×

‘Work Hard to Survive’ สัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจไทย หรือมายด์เซ็ตใหม่ที่คนทำงานต้องปรับ?

17.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • รวิศ หาญอุตสาหะ ซีอีโอ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด โพสต์ข้อความบน Facebook ว่า ใน 1-2 ปีข้างหน้า คนทำงานต้องเปลี่ยนจาก Work-Life Balance มาเป็น ‘Work Hard to Survive’ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทาย โดยเน้นย้ำว่าไม่ใช่แค่ทำงานหนักขึ้น แต่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) และโฟกัสกับงานให้มากขึ้นด้วย
  • ผู้บริหารหลายคนมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทาย ทั้งจากปัญหาโครงสร้างภายใน เช่น หนี้ครัวเรือนสูง อุตสาหกรรมล้าสมัย และปัจจัยภายนอก เช่น การแข่งขันจากจีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้กำลังซื้อลดลงและการลงทุนชะลอตัว
  • ตลาดแรงงานไทยกำลังเผชิญความเสี่ยง โดยเฉพาะในภาคการผลิต ขณะที่แรงงานนอกระบบมีสัดส่วนสูงถึง 52% ของแรงงานทั้งหมด สะท้อนถึงความไม่มั่นคงในอาชีพ นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการขาดทักษะดิจิทัลของแรงงานไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
  • แม้จะมีการเรียกร้องให้ทำงานหนักขึ้น แต่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าการทำงานหนักเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอหรือไม่ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และการปรับตัวควบคู่ไปกับการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและคุณภาพชีวิต

“ดูจากบรรยากาศเศรษฐกิจ 1-2 ปีต่อจากนี้ บอกเลยว่าใครยังทำงานชิล Work-Life Balance, Slow Life อยู่ไม่รอดแน่นอน ตอนนี้ต้องกลับเข้าสู่บรรยากาศ Work Hard to Survive แล้ว”

 

นี่คือสเตตัสที่ถูกโพสต์บน Facebook ของ ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ ซึ่งเรียกฮือฮาได้เป็นอย่างดีจนมียอดแชร์ไปกว่า 22,000 ครั้ง (ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 16.48 น.) หากเขาเป็นแค่ผู้ใช้ทั่วๆ ไปคงไม่เรียกวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากทั้งในทิศทางที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกว่า 1,500 คอมเมนต์ 

 

 

 

แต่อีกบทบาทหนึ่งคือการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ธุรกิจเก่าแก่ของไทยที่อยู่มานานกว่า 70 ปี ทำให้สเตตัสนี้จุดประกายการถกเถียงขึ้นมาในสังคมออนไลน์ของไทย และกลายเป็นที่มาที่ THE STANDARD WEALTH ต้องขอพูดคุยกับรวิศถึงที่มาของสเตตัสนั้น

 

Work-Life Balance มาแรงแซงทุกโค้ง

 

ในยุคก่อนผู้คนอาจถูกสอนว่า ทำงานให้หนักแล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่เมื่อเวลาผันเปลี่ยนไปคนรุ่นใหม่กลับมองว่า การทำงานหนักไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการอีกแล้ว คำว่า ‘Work-Life Balance’ จึงเกิดขึ้นมา นั่นคือไม่จำเป็นที่จะต้อง ‘ทำงานหนัก’ เสมอไป

 

เรื่องนี้ไม่ได้กล่าวขึ้นมาอย่างเลื่อนลอยแต่มีงานวิจัยหลายชิ้นออกมาให้เห็นอย่างเช่น โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก เปิดเผยผลสำรวจพบว่า มนุษย์เงินเดือนไทยให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นในการทำงาน ความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว รวมทั้งความเป็นอยู่ที่ดี

 

ขณะที่รายงานจาก Workmonitor เผยว่า 51% ของพนักงานยินดีที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ชอบ แม้จะไม่มีโอกาสก้าวหน้า และ 39% ไม่ต้องการเลื่อนขั้น เพราะพอใจกับงานปัจจุบัน ซึ่งสวนทางกับความเชื่อเดิมที่ว่าคนอยากก้าวหน้าในอาชีพ

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวล “สเตตัสนั้นโพสต์ขึ้นมาบอกกับตัวเองโดยที่ไม่ได้บังคับให้ใครต้องทำตาม ผมขอย้ำว่านี่เป็นความคิดเห็นของผมเอง และผมก็ไม่ได้จะนำเรื่อง Work Hard to Survive ไปใช้ในองค์กรของผม (ที่มีพนักงานราว 300 คน) ด้วย” รวิศกล่าวย้ำกับ THE STANDARD WEALTH

 

รวิศ หาญอุตสาหะ

 

‘พายุเศรษฐกิจ’ กำลังมา! ท่ามกลาง ‘กำลังซื้อ’ ที่หดหาย

 

เท้าความกลับไปยังเหตุผลที่รวิศเลือกเขียนสเตตัสนั้นขึ้นมาเกิดจากเหตุผลส่วนตัวที่มองว่า เศรษฐกิจกำลังจะแย่ขึ้นอีกในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ ถึงที่ผ่านมาจะอยู่ในภาวะซึมๆ อยู่แล้วก็ตาม และแม้จะมีอุตสาหกรรมบางอย่างที่ดีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยดีเท่าไร 

 

เขารู้สึกว่าตัวเองต้องเข้าสู่ War Mode จะชิลไม่ได้แล้ว ซึ่งคำว่าชิลในที่นี้เป็นเรื่องของมายด์เซ็ตด้วยที่มองว่าข้างหน้าสดใสหรือกำลังมีพายุ ซึ่งสำหรับรวิศมองว่าข้างหน้ากำลังจะมีพายุ ดังนั้นตอนนี้จึงต้องเตรียมตัวรับมือ งานจึงจะเพิ่มขึ้นไปด้วย พร้อมกับระมัดระวังความเสี่ยงต่างๆ เพื่อนำพาให้เรือที่ชื่อว่าองค์กรฝ่าพายุนี้ไปให้ได้ 

 

“ส่วนตัวคิดว่าจะหนักกว่าโควิด แน่นอนปัจจัยหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากโควิด แต่โครงสร้างของไทยเองก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน ทั้งสังคมสูงวัย อุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นยุคใหม่ บรรยากาศการลงทุนจากต่างชาติก็ไม่ได้สดใสมากนัก”

 

 

การมองว่า เศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในโหมดสดใสไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่รวิศเท่านั้น แต่ผู้บริหารที่อยู่ในธุรกิจอื่นๆ ก็มีมุมมองที่ไม่แตกต่างกันมากกัน

 

อย่างเช่น มารุต ชุ่มขุนทด ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟแบรนด์ไทย Class Cafe กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในมุมของผู้บริหารมองไปในทิศทางเดียวกันกับที่รวิศพูด เหมือนช่วงนี้ไม่มีข่าวดีเลย เพราะมีประชุมทีมบริษัทแล้วพูดกันว่ามันไม่มีข่าวดีในเร็วๆ นี้แน่ๆ เราต้องอยู่กันในภาวะแบบนี้แหละ ตอนนี้ทุกคนก็บ่นเรื่องกำลังซื้อ จากที่มันแย่อยู่แล้วก็แย่ขึ้นไปอีก 

 

“สำหรับภาพรวมครึ่งปีแรกเราทรงตัว อยู่แบบนิ่งๆ ลดรายจ่าย พยายามอยู่ในโหมดจำศีลให้ได้ และในไตรมาส 4 ที่จะมีดิจิทัลวอลเล็ตออกมาเราไม่ได้คาดหวังว่าจะมาช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากหรือน้อยแค่ไหน ไม่ได้นำมาใส่ไว้ในแพลน เพราะยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจน” มารุตกล่าวพร้อมเสริมว่า “อีก 2-3 ปีข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจน่าจะยังไม่ปรับตัวดีขึ้นจากตอนนี้ แต่สิ่งที่เห็นมากขึ้นแน่ๆ คือเทรนด์ลูกค้าสูงอายุและเทรนด์สิ่งแวดล้อม เรายังต้องทำให้เรามีแรงในการพัฒนานวัตกรรม และ R&D หาพาร์ตเนอร์มาช่วยกัน”

 

ทางด้าน พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรม FMCG ก็ให้ความเห็นว่า การที่อยู่ในตลาดสินค้าจำเป็นอย่าง FMCG ทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่ากำลังซื้อหายไป เพราะในกระเป๋าของผู้บริโภคมีแต่หนี้

 

พันธ์ย้ำว่า นี่เป็นเพียงภาพกว้างๆ โดยถ้าดูเป็นผลประกอบการหรือในส่วนของสินค้าจำเป็นมันก็ไม่ได้กระทบเยอะ เพราะว่าอย่างไรคนก็ต้องซื้ออยู่แล้วโดยเฉพาะสินค้าที่ราคาค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สินค้าอาหารราคาถูกก็น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบเยอะท่ามกลางกำลังซื้อที่ลดลง

 

“สำหรับภาพรวมมาม่าเอง ในประเทศครึ่งปีแรกโต 7-8% ถือว่าดีกว่าที่คาด ส่วนต่างประเทศโต 2-3% ก็ดี แต่เราอยากเพิ่มสัดส่วนต่างประเทศให้มากขึ้น ส่วนสินค้าใหม่ก็เป็นตลาดที่เติบโตได้ค่อนข้างดี”

 

‘หนี้ครัวเรือน-อุตสาหกรรมล้าสมัย’ ตัวฉุดเศรษฐกิจไทย!

 

ปัญหาเรื่อง ‘เศรษฐกิจ’ และ ‘กำลังซื้อ’ ของคนไทยดูจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนกังวลเหมือนกันหมด สำหรับรวิศเองมองว่าสาเหตุมาจากหลายๆ เรื่องด้วยกัน ทั้งหนี้ครัวเรือนของไทยสูงมาก ต่อมาคืออุตสาหกรรมไทยยังเป็นโลกเก่า ตัวอย่างง่ายๆ บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 100 อันดับแรก หรือ SET100 อยู่ในโลกใหม่หรือมองไปข้างนับได้เลย มีน้อยมาก นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หุ้นไทยไม่เซ็กซี่จนเงินทุนไหลออกเยอะมาก แม้บริษัทต่างๆ จะปรับตัวแต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร 

 

เรื่องที่ 3 ความขัดแย้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เริ่มกระทบหนักขึ้น เช่น ค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้น เกิดสงครามการค้าที่หนักมากขึ้นจากอเมริกาหรือยุโรปที่มีอำนาจมากพอในการสร้างกำแพงเพื่อกีดกันการค้าเช่น โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการออกมาตรการสกัดสินค้าราคาถูกจากจีนยกแผง ที่แน่ๆ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 102.5%

 

ตัวสหภาพยุโรปเองก็เตรียมการปรับขึ้นภาษี EV จีน บางสำนักข่าวรายงานว่าอาจเก็บสูงสุดถึง 48% ด้วยเหตุผลหลักๆ ไม่ต่างจากสหรัฐฯ ที่หวังสกัดการแข่งขันด้านราคา

 

 

“แต่ไทยทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้มีอำนาจมากพอทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยกระทบ เพราะเกิดการทะลักของสินค้าจากจีน” รวิศกล่าวพร้อมเสริมว่า “การเข้ามาของทุนจีนก็น่ากลัวมากๆ เพราะเข้ามาทั้งองคาพยพ ไม่เหมือนจากญี่ปุ่นที่นำเงินเข้ามาลงทุนพร้อมจ้างงานคนไทยและซัพพลายเออร์ในประเทศ ดังนั้นการเข้ามาของทุนจีนสร้างผลประโยชน์ให้ไทยได้น้อยมาก จุดนี้เองภาครัฐก็ต้องออกมาช่วยในการออกมาตรการต่างๆ”

 

ตามรายงานของสำนักข่าวระดับโลกอย่าง Reuters เผยว่า สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากนี้ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงานและค่าแรงที่สูงก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาให้กับผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง

 

ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเผยให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยจำนวนโรงงานที่ปิดตัวลงในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 – มิถุนายน 2567 เพิ่มขึ้นถึง 40% จากช่วง 12 เดือนก่อนหน้า ส่งผลให้มีคนตกงานกว่า 51,500 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 80%

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มองว่าโมเดลเศรษฐกิจไทยที่ขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรมนั้นล้าสมัยไปแล้ว และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโดยด่วน เพื่อรับมือกับการแข่งขันจากจีนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

การมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและไม่ใช่สินค้าที่จีนสามารถผลิตได้ในราคาถูก รวมถึงการเสริมสร้างภาคเกษตรกรรมให้แข็งแกร่งขึ้น อาจเป็นทางออกสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว นอกจากนี้รัฐบาลยังเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากสินค้าราคาถูกนำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน แต่ก็ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีและการทุ่มตลาดสินค้าจากจีน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการป้องกันเพิ่มเติม

 

โดยมาตรการของเพื่อนบ้านคืออินโดนีเซียที่ออกมาประกาศว่า มีแผนกำหนดมาตรการทางภาษีสินค้านำเข้า (Safeguard Duties) ในอัตรา 100-200% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างธุรกิจ SMEs

 

“มาตรการของรัฐบาลเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุม ซึ่งถ้าถามว่าเราควบคุมอะไรได้บ้าง ก็เป็นอย่างที่ตั้งสเตตัสไป นั่นคือควบคุมตัวเองในการทำงาน ผมไม่รู้ว่าอนาคตจะดีหรือไม่ดีอย่างไร อาจจะไม่ได้แย่มากเท่าที่คิดก็ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการเตรียมตัวให้ Work Hard และ Work Smart ที่สุด ไปพร้อมๆ กับการรักษาสุขภาพและสภาพจิตใจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนี่อยู่ในการควบคุมของเรา 100% เพียงแต่ต้องปรับวิถีนิดหนึ่ง ส่วนตัวมองเป็นเรื่องต้องทำ ไม่มีทางเลือกอื่น” รวิศให้ความเห็น

 

ไม่ใช่แค่ทำงานหนัก แต่ต้อง ‘โฟกัส’ และ ‘เพิ่ม Productivity’

 

สำหรับคำว่า Work Hard to Survive รวิศได้ขยายความว่า ยุคนี้แค่ Work Smart (หมายถึงการให้คนทำงานมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่เคร่งเครียดกับงานมากเกินไป) ไม่ใช่เรื่องที่มาคุยกันแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ Work Smart อาจต้องทำงานหนักขึ้นด้วย ซึ่งแปลว่าเราต้องทำงานเยอะขึ้น

 

คำว่า ‘ทำงานเยอะขึ้น’ ในมุมมองของรวิศไม่ได้หมายความว่าชั่วโมงการทำงานที่ต้องเยอะขึ้น แต่ต้องมี Productivity หรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ผ่านการจัดลำดับความสำคัญของงานให้เป็น ไม่ใช่ทำงานชั่วโมงเยอะแต่ไม่ได้อะไรเลย 

 

 

“Work Hard ของผมคือภายใน 1 ชั่วโมงที่เราทำงานต้องได้งานที่มี Productivity ให้มากขึ้น ไม่ใช่ทำงานหนักแต่ไม่ได้คุณภาพ ซึ่งทำให้การโฟกัสกับงานมากๆ ความชิวต่างๆ ที่เคยมีก็จะน้อยลงไปด้วย และทำให้เหนื่อยมากขึ้นด้วย”  รวิศกล่าว พร้อมเสริมว่า “จำนวนชั่วโมงการทำงานเป็นเรื่องนานาจิตตัง ใครอยากจะมองมุมไหนก็ได้ แต่ส่วนตัวก็มีชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้นและโฟกัสเพิ่มขึ้นเช่นกัน”

 

รวิศย้ำถึงเหตุผลที่ต้อง Work Hard to Survive ไม่ได้มาจากแค่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเหตุผลใหญ่เลยคือเพราะคู่แข่งเก่งขึ้น ตอนนี้ไม่ได้แข่งในประเทศหรือแข่งกับเพื่อนบ้านรอบๆ อีกแล้ว แต่ตอนนี้คู่แข่งมาจากทั่วโลกแถมเก่งขึ้นด้วย 

 

ฉะนั้นเราก็ต้องอัปเกรดตัวเองขึ้นไปด้วย ซึ่งต่อให้ Work Smart แค่ไหนก็จะมีบางกรณีที่ต้องทำงานให้มากขึ้นอยู่ดี รวมถึงการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตัวเขาเองก็ต้องเรียนรู้ใหม่ด้วย เพราะความรู้ที่มีก็เริ่มล้าสมัยไปแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าจะทิ้งเรื่องอื่นๆ อย่างรวิศ ที่แม้จะต้องทำงานหนักขึ้นแต่ก็ต้องแบ่งเวลาออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และให้เวลากับครอบครัวด้วย ซึ่งการ Work Smart ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทให้กับงานทั้งหมด แต่สามารถรักษาบาลานซ์และทำงานหนักได้ด้วย ขึ้นอยู่กับการมองโลกของแต่ละคน

 

คนทำงานต้องเป็น ‘กลจักรสำคัญ’ และ ‘ทดแทนยาก’

 

เพื่อรับมือกับความท้าทายที่กำลังจะมาถึง (ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล – รวิศย้ำ) หากต้องแนะนำคนทำงานทั่วไป วรวิศมีที่อยากแนะนำอยู่ 2 เรื่องคือ 1. ถ้าเราเป็นกลจักรขับเคลื่อนสำคัญต่อกลยุทธ์หลักขององค์กรอันนี้เป็นเรื่องที่ดี และ 2. งานที่ทำอยู่หาสิ่งอื่นๆ มาทดแทนได้ยากไหมในตลาดแรงงาน 

 

โดยถ้าเราอยู่ในทั้ง 2 เรื่องไม่มีปัญหา เพราะว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตามเรามีความสำคัญมากๆ ในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งสำหรับผมนี่เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรเป็นถ้าทำได้ เราจึงเป็นตัวเลือกท้ายๆ ที่จะถูกปลดหากองค์กรต้องลดพนักงาน 

 

“บริษัทจำนวนมากไม่ได้ปลดเพราะขาดทุน บางบริษัทปลดทั้งที่กำไรดีสุดในรอบหลายปี เพราะการทำงานเปลี่ยน กลยุทธ์เปลี่ยน การเข้ามาของเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยสำคัญ”

 

นี่ไม่ใช่คำพูดเกิดจริง เพราะล่าสุด Unilever บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายลดตำแหน่งงานในสำนักงานทั่วทวีปยุโรปลงประมาณ 1 ใน 3 ภายในสิ้นปี 2025 นี่เป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญภายใต้การนำของ Hein Schumacher ซีอีโอคนใหม่ที่กำลังเร่งเครื่องผลักดันการเติบโตของบริษัทท่ามกลางแรงกดดันจากผู้ถือหุ้น

 

แผนการลดพนักงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ’ ที่ Unilever ประกาศไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งรวมถึงการลดตำแหน่งงานทั่วโลกมากถึง 7,500 ตำแหน่ง โดยในยุโรปคาดว่าจะมีการลดตำแหน่งงานประมาณ 3,000-3,200 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตำแหน่งในสำนักงาน ไม่รวมพนักงานในโรงงาน

 

ขณะที่การปลดคนทำงานจากบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งลากยาวมาตั้งแต่ปี 2022 จนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะกดดันทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้บริษัทต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่าย ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่บริษัททำได้ก็คือ ‘การปลดคน’

 

สิ้นสุดครึ่งปีแรกมีผู้ที่ถูกปลดไปแล้ว 99,737 คนจาก 347 บริษัท ตามข้อมูลล่าสุดของเว็บไซต์ Layoffs.fyi ที่เก็บข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวการปลดคนในวงการเทคโนโลยี

 

 

หมดยุค One Size Fits All แม้แต่ในโลกการทำงาน

 

ในฐานะที่อีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นผู้นำองค์กร รวิศได้แนะนำว่า สำหรับองค์กรสิ่งที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้พนักงานทันต่อโลกที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วได้ ต้องดูว่าจะไปเสริมตรงไหนได้บ้าง คนในองค์กรบางคนอาจจะเก่งในบางเรื่องอยู่แล้ว ถ้าเติมบางอย่างเข้าไปจะทำให้เก่งและทันกับโลกข้างนอกมากขึ้น ในฐานะองค์กรก็ต้องอ่านให้ออกว่าแต่ละคนควรถูกเติมแบบไหน 

 

สิ่งหนึ่งที่มองว่าสำคัญมากและทำยากมากแต่ควรจะทำคือไม่ควรมี One Size Fits All สำหรับองค์กร เพราะรวิศไม่เคยเห็นด้วยกับการเรียนแบบแม่พิมพ์ที่ทุกคนต้องเรียนรู้เหมือนกันหมด แต่หากเป็นไปได้องค์กรควรที่จะออกแบบการพัฒนารายบุคคล รวมถึงมองให้ออกว่าแต่ละคนกำลังขาดอะไรอยู่ 

 

พอพูดเรื่องเสริมทักษะก็มักนึกถึงเรื่อง ‘เทรนนิ่ง’ ที่ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะถ้าเทรนนิ่งมาแต่ไม่มีพื้นที่ให้ลองใช้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นเวลาคิดเรื่องพัฒนาคนต้องคิดไปถึงเรื่องของการใช้งานทักษะที่เพิ่มเข้ามาด้วย ก็จะช่วยให้องค์กรคิดแบบรอบด้านมากขึ้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

ด้านพันธ์ก็ให้ความเห็นว่า เมื่อพูดมาถึงการทำงานในองค์กรของมาม่าไม่ได้หวือหวามากนัก แม้จะคาดหวังเรื่องผลลัพธ์จากพนักงานอยู่แล้ว แต่การทำงานจะไปบอกให้ทำมากขึ้นคงไม่ เพราะที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้วแต่อาจจะมีเรื่องที่ต้องโฟกัสมากขึ้น

 

“เรายังเชื่อเรื่องบาลานซ์ในการใช้ชีวิต ถ้าไม่บาลานซ์ ทำงานไม่มีความสุข จิตใจไม่อยู่กับตัวก็เท่านั้น เราก็ห่วงหลายเรื่อง เราต้องเข้าใจชีวิตส่วนตัวด้วย สมัย 10 ปีก่อนเราห้ามทำอาชีพเสริม แต่ตอนนี้เราเปิดให้ทำได้”

 

ขณะที่มารุตก็ให้มุมมองว่าคนทำงานจะต้องมี 2 ฟีล ฟีลหนึ่งก็คือบริษัทต้องให้ทำงานหนักขึ้น แต่คนทำงานก็ต้องสปีดตัวให้มากขึ้น

 

“วันก่อนผมได้ลงพื้นแล้วเจอชาวบ้าน ปรากฏว่าเป็นคนทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เขาบอกว่าเขาไม่มีอนาคตเลยนะ เพราะว่าภายในบริษัทเขาคุยกันเรื่อง EV ซึ่งภาครัฐก็ส่งเสริม EV วันๆ ก็คุยแต่เรื่องจะโดนเลย์ออฟเมื่อไร ซึ่งเหมือนอยู่ในภาวะที่ชีวิตไม่แน่นอน” 

 

ทำไมคนกังวลภาวะเศรษฐกิจ?: แรงงานทั่วโลก ‘เกินครึ่ง’ มีงาน ‘ไม่มั่นคง’

 

ปรากฏการณ์คนไทยรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพการงาน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทย โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงให้เห็นว่า กว่า 52% ของแรงงานในประเทศเป็นแรงงานนอกระบบ หมายความว่าแรงงานเกินครึ่งในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองที่ ‘ไม่เพียงพอ’

 

นอกจากนี้จากกระแสเปิดและปิดโรงงานเมื่อเร็วๆ นี้ยังเป็นการตอกย้ำว่า แรงงานในภาคการผลิตกำลังเผชิญกับความเสี่ยงมากที่สุด โดยเฉพาะสาขาการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตปิโตรเคมี การผลิตโลหะขั้นพื้นฐาน และการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตามการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนว่า ไม่ว่าผู้คนจะทำงานหนักมากแค่ไหน แต่หากภาครัฐยังนิ่งนอนใจและไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ในตลาดแรงงานไทย แม้แต่ผู้ที่ทำงานหนักที่สุดก็เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นห่วงโซ่อุปทานมูลค่าโลกที่เปลี่ยนไป การพัฒนาที่รวดเร็วของเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม เซมิคอนดักเตอร์ ความนิยมของรถ EV และภาวะอุปทานล้นในจีน เป็นต้น

 

หนึ่งในเหตุผลที่อาจอธิบายได้ว่า ทำไมผู้คนตอนนี้ถึงรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต คำตอบก็คือ เพราะคน ‘ส่วนใหญ่’ มีงานที่ ‘ไม่มั่นคง’ (Insecure Job) ตัวอย่างเช่น เป็นพนักงานสัญญาจ้าง (Contract Worker) และเป็นแรงงานนอกระบบ (Informal Workers) 

 

ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า จากการสำรวจข้อมูลภาพรวมสถานการณ์แรงงานนอกระบบในปี 2566 พบว่า ไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวน 21 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 52% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด 40 ล้านคนในประเทศ

 

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่คนทั่วโลกก็กำลังเจอสิ่งนี้ โดยตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แสดงให้เห็นว่า จำนวนแรงงานนอกระบบ (Informal Workers) ทั่วโลกในปี 2023 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2 พันล้านคน (สูงกว่าจำนวนประชากรไทย ซึ่งมี 66 ล้านคน กว่า 29 เท่า) นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ คิดเป็น 58% ของการจ้างงานทั้งหมด

 

สัดส่วนดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ท่ามกลางการเติบโตของ Gig Economy และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มอบทางเลือกให้แก่นายจ้างและพนักงานมากมาย

 

 

เป็นแรงงานนอกระบบ ‘ไม่ดี’ อย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ILO ก็กังวลว่า การเพิ่มขึ้นของแรงงานนอกระบบย่อมหมายความว่าจำนวนของแรงงานที่จะได้รับการป้องกันทางสังคม และกฎหมายที่เพียงพอ (Adequate Social and Legal Protection) ย่อมลดลงตามไปด้วย

 

โดยแรงงานนอกระบบที่จำนวนมากขึ้นอาจทำให้คุณภาพของงาน (Job Quality) โดยรวมลดลง กล่าวคืออาจมีงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างอย่างเพียงพอและเป็นธรรมมากขึ้น จำนวนเวลาการทำงานที่สมเหตุสมผล (Reasonable Working Hours) อาจลดลง การได้รับการอบรมที่เหมาะสมและการพัฒนาทักษะของแรงงานโดยรวมก็ลดลง เป็นต้น

 

สอดคล้องกับการสำรวจข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า 28.2% ของแรงงานไทยนอกระบบประสบปัญหาค่าตอบแทน งานขาดความต่อเนื่อง งานหนักเกินไป เป็นต้น

 

นอกจากนี้ปัญหา ‘การไม่ได้รับการอบรมและพัฒนาทักษะที่เหมาะสม’ นี้ก็ยังอาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ระดับประเทศ ‘เป็นปัญหางูกินหาง’ ได้ เนื่องจากภาวะดังกล่าวอาจทำให้ผลิตภาพแรงงานของประเทศต่ำลง หรือทำให้แรงงานในประเทศมีทักษะหรือความรู้ไม่เพียงต่อความต้องการของนายจ้างและบริษัทผู้ต้องการลงทุนในประเทศไทยได้

 

“ตัวเลขจำนวนแรงงานนอกระบบที่ 2 พันล้านคนนี้แสดงให้เห็นว่า เราจำเป็นต้องพาแรงงานออกจากความยากจนและเศรษฐกิจนอกระบบ (Informality) เราไม่สามารถสนใจแต่ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวได้ แต่เราต้องทำให้มั่นใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยั่งยืนและครอบคลุมด้วย” ILO ระบุในรายงาน World Employment and Social Outlook: May 2024 Update

 

แรงงานไทยในภาคการผลิตน่าห่วงที่สุด!

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2567 ‘เพิ่มขึ้น’ เล็กน้อย แตะระดับ 1.01% จากระดับ 0.81% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ซึ่งน่าจะมาจากปัจจัยเชิงฤดูกาลชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นช่วงนอกฤดูทำเกษตรกรรมทำให้การจ้างงานภาคเกษตรกรรมลดลง

 

อย่างไรก็ตาม ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 โดยระบุว่า แม้การจ้างงานโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น กระนั้นการจ้างงานในบางภาคส่วนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ยาก โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิต (Manufacturing)

 

ปราณียังกล่าวว่า ภาคการผลิตที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ (ได้แก่ สาขาการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตปิโตรเคมี การผลิตโลหะขั้นพื้นฐาน และการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) มีการจ้างงาน ‘ลดต่ำลงอย่างชัดเจน’ และอาจฟื้นตัวได้ยาก หากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้

 

 

ปราณียังเตือนว่า จำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานราว 40 ล้านคน มีแรงงาน 6.3 ล้านคนในภาคการผลิตที่กำลังเผชิญปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัญหาเชิงโครงสร้าง นอกจากนี้ความเปราะบางดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะ Spillover ไปสู่ภาคบริการบางส่วน ตัวอย่างเช่น ร้านค้าที่มีอยู่โดยรอบโรงงานก็อาจซบเซาไปด้วย

 

ปราณีกล่าวอีกว่ายังต้องติดตามพัฒนาการการปรับโครงสร้างการผลิตของโรงงานต่างๆ และทักษะแรงงานต้องมีการปรับควบคู่กันไป เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

ห่วงแรงงานขาดทักษะดิจิทัล ฉุดเศรษฐกิจไทย 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี

 

ข้อมูลจาก We Are Social ที่พบว่า ทักษะด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ ทั้งที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันในระดับสูง โดยข้อมูลดังกล่าว สภาพัฒน์ระบุว่า นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากการขาดทักษะดิจิทัลอาจทำให้ไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี จากผลิตภาพของแรงงานที่ไม่สูงนัก และการใช้นวัตกรรมที่น้อย ตลอดจนการลงทุนจากต่างชาติที่ลดลง

 

“สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะเมื่อนำมาประกอบกับปัญหาเด็กเกิดน้อย ซึ่งจะทำให้จำนวนแรงงานที่มีสมรรถนะสูงในอนาคตลดน้อยลง สะท้อนถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาทักษะให้แก่ประชากรอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถทดแทนกำลังแรงงานที่จะหายไป และสามารถรองรับการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมมูลค่าสูงได้” รายงานระบุ


อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญที่เราต้องขบคิดร่วมกันคือ ในยุคที่เศรษฐกิจผันผวนและเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นนี้ การทำงานหนักเพียงอย่างเดียวจะเพียงพอต่อการอยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หรือเราควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์มากกว่า? บางทีคำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การทำงานหนักหรือไม่หนัก แต่อยู่ที่การทำงานอย่างชาญฉลาด มีประสิทธิภาพ และมีความหมายต่อทั้งตนเองและสังคมโดยรวมมากกว่าหรือเปล่า

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในขณะที่หลายฝ่ายกังวลถึงปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลง เราจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างการทำงานหนักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจกับการรักษาคุณภาพชีวิตและความสุขของคนทำงานได้อย่างไร นี่อาจเป็นโจทย์สำคัญที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนทำงานทุกคนต้องร่วมกันหาคำตอบ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ภาพ: Khanchit Khirisutchalual / Gettyimages

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising