×

เพื่อนร่วมงานผู้หญิงชอบคุยเรื่องประจำเดือน ตรวจภายใน ทำนม เวลาผมอยู่ด้วย ผมควรวางตัวอย่างไรดีครับ

20.11.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

 

  • ถ้าพวกเธอคุยกันเอง โดยที่เราเป็นเพียงคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ เช่น คุยกันข้ามโต๊ะที่ทำงาน แน่นอนว่า พวกเธอกำลังคุยกันเอง แต่ดันเป็นอาณาเขตที่เราจะได้ยินไปด้วย ถ้าเราทำงานอยู่ ให้เราโฟกัสเรื่องงานไปครับ อย่าไปสนใจเสียงที่ผ่านเข้ามา ดูหน้าจอของเราไป คิดงานของเราไป เพราะเธอไม่ได้ต้องการความเห็นใดๆ จากเราอยู่แล้ว ถ้าไม่อยากได้ยิน เราใส่หูฟังเลยครับ แค่นี้เราก็ไม่ได้ยินแล้ว
  • กับอีกวิธีคิดหนึ่งก็คือ ถ้าจำเป็นต้องฟังจริงๆ ผมคิดว่า ใช้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ว่าผู้หญิงใช้ชีวิตอย่างไร เผชิญปัญหาอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ ต้องการอะไรอยู่ มองให้มันเป็นการได้เข้าใจมนุษย์ เราก็จะได้ประโยชน์ครับ
  • ทุกเรื่องที่เราได้ยินมันมาพร้อมกับเรื่องราวในชีวิตของเขาครับ บางอย่างอาจจะกลายมาเป็นข้อมูลหรือไอเดียในการทำงานหรือการใช้ชีวิตของเราก็ได้ ที่สำคัญมันทำให้เราเข้าใจมนุษย์ขึ้นมากเลยครับ

 

Q: ผมเป็นผู้ชายไม่กี่คนในออฟฟิศ มีเพื่อนร่วมงานเป็นผู้หญิงรายล้อมไปหมด เขินทุกทีเวลาเพื่อนผู้หญิงที่ออฟฟิศชอบคุยกันเรื่องประจำเดือน ทำเล็บ ตรวจเมมโมแกรม ฯลฯ ไม่ได้แอบฟังนะครับ แต่เขาคุยกันเสียงดัง ผมก็เลยได้ยินด้วย รู้ว่าเขาคงไม่คิดอะไร แต่เอาจริงๆ ผมก็เขินๆ ปนกระอักกระอ่วนนะครับ ผมควรวางตัวอย่างไรดีครับ

 

A: ตั้งแต่ผมทำงานมา ผมก็อยู่ในสายงานที่มีทีมงานผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมาตลอดครับ เพราะฉะนั้นผมพอจะเข้าใจคุณว่ารู้สึกอย่างไรเวลาได้ยินบทสนทนาที่เราเป็น ‘ข้อใดไม่เข้าพวก’ อยู่ 

 

สารภาพตามตรง ผมเองก็เขินๆ นะครับเวลาสาวๆ เขาคุยกันในเรื่องที่เราไม่มีส่วนร่วม (ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะมีส่วนร่วมกับพวกเธอในเรื่องประจำเดือน ทำเล็บ ทำผม ทำนม ฯลฯ ได้อย่างไร) แต่ผมคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในทุกเรื่อง ทุกบทสนทนาก็ได้

 

ถ้าพวกเธอคุยกันเอง โดยที่เราเป็นเพียงคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ เช่น คุยกันข้ามโต๊ะที่ทำงาน แน่นอนว่า พวกเธอกำลังคุยกันเอง แต่ดันเป็นอาณาเขตที่เราจะได้ยินไปด้วย ถ้าเราทำงานอยู่ ให้เราโฟกัสเรื่องงานไปครับ อย่าไปสนใจเสียงที่ผ่านเข้ามา ดูหน้าจอของเราไป คิดงานของเราไป เพราะเธอไม่ได้ต้องการความเห็นใดๆ จากเราอยู่แล้ว ถ้าไม่อยากได้ยิน เราใส่หูฟังเลยครับ แค่นี้เราก็ไม่ได้ยินแล้ว

 

ถ้าคุณอยู่ในวงสนทนานั้น แล้วเธอคุยเรื่องที่คุณกระอักกระอ่วน คุณจะปวดปัสสาวะขึ้นมากะทันหันก็ได้ครับ หรือถ้าหนีไปไหนไม่ได้ นั่งฟังเฉยๆ ไม่มีความเห็น ปล่อยให้เธอได้ระบาย ถ้าไม่ไหวจริงๆ แกล้งตลกกลบเกลื่อนไปว่า “เราเขินว่ะเธอ” แค่นี้เลย เป็นการส่งสัญญาณว่าอย่าเพิ่งคุยเรื่องนี้ตรงนี้ต่อหน้าเราเลย

 

กับอีกวิธีคิดหนึ่งก็คือ ถ้าจำเป็นต้องฟังจริงๆ ผมคิดว่า ใช้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้ว่าผู้หญิงใช้ชีวิตอย่างไร เผชิญปัญหาอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ ต้องการอะไรอยู่ มองให้มันเป็นการได้เข้าใจมนุษย์ เราก็จะได้ประโยชน์ครับ

 

ผมเลยได้รู้ว่า เพื่อนบางคนปวดประจำเดือนอยู่ รู้แล้วก็เห็นใจเธอไปด้วย แม้จะช่วยอะไรเธอไม่ได้โดยตรง แต่เอาเป็นว่า เธอทุกข์อยู่แล้ว เราไม่ไปกวนเธอเพิ่มก็แล้วกัน หรือจะเข้าใจได้ หากเธอจะหงุดหงิดอะไรขึ้นมาง่ายกว่าเดิมหน่อย แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเธอก็หาย เธอลำบากกว่าเราเยอะ

 

ผมได้รู้ไปด้วยว่า พวกเธอมีความอดทนเพื่อความสวยแค่ไหน เธอต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการทำผม ทำเล็บ ทำคิ้ว แว็กซ์ (และยิ่งบราซิลเลียนแว็กซ์นะคุณเอ๊ย! ขอกราบความอดทน) เธอเสียค่าใช้จ่ายแค่ไหนเพื่อทำให้ตัวเองสวย ค่าโบท็อกซ์เท่าไร ต้องฉีดบ่อยแค่ไหน ทำนมกับหมอไหนดี นมแบบไหนที่เธอชอบ ฯลฯ ได้ยินแล้วผมก็ทึ่งในความอดทน ความพยายาม และการบริหารค่าใช้จ่ายของพวกเธอ แต่แทนที่ผมจะไปมีส่วนร่วมกับเธอในเรื่องนม ผมได้รู้แล้วว่า ถ้าเธอจะประทังสังขารตัวเอง เธอต้องเตรียมเงินไว้แค่ไหน ผมก็เลยถามเธอเรื่องเคล็ดลับการบริหารเงินเสียเลย (แต่ผมไม่บอกเธอหรอกนะว่ารู้ว่าเธอเก็บเงินเก่ง เพราะเธอจะเอาเงินไปทำนม!)

 

ผมได้รู้ไปด้วยว่า พอเธอเป็นแม่คนแล้วเธอเผชิญกับอะไรบ้าง ทั้งการคัดเต้านม เพื่อนผู้หญิงบางคนที่เป็นแม่แล้วอธิบายให้ผมเข้าใจด้วยซ้ำว่า เวลาลูกดูดนมความรู้สึกมันต่างกับเวลาที่สามีปฏิบัติกับเธอในตำแหน่งเดียวกันอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าในเมื่อมัน ‘ทำ’ กับสิ่งเดียวกันด้วย คนเป็นแม่จะรู้สึกอะไรไหมวะ ให้ลูกดูดนมอยู่แล้วจะเสียวไหม (เอ๊า! ผมสงสัยจริงๆ) ฮ่าๆ พวกเธอเปิดโลกให้ผมแล้วว่า มันไม่เหมือนกัน (โว้ย!)

 

ผมได้ฟังไปด้วยว่า เธอไปตรวจเมมโมแกรมหรือตรวจภายในมาแล้วเป็นอย่างไร ถ้าเอาเรื่องสรีระออกไป ผมเลยได้เข้าใจว่า พวกเธอกังวลอะไรบ้างเวลาต้องไปตรวจ บางช่วงของบทสนทนาที่ลอยมาเข้าหูนั้น ก็ทำให้ผมอยากบอกพวกเธอว่า “ผมเป็นกำลังใจให้นะ” แต่ผมก็คิดว่า ผมไม่ควรไปอยู่ในซีนนั้นเท่าไร เอาเป็นว่าเวลาอื่นที่ได้คุยกัน เจอหน้ากัน ผมค่อยบอกเธอว่า “ผมเป็นกำลังใจให้นะ” เธออาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องงาน แต่จริงๆ แล้วผมหมายถึงเรื่องที่เธอไปตรวจภายในด้วย แต่ไม่เป็นไร เธอไม่จำเป็นต้องรู้  

 

ผมใช้ข้อมูลต่างๆ ที่เธอพูดแล้วลอยมาเข้าหูในการเข้าใจผู้หญิง เข้าใจความแตกต่าง เข้าใจความต้องการของเธอ แน่นอน ผมเขินอยู่เหมือนกันว่าเธอบรรยายรายละเอียดต่างๆ แต่ก็พยายามมองข้ามไปแล้ว เข้าใจมนุษย์ที่แตกต่างจากเราให้มากขึ้น 

 

อย่าว่าแต่เพื่อนร่วมงานเลยครับ สมัยก่อนที่ผมทำงานพีอาร์เอเจนซี ด้วยความที่ต้องทำงานกับแบรนด์ที่หลากหลาย การเข้าใจกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หลายครั้งผมจึงได้มีโอกาสไปศึกษา ไปพูดคุยแบบเจาะลึกกับกลุ่มเป้าหมายที่ผมไม่เคยมีความรู้เลย จู่ๆ ผมก็ต้องไปเข้าใจชีวิตของผู้หญิงว่าเธอใช้ชีวิตอย่างไรกับเครื่องสำอางของเธอ (ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ใช้) บางทีต้องไปรู้ด้วยซ้ำว่าพวกเธอคิดอย่างไรกับเซ็กซ์ (สำหรับการทำงานให้แบรนด์ถุงยาง) หรือต้องไปเข้าใจนักเที่ยวราตรี เพื่อเข้าใจอินไซต์ ทั้งที่ผมไม่ดื่มเหล้า ฯลฯ เพราะฉะนั้นผมเลยได้ไปอยู่ในสถานการณ์ที่ได้เรียนรู้คนที่แตกต่างจากเราแบบลึกๆ ไปในตัว  

 

ทุกเรื่องที่เราได้ยิน มันมาพร้อมกับเรื่องราวในชีวิตของเขาครับ บางอย่างอาจจะกลายมาเป็นข้อมูลหรือไอเดียในการทำงานหรือการใช้ชีวิตของเราก็ได้ ที่สำคัญมันทำให้เราเข้าใจมนุษย์ขึ้นมากเลยครับ

 

การเข้าใจมนุษย์เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ ว่าไหมครับ

 

ใครจะรู้ว่า วันหนึ่งสิ่งที่เราได้ฟังจากพวกเธอ อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้ชายอย่างเราก็ได้ครับ 

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising