนิด และต้นยางอินเดียนี้เองนอกจากจะสามารถช่วยดักจับฝุ่นแล้ว เขายังสามารถช่วยดูดซับคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย ที่สำคัญดูแลรักษาง่ายมาก เพียงแค่อย่ารดน้ำจนชุ่มฉ่ำเกินไป เพราะพืชชนิดนี้ไม่ต้องการน้ำในปริมาณมาก และควรหมั่นเช็ดใบให้สะอาด น้องต้นไม้จะได้หายใจสะดวกขึ้น

 

Photo: Soon Afternoon

 

พลูด่าง

น่าจะเป็นต้นไม้ขนาดเล็กที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เพียงแค่นำพลูด่างใส่ไว้ในกระถางใบย่อมๆ ตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน ห้องน้ำ วางไว้ริมหน้าต่างก็ได้ทั้งหมด พลูด่างและพืชในตระกูลของเขาจะช่วยดูดซับสารฟอร์มาลดีไฮด์ซึ่งตกค้างอยู่ในอุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ หรือในตัวอาคารก็ตาม รวมถึงยังช่วยดูดซับสปอร์ของเชื้อรา และลดฝุ่นได้อีกด้วย วิธีการดูแลก็ง่ายเหลือเกิน หากคุณต้องการปลูกในน้ำก็หมั่นเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ หรือจะปลูกลงดินก็ได้ตามที่สะดวก

 

Photo: Mark & Spencer

 

เดหลี

นอกจากตัวดอกเหลีจะมีสีสวยงาม ใบที่ใหญ่เรียวยาวแล้ว ประโยชน์ยังดีงามเกินความงามไปอีก เหมาะจะเป็นเพื่อนคู่เตียงของคุณ เพียงหาต้นเดหลีนี้ใส่กระถางใบย่อมเพื่อดูดสารพิษและฟอกอากาศ และเจ้าดอกที่หน้าตาคล้ายดอกหน้าวัวนี้สามารถดูดซับสารพิษในปริมาณมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาหารอันโอชะของมันก็คือสปอร์ของเหล่าเชื้อราในห้องนอนอีกด้วย แถมตื่นมา ต้นไม้จะเป็นเพื่อนคนแรกที่ทักทายคุณด้วยความสดชื่นด้วยสีที่สวยงามน่ามอง แต่อาจจะต้องหลีกเลี่ยงสำหรับคนที่มีปัญหาทางสุขภาพเกี่ยวกับเกสรดอกไม้ หรือผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นของเดหลี

 

 

ลิ้นมังกร

ใบเรียวยาวสูงตั้งตรงนับเป็นรูปร่างลักษณะที่เราจดจำได้หากเอ่ยชื่อของลิ้นมังกร ซึ่งต้นไม้ชนิดนี้เหมาะสมอย่างมากในการปลูกทั้งในบ้านหรือบริเวณนอกบ้านก็ตาม โดยลิ้นมังกรนี้สามารถขจัดมลภาวะทางอากาศได้หลากหลายมากทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนมอนอกไซด์ ฟอร์มัลดีไฮด์ คลอโรฟอร์ม เบนซิน ทั้งยังผลิตออกซิเจนจำนวนมากตลอดทั้งคืน ดังนั้นลิ้นมังกรนี้เหมาะแก่การจะเป็นเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมให้คุณโดยไม่ต้องไปรอต่อคิวซื้อในแอปพลิเคชันออนไลน์

 

Photo: Waitrose Garden

 

ปาล์มไผ่

อีกหนึ่งต้นไม้ที่จะช่วยให้บ้านของคุณมีอากาศที่สะอาดขึ้น หากปลูกไว้ในบ้านเจ้าปาล์มไผ่นี้จะลดปริมาณของคาร์บอนมอนอกไซด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และเบนซินในอากาศได้ และที่สำคัญที่สุดต้นปาล์มยังทำหน้าที่เป็นตัวปรับความชื้นที่ดี โดยภายในหนึ่งวันยังสามารถผลิตความชื้นออกมาวัดได้เป็นน้ำราว 1 ลิตรใน 24 ชั่วโมง ฉะนั้นหากรู้สึกว่าอากาศภายในบ้านแห้งเกินควร จนอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ แนะว่าควรมีต้นปาล์มไผ่นี้ไว้สักต้น แต่ต้องระวังนิดหนึ่งเพราะเป็นต้นไม้ที่ค่อนข้างโตเร็ว และสามารถโตได้สูงสุดถึง 6 เมตร แต่คุณสามารถจำกัดความสูงได้ด้วยขนาดกระถาง ถ้าไม่อยากให้ลำต้นสูงเกินไป ก็เพียงแค่ปลูกในกระถางที่เล็กลงหน่อยเท่านั้น และจดไว้เลยว่าปาล์มไผ่ชอบแดดและชอบน้ำมาก

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising